โรคเยื่อหุ้มสมองอักเสบจากการติดเชื้อแบคทีเรีย เป็นอีกหนึ่งโรคที่เกิดขึ้นคล้ายกันกับ โรคเยื่อหุ้มสมองอักเสบจากการติดเชื้อวัณโรค
แต่อาการของเชื้อวัณโรคจะมีภาวะที่รุนแรงกว่า และเสี่ยงต่อการเสียชีวิตง่าย อย่างไรก็ตาม โรคที่เกิดจากการ ติดเชื้อในเยื่อหุ้มสมอง
เมื่อเกิดขึ้นแล้วก็ไม่ควรนิ่งนอนใจ ดังนั้น เราจึงควรทำความรู้จักโรคเหล่านี้ไว้ ตามไปดูดีกว่า ว่า
โรคเยื่อหุ้มสมองอักเสบจากการติดเชื้อแบคทีเรีย คืออะไร มีสาเหตุ อาการและวิธีรักษาป้องกันอย่างไรบ้าง จะได้รับมือกับโรคได้อย่างเท่าทันการณ์
- โรคเยื่อหุ้มสมองอักเสบจากเชื้อแบคทีเรีย คืออะไร?
- โรคเยื่อหุ้มสมองอักเสบจากเชื้อแบคทีเรีย เกิดขึ้นได้อย่างไร
- ปัจจัยเสี่ยงของโรคเยื่อหุ้มสมองอักเสบจากเชื้อแบคทีเรีย
- อาการของโรคเยื่อหุ้มสมองอักเสบจากการติดเชื้อแบคทีเรีย
- ภาวะแทรกซ้อนของโรคเยื่อหุ้มสมองอักเสบจากเชื้อแบคทีเรีย
- การวินิจฉัยโรค
- วิธีรักษาโรคเยื่อหุ้มสมองอักเสบจากเชื้อแบคทีเรีย
- วิธีป้องกันโรคเยื่อหุ้มสมองอักเสบจากเชื้อแบคทีเรีย
โรคเยื่อหุ้มสมองอักเสบจากเชื้อแบคทีเรีย คืออะไร?
โรคเยื่อหุ้มสมองอักเสบจากเชื้อแบคทีเรีย (Bacterial Meningitis) เป็นอีกหนึ่งโรคติดเชื้อที่มีอาการรุนแรง
โดยมีสาเหตุมาจากการติดเชื้อแบคทีเรียซึ่งมีด้วยกันหลายชนิด ซึ่งแต่ละชนิดอาจใช้ยารักษาได้แตกต่างกัน
โดยโรคนี้มีอัตราการเสียชีวิตค่อนข้างสูง หลายครั้งก่อให้เกิดภาวะแทรกซ้อนหรือความพิการอย่างถาวร
อย่างไรก็ตาม การที่ผู้ป่วยได้รับการวินิจฉัยและรับการรักษาอย่างรวดเร็ว ก็จะสามารถป้องกันภาวะแทรกซ้อนต่าง ๆ ที่รุนแรงได้
โรคเยื่อหุ้มสมองอักเสบจากเชื้อแบคทีเรีย เกิดขึ้นได้อย่างไร
โรคเยื่อหุ้มสมองอักเสบจากเชื้อแบคทีเรีย (Bacterial meningitis) เกิดจากการติดเชื้อแบคทีเรีย (Bacteria) ของเยื่อหุ้มสมอง
ซึ่งเป็นชั้นเยื่อบาง ๆ ห่อหุ้มสมองอยู่ โดยเยื่อหุ้มสมองจะทำหน้าที่ปกป้องระบบประสาท ไขสันหลัง และสมองไม่ให้รับความกระทบกระเทือน
เมื่อร่างกายติดเชื้อแบคทีเรีย ไม่ว่าที่ตำแหน่งใดก็ตาม เช่น ปอด ไซนัส หรือในหูชั้นใน อาจมีความเสี่ยงที่แบคทีเรียจะที่เข้าสู่กระแสเลือด
และเดินทางไปยังสมองและไขสันหลัง หลังทำให้เกิดภาวะเยื่อหุ้มสมองอักเสบเฉียบพลันได้
นอกจากนี้ เยื่อหุ้มสมองอาจติดเชื้อได้โดยตรง จากการแตกร้าวของกะโหลกศีรษะหรือหลังการผ่าตัด ซึ่งเป็นสาเหตุที่พบได้ไม่บ่อย
