โรคไฮเปอร์ไทรอยด์ (ไทรอยด์เป็นพิษ) เป็นโรคที่สามารถพบได้บ่อย โดยเฉพาะกับผู้ป่วยที่มีปัญหาเกี่ยวกับต่อมไทรอยด์
เนื่องจากโรคนี้ เป็นโรคที่เกิดจากการที่ต่อมไทรอยด์ทำงานมากผิดปกติ ซึ่งส่งผลให้เกิดอาการไทรอยด์เป็นพิษได้
โรคนี้ค่อนข้างมีความรุนแรงพอสมควร เพราะถ้าหากละเลยไม่ปฏิบัติตามคำแนะนำของแพทย์หลังการรักษาอย่างเคร่งครัด
ก็จะทำให้เกิดโรคแทรกซ้อนต่าง ๆ ที่เป็นอันตรายถึงแก่ชีวิตได้ เพราะฉะนั้นเราจึงได้รวบรวมเรื่องราวเกี่ยวกับโรคไฮเปอร์ไทรอยด์ (ไทรอยด์เป็นพิษ)
มาให้ทำความเข้าใจกันมากยิ่งขึ้น เผื่อว่าวันหนึ่งมีอาการของโรคนี้เกิดขึ้นกับตัวเอง หรือคนใกล้ตัว จะได้ปฏิบัติตัวให้ถูกต้องต่อไป
โรคไฮเปอร์ไทรอยด์ (ไทรอยด์เป็นพิษ) คืออะไร?
โรคไฮเปอร์ไทรอยด์ (ไทรอยด์เป็นพิษ) (ภาษาอังกฤษ เรียกว่า Hyperthyroidism หรือ Overactive Thyroid) เป็นภาวะที่ต่อมไทรอยด์
ซึ่งเป็นต่อมไร้ท่อที่อยู่ด้านหน้าของบริเวณลำคอ มีอยู่ด้วยกันทั้ง 2 ฝั่งซ้ายและขวาในลักษณะของกลีบคล้ายกับปีกผีเสื้อ
ปกคลุมบริเวณพื้นที่ด้านหน้าและด้านข้างของหลอดลม มีการหลั่งฮอร์โมนไทรอยด์มากผิดปกติ หรือมากเกินความจำเป็นของร่างกาย
จึงเป็นเหตุให้ร่างกายมีการเปลี่ยนแปลงอย่างเห็นได้ชัด และมีอาการเจ็บป่วยมากมายตามมา และโดยทั่วไปนั้น
ต่อมไทรอยด์จะสร้างฮอร์โมนที่มีความสำคัญต่อร่างกายออกมา 3 ชนิด คือ
- ฮอร์โมนไทรอกซีน (T4)
- ฮอร์โมนไตรไอโอโดไทโรนีน (T3)
- ฮอร์โมนแคลซิโทนิน
โดยทั่วไปแล้ว ฮอร์โมนจากต่อมไทรอยด์ที่มักจะเป็นที่กล่าวถึงมาที่สุด คือฮอร์โมน T3 และ T4 ซึ่งจะทำหน้าที่ในการควบคุมดูแลระบบเผาผลาญของร่างกาย
ช่วยดูแลซ่อมแซมส่วนที่สึกหรอของร่างกาย เมื่อต่อมไทรอยด์ทำงานผิดปกติ ก็จะทำให้ฮอร์โมนทั้งสองชนิดนี้ถูกหลังออกมาในปริมาณมาก
และกลายเป็นพิษต่อร่างกายได้ ซึ่งจะส่งผลให้เกิดปัญหาไทรอยด์เป็นพิษ (คือย้อนกลับไปทำลายต่อมที่เป็นตัวหลั่งฮอร์โมนออกมาเอง)
และมีอาการของโรคคอพอกเป็นพิษ (ต่อมไทรอยด์โต) ซึ่งจะพบได้มากในผู้หญิงทั้ง 2 กรณี
