โรคสมาธิสั้นในผู้ใหญ่ โรคที่ผู้ใหญ่ก็เป็นได้ ใช่แค่วัยเด็ก !

โรคสมาธิสั้นในผู้ใหญ่

โรคสมาธิสั้น เป็นความผิดปกติที่สามารถพบได้บ่อยในเด็ก ก่อให้เกิดปัญหาด้านการเรียนรู้ การเข้าสังคม

รวมถึงการใช้ชีวิตประจำวัน ถึงแม้ว่าโรคนี้จะสามารถพบได้บ่อยในเด็ก แต่ก็สามารถพบได้ในวัยผู้ใหญ่ได้เช่นกัน

ซึ่งอาการ สมาธิสั้นในผู้ใหญ่ นี้ อาจส่งผลต่อการงานหน้าที่ ทำให้ผู้ใหญ่หลายคนที่เป็นโรคนี้ อาจไม่ประสบความสำเร็จในชีวิตเท่าที่ควร

ว่าแล้วก็อย่ารอช้า ตามไปดูดีกว่าว่า โรคสมาธิสั้นในผู้ใหญ่ คืออะไร มีวิธีรักษาได้อย่างไรบ้าง?

ทำความรู้จักโรคสมาธิสั้น

โรคสมาธิสั้น (Attention deficit hyperactivity disorder หรือ ADHD) นับเป็นภาวะอย่างหนึ่งที่ผู้ป่วยจะมีพฤติกรรมแบบหุนหันพลันแล่น

ไร้ซึ่งสมาธิ และซุกซน โดยโรคนี้มักจะเกิดขึ้นในวัยเด็ก อย่างไรก็ตาม อาการของโรคก็สามารถเกิดขึ้นในวัยรุ่นและผู้ใหญ่ได้เช่นเดียวกัน

โรคสมาธิสั้นในผู้ใหญ่ คืออะไร?

โรคสมาธิสั้นในผู้ใหญ่ (Adult ADHD) เป็นความผิดปกติที่เกี่ยวข้องสุขภาพจิต ผู้ป่วยมักมีความยากลำบากในการให้ความสนใจกับเรื่อง ๆ หนึ่ง

ซึ่งพฤติกรรมเหล่านี้อาจส่งผลทำให้เกิดปัญหาสุขภาพจิตอื่น ๆ ได้ เช่น การรู้สึกว่าตนเองไม่มีคุณค่า หรือรู้สึกว่าตนเองทำอะไรก็ไม่ประสบความสำเร็จ

โรคสมาธิสั้นในผู้ใหญ่มักจะเกิดขึ้นตั้งแต่ในช่วงวัยเด็ก แต่ในผู้ป่วยบางคนโรคสมาธิสั้น อาจได้รับการวินิจฉัยตอนเป็นผู้ใหญ่แล้วก็ได้

ส่วนใหญ่แล้ว อาการสมาธิสั้นในผู้ใหญ่ มักมีอาการไม่เด่นชัดเหมือนกับอาการในวัยเด็ก ที่มักมีอาการอยู่ไม่นิ่งอยู่ไม่เป็นสุข (hyperactivity) มากกว่า

สาเหตุของโรคสมาธิสั้นในผู้ใหญ่

สาเหตุที่แท้จริงของโรคสมาธิสั้นในผู้ใหญ่ยังไม่มีความชัดเจน แต่ก็มีการศึกษาวิจัยหลายชิ้นค้นพบว่า

อาจมีปัจจัยบางประการที่อาจเป็นสาเหตุของโรคสมาธิสั้นในผู้ใหญ่ โดยสาเหตุที่เป็นไปได้เหล่านั้น ได้แก่

  • พันธุกรรม มีการค้นพบว่าโรคสมาธิสั้นอาจส่งผ่านทางพันธุกรรม โดยอาจเกิดขึ้นจากความผิดปกติของยีน ถ้ามีคนในครอบครัวเป็นโรคนี้ ก็จะมีความเสี่ยงของโรคเพิ่มมากขึ้น
  • สิ่งแวดล้อม ปัจจัยจากสภาพแวดล้อมบางอย่าง อาจเพิ่มความเสี่ยงของโรคสมาธิสั้นในผู้ใหญ่ได้ โดยเฉพาะสภาพแวดล้อมที่เต็มไปด้วยสารพิษ เช่น ตะกั่ว
  • ความบกพร่องของสมอง และระบบประสาทส่วนกลาง อาจทำให้เกิดโรคสมาธิสั้นในผู้ใหญ่ได้

