โรคหน้าเบี้ยวครึ่งซีก จัดเป็นอีกหนึ่งโรคที่ไม่ได้ถือว่าร้ายแรงถึงขั้นอันตรายต่อชีวิต และโรคนี้ก็เป็นโรคที่หลายคนไม่ค่อยรู้จักกันดีนัก
และคาดไม่ถึงด้วยว่าจะมีผู้ป่วยโรคนี้ขึ้นจริง เพราะเป็นโรคที่ไม่ค่อยมีผู้ใดเป็นกันอย่างชัดเจนแพร่หลายเหมือนโรคอื่นๆ ทั่วไปนั่นเอง
แต่สำหรับผู้ที่เป็นโรคนี้ ย่อมเกิดความกังวลใจและทรมานใจกับใบหน้าที่บิดเบี้ยว ไม่สวยงามเหมือนคนอื่น
เราจึงนำข้อมูลเกี่ยวกับโรคนี้มาให้คุณได้ทำความรู้จักกัน โรคหน้าเบี้ยวครึ่งซีกคืออะไร รักษาได้หรือไม่ ตามไปดูคำตอบพร้อมๆ กันค่ะ
- โรคหน้าเบี้ยวครึ่งซีก คืออะไร?
- สาเหตุของโรคหน้าเบี้ยวครึ่งซีก
- ปัจจัยเสี่ยงของโรคหน้าเบี้ยวครึ่งซีก
- อาการของโรคหน้าเบี้ยวครึ่งซีก
- การวินิจฉัยโรคหน้าเบี้ยวครึ่งซีก
- วิธีรักษาโรคหน้าเบี้ยวครึ่งซีก
- ข้อควรปฏิบัติเมื่อเป็นโรคหน้าเบี้ยวครึ่งซีก
- ท่าออกกำลังกาย เพื่อบริหารกล้ามเนื้อและระบบประสาทบนใบหน้า
- วิธีป้องกันโรคหน้าเบี้ยวครึ่งซีก
โรคหน้าเบี้ยวครึ่งซีก คืออะไร?
โรคหน้าเบี้ยวครึ่งซีก Bell’s palsy (อัมพาตเบลล์) เป็นโรคที่เกิดจากกล้ามเนื้อบนใบหน้ามีภาวะอัมพาตอย่างฉับพลัน
ไม่สามารถยืดหดได้ตามคำสั่งจากสมอง ทำให้ใบหน้าครึ่งหนึ่งของผู้ป่วยไม่สามารถตอบสนองหรือแสดงอารมณ์ต่าง ๆ ได้
โรคหน้าเบี้ยวครึ่งซีก อาจเกิดขึ้นได้กับคนทุกเพศทุกวัย โดยส่วนใหญ่แล้วโรคหน้าเบี้ยวครึ่งซีกมักเป็นอาการที่เกิดขึ้นเพียงชั่วคราว
อาการมักจะเริ่มดีขึ้นภายในสองถึงสามสัปดาห์ และจะมีการฟื้นตัวอย่างสมบูรณ์ภายในระยะเวลาประมาณ 6 เดือน
จากจำนวนผู้ป่วยทั้งหมดมีเพียงจำนวนน้อยเท่านั้นที่ยังมีอาการหน้าเบี้ยวครี่งซีกอยู่ตลอดเวลา
สาเหตุของโรคหน้าเบี้ยวครึ่งซีก
สาเหตุที่แน่นอนของโรคหน้าเบี้ยวครึ่งซีกยังไม่ทราบแน่ชัด แต่เชื่อกันว่าเป็นผลมาจากอาการอักเสบของเส้นประสาท
ที่ควบคุมกล้ามเนื้อบริเวณด้านใดด้านหนึ่งของใบหน้า ทำให้กล้ามเนื้อเป็นอัมพาต นอกจากกล้ามเนื้อใบหน้า
แล้วการอักเสบของเส้นประสาท ยังส่งผลต่อการควบคุมการหลั่งน้ำตาและน้ำลายอีกด้วย
โดยการอักเสบที่เกิดขึ้นอาจเป็นปฏิกิริยาที่เกิดขึ้นหลังจากการติดเชื้อไวรัสก็ได้ ยกตัวอย่างเช่น
- การติดเชื้อไวรัสเริม
- เชื้ออีสุกอีใสและงูสวัด
- เชื้อไวรัส Epstein-Barr
- การติดเชื้อ Cytomegalovirus
- การติดเชื้อ adenovirus ที่มักทำให้เกิดโรคในระบบทางเดินหายใจ
- หัดเยอรมัน
- คางทูม
- ไข้หวัดใหญ่
