โรคไขสันหลังเสื่อม คืออะไร ร้ายแรงไหม รักษาได้อย่างไรบ้าง?

โรคกระดูกสันหลังเสื่อม Spondylosis

หลายคนอาจจะเคยได้ยินเกี่ยวกับ โรคไขสันหลังเสื่อม กันมาบ้าง แต่จริง ๆ แล้วโรคไขสันหลังเสื่อมนั้นคือ โรคกระดูกสันหลังเสื่อม นั่นเอง

ซึ่งโรคนี้มีสาเหตุที่มาที่ไป อาการ การรักษา และการป้องกันอย่างไรนั้น สามารถติดตามได้จากบทความนี้เลย

โรคไขสันหลังเสื่อม หรือกระดูกสันหลังเสื่อม คืออะไร

โรคกระดูกสันหลังเสื่อม (Spondylosis) เป็นภาวะที่กระดูกสันหลัง หมอนรองกระดูกสันหลัง ข้อต่อ เส้นเอ็นยึดกระดูก

และกล้ามเนื้อที่บริเวณหลังทำงานผิดปกติหรือเสื่อมสภาพ ภาวะเสื่อมสภาพนี้จะส่งผลให้ความยืดหยุ่นของสันหลังลดลง

เกิดการยึดติดกันมากขึ้น มักจะเกิดกับกระดูกสันหลังที่ส่วนคอ (cervical spine) และกระดูกสันหลังส่วนอก (thoracic spine)

แต่ก็มีโอกาสเกิดขึ้นกับกระดูกสันหลังส่วนบั้นเอว (low back spine) ได้เช่นกัน โดยโรคนี้มักจะเกิดเพิ่มขึ้นเมื่ออายุเพิ่มขึ้น

โดยเฉพาะเมื่ออายุมากกว่า 40 ปีขึ้นไป แต่ในปัจจุบันที่สภาพแวดล้อมการทำงาน

และวิถีการใช้ชีวิตเปลี่ยนไป กลับพบว่าคนที่มีอายุน้อยเริ่มมีแนวโน้มของโรคนี้เพิ่มสูงขึ้น

โรคไขสันหลังเสื่อม หรือกระดูกสันหลังเสื่อม เกิดจากอะไร?

กระดูกสันหลังเสื่อม อาจเกิดจากกิจกรรมหรือการวางสรีระที่ไม่เหมาะสม เช่น การนั่งบนเก้าอี้เป็นระยะเวลานานหลายชั่วโมงติดต่อกัน

การนั่งหลังโค้งหรือหลังค่อม เมื่อมีการลุกจากเก้าอี้ในทันที จะเกิดแรงเสียดทานขึ้นระหว่างข้อต่อ ทำให้เกิดความเสียหายที่บริเวณกระดูกสันหลังได้

ถึงแม้ว่าจะเป็นความเสียหายเล็ก ๆ แต่ร่างกายก็จะมีการซ่อมแซมการบาดเจ็บ ซึ่งการซ่อมแซมนั้นจะทำให้เกิดการขยายตัวของกระดูก

จนอาจไปกดทับเส้นประสาทหรือไขสันหลัง ทำให้เกิดอาการปวด ชา และแขนขาอ่อนแรง รวมถึงมีความผิดปกติเกี่ยวกับการเคลื่อนไหว

ปัจจัยเสี่ยงของโรคไขสันหลังเสื่อม

  • อายุ อายุที่มากขึ้น แนวโน้มของโรคนี้จะเพิ่มขึ้น ซึ่งเป็นความเสื่อมของกระดูกตามธรรมชาติ
  • อาชีพ งานที่เกี่ยวข้องกับการเคลื่อนไหวของคอซ้ำไปซ้ำมา รวมถึงการต้องหมุนศีรษะไปในต่ำแหน่งที่ผิดสรีระบ่อย ๆ ก็จะเพิ่มความเสี่ยงของโรคนี้ขึ้น
  • อาการบาดเจ็บที่กระดูกสันหลังส่วนคอ จะเพิ่มความเสี่ยงต่อการเกิดโรคกระดูกสันหลังเสื่อมได้
  • ปัจจัยทางพันธุกรรม
  • การสูบบุหรี่ มีความเชื่อมโยงกับความเสี่ยงที่เพิ่มขึ้นของโรคกระดูกสันหลังเสื่อม