ปัจจัยเสี่ยงของโรคสมาธิสั้นในผู้ใหญ่

ความเสี่ยงของโรคสมาธิสั้นอาจเพิ่มขึ้นในกรณีที่

  • ญาติพี่น้อง บิดา มารดา มีอาการของโรคสมาธิสั้น รวมถึงโรคทางสุขภาพจิตอื่น ๆ
  • ในระหว่างตั้งครรภ์ มารดาสูบบุหรี่ ดื่มแอลกอฮอล์ หรือใช้ยาบางชนิด ก็อาจทำให้ทารกเป็นโรคสมาธิสั้น และส่งผลต่อเนื่องมาในช่วงวัยผู้ใหญ่
  • ในช่วงวัยเด็กอยู่อาศัยในสิ่งแวดล้อมที่มีมลพิษจากโลหะหนัก เช่น ตะกั่ว
  • ทารกที่คลอกก่อนกำหนด มีแนวโน้มที่จะเป็นโรคสมาธิสั้นทั้งในวัยเด็กและในวัยผู้ใหญ่

อาการของโรคสมาธิสั้นในผู้ใหญ่

ผู้ป่วยหลายคนมักไม่ทราบว่า ตนเองกำลังมีอาการของโรคสมาธิสั้น ถ้าปล่อยเอาไว้อาจทำให้เกิดปัญหาในการใช้ชีวิตและการทำงานได้

อาการของโรคสมาธิสั้นในผู้ใหญ่มักมีความรุนแรงน้อยลงเมื่ออายุมากขึ้น โดยอาการที่พบได้บ่อยและสังเกตได้ง่ายในผู้ที่มีปัญหาสมาธิสั้น ได้แก่

  • มีความหุนหันพลันแล่น อารมณ์ขึ้นลง ควบคุมอารมณ์ไม่ได้ เดี๋ยวดีเดี๋ยวร้าย
  • กระวนกระวายใจ อยู่ไม่เป็นสุข
  • มีความสับสนและปัญหาในการจัดลำดับความสำคัญ ทักษะการจัดการเวลาที่ไม่ดี
  • ปัญหาเกี่ยวกับการงาน วางแผนการทำงานไม่ดี ไม่สามารถทำให้งานเสร็จลุล่วงได้
  • ไม่สามารถทำงานหลาย ๆ อย่างพร้อม ๆ กันได้
  • มีความอดทนต่ำต่อเหตุการณ์ต่าง ๆ พร้อมที่จะระเบิดอารมณ์เสมอ
  • ไม่สามารถอดทนรอคอยบางสิ่งบางอย่างได้นาน
  • นั่งอยู่เฉย ๆ ไม่ได้นาน ต้องเปลี่ยนกิจกรรมที่ทำ ทั้ง ๆ ที่สิ่งที่กำลังทำอยู่ยังไม่เสร็จลุล่วง
  • ไม่สามารถรับมือกับความเครียดได้

ปัญหาในชีวิตที่มักจะเกิดขึ้นเมื่อผู้ป่วยมีภาวะสมาธิสั้น

เนื่องจากโรคสมาธิสั้นในผู้ใหญ่ บ่อยครั้งทำให้การดำเนินชีวิตยากขึ้น และอาจสร้างปัญหาต่าง ๆ ในชีวิตได้ ยกตัวอย่างเช่น

  • ผลการเรียนแย่ลง
  • ประสิทธิภาพในการทำงานลดลง บางคนอาจตกงาน
  • ติดแอลกอฮอล์หรือสารเสพติดอื่น ๆ
  • เกิดอุบัติเหตุทางรถยนต์หรืออุบัติเหตุอื่น ๆ บ่อยครั้งขึ้น
  • มีปัญหาในด้านความสัมพันธ์กับบุคคลอื่น
  • สุขภาพร่างกายและจิตใจไม่ดี
  • ทำให้ภาพลักษณ์ของผู้ป่วยแย่ลง
  • ถ้ามีอาการมากอาจทำให้ผู้ป่วยหลายคนพยายามฆ่าตัวตาย

โรคอื่นๆ ที่มักเกิดขึ้นร่วมกับโรคสมาธิสั้นในผู้ใหญ่ (coexisting conditions)

นอกจากผู้ป่วยจะได้รับการวินิจฉัยว่าเป็นโรคสมาธิสั้นในผู้ใหญ่แล้ว อาจพบว่าผู้ป่วยหลาย ๆ รายมีโรคหรือภาวะทางจิตอื่น ๆ ร่วมด้วย

ทำให้ผู้ป่วยเกิดความบกพร่องทางจิตได้มากและซับซ้อนยิ่งขึ้น จึงส่งผลทำให้การรักษาโรคสมาธิสั้นในผู้ใหญ่มีความยุ่งยากเป็นทวีคูณ

