โรคอ่อนเพลีย เป็นโรคที่คนวัย 40 ปีขึ้นไป ควรที่จะต้องทำความเข้าใจ เพราะเป็นโรคที่ส่งผลต่อการใช้ชีวิตได้มากพอสมควร
เนื่องจากผู้ป่วยมักจะมีอาการอ่อนเพลียหรือมีอาการเหนื่อยล้าบ่อยๆ แม้ว่าเป็นโรคที่ไม่ได้มีอันตรายร้ายแรงถึงแก่ชีวิต
แต่หากเป็นแล้วก็ย่อมทำให้คุณภาพในการดำเนินชีวิตแต่ละวันเป็นไปได้อย่างยุ่งยาก ส่งผลทำให้เกิดเป็นอุปสรรคตามมา
ดังนั้น เราจึงควรศึกษาทำความรู้จักกับโรคใกล้ตัวสำหรับคนวัย 40 กันให้มากขึ้น สำหรับ โรคอ่อนเพลียคืออะไร สาเหตุ อาการและวิธีรักษาป้องกันทำได้อย่างไรบ้าง ไปติดตามกันเลย
โรคอ่อนเพลีย คืออะไร?
โรคอ่อนเพลีย (Chronic fatigue syndrome) คือ โรคที่ทำให้เกิดความอ่อนเพลีย เหนื่อยล้า หรือจะเรียกว่าเป็น อาการปวดกล้ามเนื้อจากสมองและไขสันหลังอักเสบก็เป็นได้
สาเหตุของโรคอ่อนเพลีย
โรคอ่อนเพลียเป็นโรคที่มักจะเกิดกับผู้ที่มีอายุ 40-50 ปีขึ้นไป แต่ไม่เพียงแค่อายุเท่านั้นที่สามารถส่งผลทำให้เกิดสาเหตุของโรค
แต่ยังมีปัจจัยอื่นๆ ที่สามารถส่งเสริมทำให้ผู้ที่มีอายุ 40-50 ปีเป็นโรคนี้ได้เช่นกัน ซึ่งมีดังนี้
1.การติดเชื้อไวรัส
การติดเชื้อไวรัสสามารถที่จะพัฒนาให้ผู้ที่ติดเชื้อ มีอาการอ่อนเพลีย โดยเชื้อไวรัสที่ทำให้เกิดโรคได้ มีดังนี้
- Epstein-Barr virus
- mouse leukemia viruses
- Human Herpesvirus 6
- Ross River virus
- ไวรัสหัดเยอรมัน
2.ปัญหาระบบภูมิคุ้มกัน
เมื่อระบบภูมิคุ้มกันภายในร่างกายอ่อนแอลง ก็จะทำให้ร่างกายเกิดอาการอ่อนเพลีย และสามารถทำให้เป็นแบบเรื้อรังได้
3.ปัญหาระดับฮอร์โมน
เมื่อระดับฮอร์โมนภายในร่างกายไม่สมดุล อันเนื่องจากอายุมากขึ้น ระบบภายในจึงทำงานผิดปกติได้ง่าย
ดังนั้น เมื่อระดับฮอร์โมนภายในร่างกายไม่สมดุล ย่อมทำให้ระบบอื่นๆ ภายในร่างกายต้องทำงานหนัก ส่งผลทำให้เกิดอาการอ่อนเพลียได้ตามมา
อาการของโรคอ่อนเพลียเรื้อรัง
สำหรับโรคอ่อนเพลียเรื้อรัง อาการที่สามารถสังเกตเห็นได้อย่างชัดเจน มีดังนี้
- ปวดหัว
- สับสน
- กล้ามเนื้อกระตุก
- ปวดกล้ามเนื้อ
- ปวดท้อง
- นอนไม่หลับ
- ความรู้สึกไม่สดชื่น
- ลืมบ่อย
- ต่อมน้ำเหลืองบวม
- รู้สึกเหนื่อย
- เจ็บคอ
ภาวะแทรกซ้อนของโรคอ่อนเพลียเรื้อรัง
โรคอ่อนเพลียเรื้อรังสามารถที่จะเกิดภาวะแทรกซ้อนได้ ดังนี้
อาการซึมเศร้า : สำหรับอาการซึมเศร้าสามารถที่จะเกิดขึ้นได้ เนื่องจากเมื่อเป็นโรคอ่อนเพลียจะส่งผลให้ไม่สามารถทำอะไรได้อย่างที่ต้องการ จึงทำให้เกิดความซึมเศร้าได้
ปัญหาการเข้าสังคม : เมื่อเป็นโรคอ่อนเพลียก็อาจจะทำกิจกรรมไม่สะดวก โดยเมื่อเข้ากิจกรรมไม่ได้