อาการของไขสันหลังเสื่อม หรือกระดูกสันหลังเสื่อม

อาการของโรคไขสันหลังเสื่อม หรือ โรคกระดูกสันหลังเสื่อมนั้น ผู้ป่วยอาจมีอาการปวดที่ต้นคอและส่วนหลัง ซึ่งอาจปวดเป็นพัก ๆ แล้วหายไป

แต่ผู้ป่วยบางรายอาจมีภาวะปวดเรื้อรังได้ โดยอาการปวดมักจะรุนแรงขึ้น เมื่อผู้ป่วยมีการเปลี่ยนท่าทางหรือมีการเคลื่อนไหวของกระดูกสันหลัง

อาการทั่วไปของโรคกระดูกสันหลังเสื่อม

  • ขยับเขยื้อนตัวลำบาก เคลื่อนไหวลำบาก เนื่องจากกระดูกสันหลังไม่ยืดหยุ่น ถ้ามีอาการรุนแรงผู้ป่วยบางรายอาจเดินลำบาก ท่าทางการเดินไม่สมมาตรสมดุล ทำให้ล้มได้ง่าย
  • ปวดเอวหรือบริเวณที่เกิดการเสื่อมของกระดูก ซึ่งอาจเกิดขึ้นเมื่อมีการลุกนั่ง หรืออาจเกิดแบบเรื้อรังก็ได้
  • ถ้ามีอาการรุนแรง เกิดการกดทับเส้นประสาท อาจทำให้เกิดอาการชาที่มือ แขน ขา เท้า ข้างใดข้างหนึ่งหรื้อทั้งสองข้างก็ได้
  • ผู้ป่วยบางรายอาจกลั้นปัสสาวะหรืออุจจาระไม่อยู่ เนื่องจากเส้นประสาทที่ควบคุมกล้ามเนื้อเรียบโดนกดทับ

นอกจากอาการดังกล่าวข้างต้นแล้ว ในกรณีที่ผู้ป่วยมีปัญหาการเสื่อมของกระดูกสันหลังอย่างรุนแรง

อาจส่งผลทำให้เกิดอาการแทรกซ้อนต่าง ๆ ได้แก่ แผลกดทับ การกดทับไขสันหลังบริเวณคอ การมีปัญหาในด้านระบบขับถ่าย

อาจทำให้เกิดการติดเชื้อในทางเดินปัสสาวะบ่อยขึ้น รวมถึงถ้าอาการรุนแรงอาจเกิดอัมพาตได้

การวินิจฉัยกระดูกสันหลังเสื่อม

การตรวจวินิจฉัยโรคไขสันหลังเสื่อมหรือโรคกระดูกสันหลังเสื่อมนั้น แพทย์จะตรวจร่างกายในเบื้องต้น

เพื่อหาว่ากระดูกส่วนใดมีข้อจำกัดในการเคลื่อนไหวบ้าง และแพทย์อาจต้องตรวจพิเศษอื่น ๆ ได้แก่

การทำเอ็มอาร์ไอ (MRI) หรือการเอกซเรย์โดยใช้คลื่นสนามแม่เหล็ก จะช่วยทำให้เห็นร่องรอยของโรคได้อย่างละเอียด รวมถึงสามารถระบุความเสียหายของเส้นประสาทได้

การทำซีทีสแกน (CT Scan) หรือการเอกซเรย์คอมพิวเตอร์ เป็นการเอกซเรย์ที่จะได้ภาพกระดูก

ที่มีละเอียดกว่าการทำเอกซเรย์ธรรมดา และอาจใช้ในกรณีที่ผู้ป่วยไม่สามารถทำเอ็มอาร์ไอได้

การตรวจกล้ามเนื้อและเส้นประสาทด้วยไฟฟ้า และการตรวจคลื่นไฟฟ้าของกล้ามเนื้อ (EMG)

เพื่อวัดความเร็วและความแรงของการส่งสัญญาณประสาท เป็นการตรวจความเสียหายและความรุนแรงของโรคกระดูกสันหลังเสื่อม

