โรคเนื้องอกต่อมใต้สมอง คืออะไร อันตรายไหม รักษาได้อย่างไรบ้าง?

โรคเนื้องอกต่อมใต้สมอง

โรคเนื้องอกต่อมใต้สมอง เป็นโรคเนื่องอกในระบบประสาทที่สามารถพบได้บ่อย อีกทั้งบริเวณต่อมใต้สมอง

เป็นบริเวณที่ผลิตฮอร์โมนที่คอยควบคุมการทำงานของร่างกายหลากหลายชนิด การที่เกิดโรค เนื้องอกต่อมใต้สมอง ขึ้นบริเวณนี้

จึงทำให้ระดับฮอร์โมนเปลี่ยนแปลง ร่างกายจึงทำงานผิดปกติไปจากเดิม วันนี้เราตามไปดูกันดีกว่าว่า

โรคเนื้องอกต่อมใต้สมอง คืออะไร มีสาเหตุ อาการและวิธีรักษาป้องกันอย่างไรบ้าง ติดตามพร้อมๆ กันเลยค่ะ

ต่อมใต้สมอง คืออะไร?

ต่อมใต้สมอง (Pituitary Gland) เป็นต่อมที่อยู่บริเวณสมองไฮโปทาลามัส แบ่งได้เป็น 3 ส่วน โดยต่อมใต้สมองส่วนหน้าและส่วนกลาง

มีลักษณะเป็นต่อมไร้ท่อ สามารถสร้างฮอร์โมนได้ โดยฮอร์โมนที่ถูกสร้างขึ้นจะหลั่งออกไปตามกระแสเลือด และไปออกฤทธิ์ทั่วทั้งร่างกาย

ในขณะที่ต่อมใต้สมองส่วนหลัง ไม่สามารถสร้างฮอร์โมนได้เอง แต่จะมีปลายประสาทจากสมองส่วนไฮโปทาลามัสมาสิ้นสุด และจะหลั่งฮอร์โมนต่าง ๆ ออกที่นี่

ฮอร์โมนสำคัญที่ถูกสร้างขึ้นจากต่อมใต้สมองส่วนหน้า

  • โกรทฮอร์โมน (Growth Hormone : GH) เกี่ยวข้องกับการเจริญเติบโตของร่างกาย
  • โกนาโดโทรฟิน (Gonadotrophin : Gn) เกี่ยวข้องกับการเจริญเติบโตของอวัยวะเพศ
  • โพรแลกทิน (Prolactin) กระตุ้นการหลั่งน้ำนม
  • นอกจากนี้ ยังมีฮอร์โมนที่ทำหน้าที่ต่อมไร้ท่ออื่น ๆ ให้ทำงานเป็นปกติ เช่น อะดรีโนคอร์ติโคโทรฟิน (adrenocorticotropic Hormone: ACTH) ที่จะไปกระตุ้นต่อมหมวกไต และไทรอยด์สติมิวเลติงฮอร์โมน (Thyroid Stimulating Hormone: TSH) ที่จะกระตุ้นต่อมไทรอยด์ให้สร้างฮอร์โมนไทรอยด์

สาเหตุของโรคเนื้องอกต่อมใต้สมอง และประเภทของโรค

การเกิดโรคเนื้องอกต่อมใต้สมองนั้น เกิดขึ้นจากมีการเจริญขึ้นอย่างผิดปกติของเนื้อเยื่อ ทำให้เนื้อเยื่อมีการเพิ่มจำนวนมากขึ้น

โดยส่วนมากผู้ป่วยที่มีเนื้องอก มักจะไม่ค่อยมีอาการผิดปกติ แต่เมื่อเนื้องอกมีการขยายขนาดขึ้นมาก ก็อาจจะทำให้เกิดความผิดปกติต่าง ๆ ขึ้นได้

โรคเนื้องอกต่อมใต้สมองสามารถแบ่งตามขนาดของก้อนเนื้อ หากก้อนเนื้องอกมีขนาดใหญ่กว่า 1 เซนติเมตร

เรียกว่า macroadenoma ซึ่งจะเริ่มส่งผลต่อเนื้อเยื่อสมองข้างเคียงแล้ว แต่หากมีขนาดเล็กกว่า 1 เซนติเมตร เรียกว่า macroadenoma

