โรคเนื้องอกไขสันหลัง คืออะไร มีวิธีรักษาอย่างไรบ้าง?

โรคเนื้องอกไขสันหลัง Spinal cord tumors

โรคเนื้องอกไขสันหลัง เป็นอีกหนึ่งโรคทางระบบประสาทที่น่ากลัวและอันตราย และเมื่อเกิดขึ้นแล้ว มักจะส่งผลลบต่อคุณภาพชีวิตของผู้ป่วยและคนในครอบครัว

และบางครั้งที่ความเสียหายต่อระบบประสาทอาจเกิดขึ้นอย่างถาวร ส่งผลให้ผู้ป่วยเกิดความพิการได้ตลอดชีวิต

เนื้องอกไขสันหลัง คืออะไร

เนื้องอกไขสันหลัง (Spinal cord tumors) เป็นเนื้องอกที่ทำให้เกิดภาวะกดทับไขสันหลัง  รวมถึง รากประสาทต่าง ๆ ที่มีความสำคัญ ทำให้บางส่วนของร่างกายที่ถูกควบคุมด้วยรากประสาทนั้น ๆ ทำงานบกพร่อง

ถึงแม้ว่าจะเป็นโรคที่มีอันตราย แต่ถ้าผู้ป่วยได้รับการตรวจวินิจฉัยและรักษาอย่างรวดเร็ว ผลการรักษาก็จะเป็นที่น่าพึงพอใจ เนื้องอกไขสันหลังพบได้บ่อยในช่วงอายุราว ๆ วัยกลางคน

ถึงแม้ว่าในวัยเด็กจะพบได้น้อยกว่า แต่การพยากรณ์โรคในเด็กมักแย่กว่า โดยอัตราการพบเมื่อแยกเพศพบว่า

โรคเนื้องอกไขมันหลังมักพบในเพศชายมากกว่าเพศหญิง ส่วนบริเวณที่พบเนื้องอกมักพบที่ระดับอก (thoracic) ซึ่งพบได้บ่อยที่สุด

ประเภทของเนื้องอกไขสันหลัง (classification)

สามารถแบ่งเนื้องอกไขสันหลังได้เป็น 2 ประเภท ได้แก่ เนื้องอกนอกเยื่อบุไขสันหลัง (extradural tumor)

และเนื้องอกในเยื่อบุไขสันหลัง (Intradural tumor)  โดยส่วนใหญ่แล้วเนื้องอกมักเกิดขึ้นในเยื่อบุไขสันหลังมากกว่านอกเยื่อบุไขสันหลัง ในอัตราส่วน 3 ต่อ 2

1.เนื้องอกนอกเยื่อบุไขสันหลัง (extradural tumor)

เป็นเนื้องอกที่พบได้บ่อยที่สุด มักเป็นเนื้องอกมะเร็งที่แพร่กระจายมาจากเนื้อเยื่อมะเร็งที่อื่น โดยพบว่าแพร่กระจายจากปอดมากที่สุด

และยังแพร่ได้จากที่อื่น ๆ ได้แก่  มะเร็งเต้านม ไต ต่อมไทรอยด์ และมะเร็งต่อมลูกหมาก โดยเนื้องอกนอกเยื่อบุไขสันหลัง

ยังแบ่งได้เป็น 2 ชนิดย่อย คือ เนื้องอกของปลอกประสาทไขสันหลัง Neurinoma หรือ Schwannoma และเนื้องอกของ Leptomeninges

2.เนื้องอกในเยื่อบุไขสันหลัง (Intradural tumor) 

สามารถแบ่งย่อยอีกเป็น 2 ชนิดย่อย คือ เนื้องอกเกิดนอกไขสันหลัง (extramedullary tumor) และเนื้องอกเกิดในไขสันหลัง (intramedullary tumor)

อาการของโรคเนื้องอกไขสันหลัง

อาการของโรคเนื้องอกไขสันหลังจะปรากฏขึ้น เมื่อเนื้องอกไปกดทับที่ไขสันหลัง เริ่มแรกจะทำให้มีอาการปวดเฉพาะที่

และอาจมีปวดร้าวและอาจปวดแบบซู่ซ่าไปตามรากประสาทที่ได้รับผลกระทบ อาจมีอาการปวดมากยิ่งขึ้นในเวลานอนพักหรือในช่วงตอนกลางคืน

โดยอาการปวดที่เกิดขึ้นจะมีความแตกต่างกับ อาการปวดจากโรคกระดูกสันหลังเสื่อมอย่างชัดเจน ซึ่งมักจะมีอาการปวดเมื่อมีการขยับตัว ก้ม หรือเดิน