วิธีรักษากระดูกสันหลังเสื่อม

วิธีรักษาโรคไขสันหลังเสื่อมหรือโรคกระดูกสันหลังเสื่อม ขึ้นกับอาการของโรคและความรุนแรงที่เกิดขึ้น

โดยมีเป้าหมายการรักษาเพื่อให้ผู้ป่วยสามารถทำกิจกรรมต่าง ๆ ในชีวิตประจำวันให้ได้เป็นปกติมากที่สุด

รวมถึงการป้องกันการบาดเจ็บและความเสียหายที่จะเกิดขึ้นกับเส้นประสาท

1.การดูแลตนเองในเบื้องต้น

การประคบด้วยความร้อนและความเย็น จะช่วยลดอาการปวดได้ โดยถ้าเป็นการปวดแบบเรื้อรัง

อาจเลือกการประคบร้อน เพื่อช่วยทำให้กล้ามเนื้อคลายตัว ช่วยเพิ่มการไหลเวียนของเลือด แต่ถ้าเพิ่งมีอาการปวด

และเป็นการปวดอย่างรุนแรง ก็ควรใช้การประคบเย็น เพื่อลดการอักเสบในบริเวณดังกล่าว

ออกกำลังกายเบาๆ เป็นประจำ เพราะจะช่วยทำให้กระดูกสันหลังทำงานเป็นปกติมากขึ้น แต่ทั้งนี้ผู้ป่วยก็ควรจะปรึกษาแพทย์

หรือนักกายภาพบำบัดก่อน เพื่อรับคำแนะนำถึงวิธีการออกกำลังกายที่ถูกต้อง เพื่อป้องกันไม่ให้อาการของโรคแย่ลง

ใช้อุปกรณ์รองรับส่วนที่ปวด เช่น หมอนรองคอ หรือแผ่นคาดเอว จะช่วยพยุงกล้ามเนื้อและกระดูกสันหลังส่วนที่ปวด

เพื่อป้องกันการเคลื่อนไหวที่รุนแรง รวมถึงช่วยลดอาการปวดจากการเคลื่อนไหว

2.การรักษาโรคไขสันหลังเสื่อมด้วยยา

โดยการทานยาพาราเซตามอล (paracetamol) เพราะยาพาราเซตามอลมีความปลอดภัย สามารถรักษาอาการปวดอ่อน ๆ ได้

ควรทานครั้งละ 500 มิลลิกรัม (1 เม็ด)  โดยควรทานทุก 4-6 ชั่วโมง และไม่ควรทานติดต่อกันนานเกิน 10 วัน เนื่องจากยาพาราเซตามอลนั้นมีพิษต่อตับ

3.ใช้ยาต้านการอักเสบที่ไม่ใช่สเตียรอยด์ (nonsteroidal antiinflammatory drugs)

หรือเรียกว่ายาในกลุ่ม NSAIDs ที่รู้จักกันดี ได้แก่ ยาไอบูโพรเฟน (ibuprofen) ยาไดโคลฟีแนค (diclofenac)

ยานาโพรเซน (naproxen) รวมถึงยาแอสไพริน (aspirin) ซึ่งยาในกลุ่มนี้มีฤทธิ์บรรเทาอาการปวดรวมถึงมีฤทธิ์ในการลดการอักเสบ

แต่อาจมีข้อเสียคืออาจจะระคายเคืองทางเดินอาหาร ทำให้เกิดโรคกระเพาะอาหาร มีผลเสียต่อคนที่เป็นโรตไต

และโรคความดันโลหิตสูง ซึ่งการหลีกเลี่ยงอาการข้างเคียงดังกล่าว อาจทำให้ได้โดยใช้ยาโดยมีระยะเวลาให้สั้นที่สุด

และอาจรับประทานยาหลังอาหารทันที เพื่อหลีกเลี่ยงความเสี่ยงในการเกิดโรคกระเพาะอาหาร

4.รักษาด้วยยาลดอาการปวดปลายประสาท

ในผู้ป่วยบางรายที่เกิดความเสียหายต่อปลายประสาท อาจทำให้มีอาการปวดเสียว ปวดแปล๊บ ๆ ได้

ซึ่งสามารถใช้ยากาบาเพนติน (gabapentin) หรือยาพรีกาบาลิน (pregabalin) ช่วยบรรเทาอาการดังกล่าวได้