ทำให้การเข้าสังคมเพื่อพบปะ และไปทำกิจกรรมพร้อมกับผู้อื่นไม่ได้ จึงเป็นปัญหาต่อการเข้าสังคม
การใช้ชีวิต : อย่างที่ทราบว่าเพียงแค่ทำกิจกรรมบางอย่างก็อาจจะทำให้เกิดอาการเพลียหรือเหนื่อยง่าย
ดังนั้น การใช้ชีวิตในการไปทำกิจกรรม เช่น การไปออกกำลังกาย หรือการไปเที่ยวที่อาจจะต้องมีการผจญภัย กิจกรรมเหล่านี้ล้วนแล้วแต่เป็นข้อจำกัดที่เกิดกับการใช้ชีวิตได้ง่ายทั้งสิ้น
การงาน : โรคอ่อนเพลียสามารถที่จะทำให้อ่อนเพลียได้อยู่ตลอดเวลา จึงส่งผลทำให้ไม่สามารถไปทำงานได้ และเป็นปัญหาในการไปทำงาน เพราะอาจจะต้องขาดงานบ่อยๆ
การวินิจฉัยโรคอ่อนเพลีย
โรคอ่อนเพลียสามารถที่จะทำการวินิจฉัยได้ ซึ่งจะต้องมีการวินิจฉัยโดยทั่วไปและการวินิจฉัยทางห้องปฏิบัติการ ซึ่งสามารถทำได้ดังนี้
1.การสอบถาม
เริ่มแรกจะทำการสอบถามผู้ป่วยเกี่ยวกับอาการที่เกิดขึ้น โดยสอบถามประวัติการรักษาจากทางการแพทย์ เพื่อความแม่นยำในการวินิจฉัย
นอกจากนี้ จะต้องสอบถามเกี่ยวกับระยะเวลาที่เกิดอาการต่างๆ รวมถึงความรุนแรงที่มีการแสดงอาการออกมา
เพื่อความแม่นยำในการวินิจฉัยด้วย ซึ่งผู้ป่วยควรบอกอาการอย่างละเอียด เนื่องจากมีหลายโรคที่มีความคล้ายคลึงกับโรคอ่อนเพลีย เช่น
- โรคลูปัส
- การติดเชื้อโมโนนิวคลีโอซิส
- โรคลายม์
- ภาวะไทรอยด์ฮอร์โมนต่ำ
- อาการปวดกล้ามเนื้อ
- โรคซึมเศร้า
2.การทดสอบการนอนหลับ
แพทย์จะแนะนำการทดสอบการนอนหลับเพื่อหาความผิดปกติ เพราะบางรายอาจจะมีปัญหาในการเกิดภาวะหยุดหายใจในขณะนอนหลับ
จึงส่งผลต่ออาการอ่อนเพลียหลังจากตื่นนอน ซึ่งเป็นการตรวจเพื่อหาความแม่นยำต่อการเกิดโรค
3.การตรวจเลือด
การตรวจเลือดสามารถสร้างความแม่นยำในการวินิจฉัยโรคอ่อนเพลียได้ เพราะการตรวจเลือดสามารถทำให้พบโรคอื่นๆ ที่ส่งผลต่อการเป็นโรคอ่อนเพลีย ดังนี้
- โรคโลหิตจาง
- โรคเบาหวาน
- โรคต่อมไทรอยด์
4.การทดสอบความเครียด
เนื่องจากความเครียดสามารถส่งผลทำให้การทำงานของหัวใจและปอดมีความบกพร่อง จึงทำให้รู้สึกเหนื่อยได้ง่ายมากขึ้น
5.การทดสอบปัญหาสุขภาพจิต
การทดสอบปัญหาสุขภาพจิต เป็นการทดสอบสำคัญที่จะช่วยยืนยันได้ เนื่องจากหากผู้ป่วยมีปัญหาสุขภาพจิตอย่างเช่น
ภาวะซึมเศร้า ภาวะวิตกกังวล โรคไบโพลาร์ ปัญหาเหล่านี้สามารถส่งผลทำให้เหนื่อยได้ง่ายจากการเปลี่ยนแปลงของความคิด
วิธีรักษาโรคอ่อนเพลีย
สำหรับการรักษาโรคอ่อนเพลีย จะเป็นการเน้นและช่วยบรรเทาอาการที่เกิดขึ้น ดังนี้
1.ยา
โรคอ่อนเพลียเรื้อรัง แพทย์จะทำการสั่งจ่ายยา โดยอย่างแรกแพทย์จะจ่ายยาแก้ปวด เพื่อเป็นการแก้ปวดข้อรวมถึงอาการปวดต่างๆ