นอกจากนี้ ยังสามารถแบ่งได้ตามความสามารถในการสร้างและหลั่งฮอร์โมน ในกรณีที่เนื้องอกสามารถสร้างฮอร์โมนได้

เรียกว่า functioning adenoma เช่น เนื้องอกที่สร้างฮอร์โมนโปรแลคติน แต่หากไม่มีการสร้างฮอร์โมนจากเนื้องอก เรียกว่า nonfunctioning adenoma

อาการของโรคเนื้องอกต่อมใต้สมอง

ส่วนใหญ่แล้วผู้ป่วยโรคเนื้องอกต่อมใต้สมองมักไม่ค่อยมีอาการ เพราะขนาดก้อนเนื้อมีขนาดเล็กและไม่สร้างฮอร์โมนใด ๆ

ที่จะส่งผลต่อร่างกาย แต่หากมีเลือดออกมาจากเนื้องอก ผู้ป่วยบางรายอาจมีอาการปวดศีรษะอย่างรุนแรงได้

อาการส่วนใหญ่ที่เกิดขึ้น มักจะเกี่ยวข้องกับอาการทางระบบต่อมไร้ท่อที่เกิดความผิดปกติ เช่น หากเกิดความผิดปกติกับฮอร์โมนโปรแลคติน

ก็จะทำให้ผู้ป่วยมีภาวะน้ำนมไหล ถ้าฮอร์โมนที่เกี่ยวข้องกับระบบสืบพันธุ์ผิดปกติ ก็จะทำให้รอบเดือนผิดปกติ

เสื่อมสมรรถภาพทางเพศ หรือหมดความต้องการทางเพศ เป็นต้น ส่วนความผิดปกติที่พบได้น้อย มักเป็นความผิดปกติ

เกี่ยวกับ โกรทฮอร์โมน (growth hormone) หรือฮอร์โมนที่ควบคุมเกี่ยวกับการเจริญเติบโตของร่างกาย

ตัวเนื้องอกจะทำให้ฮอร์โมนชนิดนี้ถูกผลิตออกมามากกว่าปกติ ถ้าเกิดในเด็กจะทำให้เกิดภาวะ gigantism

หรือภาวะที่มีร่างกายใหญ่กว่าปกติกว่าเด็กในวัยเดียวกันมาก แต่ถ้าเกิดในผู้ใหญ่จะทำให้เกิดโรค acromegaly

ซึ่งจะเกิดการเจริญเติบโตอย่างผิดปกติของมือ เท้า และใบหน้า ซึ่งอวัยวะเหล่านี้จะขยายขนาดใหญ่ขึ้น

เนื้องอกต่อมใต้สมองอาจกระตุ้นการผลิตฮอร์โมนและภาวะหรือโรคอื่น ๆ ได้อีก เช่น ฮอร์โมนไทรอยด์ ทำให้น้ำหนักลด ขี้ร้อน มือสั่น

ฮอร์โมนคอร์ติซอล จะส่งผลต่อระบบเผาผลาญพลังงาน ทำให้เกิด Cushing’s syndrome ซึ่งผู้ป่วยจะมีอาการแขนขาเล็ก ลงพุง หน้ากลม

คล้ายพระจันทร์ ผมร่วง นอกจากนี้ ผู้ป่วยโรคเนื้องอกต่อมใต้สมอง มีโอกาสสูงที่จะเป็นโรคเบาหวาน ดังนั้น ผู้ป่วยควรตรวจวัดระดับน้ำตาลในเลือดสม่ำเสมอ

นอกจากอาการที่เกิดขึ้นจากความผิดปกติของต่อมไร้ท่อแล้ว ถ้าเนื้องอกต่อมใต้สมองมีขนาดใหญ่ขึ้น อาจทำให้ก้อนเนื้องอก

ไปกดทับเนื้อเยื่อสมองที่อยู่รอบ ๆ ทำให้เกิดอาการต่าง ๆ ขึ้นได้ ซึ่งเส้นประสาทตา (optic nerve) มักเป็นส่วนที่ถูกกดทับมากที่สุด

อาการที่เกิดขึ้นเมื่อเส้นประสาทตาถูกกดทับ ได้แก่ อาการตามัว มองไม่ชัด เห็นภาพมืด และถ้าเกิดการกดทับที่บริเวณ optic chiasm

