โรคหูดับ โรคร้ายของคนรุ่นใหม่ที่อาจเกิดขึ้นได้กับคุณ !

โรคหูดับ-ไข้หูดับ

โรคหูดับ หรือ โรคไข้หูดับ เป็นโรคร้ายที่กำลังคุกคามคนรุ่นใหม่มากขึ้นเรื่อย ๆ โดยเฉพาะผู้ที่ชอบฟังเพลงผ่านหูฟัง

หรือต้องอยู่ในสถานที่ที่มีเสียงดังเป็นเวลานาน จนทำให้หูไม่สามารถใช้การได้ตามปกติ จากที่เคยไวต่อเสียง

แม้กระทั่งของตกหล่นก็ได้ยิน แต่เมื่อเป็นโรคหูดับแล้ว ต่อให้ทำอะไรหล่นตรงหน้าก็ยังไม่ได้ยินเลย

หากไม่ได้รับการรักษา หรือยังไม่หลีกเลี่ยงปัจจัยเสี่ยงที่ทำให้เกิดโรคหูดับต่อไป ก็อาจเป็นเหตุให้ต้องสูญเสียการได้ยินแบบถาวร

โรคหูดับ คืออะไร?

โรคหูดับ ( Sudden Hearing LossSHL) เป็นโรคหรือภาวะที่หูไม่สามารถได้ยินเสียงตามปกติ

หมายถึง อาจจะได้ยินน้อยลงกว่าเดิม หรืออาจไม่ได้ยินเลยก็เป็นได้ อาการของโรคนี้สามารถเกิดขึ้นได้แบบกะทันหัน

คือยืนอยู่ดี ๆ หูก็ดับไปเลย อาจจะเป็นทั้ง 2 ข้าง หรือเป็นเพียงข้างเดียวก็ได้ (ส่วนมากมักจะเป็นข้างเดียว)

แต่ตามทฤษฎีของแพทย์นั้น ได้ระบุว่าโรคหูดับ คือโรคที่หูมีการได้ยินลดลงไปอย่างน้อย 30-50 เดซิเบล เป็นเวลามากกว่า 3 วันขึ้นไป

โรคหูดับสามารถเกิดขึ้นได้กับทุกเพศทุกวัย แต่ในปัจจุบันนี้สามารถพบได้ในผู้ป่วยที่เป็นวัยรุ่นไปจนถึงช่วงวัยกลางคนมากยิ่งขึ้น

เพราะมีความนิยมในเรื่องของการฟังเพลงผ่านหูฟังดัง ๆ ส่วนกลุ่มเสี่ยงที่มักเจออีกกลุ่มก็คือ

ผู้ที่ทำงานอยู่ในวงการบันเทิง เช่น ดารา นักร้อง พิธีกร เพราะต้องอยู่ท่ามกลางเสียงที่ดังตลอดเวลา

สาเหตุของการเกิดโรคหูดับ

ถึงแม้ว่าแพทย์จะค้นพบสาเหตุที่ทำให้เกิดโรคหูดับได้ถึง 4 สาเหตุ แต่ทั้ง 4 สาเหตุนี้ก็ใช้ได้กับผู้ป่วย 10-15% จากผู้ป่วยทั้งหมดเท่านั้น

ส่วนที่เหลืออีก 85% ยังไม่สามารถหาสาเหตุเจอ เราจึงขอสรุปสาเหตุสำคัญ 4 สาเหตุที่ทำให้เกิดโรคหูดับออกมาดังต่อไปนี้

1.หูชั้นในมีเลือดไปหล่อเลี้ยงไม่เพียงพอ

ปกติแล้ว หูชั้นในมักจะต้องมีเลือดในปริมาณมากไปหล่อเลี้ยง เพื่อให้สามารถทำงานได้ตามปกติอยู่เสมอ

แต่หากเกิดปัญหาขึ้นกับเส้นเลือดที่ไปหล่อเลี้ยงหูชั้นใน เช่น มีการอุดตัน มีการตีบหรือแตก ก็อาจจะทำให้เป็นโรคหูดับได้

2.เกิดจากการที่ภูมิคุ้มกันในร่างกายปฏิเสธตัวเอง

ผู้ป่วยที่มีปัญหาเรื่องของภูมิคุ้มกัน โดยเฉพาะการที่ร่างกายสร้างภูมิต้านทานขึ้นมาต่อต้านเนื้อเยื่อของตัวเอง

หรือที่เรียกกันว่า “แพ้ภูมิตัวเอง” จนทำให้เป็นโรคลูปัส โรคโคแกน มักมีอาการของโรคหูดับร่วมอยู่ด้วย

3.เกิดจากเชื้อไวรัส

มีไวรัสในโลกมากกว่า 50  ชนิด ที่สามารถทำให้น้ำเหลืองในร่างกายมีการเปลี่ยนแปลงได้ หากมีการรับเชื้อเข้าไป