5.การฉีดยาเข้าไปในโพรงกระดูกสันหลัง

จะช่วยลดอาการปวดและการอักเสบที่หมอนรองกระดูกได้ ซึ่งยาที่ใช้อาจเป็นยาในกลุ่มสเตียรอยด์ ซึ่งมีฤทธิ์ลดการอักเสบ

6.การทำกายภาพบำบัด

นักกายภาพบำบัดจะสอนท่าทางการบริหาร หรือท่าออกกำลังกายที่ช่วยยืดและเสริมสร้างกล้ามเนื้อบริเวณคอและไหล่ รวมถึงการใช้เครื่องมือบางประเภทก็จะช่วยยืดกระดูกสันหลังที่ติดกัน ทำให้อาการปวดของผู้ป่วยลดลง

7.การผ่าตัด

มักจะแนะนำในผู้ป่วยที่มีอาการรุนแรง มีปัญหาเกี่ยวกับเคลื่อนไหวร่างกาย มีภาวะกล้ามเนื้อลีบเล็ก แขนขาอ่อนแรง

การควบคุมการปัสสาวะหรืออุจจาระเสียไป รวมถึงใช้วิธีอื่น ๆ แล้วยังไม่ได้ผล ซึ่งการผ่าตัดนั้นมีหลายวิธี

เช่น การผ่าตัดเชื่อมข้อต่อกระดูกสันหลัง การผ่าตัดเพื่อเปลี่ยนหมอนรองกระดูก ซึ่งขึ้นอยู่กับลักษณะของรอยโรคที่ผู้ป่วยเป็น

วิธีป้องกันโรคกระดูกสันหลังเสื่อม

  • เดินและนั่งในท่าที่ถูกต้อง นั่งตัวตรง อาจใช้เบาะรองนั่งและเบาะรองหลัง เพื่อรองรับแรงกดที่จะกดลงบนกระดูกสันหลัง
  • ออกกำลังกายเป็นประจำ โดยอาจใช้ท่าที่ต้องมีการยืดของกล้ามเนื้อบริเวณลำตัว จะช่วยเพิ่มความยืดหยุ่นและความแข็งแรงของกล้ามเนื้อ รองรับน้ำหนักได้มากขึ้น จึงช่วยลดภาระของกระดูกสันหลังได้
  • หลีกเลี่ยงการยกของหนักคนเดียว ควรใช้เครื่องทุ่นแรง เช่น รถเข็น ถ้าหลีกเลี่ยงไม่ได้ ควรยกในท่าที่ถูกต้อง โดยการนั่งยอง ๆ แล้วค่อย ๆ ยกของขึ้น ไม่ควรก้มแล้วเอื้อมมือไปยกของโดยตรง
  • หลีกเลี่ยงกิจกรรมต่าง ๆ ที่อาจก่อให้เกิดความเสียหายกับกระดูกสันหลัง ควรระมัดระวังการปีนขึ้นที่สูง ไม่เอี้ยวตัวมากเกินไป เป็น ปัจจัยเสี่ยง

Credit : spineandsportsclinic.com

ถึงแม้ว่า โรคไขสันหลังเสื่อม หรือ โรคกระดูกสันหลังเสื่อม เป็นโรคที่จะเกิดเพิ่มมากขึ้นเมื่ออายุเพิ่มขึ้น

แต่ในปัจจุบันนี้กลับพบว่าคนในวัยหนุ่มสาวเป็นโรคนี้กันมากขึ้น ส่วนหนึ่งก็อาจมีสาเหตุมาจากหน้าที่การงาน

รวมถึงการปฏิบัติตัวไม่ถูกต้อง การรักษาโรคไขสันหลังเสื่อมสามารถทำได้โดยการใช้ยาแก้ปวดกลุ่มต่าง ๆ การทำกายภาพบำบัด

รวมถึงการผ่าตัด ซึ่งจะช่วยทำให้ผู้ป่วยมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้นได้ ส่วนการป้องกันโรคกระดูกสันหลังเสื่อมนั้น

สามารถทำได้ง่าย ๆ ด้วยการนั่งอย่างถูกต้อง ไม่ยกของหนัก หรือการออกกำลังกายเป็นประจำ เป็นต้น