- Coxsackievirus ที่ทำให้เกิดโรคมือเท้าปาก
ปัจจัยเสี่ยงของโรคหน้าเบี้ยวครึ่งซีก
โรคหน้าเบี้ยวครึ่งซึกมักจะเกิดขึ้นบ่อยครั้งในกรณีดังต่อไปนี้
- การตั้งครรภ์ โดยเฉพาะในรายที่มีอายุครรภ์ในช่วงไตรมาสที่ 3 หรือในคุณแม่ที่อยู่ในระยะสัปดาห์แรกหลังคลอด
- มีการติดเชื้อทางเดินหายใจส่วนบนบ่อย ๆ เช่น ไวรัสหวัด
- เป็นโรคเบาหวาน
- กรรมพันธุ์ มักจะเกี่ยวข้องกับคนที่มีประวัติคนในครอบครัวเป็นโรคนี้ หรือเป็นโรคนี้บ่อย ๆ
อาการของโรคหน้าเบี้ยวครึ่งซีก
ส่วนใหญ่แล้วอาการของโรคหน้าเบี้ยวครึ่งซีก Bell’s palsy หรืออัมพาตเบลล์มักจะเกิดขึ้นอย่างฉับพลัน
โดยมักมีอาการกล้ามเนื้ออ่อนแรง ซึ่งมักเกิดเพียงครึ่งหนึ่งของใบหน้า โดยอาการเหล่านี้มักจะเกิดขึ้นภายในไม่กี่ชั่วโมง
- เริ่มควบคุมกล้ามเนื้อบริเวณใบหน้าไม่ได้ กล้ามเนื้อบนใบหน้าไม่ตอบสนองตามต้องการ
- ยิ้มไม่ได้ มุมปากเริ่มตก หางตกตก
- น้ำลายไหล
- ปวดบริเวณกรามหรือหลังใบหูในด้านที่เป็นอัมพาต
- หูในด้านที่เป็นมีการตอบสนองต่อเสียงเพิ่มมากขึ้น
- มีอาการปวดหัว
- ความสามารถในการรับรสลดลง
- มีการเปลี่ยนแปลงปริมาณน้ำตาและน้ำลายอย่างชัดเจน
ถึงแม้ว่าโรคหน้าเบี้ยวครึ่งซีกจะเกิดกับใบหน้าข้างใดข้างหนึ่ง แต่ในบางกรณีอาการอัมพาตอาจส่งผลต่อเส้นประสาททั้ง 2 ข้างบนใบหน้าก็ได้
การวินิจฉัยโรคหน้าเบี้ยวครึ่งซีก
ไม่มีการวินิจฉัยโรคหน้าเบี้ยวครึ่งซีกอย่างเฉพาะเจาะจง แต่แพทย์จะใช้อาการที่เกิดขึ้นในการระบุว่าผู้ป่วยเป็นโรคหน้าเบี้ยวครึ่งซีก
โดยแพทย์อาจจะให้ผู้ป่วยสั่งให้กล้ามเนื้อบนใบหน้าขยับ เช่น การหลับตา ยักคิ้ว การยิ้ม และการเคลื่อนไหวในรูปแบบอื่น ๆ
มีโรคบางชนิดที่อาจมีอาการคล้ายคลึงกับโรคหน้าเบี้ยวครึ่งซีกได้ เช่น โรคหลอดเลือดสมอง การติดเชื้อโรคไลม์ (Lyme disease)
รวมถึงโรคเนื้องอกต่าง ๆ ซึ่งแพทย์อาจจะต้องมีการทดสอบอื่น ๆ เพิ่มเติม เพื่อทำให้วินิจฉัยโรคได้อย่างถูกต้อง
Electromyography (EMG) เป็นการทดสอบที่ช่วยให้แพทย์สามารถระบุถึงความเสียหายของเส้นประสาท
รวมถึงทำให้ระบุระดับความรุนแรงของโรคได้ การวัด EMG เป็นวัดกิจกรรมทางไฟฟ้าของกล้ามเนื้อลาย
และการตอบสนองต่อการกระตุ้นจากไฟฟ้า รวมถึงยังสามารถวัดความเร็วของการนำกระแสไฟฟ้าไปตามเส้นประสาทได้อีกด้วย
การเอกซเรย์ (X-Rays) ไม่ว่าจะเป็นการเอกซเรย์ด้วยคลื่นแม่เหล็กไฟฟ้า (MRI) หรือการเอกซเรย์คอมพิวเตอร์ (CT)
