ระวัง! โรคฝีฝักบัว ภัยเงียบใกล้ตัวจากการติดเชื้อบนผิวหนัง

โรคฝีฝักบัว

โรคฝีฝักบัว เป็นอีกหนึ่งโรคที่ฟังจากชื่อแล้วนับว่าแปลกประหลาดอย่างยิ่ง และดูน่ากลัวเหลือเกิน สำหรับโรคนี้เป็นโรคที่เกิดขึ้นบนผิวหนัง

ซึ่งหากไม่อยากให้เกิดเราจะต้องใส่ใจดูแลร่างกายและผิวหนังให้สะอาดเป็นอย่างดีอยู่เสมอ โดยเฉพาะพฤติกรรมเสี่ยงที่อาจกระตุ้นให้เป็นแผล

เพราะหากเป็นแผลขึ้นแล้ว โอกาสในการติดเชื้อจนลุกลามและกลายมาเป็นโรคฝีฝักบัวก็ยิ่งมีสูง ดังนั้น หากใครไม่อยากเป็นโรคนี้

เรามาทำความรู้จักโรคนี้กันมากขึ้นดีกว่า โรคฝีฝักบัว คืออะไร สาเหตุ อาการ วิธีรักษา และป้องกันทำได้อย่างไร รีบไปติดตามพร้อมกันเลยค่ะ

โรคฝีฝักบัว คืออะไร?

โรคฝีฝักบัว (Carbuncle) คือ การติดเชื้อที่เกิดขึ้นบนผิวหนัง แล้วทำให้เกิดการอักเสบจนกลายเป็นหนอง โดยโรคนี้สามารถเกิดขึ้นได้ตามอวัยวะส่วนต่างๆ ของร่างกาย เช่น ขาหนีบ รักแร้ สะโพก

ซึ่งเป็นส่วนที่ถูกเสียดสีได้บ่อย เพราะฉะนั้นจึงทำให้เกิดการอักเสบเป็นแผล และยังทำให้เกิดแผลเป็นแบบถาวรได้อีกด้วย

สาเหตุของโรคฝีฝักบัว

โรคฝีฝักบัว เป็นโรคที่เกิดจาการติดเชื้อแบคทีเรียคือ สแตฟีโลค็อกคัส ไพโอจีนัสและสแตฟีโลค็อกคัส ออเรียส

เมื่อร่างกายเกิดการติดเชื้อก็จะทำให้เกิดการอักเสบ ส่งผลทำให้เกิดหนองบริเวณรูขุมขนของผิวหนังและต่อมไขมัน

หลังจากนั้นจะเกิดการรวมตัวกันจนทำให้กลายเป็นหนองหลายก้อน คล้ายกับฝักบัว โดยเชื้อนี้จะส่งผลเมื่ออวัยวะส่วนนั้นเกิดความอับชื้นได้ง่าย เช่น

  • ต้นขา
  • ขาหนีบ
  • รักแร้
  • จมูก
  • ปาก

นอกจากนี้ ก็ยังสามารถที่จะเกิดโรคฝีฝักบัวได้จากเชื้ออื่นๆ เช่น Proteuse และเชื้ออีโคไล แต่สำหรับบางรายก็สามารถเกิดได้จากภาวะแทรกซ้อนของโรคอื่นๆ คือ

  • โรคเบาหวาน
  • โรคอ้วน
  • โรคความอ่อนเพลีย

เนื่องจากพฤติกรรมบางอย่างสามารถส่งผลให้เกิดโรคฝีฝักบัวได้ โดยเฉพาะการเกา หรือการทำให้เกิดแผลบนผิวหนัง

อย่างเช่น การโกนหนวดหรือโกนขน รวมถึงบริเวณที่ถูกแมลงสัตว์กัดต่อย ก็จะทำให้เกิดการอักเสบบริเวณนั้นได้ง่ายมากยิ่งขึ้น

ทำให้เชื้อแบคทีเรียที่ฝังอยู่กระตุ้นให้เกิดการอักเสบและส่งผลทำให้เป็นหนองขึ้นได้ สำหรับผู้ป่วยบางราย

สามารถเป็นโรคฝีฝักบัวได้จากการติดต่อผ่านของใช้ที่ใช้ร่วมกับผู้อื่น โดยเฉพาะผู้ที่อยู่หอพักหรืออาศัยอยู่ร่วมกับผู้อื่น