ในกรณีที่เนื้องอกที่กดทับไขสันหลังมีขนาดใหญ่ขึ้น อาจจะทำให้แขนขามีพละกำลังอ่อนลง บางครั้งอาจสูญเสียความรู้สึกเจ็บปวด

สูญเสียความรู้สึกจากการสัมผัส รวมถึงการสูญเสียการรับรู้อุณหภูมิร้อนเย็นในบริเวณที่ต่ำกว่าระดับไขสันหลังที่ถูกกดทับ

นอกจากนี้ ยังสามารถแบ่งอาการของโรคเนื้องอกไขสันหลัง ได้จากตำแหน่งของของไขสันหลังที่ถูกกดทับได้อีกด้วย

โดยถ้าการกดทับเกิดขึ้นที่ไขสันหลังระดับคอ อาจทำให้ผู้ป่วยมีอาการปวดต้นคอ

อาจร้าวลงแขนข้างใดข้างหนึ่งหรือเป็นทั้งสองข้างก็ได้ รวมถึงอาจมีอาการชาหรืออ่อนแรงได้เช่นกัน

ในกรณีที่เนื้องอกกดทับไขสันหลังที่ระดับอก ผู้ป่วยจะมีอาการปวดร้าวหรือปวดรัด ๆ ไปตามชายโครง

และอาจมีอาการชาตั้งแต่ช่วงลำตัวลงไป ถ้าโรคมีความรุนแรงมากขึ้นอาจส่งผลทำให้ขาอ่อนแรงและระบบขับถ่ายมีปัญหา

ถ้าเนื้องอกเกิดขึ้นที่ระดับเอวจะมีอาการปวดเอว ปวดร้าวลงขาข้างใดข้างหนึ่งหรือทั้งสองข้าง อาจมีอาการชาที่ขาและมีปัญหาเกี่ยวกับระบบขับถ่ายได้

การตรวจและวินิจฉัย

การตรวจวินิจฉัยโรคเนื้องอกไขสันหลังนั้น แพทย์มักจะเริ่มต้นด้วยการตรวจร่างกาย (physical examination)

รวมถึงการตรวจเฉพาะทางอย่างเช่น การตรวจระบบประสาท การเอกซเรย์ปอด การเอกซเรย์กระดูกสันหลังเพื่อหารอยโรค

รวมถึงการใช้เอกซเรย์คอมพิวเตอร์ (CT scan) และการใช้เอกซเรย์สนามแม่เหล็ก (MRI) เพื่อการวินิจฉัยที่ถูกต้อง

วิธีรักษา

วิธีรักษาโรคเนื้องอกไขสันหลัง สามารถทำได้ 3 วิธี ขึ้นกับความรุนแรง ตำแหน่งของโรค และความเหมาะสมที่ขึ้นกับผู้ป่วยแต่ละคน

1.การใช้ยารักษาโรคเนื้องอกไขสันหลัง

ตัวยาหลักที่ใช้จะเป็นยาในกลุ่มเคมีบำบัด รวมถึงการใช้ยาลดการอาการบวมของไขสันหลังทั้งในช่วงก่อนการผ่าตัดและหลังการผ่าตัด รวมถึงการใช้ยาในขณะที่มีการรักษาด้วยการฉายรังสี

2.การฉายรังสี

การรักษาโรคเนื้องอกไขสันหลังด้วยการฉายรังสี เป็นวิธีที่มักใช้ในกรณีที่แพทย์ไม่สามารถผ่าตัดนำเนื้องอกออกได้หมด การใช้วิธีฉายรังสีร่วมด้วยก็จะช่วยหยุดการเจริญเติบโต และทำลายเนื้องอกที่เหลืออยู่ได้

แต่ทั้งนี้ก็ขึ้นอยู่กับชนิดของเนื้องอกว่า มีการตอบสนองต่อวิธีการรักษาด้วยการฉายแสงดีแค่ไหน

3.การผ่าตัด

การผ่าตัดเอาเนื้องออกที่กดทับไขสันหลังออก เป็นวิธีแก้ปัญหาที่รวดเร็ว  ได้ผลแน่นอน และถ้าสามารถตัดเนื้องอกออกได้หมด

ผู้ป่วยก็จะหายขาดจากโรค รวมถึงได้ชิ้นเนื้อมาตรวจวินิจฉัยเพิ่มเติม อย่างไรก็ตาม เนื่องจากเนื้องอกไขสันหลังที่พบส่วนใหญ่