สาเหตุของโรคไฮเปอร์ไทรอยด์ (ไทรอยด์เป็นพิษ)
แพทย์ได้แบ่งสาเหตุที่ทำให้เกิดโรคไฮเปอร์ไทรอยด์ หรือไทรอยด์เป็นพิษ ได้ดังต่อไปนี้
1.โรคเกรฟส์ (Graves’ disease)
โรคนี้เป็นสาเหตุที่ทำให้เกิดโรคไฮเปอร์ไทรอยด์ (ไทรอยด์เป็นพิษ) ได้มากที่สุดถึง 80% สามารถพบได้ทั้งในวัยรุ่นและวัยกลางคน
ซึ่งแพทย์ยังไม่สามารถวินิจฉัยได้ว่าโรคเกรฟส์มีสาเหตุมาจากอะไร แต่คาดว่ามีความสัมพันธ์เกี่ยวกับเพศ เนื่องจากพบโรคนี้ในเพศหญิงมากกว่าเพศชาย
และมีการส่งต่อทางกรรมพันธุ์ นอกจากนี้ยังพบว่า ความเครียดและการสูบบุหรี่เป็นประจำ จะกระตุ้นให้มีโอกาสเป็นโรคนี้ได้มากยิ่งขึ้น
ผู้ป่วยโรคเกรฟส์จะมีอาการของต่อมไทรอยด์โต และตาโปนออกมาจากร่างกาย ซึ่งส่งผลให้เกิดปัญหาไทรอยด์เป็นพิษได้
2.โรคพลัมเมอร์ (Plummer’s disease)
โรคนี้คือชื่อของโรคคอพอกเป็นพิษหลายปุ่ม เป็นโรคที่มักจะเกิดกับผู้ป่วยที่มีอายุมากกว่า 40 ปีขึ้นไป
โดยจะมีอาการของคอพอกโตเป็นปุ่ม และมีจำนวนหลายปุ่ม ซึ่งจะส่งผลให้ต่อมไทรอยด์มีการหลั่งฮอร์โมนมากผิดปกติ
3.ต่อมไทรอยด์อักเสบ
เมื่อเกิดการอักเสบในระยะแรก ๆ ต่อมไทรอยด์จะปล่อยฮอร์โมนออกมามากผิดปกติ ซึ่งอาจทำให้เกิดภาวะไทรอยด์เป็นพิษได้
หลังจากนั้นร่างกายก็จะเกิดภาวะขาดไทรอยด์ เนื่องจากไม่ได้รับฮอร์โมนอย่างเพียงพอนั่นเอง
4.รับสารไอโอดีนมากเกินไป
อาจจะเกิดการจากบริโภคอาหารบางชนิด หรือการเข้าไปอยู่ในสถานที่ที่มีการปล่อยสารไอโอดีน เป็นเหตุให้ต่อมไทรอยด์ถูกกระตุ้นจนมีการหลั่งฮอร์โมนออกมาในปริมาณมาก
5.ผลข้างเคียงของยารักษาโรคบางชนิด
ผู้ป่วยที่เป็นโรคหัวใจเต้นผิดจังหวะ มักจะได้รับยารักษาที่ขื่อ อะมิโอดาโรน ซึ่งมีไอโอดีนเป็นส่วนประกอบหลักของยา
หากใช้ในปริมาณมาก ก็มีโอกาสไปกระตุ้นการทำงานของต่อมไทรอยด์ได้ รวมทั้งผู้ที่ทำการรักษาอาการต่าง ๆ จากโรคไทรอยด์อยู่แล้ว
เช่น ภาวะขาดไทรอยด์ รักษาปุ่มไทรอยด์ แล้วได้รับยาที่มีฮอร์โมนไทรอยด์สูง ก็อาจทำให้เกิดภาวะนี้ได้เช่นกัน
6.เป็นเนื้องอกบริเวณต่อมใต้สมองและรังไข่