ซึ่งเป็นบริเวณที่เส้นประสาทตามั้งสองข้างไขว้กัน จะทำให้ผู้ป่วยสูญเสียลานสายตาด้านนอกทั้งสองตา นอกจากนี้ ในผู้ป่วยบางราย

อาจเห็นภาพซ้อน ม่านตาขยายผิดปกติ หนังตาตก มีอาการชาหรือปวดบริเวณใบหน้า อาจเกิดจากเนื้องอกไปกดทับเส้นประสาทข้าง ๆ กระดูก

การวินิจฉัยโรคเนื้องอกต่อมใต้สมอง

แพทย์สามารถวินิจฉัยโรคเนื้องอกต่อมใต้สมองได้จากการซักประวัติ การดูประวัติความเจ็บป่วยที่ผ่าน ๆ มา

ว่าเกี่ยวข้องกับอาการของโรคเนื้องอกต่อมใต้สมองหรือไม่ ถ้าแพทย์สงสัยว่าผู้ป่วยจะเป็นโรคเนื้องอกต่อมใต้สมองจริง

ก็จะตรวจโดยละเอียดโดยใช้การเอกซเรย์คอมพิวเตอร์ หรือการเอกซเรย์ด้วยคลื่นแม่เหล็กไฟฟ้า (MRI)

ซึ่งจะทำให้เห็นลักษณะทางภายวิภาคของสมอง ทำให้เห็นร่องรอยของก้อนเนื้องอกในสมอง

รวมถึงยังสามารถระบุความรุนแรงและตำแหน่งของเนื้องอก และนำผลที่ได้ไปวางแผนการรักษาต่อไป

วิธีรักษาโรคเนื้องอกต่อมใต้สมอง

วิธีรักษาโรคเนื้องอกต่อมใต้สมองนั้น ขึ้นกับลักษณะของเนื้องอกที่ผู้ป่วยเป็น ว่ามีขนาดของก้อนเนื้อเท่าไร

เนื้องอกมีความสามารถสร้างฮอร์โมนหรือไม่ ถ้าเนื้องอกสร้างฮอร์โมนได้ แล้วฮอร์โมนอะไรบ้างที่เกิดความผิดปกติขึ้น

มีเนื้อเยื่อสมองข้างเคียงได้รับผลกระทบหรือไม่ ซึ่งแพทย์จะใช้ข้อมูลจากการทำเอกซเรย์สมอง

ร่วมกับอาการและการตรวจอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้อง เพื่อวางแผนการรักษาที่ดีที่สุดให้กับผู้ป่วย

1.การผ่าตัดเพื่อรักษาโรคเนื้องอกต่อมใต้สมอง

ในกรณีที่เนื้องอกต่อมใต้สมองมีขนาดใหญ่ ตัวเนื้องอกมีการผลิตฮอร์โมนต่าง ๆ มากเกินไป แพทย์อาจพิจารณาโดยวิธีผ่าตัด

เอาเนื้องอกออกไป ซึ่งจะผ่าตัดได้สำเร็จมากน้อยแค่ไหนนั้น ขึ้นกับชนิดและตำแหน่งของเนื้องอก

โดยทั่วไปมีเทคนิค 2 ประการที่แพทย์จะใช้เผื่อผ่าตัดเอาเนื้องอกต่อมใต้สมองออก ได้แก่

วิธีผ่าตัดผ่านทางโพรงอากาศสฟีนอยด์ (transsphenoidal)

เป็นวิธีผ่าตัดที่โดยการสอดเครื่องมือเข้าไปทางรูจมูก และผ่าตัดนำเนื้องอกออกมา มีข้อดีคือผู้ป่วยไม่เจ็บตัวมาก ระยะเวลาพักฟื้นน้อย

ผลข้างเคียงน้อย ไม่มีรอยแผลเป็น สมองส่วนอื่น ๆ ไปบอบช้ำ แต่ถ้าเนื้องอกมีขนาดใหญ่หรืออยู่ใกล้เส้นประสาทอื่น ๆ ก็อาจไม่สามารถใช้วิธีนี้ได้

วิธีผ่าตัดโดยเปิดกะโหลกศีรษะ (Transcranial)

