โรคอะคาเลเซีย เป็นโรคที่คนไทยอาจจะไม่ค่อยรู้จัก และไม่ค่อยคุ้นหูมากเท่าไรนัก เพราะเป็นโรคที่เกี่ยวกับระบบย่อยอาหาร
ที่ยังไม่สามารถทราบสาเหตุที่แน่ชัดได้ ผู้ป่วยโรคนี้จะได้รับความทรมานจากการที่ไม่สามารถรับประทานอาหารได้ตามปกติ
ต้องดำรงชีพด้วยของเหลวเพียงเท่านั้น จึงทำให้เกิดอาการซูบ ผอม เนื้อหุ้มกระดูก แต่อย่างไรก็ตาม
โรคนี้สามารถรักษาให้หายได้ด้วยการผ่าตัด เพราะฉะนั้น เราจึงขอนำโรคอะคาเลเซียมาแนะนำให้รู้จักกัน เพื่อที่จะได้ทำความเข้าใจกับผู้ป่วยโรคนี้กันมากยิ่งขึ้น
โรคอะคาเลเซีย คืออะไร?
โรคอะคาเลเซีย (Achalasia) เป็นโรคที่เกิดจากความผิดปกติของหลอดอาหาร โดยกล้ามเนื้อหูรูดส่วนล่างไม่คลายตัว
จึงทำให้อาหารที่กลืนเข้าไปนั้น ไม่สามารถตกลงไปสู่กระเพาะอาหารเพื่อทำการย่อยต่อไปได้ และจะทำให้เกิดการสำรอก
หรืออาเจียนอาหารที่ทานไปแล้วออกมา ผู้ป่วยโรคอะคาเลเซีย จึงต้องดำรงชีวิตด้วยการทานน้ำ นม และของเหลวเป็นอาหารหลักเท่านั้น
จึงส่งผลให้เกิดการขาดสารอาหารที่มีความสำคัญต่อร่างกาย เช่น โปรตีนที่มีผลต่อการสร้างกล้ามเนื้อและกระดูกให้แข็งแรง เป็นต้น
ร่างกายจึงมีการผ่ายผอม เหลือเพียงหนังหุ้มกระดูก และอาจพบว่ามีปัญหาเกี่ยวกับสุขภาพหลายด้าน
เนื่องจากภูมิต้านทานไม่แข็งแรง และไม่สามารถออกกำลังกายได้ตามปกติอีกด้วย ถึงแม้ว่าโรคนี้จะเป็นโรคที่แปลกประหลาด
แต่ในประเทศไทยก็ยังสามารถพบผู้ป่วยโรคนี้ได้เรื่อย ๆ โดยไม่ได้เจาะจงว่าต้องเป็นเด็ก – ผู้ใหญ่, ผู้ชาย – ผู้หญิง
สาเหตุของโรคอะคาเลเซีย
ถึงแม้ว่าสาเหตุของโรคอะคาเลเซีย จะเกิดจากความผิดปกติของกล้ามเนื้อหูรูดหลอดอาหารดังที่กล่าวไปข้างต้น
แต่สาเหตุที่แท้จริงของการเกิดปัญหานี้ก็ยังไม่เป็นที่ทราบอย่างแน่ชัด แต่คาดว่าน่าจะเกิดจากความผิดปกติของเส้นประสาท Auerbach ที่เสื่อมสภาพไปเอง
และมีความสัมพันธ์กับโรคออโต้อิมมูน จึงทำให้หลอดอาหารไม่สามารถเคลื่อนไหวได้ตามปกติ
โดยแพทย์ได้วิเคราะห์ว่าปัจจัยสำคัญที่ทำให้เกิดโรคอะคาเลเซีย มีดังต่อไปนี้
- เกิดจากการขาดวิตามินบีในปริมาณมาก
- เกิดจากการติดเชื้อภายในเส้นประสาท Auerbach
- เกิดจากการเป็นวัณโรค ที่กระทบไปยังเส้นประสาทโดยตรง