จะช่วยให้แพทย์ตัดสาเหตุอื่น ๆ ที่อาจทำให้ผู้ป่วยมีอาการอัมพาตบนใบหน้าได้ เช่น เนื้องอกในระบบประสาท หรือการบาดเจ็บที่สมองและกระโหลดศีรษะ
วิธีรักษาโรคหน้าเบี้ยวครึ่งซีก
ถึงแม้ว่าโรคหน้าเบี้ยวครึ่งซีก Bell’s palsy มักจะค่อย ๆ ฟื้นตัวจนหายเป็นปกติ แต่ระยะเวลาในการฟื้นฟูอาจใช้ระยะเวลายาวนาน
และยังส่งผลกระทบต่อคุณภาพชีวิตของผู้ป่วย ดังนั้น แพทย์อาจพิจารณายาสำหรับผู้ป่วยแต่ละราย ซึ่งก็ขึ้นกับความรุนแรงของผู้ป่วยแต่ละคน
1.การรักษาด้วยยา
ยาที่ใช้กันทั่วไปในการรักษาโรคหน้าเบี้ยวครึ่งซีก คือ ยาในกลุ่มสเตียรอยด์ (corticosteroids) เช่น ยาเพรดนิโซโลน (prednisone)
ซึ่งยาในกลุ่มสเตียรอยด์มีฤทธิ์ลดการอักเสบ ทำให้อาการของผู้ป่วยดีขึ้น ซึ่งยาจะมีประสิทธิภาพมากที่สุด
เมื่อให้ยาอย่างรวดเร็วที่สุด ตั้งแต่เริ่มเกิดอาการ ส่วนยาต้านไวรัส (anti-viral drugs) ถึงแม้ว่ามีการใช้ยาในกลุ่มนี้อยู่บ้าง
แต่ประสิทธิภาพของยาต้านไวรัสยังไม่ชัดเจน โดยการใช้ยาต้านไวรัสเพียงอย่างเดียวไม่มีประสิทธิภาพเมื่อเทียบกับยาหลอก
และการใช้ยาต้านไวรัสร่วมกับยาเตียรอยด์ก็ไม่น่าจะมีประสิทธิภาพเช่นเดียวกัน
2.กายภาพบำบัด
การทำการทำกายภาพบำบัดเป็นประจำ อาจทำให้กล้ามเนื้อบนใบหน้าอาจมีการตอบสนองและฟื้นตัวได้เร็วขึ้น นักกายภาพบำบัดจะสอนให้ผู้ป่วยนวดและบริหารกล้ามเนื้อ
3.การศัลยกรรม
ในอดีตมักจะใช้การผ่าตัดเพื่อรักษาโรคหน้าเบี้ยวครึ่งซีก Bell’s palsy แต่ในปัจจุบันนี้ไม่มีการแนะนำให้ใช้วิธีการผ่าตัด
เนื่องจากอาจทำให้เกิดการบากเจ็บของเส้นประสาทสำคัญ ๆ ซึ่งทำให้ผู้ป่วยอาจสูญเสียการได้ยิน
หรือเกิดความผิดปกติอื่น ๆ อย่างถาวะ แต่อย่างไรก็ตามการผ่าตัดก็อาจจำเป็นในผู้ป่วยที่มีอาการของโรคเรื้อรังหรือยาวนาน
ข้อควรปฏิบัติเมื่อเป็นโรคหน้าเบี้ยวครึ่งซีก
1.ผู้ป่วยควรนวดกระตุ้นกล้ามเนื้อบนใบหน้าเบา ๆ เป็นประจำ ซึ่งการนวดจะช่วยกระตุ้นการทำงานของระบบประสาท
2.หน้าเบี้ยวครึ่งซีก จะทำให้ผู้ป่วยปิดตาไม่สนิท ดังนั้นผู้ป่วยควรปิดตาด้วยที่ครอบตาหรือผ้าสะอาด
เพื่อป้องกันฝุ่นละอองเข้าตา ภาวะตาแห้ง รวมถึงการใช้น้ำตาเทียมเพื่อเพี่มความชุ่มชื้นของดวงตา
3.ผู้ป่วยควรทำกายภาพฟื้นฟูกล้ามเนื้อใบหน้าตามคำแนะนำของแพทย์ และนักกายภาพบำบัดอย่างเคร่งครัด
และการทำกายภาพควรทำหน้ากระจก เพื่อที่จะทำให้ผู้ป่วยได้สังเกตเห็นความเปลี่ยนแปลงต่าง ๆ ที่เกิดขึ้น
