โรคเยื่อบุหัวใจอักเสบ เป็นโรคเกี่ยวกับความผิดปกติของหัวใจอย่างหนึ่ง ซึ่งยังไม่ค่อยพบผู้ป่วยมากนัก
แต่มีความร้ายแรงค่อนข้างมากทีเดียว ถึงขั้นทำให้ผู้ป่วยเสียชีวิตหรือเกิดความพิการได้ หากไม่ได้รับการรักษาอย่างทันท่วงที
โรคเยื่อบุหัวใจอักเสบเป็นโรคที่สามารถพบได้ในทุกเพศทั้งหญิงและชาย และเกิดขึ้นได้กับคนทุกวัย โดยมากมักจะพบในวัยผู้ใหญ่
และพบมากขึ้นในผู้สูงอายุ โรคนี้จัดว่าเป็นภัยเงียบก็ว่าได้ เนื่องจากบางประเภทไม่มีการแสดงอาการอย่างชัดเจน
จึงยากต่อการตรวจพบและรักษาได้ทันเวลา ในบางรายอาจรุนแรงถึงขั้นผู้ป่วยเสียชีวิตแล้ว เพิ่งตรวจพบสาเหตุก็มี
โรคเยื่อบุหัวใจอักเสบ คืออะไร?
โรคเยื่อบุหัวใจอักเสบ (Endocarditis) คือ การอักเสบที่เกิดขึ้นกับเยื่อบุผนังด้านในหัวใจ เป็นผลมาจากหัวใจมีกลไกในการทำงานที่ผิดปกติจากเดิม
ซึ่งการอักเสบนี้สามารถเกิดขึ้นได้กับทุกส่วนของหัวใจ โดยส่วนมากจะพบว่าเกิดที่บริเวณเยื่อบุลิ้นหัวใจด้านซ้ายที่กั้นระหว่างห้องล่างและห้องบน
เนื่องจากหัวใจเป็นอวัยวะภายในที่ค่อนข้างละเอียดอ่อน และมีหน้าที่สำคัญในการกระจายเลือดไปหล่อเลี้ยงยังอวัยวะที่สำคัญส่วนอื่นๆ
เมื่อหัวใจหรือส่วนอื่นที่อยู่บริเวณโดยรอบเกิดความผิดปกติ หรือเกิดมีก้อนลิ่ม ซึ่งก้อนลิ่มเหล่านี้จะหลุดและลอยออกไปอุดตันตามหลอดเลือด
อีกทั้งลิ่มเลือดบางก้อนอาจจะมีเชื้อแบคทีเรียติดอยู่ เมื่อลอยออกไปสู่หลอดเลือดก็อาจจะมีการกระจายเชื้อไปยังส่วนอื่นๆ เพิ่มขึ้นอีกได้
สาเหตุของโรคเยื่อบุหัวใจอักเสบ
สาเหตุหลักเกิดจากกลไกในการทำงานของหัวใจเกิดความผิดปกติ หรือมีการติดเชื้อแบคทีเรีย จนเกิดการอักเสบขึ้นยังบริเวณลิ้นหัวใจหรือบริเวณอื่นๆ
การอักเสบจะส่งผลต่อการไหลเวียนของเลือดในห้องต่างๆ ของหัวใจ จนเกิดความผิดปกติขึ้น ส่งผลให้เกิดเป็นก้อนเลือดเล็กๆ
ไปจับติดอยู่ตามลิ้นหัวใจหรือผนังหัวใจ และอาจจะหลุดลอยไปตามกระแสเลือด เข้าไปอุดตันยังหลอดเลือดต่างๆ
ที่เป็นเส้นทางให้เลือดไหลเวียนไปสู่อวัยวะส่วนอื่น เมื่อขาดเลือดมาหล่อเลี้ยงอวัยวะก็จะทำให้อวัยวะส่วนนั้นเกิดความผิดปกติขึ้น
ซึ่งการอักเสบสามารถเกิดขึ้นได้ทั้งจากการติดเชื้อ และไม่ได้ติดเชื้อ และสามารถเกิดขึ้นแค่จุดใดจุดหนึ่งหรือเกิดหลายๆ จุดพร้อมกันก็ได้ ขึ้นอยู่กับความรุนแรงของโรค
โรคเยื่อบุหัวใจอักเสบสามารถแบ่งออกได้ 2 ประเภท ดังนี้
1.โรคเยื้อบุหัวใจอักเสบที่เกิดจากการติดเชื้อ (Infective endocarditis หรือ Infectious endocarditis)
เป็นการอักเสบที่เกิดจากการติดเชื้อแบคทีเรีย เช่น เชื้อสแตฟฟีโลค็อกคัสและสเตรปโตค็อกคัส เป็นต้น
ซึ่งเชื้อโรคเหล่านี้สามารถเข้าสู่ร่างกายได้จากการผ่าตัด การถอนฟัน เหงือกอักเสบ หรือใช้เข็มฉีดยาที่ไม่สะอาด