ไม่ใช่เนื้องอกมะเร็ง ทำให้ผู้ป่วยอาจไม่มีความจำเป็นต้องรับการผ่าตัดในทันที โดยจะผ่าตัดเมื่อไรนั้นขึ้นอยู่กับอาการของโรค

ถ้ายังไม่รุนแรงมาก เช่น มีอาการปวดร่วมกับมี แต่ยังไม่มีอาการอ่อนแรง ผู้ป่วยและญาติก็ยังมีเวลาในการพูดคุยกับแพทย์เจ้าของไข้

เพื่อหาแนวทางการรักษาที่ดีที่สุด รวมถึงการเตรียมตัวผู้ป่วยให้พร้อมกับการผ่าตัด

เช่น การทานอาหารเพื่อเสริมสร้างความแข็งแรง การออกกำลังกาย รวมถึงการดูแลเรื่องสภาพจิตใจ

แต่ในกรณีที่เป็นเนื้องอกนอกเนื้อไขสันหลังแต่อยู่ภายในเยื่อหุ้มดูรา ซึ่งเป็นรอยโรคที่มีความรุนแรงและส่งผลกระทบต่อผู้ป่วยมาก

ควรรักษาด้วยวิธีการผ่าตัดอย่างรวดเร็วที่สุด เพื่อให้ทราบชนิดของเนื้องอก และทำให้ไขสันหลังมีการฟื้นตัวได้ดีขึ้น

การเตรียมตัวก่อนการผ่าตัด

ผู้ป่วยควรฝึกขึ้นลงจากเตียง การฝึกการหายใจและการไอ การทำความสะอาดร่างกาย การสระผม การโกนหนวด

ถอดฟันปลอม ถอดคอนแทคเลนส์ เครื่องประดับ รวมถึงต้องงดน้ำงดอาหารก่อนเที่ยงคืนในคืนก่อนวันเข้าห้องผ่าตัด

ความเสี่ยงจากการผ่าตัด

ถึงแม้ว่าการรักษาโรคเนื้องอกไขสันหลังด้วยการผ่าตัดจะเป็นวิธีรักษาแนะนำ แต่ก็อาจมีความเสี่ยงภายหลังจากการผ่าตัดได้

เนื่องจากเป็นการผ่าตัดใหญ่ ต้องอาศัยศัลยแพทย์ผู้เชี่ยวชาญ รวมถึง เป็นโรคที่เกี่ยวข้องกับระบบประสาทที่มีความบอบบาง ซึ่งความเสี่ยงและอาการแทรกซ้อนต่าง ๆ ที่อาจเกิดขึ้น ได้แก่

  • การติดเชื้อที่แผลผ่าตัด แผลผ่าตัดหายช้าหรือแผลไม่ติด
  • ภาวะหลอดเลือดตีบตัน
  • อาการปวดชาไม่หายไปหลังการผ่าตัด
  • ภาวะแขนขาอ่อนแรงอาจไม่ดีขึ้น
  • อาการชายังคงอยู่หรือมีแนวโน้มแย่ลงกว่าเดิม
  • กระดูกสันหลังเสียความมั่นคง
  • น้ำไขสันหลังรั่ว
  • เกิดภาวะเลือดออกอย่างรุนแรง โดยเฉพาะจากหลอดเลือดในช่องอกและช่องท้อง
  • การสูญเสียประสาทสัมผัสต่าง ๆ

โรคเนื้องอกไขสันหลัง

Credit : pobpad.com

โรคเนื้องอกไขสันหลัง เป็นโรคที่มีความรุนแรง เกิดจากการกดทับของเนื้องอกที่ไขสันหลัง ทำให้ระบบประสาทส่วนที่ถูกกดทับ

มีการทำงานเสียไป ส่งผลทำให้อวัยวะหลาย ๆ ส่วน โดยเฉพาะแขนและขาทำงานผิดปกติ มีอาการปวด ชา และถ้ามีอาการรุนแรง

อาจทำให้แขนขาอ่อนแรงได้ การ รักษาโรคเนื้องอกไขสันหลัง มีด้วยกันหลายวิธี ทั้งการใช้ยา การฉายรังสี และการผ่าตัด

ซึ่งการผ่าตัดนับว่าเป็นวิธีที่สามารถทำให้หายจากโรค เนื้องอกไขสันหลัง ได้อย่างเด็ดขาด แต่ก็มีความเสี่ยงอยู่บ้าง แต่อย่างไรก็ตาม

โรคเนื้องอกไขสันหลัง ถ้ามีการตรวจพบและได้รับการรักษาเร็วเท่าไร ผู้ป่วยก็จะสามารถกลับมาใช้ชีวิตได้อย่างเป็นปกติสุขเท่านั้น