ความผิดปกติของอารมณ์ (mood disorder)

ผู้ป่วยโรคซึมเศร้าในผู้ใหญ่มีแนวโน้มที่อาจเกิดความล้มเหลว ความผิดหวัง และการไม่ประสบความสำเร็จในชีวิตได้มากกว่าคนทั่วไป

เมื่อเหตุการณ์เหล่านี้เกิดซ้ำแล้วซ้ำเล่า ก็จะเพิ่มความเสี่ยงของโรคซึมเศร้า (depression) ได้

นอกจากโรคซึมเศร้าแล้วก็อาจพบว่า โรคอารมณ์สองขั้ว (bipolar disorder) ก็มีแนวโน้มที่มากขึ้นในผู้ป่วยกลุ่มนี้

โรควิตกกังวล (anxiety disorder)

เกิดขึ้นค่อนข้างบ่อยในผู้ใหญ่ที่มีสมาธิสั้น ซึ่งโรคนี้อาจพัฒนามาจากความกังวลในเรื่องเรื่องงาน เรื่องการเรียน หรือเรื่องความสัมพันธ์กับผู้อื่นก็ได้

ความผิดปกติทางจิตเวชอื่นๆ (Other psychiatric disorders)

เช่น ความผิดปกติของบุคลิกภาพ (personality disorder) การที่ไม่สามารถควบคุมอารมณ์ได้ รวมถึงการใช้สารเสพติดอาจมีแนวโน้มสูงขึ้นในผู้ป่วยโรคสมาธิสั้นในผู้ใหญ่

ความบกพร่องทางการเรียนรู้ (learning disabilities)  

อาจรวมถึงปัญหาเกี่ยวกับความเข้าใจ การเรียนรู้สิ่งใหม่ ๆ รวมถึงปัญหาที่เกี่ยวข้องกับทักษะในการติดต่อสื่อสารกับผู้อื่น มักจะรุนแรงขึ้นในผู้ใหญ่ที่มีสมาธิสั้น

การวินิจฉัยโรคสมาธิสั้นในผู้ใหญ่

โรคสมาธิสั้นในผู้ใหญ่เป็นโรคที่วินิจฉัยได้ยาก เนื่องจากอาการของโรคขึ้นกับผู้ป่วยแต่ละราย ซึ่งแต่ละคนก็จะมีอาการ

และความรุนแรงที่แตกต่างกันไป โดยแพทย์อาจจะต้องใช้วิธีการตรวจหลาย ๆ วิธีร่วมกัน เพื่อที่จะวินิจฉัยว่าผู้ป่วยเป็นโรคสมาธิสั้นในผู้ใหญ่จริง ๆ

แพทย์อาจตรวจร่างกายทั่ว ๆ ไป (physical examination) เพื่อคัดกรองโรคอื่น ๆ ที่อาจทำให้เกิดอาการคล้ายกับโรคสมาธิสั้น

รวมถึงอาจมีการการซักประวัติ การสอบถามข้อมูลจากคนไข้และคนใกล้ชิด เช่น ข้อมูลการใช้ยา ข้อมูลโรคประจำตัว

และประวัติความเจ็บป่วยในปัจจุบัน และบางครั้งผู้ป่วยอาจต้องทำแบบทดสอบทางจิตวิทยา เพื่อวิเคราะห์ความเป็นไปได้ของโรคสมาธิสั้นในผู้ใหญ่

วิธีรักษาโรคสมาธิสั้นในผู้ใหญ่

สำหรับวิธีรักษาโรคสมาธิสั้นในผู้ใหญ่นั้นสามารถทำได้หลายวิธี ทั้งการใช้ยาและการบำบัดทางจิตวิทยา รวมถึงการใช้ยาควบคู่กับการบำบัด

ซึ่งเป็นวิธีการรักษาที่มีประสิทธิภาพมากที่สุดและสามารถบรรเทาอาการต่าง ๆ ของโรคสมาธิสั้นในผู้ใหญ่ได้

วิธีรักษาโดยการใช้ยา  

การเลือกใช้ยารักษาโรคสมาธิสั้นในผู้ใหญ่นั้น มีความแตกต่างกันไปในแต่ละบุคคล ทั้งในเรื่องของตัวยา ขนาดยา

และระยะเวลาที่ใช้ รวมถึงต้องพิจารณาถึงเรื่องอาการข้างเคียงที่มักจะเกิดขึ้นกับผู้ป่วยเฉพาะรายด้วย

ยาในกลุ่มกระตุ้น (stimulants) ประสาท เช่น ยาเมธิลฟีนิเดท (methylphenidate) หรือยาแอมเฟตามีน (amphetamine)