4.รับประทานยาที่ได้รับอย่างสม่ำเสมอ การทานยาอย่างต่อเนื่องจะช่วยทำให้ภาวะอักเสบหายเป็นปกติเร็วขึ้น ส่งผลทำให้ระบบประสาทและกล้ามเนื้อมีการฟื้นฟูได้เร็ว
5.ทำจิตใจให้สบาย ไม่วิตกกังวลจนเกินกว่าเหตุ ให้ระลึกอยู่เสมอว่าโรคหน้าเบี้ยวครึ่งซีกเป็นโรคที่หายได้ หากมีการปฏิบัติตัวอย่างถูกต้อง
ท่าออกกำลังกาย เพื่อบริหารกล้ามเนื้อและระบบประสาทบนใบหน้า
วิธีบริหารกล้ามเนื้อและระบบประสาทบนใบหน้าให้ฟื้นตัวได้อย่างรวดเร็ว สำหรับผู้ป่วยโรคหน้าเบี้ยวครึ่งซีก Bell’s palsy
โดยให้ผู้ป่วยยืนหน้ากระจกเพื่อสังเกตการเคลื่อนไหวของกล้ามเนื้อ ถ้าไม่สามารถขยับกล้ามเนื้อได้เลย
อาจใช้มือข้างเดียวกับใบหน้าที่เป็นอัมพาตช่วยพยุง โดยแต่ละท่าให้ทำครั้งละ 10 ที ให้วนทำซ้ำแต่ละท่า 3 รอบ
ในเวลาเช้า กลางวัน เย็น หรือในเวลาที่สะดวกให้ได้อย่างน้อยวันละ 3 ครั้ง โดยแต่ละท่ามีดังต่อไปนี้
- ให้ผู้ป่วยพยายามยกคิ้วทั้งสองข้าง
- ขมวดคิ้วทั้งสองข้างเข้าหากัน
- ให้พยายามย่นจมูกหรือยกปลายจมูกขึ้นให้มากที่สุด
- พยายามหลับตาให้เปลือกตาปิดสนิทมากที่สุดเท่าที่จะเป็นไปได้
- พยายามบังคับให้ปลายจมูกบานให้กว้างที่สุด
- ฝึกยิ้มโดยไม่ยกมุมปาก
- ฝึกยิ้มโดยยกมุมปากขึ้น
- ทำปากจู๋
- เคี้ยวหมากฝรั่ง เพื่อกระตุ้นกล้ามเนื้ออย่างน้อย 10 นาที
วิธีป้องกันโรคหน้าเบี้ยวครึ่งซีก
เนื่องจาก โรคหน้าเบี้ยวครึ่งซีก ยังไม่มีสาเหตุการเกิดที่แน่ชัด มีแต่ปัจจัยเสี่ยงต่าง ๆ ที่คาดว่าน่าจะทำให้เกิดการอักเสบของเส้นประสาท
โดยเฉพาะการติดเชื้อไวรัสต่าง ๆ ดังนั้นการป้องกันโรคหน้าเบี้ยวที่ดีที่สุด คือ การรักษาร่างกายให้แข็งแรงอยู่เสมอ
ทานอาหารที่มีประโยชน์ พักผ่อนอย่างเพียงพอ ดื่มน้ำสะอาดเป็นประจำ รวมถึงการฉีดวัคซีน
เพื่อป้องกันโรคติดเชื้อไวรัสที่เป็นปัจจัยเสี่ยง ก็จะช่วยลดความเสี่ยงของโรคหน้าเบี้ยวครึ่งซีก Bell’s palsy ได้แล้ว
Credit : dieutrimundrhue.com
โรคหน้าเบี้ยวครึ่งซีก เป็นโรคที่เกิดขึ้นจากความผิดปกติของระบบประสาทและกล้ามเนื้อบนใบหน้า
ทำให้ผู้ป่วยไม่สามารถบังคับใบหน้าได้ตามต้องการ รวมถึงความตึงตัวของกล้ามเนื้อก็หายไป ทำให้เกิดอาการต่าง ๆ ขึ้น
เช่น ไม่สามารถยิ้ม หลับตา หรือยกคิ้วได้ อาการส่วนใหญ่มักจะค่อย ๆ หายได้เอง อาจใช้เวลาไม่นานนัก
แพทย์อาจจะรักษาโรคหน้าเบี้ยวครึ่งซีกด้วยการใช้ยาในกลุ่มสเตียรอยด์ ซึ่งจะช่วยลดการอักเสบของเส้นประสาทได้
นอกจากนี้ การทำกายภาพบำบัด ก็จะช่วยทำให้กล้ามเนื้อและเส้นประสาทมีการฟื้นตัวได้เร็วขึ้น