เราอาจจะไม่ค่อยคุ้นชื่อโรคไอบีเอส (IBS : Irritable bowel syndrome) แต่รู้จักกันดีในชื่อว่าโรคลำไส้แปรปรวน
ซึ่งมักจะมีอาการท้องผูกหรือท้องเสียเกิดขึ้นชนิดเรื้อรังต่อเนื่องกันเป็นเวลานานจนผิดสังเกต
สาวๆ ที่เข้ารับการตรวจจากแพทย์เพื่อหาสิ่งผิดปกติ มักจะไม่ค่อยพบอะไร อาการที่เกิดขึ้นเป็นๆ หายๆ
ไม่สามารถรักษาให้หายขาดได้ แม้โรคนี้จะไม่ได้เป็นอันตรายถึงชีวิต แต่ก็ส่งผลกระทบต่อคุณภาพชีวิตไม่มากก็น้อย
เนื่องจากอาการปวดท้อง แน่นท้อง และอึดอัดที่เป็นตัวทำให้เกิดความทุกข์ทรมาน
จนส่งผลให้ไม่สามารถทำงานในแต่ละวันได้เต็มประสิทธิภาพ
ดังนั้นสาวๆ ที่มีปัญหาเกี่ยวกับความผิดปกติของระบบทางเดินอาหารเช่นนี้
ควรหันมาดูแลตัวเอง และใส่ใจกับสุขภาพให้มากขึ้น จะได้ช่วยทุเลาอาการให้มีคุณภาพชีวิตที่ดีกว่าเดิมนั่นเองค่ะ
ทำความรู้จักกับโรคไอบีเอส
ระบบความผิดปกติที่เกิดขึ้นกับระบบทางเดินอาหาร พบได้มากที่บริเวณลำไส้
แต่โครงสร้างของอวัยวะไม่ได้เกิดความผิดปกติอะไร นอกจากอาการที่แสดงออกมาเท่านั้น
เราเรียกอาการเหล่านี้ว่าโรคไอบีเอส อาการจะสลับกันไปมาระหว่างท้องผูกและท้องเสีย
มีอาการปวดท้องอย่างหนัก แต่เมื่ออุจจาระแล้วอาการดังกล่าวก็จะหายไป
แต่บางคนก็จะมีอาการแน่นท้อง ท้องอืด รู้สึกว่าตัวเองถ่ายไม่ค่อยสุด อุจจาระมีมูกปนออกมาด้วย
เมื่อเทียบการถ่ายอุจจาระของคนปกติ เราจะพบว่ามีการขับถ่ายเป็นประจำหรือวันเว้นวัน
ทั้งนี้จะไม่เกิน 3 ครั้งต่อสัปดาห์ และไม่เกิน 3 ครั้งต่อวัน อุจจาระที่ออกมาจะเป็นก้อน
ไม่เหลวเป็นน้ำหรือแข็งจนทำให้บาดเจ็บ ไม่มีเลือดหรือมูกปนออกมา
ในขณะขับถ่ายจะต้องไม่เกิดอาการปวดเกร็งที่ท้อง แต่สำหรับผู้ป่วยที่เป็นโรคไอบีเอสจะพบลักษณะที่ตรงกันข้าม
กล่าวคือการอุจจาระออกมาในลักษณะเหมือนคนท้องผูก สลับกับอาการท้องเสีย
โดยอาการต่างๆ ที่เกิดขึ้นไม่สามารถหาสาเหตุที่แน่ชัดได้ การถ่ายจะลำบากมากเมื่ออุจจาระแข็งตัว
จนต้องออกแรงเบ่งอย่างหนัก หรือต้องยอมแพ้หยุดถ่ายกลางครันกันไปเลย
แต่หากรู้สึกปวดท้องเหมือนท้องเสีย จะไม่สามารถกลั้นอุจจาระได้ ต้องรีบเข้าห้องน้ำ รู้สึกว่าตัวเองถ่ายไม่สุด ทำให้ถ่ายบ่อยมากกว่าปกติ
สาเหตุของการเกิดโรคไอบีเอส
อย่างที่กล่าวไปข้างต้น ในปัจจุบันแม้โรคนี้จะเป็นโรคที่พบได้บ่อย
แต่ก็ยังไม่สามารถค้นพบสาเหตุที่แน่ชัดได้ จัดอยู่กลุ่มโรคที่่ไม่ค้นพบความผิดปกติของระบบทางเดินอาหาร
ไม่ว่าจะเป็นการตรวจเลือด ตรวจร่างกาย หรือทำการส่องกล่องหาต้นตอก็ตาม
แต่เชื่อกันว่าปัจจัยที่เป็นตัวกระตุ้นหลักๆ ที่ทำให้เกิดอาการดังกล่าว
คือ การบีบตัวของลำไส้ ซึ่งรวมไปถึงการเคลื่อนตัวของลำไส้ผิดปกติ
ทำให้เกิดการบีบรัดตัวย่างรุนแรงและเป็นเวลานานกว่าปกติ จะตามมาด้วยอาการท้องเสีย เรอ
หรือหากพบการบีบตัวที่ลำไส้น้อยกว่าปกติ ก็จะทำให้เกิดอาการท้องผูกตามมา