สามารถกระตุ้นให้ต่อมฮอร์โมนทำงานมากกว่าปกติ จนเป็นโรคไฮเปอร์ไทรอยด์ได้ในที่สุด
อาการของโรคไฮเปอร์ไทรอยด์ (ไทรอยด์เป็นพิษ)
สำหรับอาการของโรคไทรอยด์เป็นพิษนั้น มักไม่มีอาการแน่ชัด หรืออาการที่เป็นเอกลักษณ์ของโรค
โดยเฉพาะในผู้สูงอายุที่จะแสดงอาการไม่ต่างจากโรคอื่น ๆ เลย เพราะฉะนั้นจึงต้องสังเกตให้ดี
โดยเฉพาะบริเวณต่อมไทรอยด์ ซึ่งถ้าหากมีอาการโตมากกว่าปกติ ร่วมกับอาการเหล่านี้ ก็ควรรีบไปพบแพทย์ทันที
- มีอาการเหนื่อยง่าย ใจสั่น นอนไม่หลับ เจ็บหน้าอก
- มีอาการเหงื่ออกง่าย ขี้ร้อนมากกว่าปกติ ต้องอยู่ในที่ที่มีความเย็นตลอดเวลา
- อยู่ไม่สุข ต้องหาอะไรทำตลอดเวลา มีอารมณ์แปรปรวน หงุดหงิดง่ายกับเรื่องบางเรื่อง
- มีอาการถ่ายเหลว คลื่นไส้ อาเจียนคล้ายท้องเสีย น้ำหนักตัวลดลง
- กล้ามเนื้ออ่อนแรงลง กลืนอาหารไม่ค่อยสะดวก ผิวหนังบางกว่าเดิม เล็บและผมเปราะบาง
- ประจำเดือนไม่แดงเข้มเหมือนที่ควรจะเป็น บางครั้งอาจพบว่าประจำเดือนไม่มาเลย
ภาวะแทรกซ้อนที่อาจเกิดขึ้น
ถ้าหากมีอาการเหล่านี้ก็ควรรีบพาผู้ป่วยไปพบแพทย์เพื่อทำการรักษาทันที เพราะมิเช่นนั้นอาจจะเกิดโรคแทรกซ้อนที่มีความอันตรายมากกว่าเดิมได้ เช่น
1.ปัญหาเกี่ยวกับสายตา
โรคนี้เกี่ยวข้องโดยตรงกับผู้ป่วยโรคเกรฟส์ที่พบว่าเป็นโรคไฮเปอร์ไทรอยด์ (ไทรอยด์เป็นพิษ) เพราะอาการทั่วไปของผู้ป่วยก็มักจะตาโปนอยู่แล้ว
เมื่อเป็นโรคจะทำให้ตาโปนออกมานอกเบ้ามากกว่าเดิม รวมทั้งมีความผิดปกติเกี่ยวกับตา ทำให้อาจสูญเสียการมองเห็นได้
2.ปัญหาไทรอยด์เป็นพิษขั้นวิกฤติ
หากเพิกเฉยต่อการรักษาโรคไทรอยด์ จะส่งผลให้อาการมีความรุนแรงมากยิ่งขึ้นจนเป็นอันตรายถึงแก่ชีวิต ถ้าตั้งครรภ์อยู่ก็มีโอกาสที่จะต้องสูญเสียบุตรจากการแท้ง
วิธีรักษาโรคไฮเปอร์ไทรอยด์ หรือไทรอยด์เป็นพิษ
วิธีการรักษาทางการแพทย์โดยทั่วไปนั้น สามารถทำได้หลายวิธี คือ
การให้ยาต้านไทรอยด์ วิธีนี้ใช้ได้กับผู้ป่วยที่อายุไม่มาก และมีอาการของโรคไม่รุนแรง ตัวยาจะเข้าไปกดการทำงานของต่อมไทรอยด์