เชื้อแบคทีเรียที่อาจเป็นสาเหตุของการติดเชื้อที่เยื่อหุ้มสมอง ได้แก่
1.Streptococcus pneumoniae (pneumococcus)
เป็นเชื้อแบคทีเรียที่เป็นสาเหตุสำคัญของโรคเยื่อหุ้มสมองอักเสบจากเชื้อแบคทีเรีย โดยปกติเชื้อตัวนี้มักจะทำให้เกิดโรคปอดอักเสบ หูชั้นกลางอักเสบ หรือไซนัสอักเสบทั้งในเด็กและผู้ใหญ่
2.Neisseria meningitidis (meningococcus)
แบคทีเรียชนิดนี้มักก่อให้เกิดการติดเชื้อทางเดินหายใจส่วนบน แต่ก็สามารถทำให้เกิดโรคเยื่อหุ้มสมองอักเสบได้เช่นเดียวกัน
3.Haemophilus influenzae (haemophilus)
โดยเฉพาะสายพันธุ์บี (type b) หรือ Hib เคยเป็นสาเหตุหลักของเยื่อหุ้มสมองอักเสบในเด็ก แต่ในปัจจุบันมีวัคซีนที่สามารถลดจำนวนผู้ป่วยที่ติดเชื้อนี้ได้เป็นจำนวนมาก
4.Listeria monocytogenes (Listeria)
หญิงตั้งครรภ์ ทารกแรกเกิด ผู้สูงอายุ และคนที่มีระบบภูมิคุ้มกันอ่อนแอ จะมีโอกาสเสี่ยงที่จะติดเชื้อชนิดนี้ได้มากขึ้น
ปัจจัยเสี่ยงของโรคเยื่อหุ้มสมองอักเสบจากเชื้อแบคทีเรีย
สำหรับปัจจัยเสี่ยงของโรคเยื่อหุ้มสมองอักเสบจากเชื้อแบคทีเรีย ได้แก่
1.การไม่ได้รับวัคซีน โดยเฉพาะในเด็กเล็ก ผู้สูงอายุ รวมถึงผู้ที่มีภูมิคุ้มกันบกพร่อง ที่โอกาสของการติดเชื้อมีมากอยู่แล้ว
2.อายุ โรคเยื่อหุ้มสมองอักเสบจากเชื้อแบคทีเรีย พบได้บ่อยในผู้ที่มีอายุต่ำกว่า 20 ปี
3.อาศัยอยู่ในย่านชุมชนที่หนาแน่น หอพักนักศึกษา ค่ายทหาร สถานรับเลี้ยงเด็ก หรือสถานสงเคราะห์คนชรา ซึ่งเชื้อโรคที่เป็นสาเหตุจะมีการแพร่กระจายได้อย่างรวดเร็ว
4.การตั้งครรภ์ จะเพิ่มความเสี่ยงต่อการติดเชื้อที่เกิดจากเชื้อแบคทีเรีย listeria (Listeria monocytogenes)
ซึ่งนอกจากจะเพิ่มความเสี่ยงของโรคเยื่อหุ้มสมองอักเสบแล้ว ยังเพิ่มความเสี่ยงในการแท้งบุตร และการคลอดก่อนกำหนด
5.ระบบภูมิคุ้มบกพร่อง เช่น ในผู้ที่ติดเชื้อเอชไอวี (HIV) เป็นโรคเบาหวาน ติดสุราเรื้อรัง ใช้ยากดภูมิคุ้มกัน การตัดม้าม และปัจจัยอื่น ๆ
ที่ทำให้ระดับภูมิต้านทานลดลง จะเพิ่มความเสี่ยงต่อการติดเชื้อที่เป็นสาเหตุของโรคเยื่อหุ้มสมองมากขึ้น ซึ่งสามารถป้องกันได้โดยการฉีดวัคซีน
อาการของโรคเยื่อหุ้มสมองอักเสบจากการติดเชื้อแบคทีเรีย
อาการของโรคเยื่อหุ้มสมองอักเสบจากเชื้อแบคทีเรีย ในช่วงแรก ๆ อาจคล้ายกับอาการของไข้หวัดใหญ่
โดยอาการของโรคอาจเกิดขึ้นภายในเวลาไม่กี่ชั่วโมง หรืออาจเกิดขึ้นใน 2 -3 วัน โดยอาการที่พบได้ในผู้ป่วยส่วนใหญ่ ได้แก่
- มีไข้สูงอย่างฉับพลัน