เป็นยาที่ใช้บ่อยในโรคสมาธิสั้น โดยยาในกลุ่มนี้จะเพิ่มระดับและรักษาสมดุลของสารสื่อประสาทในสมอง

แล้วทำให้อาการต่าง ๆ ค่อย ๆ บรรเทาและดีขึ้น นอกจากนี้ยังมียากลุ่มอื่น ๆ ที่สามารถรักษา และบรรเทาอาการของโรคสมาธิสั้นในผู้ใหญ่ได้

มักใช้ในผู้ป่วยที่ไม่สามารถทนต่อยาในกลุ่มแรกได้ เช่น ยา atomoxetine และยาในต้านอาการซึมเศร้า เป็นต้น

การให้คำปรึกษาทางจิตวิทยา

การให้คำปรึกษาสำหรับผู้ป่วยโรคสมาธิสั้นในผู้ใหญ่ สามารถช่วยรักษาพฤติกรรมที่ผิดปกติ รวมถึงทำให้ผู้ป่วยสามารถเรียนรู้ทักษะต่าง ๆ ที่จำเป็นในการดำรงชีวิต ได้แก่

  • ทักษะการจัดการเวลา
  • เรียนรู้วิธีการลดพฤติกรรมที่ไม่เหมาะสม เช่น ความก้าวร้าว ฉุนเฉียว
  • ได้พัฒนาทักษะการแก้ปัญหา
  • ทำให้ผู้ป่วยสามารถรับมือกับความผิดพลาดในชีวิตที่ผ่าน ๆ มาได้มากขึ้น
  • เพิ่มความรู้สึกนับถือตนเอง (self-esteem)
  • เรียนรู้วิธีปรับปรุงความสัมพันธ์กับครอบครัว ญาติพี่น้อง และเพื่อนร่วมงาน

วิธีบำบัดที่มักใช้บ่อย ๆ เพื่อการบำบัดโรคสมาธิสั้นในผู้ใหญ่ ได้แก่

1.การบำบัดทางความคิดและพฤติกรรม (cognitive behavioral therapy)

เป็นการบำบัดที่จะช่วยสอนทักษะต่าง ๆ ในการจัดการพฤติกรรมของผู้ป่วย ที่จะช่วยเปลี่ยนรูปแบบการคิดเชิงลบให้เป็นแบบบวก

ทำให้ผู้ป่วยสามารถจัดการกับความท้าทายและความยุ่งยากในชีวิตได้ เช่น ปัญหาการเรียน ปัญหาในที่ทำงาน

รวมถึงปัญหาที่เกี่ยวข้องกับความสัมพันธ์ระหว่างบุคคล นอกจากนี้วิธีการบำบัดทางความคิดและพฤติกรรม

ยังช่วยบำบัดโรคซึมเศร้าที่มักจะเกิดขึ้นในผู้ป่วยโรคสมาธิสั้นได้อีกด้วย

2.ครอบครัวบำบัด (Marital counseling and family therapy) สามารถช่วยทำให้คนในครอบครัวได้เรียนรู้ เข้าใจ

และสามารถรับมือให้อยู่กับผู้ป่วยโรคสมาธิสั้นได้ รวมถึงยังได้เรียนรู้วิธีการช่วยเหลือ การให้คำปรึกษา รวมถึงการสื่อสาร

กับคนในครอบครัวที่เป็นโรคสมาธิสั้น ซึ่งจะทำให้ผู้ป่วยเกิดความเครียดและความวิตกกังวลจากโรคที่กำลังเป็นอยู่ลดลง

Credit : marketrats.lt

โรคสมาธิสั้นในผู้ใหญ่ แม้ว่าอาจไม่มีอาการุนแรง แต่ก็สามารถทำให้ผู้ป่วยมีปัญหาในการใช้ชีวิตประจำวัน การเรียน หรือการทำงานได้

และถ้าไม่ได้รับการวินิจฉัยหรือรักษา ความผิดพลาดหรือความล้มเหลวที่เกิดขึ้นบ่อย ๆ อาจพัฒนากลายเป็นโรคซึมเศร้า

และอาจทำให้ผู้ป่วยคิดสั้นฆ่าตัวตายได้ ซึ่งการรักษาโรคสมาธิสั้นในผู้ใหญ่ สามารถรักษาได้โดยการใช้ยาและการใช้จิตบำบัด

หรือใช้ทั้งสองวิธีร่วมกัน ซึ่งก็จะสามารถช่วยลดและบรรเทาอาการต่าง ๆ ได้ ทำให้ผู้ป่วยสามารถกลับมาใช้ชีวิตได้อย่างเป็นปกติสุข