ความผิดปกติยังสามารถพบได้ที่ระบบประสาทของผนังลำไส้ มีความไวต่อสิ่งเร้าและตัวกระตุ้นมากกว่าปกติ
รวมไปถึงความเครียด การเปลี่ยนแปลงทางอารมณ์ที่จะกระตุ้นให้อาการของโรครุนแรงมากขึ้น
และยังทำให้โรคที่นอนนิ่งอยู่กำเริบขึ้นมาได้อีกด้วย
อาการของโรคไอบีเอสที่พบได้บ่อย
อาการหลักๆ ที่พบในผู้ป่วย สร้างความทุกข์ทรมานจนต้องเข้ามารักษาที่โรงพยาบาลคือ
อาการปวดท้อง จะเกิดในช่วงก่อนอุจจาระ เนื่องมาจากการบีบตัวของลำไส้ใหญ่
เมื่อถ่ายอุจจาระเสร็จแล้ว อาการปวดจะเบาลง และทำให้รู้สึกสบายตัวมากขึ้น
อาการปวดท้องที่สังเกตได้จะพบบริเวณท้องน้อยในลักษณะปวดเกร็ง
ในแต่ละครั้งระดับความรุนแรงจะแตกต่างกันออกไป บางครั้งปวดมากจนต้องนอนงอตัว แต่บางครั้งก็ปวดเพียงเล็กน้อย
การขับถ่ายอุจจาระของผู้ป่วยจะสามารถสังเกตได้ถึงความผิดปกติ ตั้งแต่รู้สึกว่าตัวเองถ่ายอุจจาระไม่สุด
พบมูกปนออกมาด้วยเวลาถ่าย อุจจาระเป็นก้อนแข็งสลับกับเป็นของเหลวจนบางครั้งกลายเป็นน้ำ
มักมีลมออกมาด้วยขณะขับถ่าย ยังพบอีกด้วยว่า อาการเรอ ท้องผูก แน่นท้อง
ท้องแข็งเหมือนมีลมในกระเพาะอาหารมาก ซึ่งล้วนเป็นอาการที่ทำให้ผู้ป่วยโรคไอบีเอสรู้สึกทุกข์ทรมานเป็นอย่างมาก
แม้จะดูเหมือนอาการทั่วๆ ไปที่สามารถพบได้ แต่ในผู้ป่วยจะเกิดอาการแบบเป็นๆ หายๆ ติดต่อกันนานกว่า 3 เดือน
และจะคงอยู่เรื้อรังอีกหลายปี ไม่สามารถรักษาให้หายขาดสนิทได้ ดังนั้นผู้ป่วยจึงจำเป็นต้องดูแลตัวเอง
ปรับเปลี่ยนพฤติกรรมการดำเนินชีวิตของตัวเองไปตลอดชีวิตแม้จะได้รับยารักษาอาการแล้วก็ตาม
แนวทางในการรักษาโรคไอบีเอส
ผู้ป่วยที่ได้รับการวินิจฉัยแล้วว่าเป็นโรคไอบีเอส แพทย์นิยมใช้วิธีรักษาตามอาการ
ช่วยบรรเทาอาการต่างๆ ที่เกิดขึ้นให้น้อยลง เนื่องจากปัญหาที่ไม่สามารถทราบสาเหตุที่แน่ชัดของโรค
จึงทำให้การรักษาไม่สามารถทำได้ตรงจุด การบรรเทาอาการผู้ป่วย
มีเป้าหมายเพื่อให้สามารถกลับไปดำเนินชีวิตได้ตามปกติมากที่สุด ในกรณีที่อาการไม่รุนแรง
แพทย์จะแนะนำเรื่องอาการกินอาหารและการดำเนินชีวิต โดยอาจไม่ต้องใช้ยาตลอด
Photo Credit : ctvnews.ca
แต่หากอาการรุนแรงมากๆ จำเป็นต้องมีการให้ยารักษาเฉพาะ ส่วนใหญ่จะเป็น alosetron และ tegaserod
ออกฤทธิ์ช่วยให้กล้ามเนื้อเรียบของลำไส้คลายตัว ลดอาการปวดท้องน้อย
แต่ยาชนิดนี้มักจะมีผลข้างเคียงที่รุนแรง จะใช้เฉพาะยามจำเป็นเมื่อเกิดอาการท้องเสียอย่างรุนแรง
หรือเกิดอาการปวดท้องอย่างหนัก และจะนำมาใช้ก็ต่อเมื่อการรักษาด้วยยาตัวอื่นไม่เป็นผลแล้วเท่านั้น
เนื่องจากโรคไอบีเอส เป็นโรคที่รักษาไม่หาย มีโอกาสเป็นได้ตลอดชีวิต
ผู้ป่วยที่เป็นโรคนี้จะต้องใส่ใจกับการดูแลสุขภาพตัวเองด้วยการเลือกกินอาหารที่มีกากใยสูง
หลีกเลี่ยงเนื้อสัตว์ย่อยยาก ออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอ และหลีกเลี่ยงจากความเครียดให้ได้มากที่สุด