แล้วใช้ผ้าขนหนู ผ้าปูที่นอน หมอนหรือแม้กระทั่งเสื้อผ้าร่วมกัน ก็สามารถทำให้เชื้อโรคเหล่านี้ส่งผ่านถึงกันได้

ผู้ที่เสี่ยงเป็นโรคฝีฝักบัว

สำหรับผู้ที่มีความเสี่ยงในการเป็นโรคฝีฝักบัวนั้น มักจะเป็นกลุ่มคนที่มีโรคดังต่อไปนี้

  • โรคไต
  • โรคตับ
  • มีปัญหาผิวหนัง
  • ระบบภูมิคุ้มกันในร่างกายอ่อนแอ

อาการของโรคฝีฝักบัว

โรคฝีฝักบัวจะแสดงอาการที่เห็นได้อย่างชัดเจนในช่วงบริเวณใบหน้าและหลังคอ แต่สำหรับในบริเวณแขนและขาอาจจะมีโอกาสเกิดได้ แต่จะน้อยกว่าบริเวณที่กล่าวไปเบื้องต้น โดยอาการที่แสดงออกคือ

  • มีอาการคัน
  • เมื่อยล้า
  • มีไข้
  • ผิวหนังเป็นแผล
  • มีหนองที่บริเวณแผล

อาการดังกล่าวถือเป็นอาการพื้นฐานที่สามารถเกิดขึ้นได้กับผู้ป่วยโรคฝีฝักบัว โดยสามารถอธิบายอาการเกิดได้ตามลำดับ ดังนี้

1.อย่างแรกจะพบว่ามีแผลบนผิวหนังและมีการอักเสบร่วมด้วย

2.เมื่อผิวบริเวณที่อักเสบมีความคล้ำมากยิ่งขึ้น เชื้อไวรัสที่อยู่บริเวณแผลจะใช้เวลาเพาะตัวนาน 8-12 วัน ในระหว่างนั้นก็จะแสดงอาการออกมา เช่น มีไข้ เบื่ออาหาร คลื่นไส้ และปวดศีรษะ เป็นต้น

3.เมื่อเชื้อได้รับการเพาะตัวตามระยะเวลาที่เหมาะสมแล้ว ก็จะเกิดหนองและกลุ่มหนองจะเริ่มขยายตัว โดยจะใช้ระยะเวลา 2-3 สัปดาห์ ในการขยายตัวมากยิ่งขึ้น

ภาวะแทรกซ้อนของโรคฝีฝักบัว

โรคฝีฝักบัวสามารถทำให้เกิดภาวะแทรกซ้อนได้ หากแบคทีเรียที่อยู่ในแผลสามารถแพร่กระจายเข้าสู่กระแสเลือด

จะส่งผลทำให้อวัยวะต่างๆ ภายในร่างกายไม่ว่าจะเป็นปอด ข้อต่อ หัวใจ หรือแม้แต่กระทั่งระบบประสาทส่วนกลางเกิดการติดเชื้อตามไปด้วย ซึ่งจะเสี่ยงต่อการเสียชีวิตได้ในที่สุด

การวินิจฉัยโรคฝีฝักบัว

การวินิจฉัยโรคฝีฝักบัว แพทย์จะมีวิธีวินิจฉัย ดังนี้

  • สอบถามประวัติของผู้ป่วย โดยผู้ป่วยจะต้องบอกรายละเอียดในการเกิดแผล เพื่อใช้ในการวินิจฉัย
  • การตรวจร่างกาย แพทย์จะเริ่มจากการดูบริเวณแผล หลังจากนั้นจะทำการเก็บตัวอย่างบริเวณแผลเพื่อนำไปเพาะเชื้อ และระบุชนิดของเชื้อโรค

วิธีรักษาโรคฝีฝักบัว

โรคฝีฝักบัว เป็นโรคที่เกิดจากการติดเชื้อแบคทีเรียจนมีอาการรุนแรง อย่างไรก็ตาม โรคดังกล่าวสามารถที่จะรักษาให้หายได้ โดยมีวิธีการรักษาดังนี้

1.รักษาด้วยยาปฏิชีวนะ

เป็นวิธีรักษาที่ง่ายที่สุด สำหรับผู้ป่วยโรคฝีฝักบัวในการใช้ยาปฏิชีวนะเพื่อการรักษา แต่จะต้องใช้ระยะเวลาอย่างน้อย 1 สัปดาห์ในการใช้ยา โดยยาปฏิชีวนะที่จะใช้ มีดังนี้