เชื้อโรคก็จะเข้าสู่กระแสเลือด ทำให้เกิดอาการอักเสบของเยื้อบุหัวใจและลิ้นหัวใจ
อาการโรคเยื่อบุหัวใจอักเสบชนิดติดเชื้อ โดยทั่วไปผู้ป่วยจะมีอาการไข้หรือไข้สูง ปวดศีรษะ มีอาการอ่อนเพลีย เบื่ออาหาร
น้ำหนักลด ผอมลง ปวดเมื่อยตามกล้ามเนื้อและข้อ หายใจลำบาก เสียงหัวใจที่เต้นมีความผิดปกติ มีผื่นแดงขึ้นตามแขนขา
อาจจะมีอาการแน่นหน้าอกบ้าง และในบางรายอาจจะมีอาการอื่นๆ แทรกซ้อนด้วย เช่น มีอาการเจ็บม้าม หรือปวดหลัง
เนื่องจากมีการอุดตันที่บริเวณหลอดเลือดที่ส่งไปเลี้ยงไต จนทำให้ไตเกิดภาวะขาดเลือด หรือเกิดอาการไตอักเสบ เป็นต้น
ซึ่งอาการแทรกซ้อนที่เกิดขึ้นนั่น ก็จะขึ้นอยู่กับว่ามีการอุดตันเพิ่มขึ้นที่บริเวณหลอดเลือดที่ส่งไปเลี้ยงอวัยวะบริเวณใด
2.โรคเยื้อบุหัวใจอักเสบโดยไม่มีการติดเชื้อ (Non bacterial thrombotic endocarditis หรือ non infectious)
เป็นการอักเสบที่เกิดจากการทำงานที่ผิดปกติของหัวใจ จนเกิดเป็นตะกอนลิ่มเลือดหลุดลอยไปตามกระแสเลือดแล้วไปอุดตันที่บริเวณส่วนต่างๆ ที่สำคัญอย่างเช่น
หลอดเลือดสมอง หลอดเลือดปอด และหลอดเลือดหัวใจ เป็นต้น มีความรุนแรงถึงขั้นทำให้ผู้ป่วยพิการหรือเสียชีวิตได้ และเป็นประเภทที่วินิจฉัยได้ยาก
อาการผู้ป่วยเยื่อบุหัวใจชนิดไม่มีการติดเชื้อ ผู้ป่วยที่เป็นโรคเยื่อบุหัวใจอักเสบประเภทนี้มักจะไม่มีอาการแสดงออกให้เห็นชัดเจน ส่วนใหญ่แพทย์จะตรวจพบสาเหตุในตอนที่ผู้ป่วยเสียชีวิตลงแล้ว
ผู้ที่มีปัจจัยเสี่ยงต่อการเกิดโรคเยื่อบุหัวใจอักเสบ
- กลุ่มผู้ป่วยที่มีความเสี่ยงที่จะเกิดการติดเชื้อระหว่างการรักษาได้ เช่น ผู้ป่วยที่ต้องเข้ารับการผ่าตัด ถอนฟันหรือเหงือกอักเสบ เป็นต้น
- เด็กที่มีความพิการทางหัวใจตั้งแต่กำเนิด
- ผู้ที่ป่วยเป็นโรคหัวใจ
- ผู้ป่วยโรคลำไส้อักเสบ
- ผู้ที่ใส่ลิ้นหัวใจเทียม
- ผู้ป่วยโรคปอดเรื้อรัง
- ผู้ป่วยมะเร็งระยะลุกลามต่างๆ
- ผู้ป่วยที่ต้องใช้เครื่องสวนปัสสาวะ
- ผู้ป่วยที่มีเกล็ดเลือดสูงผิดปกติ
- ผู้ที่ชอบสูบบุหรี่จัด
การวินิจฉัย
เบื้องต้นแพทย์จะทำการตรวจร่างกาย สอบถามรายละเอียดของอาการ ประวัติการรักษา และประวัติการใช้สารเสพติด
สำหรับผู้ป่วยที่การอักเสบของเยื่อบุหัวใจเกิดจากการติดเชื้อ ทางแพทย์จะทำการเพาะเชื้อจากเลือด ซึ่งในขั้นตอนนี้จะต้องทำซ้ำหลายครั้ง
เพื่อความแม่นยำของผลที่ออกมา และในขั้นตอนสุดท้ายแพทย์จะทำการอัลตราซาวด์หัวใจ ในส่วนของผู้ป่วยที่การอักเสบไม่ได้มาจากการติดเชื้อนั้น
ทางแพทย์ยังไม่สามารถหาวิธีตรวจวินิจฉัยได้อย่างแน่ชัด เนื่องจากส่วนใหญ่จะตรวจพบในตอนที่ผู้ป่วยเสียชีวิตลงแล้ว
ภาวะแทรกซ้อน