แต่ไวรัสที่มีผลโดยตรงกับโรคหูดับ ก็คือ ไวรัสไข้หวัดใหญ่ ไวรัสคางทูม ไวรัสอีสุกอีใส และไวรัสงูสวัด เป็นต้น

4.มีปัญหาผิดปกติเกี่ยวกับเยื่อในหูชั้นใน

เยื่อบาง ๆ นี้จะทำหน้าที่ในการกั้นหูชั้นในให้ออกจากหูชั้นกลาง และเป็นที่เก็บสะสมของสารอาหารที่เป็นน้ำ

หากมีการฉีกขาด หรือมีความผิดปกติกับเยื่อนี้ขึ้น ก็จะทำให้ของสารน้ำมีการรั่วไหลออกมาจากหู เป็นเหตุให้ดูกับได้เช่นกัน

นอกจากนี้ ยังมีปัจจัยเสี่ยงที่ทำให้เกิดโรคหูดับอีกมากมาย เช่น

  • การได้ยินเสียงดังมากๆ เช่น เสียงฟ้าผ่า เสียงระเบิดในระยะใกล้ ๆ สามารถทำให้หูดับแบบเฉียบพลันได้
  • มีความผิดปกติเกี่ยวกับหลอดเลือด โดยเฉพาะเรื่องของความดันโลหิตสูง การมีอาการหลอดเลือดอักเสบ
  • ได้รับการผ่าตัดหูมาก่อน ไม่ว่าจะจากอุบัติเหตุ หรือเพื่อรักษาโรคเกี่ยวกับหู
  • ความเครียดและพักผ่อนไม่เพียงพอ 2 ปัจจัยนี้ก็เป็นเหตุที่ทำให้หูดับได้

อาการของโรคหูดับ

อาการของโรคหูดับทั่ว ๆ ไปที่แพทย์มักจะพบ คือ การหูดับประเภทที่ได้ยินเสียงไม่ชัดเจน หรือไม่ได้ยินเสียงไปเลย

เมื่อตื่นนอนในตอนเช้า แต่อาจจะดีขึ้นเมื่อระยะเวลาผ่านไป 2-3 ชั่วโมง แต่หากมีอาการรุนแรงมากขึ้น

จะพบว่ามีอาการปวดศีรษะ เวียนหัว บ้านหมุน มีเสียงดังวิ้ง ๆ อยู่ในหู เหมือนอาการของโรคน้ำในหูไม่เท่ากัน

วิธีรักษาโรคหูดับ

การรักษาโรคหูดับโดยวิธีการแพทย์นั้น มีวิธีที่สำคัญมาก ๆ ก็คือ การให้ผู้ป่วยหยุดทำกิจกรรมทุกอย่างเป็นเวลาอย่างน้อย 1 สัปดาห์

เพื่อทำการพักผ่อนให้ประสาทหูได้ฟื้นตัวขึ้นมาเอง โดยในช่วงนี้ไม่ควรเข้าใกล้สถานที่ที่มีเสียงดัง หรือห้ามฟังอะไรก็ตามผ่านทางหูฟัง

จะช่วยให้หายเร็วมากยิ่งขึ้น แต่ถ้าหากมีการพบว่าโรคหูดับที่เป็น เกิดจากการติดเชื้อไวรัสบางชนิด

แพทย์อาจจะทำการพิจารณาให้ยาต้านไวรัสร่วมกับยาสเตียรอยด์ ที่จะช่วยรักษาอาการได้ตรงมากยิ่งขึ้น

วิธีป้องกันโรคหูดับ

การป้องกันโรคหูดับที่ดีที่สุดคือ การหลีกเลี่ยงปัจจัยเสี่ยงด้วยการไม่ฟังเพลง หรืออยู่ในสถานที่ที่เสียงดังมากเกินไป

เช่น สถานก่อสร้าง ผับ บาร์ และงานคอนเสิร์ต เป็นต้น นอกจากนี้ก็ควรดูแลตัวเอง พักผ่อนให้เพียงพอจะช่วยป้องกันการเกิดโรคหูดับได้

Credit : beneficialhearing.com

โรคหูดับ  หรือ ไข้หูดับ เป็นโรคที่เกิดขึ้นแล้วต้องใช้ระยะเวลาในการรักษาตัวนาน ซึ่งอาจจะต้องทำให้เสียงาน

เสียการเรียน และเสียเวลาโดยใช่เหตุ เพราะฉะนั้นใครที่ชอบฟังเพลงผ่านหูฟังดัง ๆ หรือชอบไปปาร์ตี้บ่อย ๆ

ก็ควรเลือกให้ตัวเองได้รับฟังเสียงในระดับที่พอเหมาะ อย่าให้ดังจนเกินไป เพื่อป้องกันไม่ให้เกิดโรคนี้ขึ้นกับตัวเราเอง