- คอแข็ง (stiff neck)
- อาการปวดศีรษะอย่างรุนแรง
- คลื่นไส้อาเจียน
- เกิดความสับสน ไม่รู้เรื่อง ไม่สามารถตอบคำถามได้ถูกต้อง
- ชัก
- ปลุกตื่นได้ยาก
- รู้สึกไวต่อแสง ถูกกระตุ้นด้วยแสงได้ง่าย
- ไม่อยากอาหาร
- อาจพบผื่นที่ผิวหนังได้
ส่วนอาการของโรคเยื่อหุ้มสมองอักเสบจากเชื้อแบคทีเรีย ที่สามารถสังเกตเห็นได้ในทารกแรกเกิดหรือในเด็กเล็ก มีดังต่อไปนี้
- ไข้สูง
- ร้องไห้ตลอดเวลา ร้องไห้ไม่หยุดแม้ว่าถูกอุ้ม
- ง่วงซึมหรือเฉื่อยชามากเกินไป
- ไม่ยอมรับประทานอาหาร
- ตัวแข็งหรือคอแข็ง
โรคเยื่อหุ้มสมองอักเสบจากแบคทีเรีย มีอันตรายร้ายแรง และผู้ป่วยอาจเสียชีวิตภายในเวลาไม่กี่วัน หากไม่ได้รับการรักษา
ด้วยยาปฏิชีวนะ อีกทั้งการได้รับการรักษาที่ล่าช้า ยังเพิ่มความเสี่ยงต่อความเสียหายของสมองที่อาจเกิดขึ้นอย่างถาวร
ภาวะแทรกซ้อนของโรคเยื่อหุ้มสมองอักเสบจากเชื้อแบคทีเรีย
อาการแทรกซ้อนของโรคเยื่อหุ้มสมองอักเสบจากเชื้อแบคทีเรียอาจเกิดขึ้นได้ และถ้าผู้ป่วยได้รับการวินิจฉัยและรักษาล่าช้า
ทำให้อาการแทรกซ้อนต่าง ๆ มีความรุนแรงมากขึ้น ในบางกรณีอาจเกิดความเสียหายต่อระบบประสาทอย่างถาวร โดยอาการแทรกซ้อนดังกล่าว ได้แก่
- โรคลมชัก
- การสูญเสียการได้ยิน
- การสูญเสียความทรงจำ
- ความบกพร่องทางการเรียนรู้
- ปัญหาการเดินและการเคลื่อนไหว
- ภาวะไตล้มเหลว
- ภาวะช็อก
การวินิจฉัยโรค
แพทย์สามารถตรวจวินิจฉัยโรคเยื่อหุ้มสมองจากเชื้อแบคทีเรีย ได้จากการซักประวัติความเจ็บป่วย การตรวจร่างกาย รวมถึงการตรวจอื่น ๆ ตามความจำเป็น ได้แก่
1.การเพาะเลี้ยงเชื้อจากเลือด (blood culture)
เป็นการตรวจหาเชื้อที่เป็นสาเหตุจากเลือด ว่าผู้ป่วยติดเชื้อแบคทีเรียชนิดไหน รวมถึงยังสามารถตรวจสอบได้ว่าเชื้อโรคที่เป็นสาเหตุ สามารถใช้ยารักษาชนิดใดได้บ้าง
2.การเอกซเรย์ (X-Ray)
เช่น การสแกนด้วยระบบคอมพิวเตอร์ (CT) จะทำให้เห็นรอยโรคต่าง ๆ ในกะโหลกศีรษะได้
นอกจากนี้ แพทย์อาจให้เอกซเรย์ในบริเวณอื่น ๆ เพิ่มเติม เพื่อดูการติดเชื้อในตำแหน่งหรืออวัยวะอื่น ๆ ที่อาจเกี่ยวข้องกับโรคเยื่อหุ้มสมองอักเสบ
3.การเจาะน้ำไขสันหลัง (lumbar puncture)
ซึ่งน้ำไขสันหลัง (cerebrospinal fluid หรือ CSF) ของผู้ป่วยที่มีอาการเยื่อหุ้มสมองอักเสบจากเชื้อแบคทีเรียนั้น
มักจะมีระดับน้ำตาลกลูโคสต่ำ ส่วนจำนวนเม็ดเลือดขาวและโปรตีนในน้ำไขสันหลังจะมีระดับที่เพิ่มขึ้น นอกจากนี้ การตรวจน้ำไขสันหลัง