เป็นวิธีที่ถูกใช้น้อยลงในผ่าตัดเอาเนื้องอกต่อมใต้สมองออก มักใช้การเปิดกะโหลกศีรษะในกรณีที่เนื้องอกมีขนาดใหญ่ มีความซับซ้อน หรือเนื้องอกลุกลามออกทางด้านข้าง

2.การรักษาโรคเนื้องอกต่อมใต้สมองด้วยการฉายรังสี

การรักษาด้วยการฉายรังสี จะใช้รังสีเอกซ์ที่มีพลังงานสูงเข้าทำลายเนื้องอก ซึ่งวิธีการฉายรังสีนี้ แพทย์อาจทำแนะนำให้ทำหลังการผ่าตัด

เพื่อกำจัดเนื้องอกให้หมดไป หรือในกรณีที่ไม่สามารถผ่าตัดได้ ก็จะสามารถใช้วิธีการฉายรังสีเพียงอย่างเดียวก็ได้เช่นกัน

3.การใช้ยา

การใช้ยามักใช้ในกรณีที่เนื้องอกต่อมใต้สมองเป็นก้อนเนื้อขนาดเล็กและมีการสร้างฮอร์โมน โดยยาที่ใช้มักเป็นยาที่ช่วยลดการสร้างฮอร์โมน เช่น

ยาที่ยับยั้งเนื้องอกที่ผลิตฮอร์โมนโปรแลกติน

เช่น ยา cabergoline และยา bromocriptine ซึ่งจะช่วยลดการหลั่งโปรแลคตินออกมาในกระแสเลือด รวมถึงช่วยลดขนาดของเนื้องอกได้

อาการข้างเคียงที่อาจจะเกิดขึ้นหลังจากการรับประทานยา ได้แก่ ง่วงซึม คลื่นไส้ อาเจียน ท้องเสีย ท้องผูก สับสน และอาจมีภาวะซึมเศร้าเกิดขึ้นได้

ยาที่ยับยั้งเนื้องอกที่ผลิตโกรทฮอร์โมน

เช่น ยา somatosatatin เป็นยาที่มีประโยชน์เมื่อการผ่าตัดไม่สามารถหยุดการสร้างโกรทฮอร์โมนได้ โดยยาในกลุ่มนี้จะเป็นยาฉีด

มักให้ห่างกันทุก ๆ 4 สัปดาห์ อาการข้างเคียงที่อาจเกิดขึ้นจากยา ได้แก่ คลื่นไส้ อาเจียน ปวดศีรษะ ปวดท้อง โดยอาการข้างเคียงจะค่อย ๆ ดีขึ้น

หลังจากการได้รับยา นอกจากนี้ ยังมียา pegvisomant ที่ช่วยลดผลของโกรทฮอร์โมนที่มีต่อร่างกาย เป็นยาฉีด และอาจมีผลต่อตับในผู้ป่วยบางราย

4.การให้ฮอร์โมนทดแทน

ในบางกรณีที่มีการผ่าตัดเอาเนื้องอกต่อมใต้สมองออก แล้วส่งผลทำให้การผลิตฮอร์โมนบางชนิดผิดปกติหรือผลิตไม่ได้

แพทย์อาจใช้ฮอร์โมนทดแทน เพื่อทดแทนฮอร์โมนดังกล่าวเพื่อให้ร่างกายของผู้ป่วยทำงานได้อย่างเป็นปกติ

Credit : pinterest.com

โรคเนื้องอกต่อมใต้สมอง (pituitary tumor) เป็นโรคเนื้องอกที่ส่งผลต่อการผลิต และการหลั่งฮอร์โมนหลายชนิดในร่างกาย โดยตัวเนื้องอกมีทั้งชนิดที่ผลิตฮอร์โมนและไม่ผลิตฮอร์โมน

จะเห็นกันแล้วว่าโรคนี้คืออะไร มีสาเหตุ อาการและวิธีรักษาอย่างไรบ้าง จากนี้เมื่อได้รู้จักโรคนี้กันมากขึ้นแล้ว ก็ควรหมั่นดูแลสุขภาพให้ดี

หากพบความผิดปกติก็ควรรีบพบแพทย์ เพื่อตรวจรักษาตั้งแต่เนิ่นๆ ก่อนที่โรคร้ายจะมาเยือนอย่างเต็มตัว