  • ยาไซโพรฟล็อกซาซิน
  • ยาไดคล็อกซาซิน
  • ยาอิริมัยโทริน

2.รักษาด้วยการผ่าตัด

สำหรับการรักษาโรคฝีฝักบัวด้วยการผ่าตัดนั้น แพทย์จะใช้วิธีนี้ก็ต่อเมื่อผู้ป่วยมีหนองคั่งอยู่ในแผล

ซึ่งอาจจะมีเซลล์เนื้อที่ตายแล้วอยู่ร่วมด้วย ดังนั้น จึงจำเป็นที่จะต้องทำการรักษาโดยการผ่าตัดเอาหนองและเนื้อที่ตายแล้วออกไป

3.รักษาด้วยสมุนไพร

นอกจาก 2 วิธีที่กล่าวมา การเลือกใช้สมุนไพรยังสามารถที่จะช่วยในการรักษาโรคฝีฝักบัวได้อีกด้วย โดยสมุนไพรที่สามารถนำมาประยุกต์ใช้ได้ มีดังนี้

  • ดาวเรือง นำใบดาวเรืองมาคั้น แล้วนำน้ำที่ได้มาทาลงบนฝี
  • พุดตาน นำรากพุดตานมาต้มแล้วดื่มตามปกติ

4.รักษาด้วยการประคบ

สำหรับผู้ป่วยที่ยังไม่มีอาการในขั้นรุนแรง ในระยะเริ่มต้นสามารถที่จะใช้การประคบร้อนเพื่อช่วยกระตุ้นการไหลเวียนของเลือด

และป้องกันการก่อตัวของหนองภายใต้ผิวหนัง โดยวิธีคือ ใช้ผ้าขนหนูสะอาดชุบน้ำอุ่น บิดพอหมาด แล้วนำมาวางประคบลงบนฝี 10-15 นาที อาการก็จะทุเลาลง

วิธีป้องกันโรคฝีฝักบัว

สำหรับวิธีป้องกันโรคฝีฝักบัวนั้น สามารถที่จะทำได้หลากหลายวิธี ดังนี้

1.รักษาความสะอาด

การหมั่นดูแลรักษาความสะอาดของร่างกาย เป็นวิธีที่ดีที่สุดในการป้องกันโรคฝีฝักบัวได้ ดังนั้น จึงควรล้างมือทั้งก่อนและหลังเข้าห้องน้ำ

รวมถึงจะต้องล้างมือก่อนการรับประทานอาหารเพื่อเป็นการป้องกันเชื้อโรคเข้าสู่ร่างกาย

2.หลีกเลี่ยงพฤติกรรมที่ก่อให้เกิดบาดแผล

สำหรับบริเวณใดที่เป็นแผล หรือถูกแมลงสัตว์กัดต่อย ควรหลีกเลี่ยงการกระตุ้นไม่ว่าจะเป็นการบีบ เค้น เกา หรือแม้กระทั่งการถูบริเวณที่เป็นแผล

ถือเป็นพฤติกรรมที่ควรจะหลีกเลี่ยงอย่างมากที่สุด เนื่องจากพฤติกรรมดังกล่าวจะยิ่งเพิ่มความเสี่ยงทำให้บาดแผลเกิดการติดเชื้อจนนำมาสู่โรคฝีฝักบัวได้ง่าย

ฝีฝักบัว

Credit : rajavithi.go.th

โรคฝีฝักบัว เป็นโรคที่สามารถเกิดขึ้นได้เพียงแค่การเกาบริเวณแผล แล้วทำให้เกิดการติดเชื้อ เพราะฉะนั้น เมื่อมีแผลจึงควรที่จะต้องระมัดระวัง

อย่างไรก็ตาม โรคนี้เราสามารถป้องกันได้อย่างไม่ยาก เพียงใส่ใจดูแลรักษาเรื่องความสะอาดของร่างกายและผิวหนัง

โดยเฉพาะจุดที่ก่อให้เกิดการเสียดสีหรืออับชื้นง่าย และหากมีบาดแผลก็ควรดูแลอย่างดี ให้แผลหายเร็ว หากไม่มั่นใจก็อาจจะพบแพทย์เพื่อรับการรักษาแผลอย่างถูกต้องต่อไป