อาจช่วยให้สามารถระบุชนิดเชื้อแบคทีเรียที่ก่อโรค ทำให้กำหนดวิธีการรักษาที่เหมาะสมในผู้ป่วยแต่ละรายได้
วิธีรักษาโรคเยื่อหุ้มสมองอักเสบจากเชื้อแบคทีเรีย
ผู้ป่วยโรคเยื่อหุ้มสมองอักเสบเฉียบพลัน ควรได้รับการรักษาในทันที โดยแพทย์จะใช้ยาปฏิชีวนะหรือยาฆ่าเชื้อแบคทีเรีย
ที่คาดว่าน่าจะคลอบคลุมเชื้อโรคที่น่าจะเป็นสาเหตุในผู้ป่วยได้ (empirical antibiotic therapy)
ซึ่งเชื้อโรคที่คาดว่าจะเป็นสาเหตุนั้น ก็จะขึ้นกับวัยและประวัติความเจ็บป่วยที่ผ่าน ๆ มา แต่เมื่อได้ผลการเพาะเชื้อ
และทราบชนิดของเชื้อแบคทีเรียที่เป็นสาเหตุอย่างแน่ชัด ก็อาจจะมีการปรับเปลี่ยนยาปฏิชีวนะให้มีความเหมาะสมมากยิ่งขึ้น
นอกจากนี้ อาจมีการใช้ยาในกลุ่มสเตียรอยด์ (corticosteroids) เพื่อลดอาการแทรกซ้อนต่าง ๆ โดยเฉพาะภาวะสมองบวม และอาการชัก
วิธีป้องกันโรคเยื่อหุ้มสมองอักเสบจากเชื้อแบคทีเรีย
แบคทีเรียที่เป็นสาเหตุของโรคเยื่อหุ้มสมองอักเสบ สามารถแพร่กระจายได้โดยการไอ จาม รวมถึงการใช้ช้อนส้อมร่วมกัน
ดังนั้น การป้องกันการเกิดโรคเยื่อหุ้มสมองอักเสบที่ดีที่สุด คือการป้องกันการติดเชื้อแบคทีเรียที่ก่อโรคนั่นเอง
- การล้างมือบ่อย ๆ โดยเฉพาะก่อนรับประทานอาหาร หลังการเข้าห้องน้ำ การสัมผัสกับสิ่งของสาธารณะ
- ไม่ใช้ช้อนตักอาหาร หลอด หรือแก้วน้ำร่วมกับผู้อื่น เพราะจะทำให้รับเชื้อโรคได้ง่ายขึ้น
- เพิ่มความแข็งแรงของระบบภูมิคุ้มกัน ด้วยการพักผ่อนให้เพียงพอ ออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอ และรับประทานอาหารครบถ้วน
- เมื่อเป็นไข้หวัด มีอาการไอหรือจาม ควรใช้หน้ากากอนามัย เพื่อป้องกันไม่ให้เชื้อโรคแพร่กระจาย
- ช่วงที่ไข้หวัดกำลังระบาด ช่วงอากาศเปลี่ยน ควรสวมหน้ากากอนามัย เพื่อป้องกันการติดเชื้อในทางเดินหายใจ
- การฉีดวัคซีน เช่น วัคซีน Hib วัคซีน PCV13 สามารถป้องกันการติดเชื้อได้ ซึ่งคนที่มีความเสี่ยงต่อโรคนี้ควรได้รับทุกคน
Credit : halsat.com
โรคเยื่อหุ้มสมองอักเสบจากเชื้อแบคทีเรีย เป็นโรคที่เกิดการติดเชื้อแบคทีเรียที่เยื่อหุ้มสมอง เป็นโรคที่ร้ายแรง และอาจเป็นอันตรายถึงแก่ชีวิต ถ้าผู้ป่วยไม่ได้รับการรักษาอย่างทันท่วงที
ถึงแม้ว่าโรคนี้จะเป็นโรคที่อันตราย แต่ก็สามารถป้องกันได้ ด้วยการรักษาสุขอนามัยที่ดี เช่น การล้างมือ การใช้ช้อนกลาง และการใช้หน้ากากอนามัย
นอกจากนี้ การใช้วัคซีนก็สามารถลดความเสี่ยงของโรคเยื่อหุ้มสมองอักเสบ จากเชื้อแบคทีเรียได้เช่นเดียวกัน