ซึ่งก็ขึ้นอยู่กับผู้ป่วยแต่ละราย นอกจากนี้แพทย์จะมีการสั่งยาต้านอาการซึมเศร้า เพื่อช่วยให้ผู้ป่วยสามารถนอนหลับได้ง่ายมากยิ่งขึ้น
2.การออกกำลังกาย
การออกกำลังกายสามารถที่จะช่วยปรับสมดุลให้กับการทำงานของระบบภายในร่างกายได้ โดยผู้ป่วยโรคอ่อนเพลียในเบื้องต้น
ควรใช้ระยะเวลาออกกำลังกายไม่เกิน 10 นาทีต่อวัน หลังจากนั้นจึงจะสามารถเพิ่มระยะเวลาไปเรื่อยๆ แต่ก็ควรอยู่ภายใต้ในการดูแลของแพทย์
3.การบำบัดด้วยการพูด
การบำบัดด้วยการพูด สามารถที่จะใช้กับผู้ป่วยที่มีสาเหตุเกี่ยวข้องกับภาวะทางจิต โดยเป็นการกระตุ้นให้ผู้ป่วยได้เผชิญ
และเรียนรู้เกี่ยวกับโรคอ่อนเพลีย เพื่อที่จะช่วยในการปรับเปลี่ยนทางพฤติกรรมและความคิด
4.การบำบัดทางเลือก
สำหรับการบำบัดทางเลือกอาจจะยังไม่ได้มีงานวิจัยที่ช่วยยืนยันผลได้อย่างชัดเจน แต่การบำบัดทางเลือกก็สามารถที่จะช่วยรักษาอาการที่เกิดขึ้นของโรคอ่อนเพลียได้
โดยมีการเลือกบำบัด เช่น การบำบัดด้วยสมุนไพร การบำบัดด้วยธรรมชาติ ซึ่งผลที่เกิดขึ้นก็ขึ้นอยู่กับผู้ป่วยแต่ละราย
วิธีป้องกันโรคอ่อนเพลีย
โรคอ่อนเพลียสามารถที่จะป้องกันได้ โดยควรที่จะต้องทำความเข้าใจโรคนี้อย่างชัดเจน เพราะจะต้องมีการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมเพื่อลดความเสี่ยงในการเป็นโรคอ่อนเพลีย ดังนี้
อาหาร : สำหรับการเลือกรับประทานอาหารเป็นเรื่องสำคัญเพื่อเป็นการป้องกันโรคอ่อนเพลีย โดยควรที่จะได้รับอาหารที่มีพลังงานเหมาะสมสำหรับร่างกาย
ควรที่จะลดไขมันอิ่มตัวและน้ำตาล ซึ่งอาหารที่เหมาะสม เช่น ผักหลากสี นมไขมันต่ำ ปลา และธัญพืช
ออกกำลังกาย : การออกกำลังกายสามารถป้องกันความเสี่ยงในการเกิดโรคอ่อนเพลียได้ แต่ทางที่ดีควรที่จะต้องวางแผนการออกกำลังกายให้เหมาะสม
จัดการความเครียด : ความเครียดเมื่อเกิดขึ้นสามารถที่จะทำให้มีความรู้สึกล้า และเหนื่อย ซึ่งไม่เพียงเท่านั้นยังสามารถที่จะส่งผลเสียต่อสุขภาพได้อีกด้วย
โดยเรื่องเครียดที่ส่งผลได้มาก เช่น การเงิน ครอบครัว การงาน เพราะฉะนั้น จึงควรที่จะหาวิธีกำจัดความเครียด ดังนี้
- การนั่งสมาธิ
- การฟังเพลง
- การบำบัดจากผู้เชี่ยวชาญ
Credit : honestdocs.co
โรคอ่อนเพลีย ถึงแม้จะเป็นโรคที่มีกระทบต่อการใช้ชีวิตประจำวัน แต่หากรู้จักวิธีวางแผนการใช้ชีวิต
ก็จะสามารถใช้ชีวิตกับการเป็นโรคอ่อนเพลียได้อย่างไม่ยุ่งยากวุ่นวาย เพราะอย่างไรแล้ว โรคนี้ก็ไม่ได้จัดว่าเป็นโรคที่มีอันตรายร้ายแรงต่อสุขภาพจนถึงขั้นเสี่ยงต่อการเสียชีวิต
การใช้ชีวิตอย่างค่อยๆ เข้าใจโรคและปรับพฤติกรรมให้สอดคล้องกัน ย่อมทำให้คุณภาพชีวิตดีขึ้นได้อย่างแน่นอน