- เกิดจากการเป็นโรคมะเร็งกระเพาะอาหาร มะเร็งปอด ที่ทำให้เซลล์มะเร็งลุกลามไปทำลายเส้นประสาท Auerbach
อาการของโรคอะคาเลเซีย
อาการของโรคอะคาเลเซีย อาจคล้ายกับอาการของโรคกรดไหลย้อน โรคมะเร็งหลอดอาหาร แต่สามารถสังเกตได้ง่าย คือ
- ไม่สามารถกลืนอาหารได้ หรือถ้าต้องการกลืน ก็จะกลืนลำบาก
- อาเจียนอาหารที่กลืนเข้าไปเป็นระยะไม่ว่าจะกลืนอะไรลงไป ก็จะอาเจียนออกมาหมด ยกเว้น น้ำ นม ของเหลวต่าง ๆ เท่านั้น
- มีอาการไอเรื้อรัง ไม่สามารถทานอาหารตามปกติได้
- มีน้ำหนักลดลงอย่างรวดเร็ว
วิธีรักษาโรคอะคาเลเซีย
ในอดีตนั้น แพทย์เคยทำการรักษาโรคนี้ด้วยยามาก่อน เช่น การใช้ยา Nifedipine, Calcium channel blocker แต่ยังไม่ได้ผลดีเท่าที่ควร
จึงต้องใช้วิธีผ่าตัด และทำบอลลูนเพื่อขยายกล้ามเนื้อหูรูดหลอดอาหารในส่วนล่างให้มีความกว้างมากยิ่งขึ้น ซึ่งจะช่วยให้ผู้ป่วยสามารถทานอาหารได้ตามปกติ
เพราะถึงแม้ว่าผู้ป่วยจะยังอยู่ได้ด้วยการทานนม น้ำ ของเหลวต่าง ๆ แต่สิ่งเหล่านี้ก็ยังไม่เพียงพอต่อความต้องการทางโภชนาการขั้นต่ำของมนุษย์
ซึ่งถ้าหากขาดสารอาหารเป็นเวลานาน ร่างกายก็จะอ่อนแอ ทำให้เกิดภาวะต่าง ๆ ตามมา เช่น การติดเชื้อ โรคแทรกซ้อน ที่อาจเป็นอันตรายถึงแก่ชีวิต
วิธีป้องกันโรคอะคาเลเซีย
เพราะยังไม่สามารถหาสาเหตุที่แท้จริงได้ จึงยังไม่มีการป้องกันใด ๆ ที่สามารถรับรองผลว่าจะไม่เกิดโรคนี้ 100% เต็ม นอกจากการดูแลสุขภาพร่างกายให้แข็งแรงอยู่เสมอด้วยวิธีดังต่อไปนี้
1.พักผ่อนให้เพียงพออย่างน้อยวันละ 8-10 ชั่วโมง เพื่อให้ร่างกายสามารถซ่อมแซมตัวเอง
2.ออกกำลังกายเป็นประจำและสม่ำเสมอ
3.พยายามลดความเครียดที่เกิดขึ้น ด้วยการหากิจกรรมที่ชื่นชอบมาผ่อนคลาย
4.หากพบความผิดปกติใดเกิดขึ้นกับร่างกาย ไม่ควรซื้อยามาทานเอง แต่ควรรีบไปพบแพทย์ในทันที
Credit : britoready2rumble.blogspot.com
โรคอะคาเลเซีย อาจจะยังเป็นโรคใหม่ ที่คนส่วนมากยังไม่ค่อยรู้จักเท่าที่ควร แต่ถ้าหากเกิดขึ้นแล้ว จะทำให้ผู้ป่วยมีคุณภาพชีวิตที่แย่ลง เพราะไม่สามารถทานอาหารได้เลย
วิธีการรักษาที่ดีที่สุดก็คือต้องผ่าตัดเท่านั้น ดังนั้น หากเกิดความผิดปกติขึ้นกับตัวเอง หรือคนใกล้ชิด ก็ควรรีบพาไปพบแพทย์ เพื่อที่จะได้รักษาตั้งแต่เนิ่นๆ ต่อไป