ไม่ให้หลั่งฮอร์โมนออกมาในระยะหนึ่ง ซึ่งจะช่วยลดปัญหาการหลั่งฮออร์โมนที่มากผิดปกติได้ โดยปกติผู้ป่วยจะต้องกินยานี้เพื่อทำการรักษาอย่างน้อย 1-2 ปีขึ้นไป
การให้กินน้ำแร่รังสีไอโอดีน หรือสารไอโอดีนกัมมันตรังสี วิธีนี้เป็นวิธีจำเพาะที่สามารถใช้ได้กับโรงพยาบาลบางแห่งที่มีการรักษาในด้านนี้เท่านั้น
แต่การรักษาด้วยวิธีนี้มีโอกาสที่จะรักษาโรคไทรอยด์เป็นพิษแบบหายขาดได้สูง เหมาะกับผู้ป่วยที่มีอายุ 20 ปีขึ้นไป
ที่ยังมีอาการไม่รุนแรงมากนัก หรือผู้ป่วยที่ยังไม่พร้อมจะผ่าตัด รวมทั้งมีภาวะอื่น ๆ แทรกซ้อนจนไม่สามารถผ่าตัดได้
การผ่าตัดไทรอยด์ วิธีนี้จะใช้สำหรับผู้ที่มีปัญหาต่อมไทรอยด์โตจนเบียดอวัยวะอื่น ๆ ที่ส่งผลให้ผู้ป่วยมีภาวะหายใจลำบากมากยิ่งขึ้น
โดยแพทย์จะทำการผ่าตัดต่อมไทรอยด์ออกบางส่วน เพื่อทำให้มีขนาดเล็กลง ซึ่งจะควบคุมให้ฮอร์โมนหลั่งน้อยลงด้วย
วิธีป้องกันโรคไฮเปอร์ไทรอยด์ หรือไทรอยด์เป็นพิษ
ปัญหาของโรคไฮเปอร์ไทรอยด์ เกิดจากความผิดปกติของร่างกายและภูมิต้านทานที่ไม่สามารถทำงานได้อย่างมีประสิทธิภาพ
เพราะฉะนั้น จึงไม่สามารถหาวิธีป้องกันอย่างมีประสิทธิภาพได้ นอกจากการดูแลร่างกายตัวเองให้แข็งแรงอยู่เสมอ
ด้วยการพักผ่อนให้เพียงพอ ออกกำลังกายเป็นประจำ และทานอาหารที่มีประโยชน์ (โดยเฉพาะแคลเซียมและโซเดียม ควรได้รับในปริมาณที่พอดีต่อร่างกาย)
และถ้าหากสงสัยว่าตัวเองหรือคนรอบข้างมีอาการของโรคไฮเปอร์ไทรอยด์ (ไทรอยด์เป็นพิษ) ก็ควรรีบไปพบแพทย์เพื่อทำการวินิจฉัย และรักษาทันที ซึ่งยังมีโอกาสรักษาให้หายขาดได้
Credit : doctortaz.com
โรคไฮเปอร์ไทรอยด์ หรือ ไทรอยด์เป็นพิษ เป็นโรคที่มีความอันตรายมากหากเกิดภาวะแทรกซ้อน ถึงแม้ว่าการเป็นโรคไทรอยด์จะต้องมีการดูแลตัวเองไปตลอดชีวิต
แต่สำหรับโรคไทรอยด์เป็นพิษยังมีวิธีรักษาให้หายขาดได้ หากเริ่มรักษาตัวตั้งแต่เนิ่น ๆ เพราะฉะนั้นจึงควรใส่ใจในเรื่องของสุขภาพตัวเองให้มาก
อย่าเพิกเฉย หรือซื้อยามาทานเอง เพราะอาจจะทำให้อาการของโรคมีความรุนแรงมากกว่าเดิม ซึ่งหมายถึงการรักษาที่ยากขึ้นไปอีก