โรคเยื่อบุหัวใจอักเสบเป็นโรคที่มีส่วนทำให้เกิดก้อนลิ่มเลือดและแบคทีเรียขึ้นในเส้นเลือดหัวใจ ซึ่งตัวก้อนลิ่มเลือดเหล่านี้
มีโอกาสที่จะแตกและกระจายไปสู่หลอดเลือดที่ไปล่อเลี้ยงอวัยวะสำคัญส่วนอื่นๆ ของร่างกาย จนทำให้เกิดการอุดตันในหลอดเลือดในส่วนต่างๆ
และอาจจะมีแพร่กระจายเชื้อไปสู่อวัยวะสำคัญหลายส่วน จนทำให้เกิดการติดเชื้อในส่วนอื่นๆ เพิ่มอีก
ส่งผลให้เกิดภาวะโรคแทรกซ้อนขึ้นอีก ได้แก่ โรคลิ่มเลือดอุดตันในเส้นเลือดภายในปอด โรคปอดติดเชื้อ
โรคไตวาย โรคหัวใจวาย โรคลิ้นหัวใจถูกทำลาย เยื่อหุ้มสมองอักเสบหรือมีการติดเชื้อในสมอง เป็นต้น
วิธีรักษาโรคเยื่อบุหัวใจอักเสบ
โดยส่วนใหญ่แล้ว แพทย์ผู้เชี่ยวชาญจะทำการรักษาตามสาเหตุและรักษาแบบประคองอาการของผู้ป่วย ซึ่งก็มีดังนี้
การรักษาตามสาเหตุ
คือการรักษาอาการนำของโรคก่อน ในที่นี้หมายถึงหากเกิดจากโรควัณโรค ก็ต้องทำการรักษาโรควัณโรค หากเกิดโรคมะเร็ง
ก็ต้องทำการรักษาโรคมะเร็งก่อน เป็นต้น และหากเกิดจากการติดเชื้อแบคทีเรีย แพทย์จะใช้ยาปฏิชีวะในการฆ่าเชื้อทางหลอดเลือด
การรักษาแบบประคองอาการ
คือการรักษาตามอาการ เช่น การเจาะเอาของเหลวออกจากถุงหุ้มหัวใจ การให้ออกซิเจนในกรณีที่ผู้ป่วยมีอาการหายใจไม่ทัน
หรือการผ่าตัดหากผู้ป่วยมีอาการรุนแรง เป็นต้น ในการรักษาก็ต้องขึ้นอยู่กับอาการว่ารุนแรงมากน้อยเพียงใด
ควรรักษาด้วยวิธีใดจึงจะเหมาะสม ซึ่งก็ต้องขึ้นอยู่กับดุลพินิจของแพทย์ผู้รักษาอีกทีว่าเห็นสมควรอย่างไร
วิธีป้องกันโรคเยื่อบุหัวใจอักเสบ
- ดูแลสุขภาพให้แข็งแรง ออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอ ทานอาหารที่มีประโยชน์ และพักผ่อนให้เพียงพอ
- รักษาความสะอาดของช่องปาก ฟัน และเหงือก เพื่อป้องกันการติดเชื้อแบคทีเรีย
- หลีกเลี่ยงการสักผิว หรือการใช้เข็มที่ไม่สะอาด
- หากเป็นโรคที่มีความเสี่ยงควรปฏิบัติตนตามแพทย์สั่งอย่างเคร่งครัด เพื่อลดความเสี่ยงที่จะเกิดโรคเยื่อบุหัวใจอักเสบเพิ่ม
- งดสูบบุหรี่
Credit : kp.ua
ปัจจุบันมีโรคเกี่ยวกับหัวใจเกิดขึ้นอย่างมากมาย รวมถึง โรคเยื่อบุหัวใจอักเสบ ด้วย หลายคนอาจจะรู้สึกว่าโรคนี้เป็นโรคที่น่ากลัว
ไม่แน่ใจว่าจะรักษาให้หายได้หรือไม่ ซึ่งจากข้อมูลทางการแพทย์พบว่าในผู้ป่วยบางรายสามารถรักษาให้หายได้ด้วยการใช้ยาปฏิชีวนะ
โรคนี้จึงไม่ได้น่ากลัวอย่างที่คิด แต่ถึงรักษาหายแล้วแต่ไม่ดูแลสุขภาพให้ดีก็มีโอกาสกลับมาเป็นซ้ำได้อีกเช่นกัน
อย่างไรก็ตาม การรักษาสุขภาพให้แข็งแรง โดยหมั่นออกกำลังกาย และเลือกทานอาหารที่มีประโยชน์ ก็จะเป็นเกาะป้องกันการเกิดโรคได้ดีที่สุดแล้ว
และเมื่อใดที่พบว่าร่างกายมีความผิดปกติ ควรรีบพบแพทย์เพื่อตรวจรักษาทันที เพื่อที่อาการจะได้ไม่ลุกลามและสามารถรักษาได้อย่างทันท่วงที