โรคออโตอิมมูน เป็นกลุ่มโรคที่มีปัญหากับระบบภูมิคุ้มกันของร่างกาย ซึ่งเป็นการทำงานที่ผิดพลาดของระบบภูมิคุ้มกัน
และสามารถส่งผลกระทบต่อเซลล์ภายในร่างกายได้ โรคนี้นับว่ามีความซับซ้อนอย่างยิ่ง
ดังนั้น วันนี้เราจะพาคุณไปทำความรู้จักโรคนี้เพิ่มมากขึ้นกัน โรคออโตอิมมูน คืออะไร สาเหตุ อาการ และวิธีรักษาป้องกันทำอย่างไรบ้าง? ไปติดตามกันเลยค่ะ
โรคออโตอิมมูน คืออะไร?
โรคออโตอิมมูน (Autoimmune diseases) คือ กลุ่มโรคที่เกิดจากความผิดพลาดในการทำงานของระบบภูมิคุ้มกัน
โดยตามปกติแล้ว ระบบภูมิคุ้มกันของร่างกายจะมีหน้าที่สำคัญในการปกป้องเซลล์ต่างๆ ทั้งจากเชื้อโรคและแบคทีเรียหลายชนิด
รวมถึงสารเคมีที่สามารถส่งผลกระทบต่อร่างกาย แต่เมื่อร่างกายมีความผิดปกติ ก็จะทำให้เซลล์เม็ดเลือดขาว
ซึ่งมีหน้าที่ในการป้องกันสิ่งสกปรกมีการทำงานผิดพลาด จนหันมาทำลายเซลล์ดีภายในร่างกายแทน
สาเหตุของโรคออโตอิมมูน
โรคออโตอิมมูนมีสาเหตุการเกิดเนื่องจาก เซลล์เม็ดเลือดขาวภายในร่างกายมีการทำงานที่ผิดปกติ หรือจะเรียกได้ว่า
ไม่สามารถจดจำหน้าที่ของตัวเองได้ จึงไม่สามารถที่จะแยกแยะระหว่างเซลล์เนื้อเยื่อภายในร่างกาย
และเชื้อโรคหรือสิ่งแปลกปลอมที่เข้ามาสู่ร่างกายได้ จึงทำลายเซลล์ในร่างกายแทน
แต่สำหรับสาเหตุที่ส่งผลทำให้เกิดโรคออโตอิมมูนโดยตรง ทางการแพทย์ยังไม่สามารถค้นหาสาเหตุได้ชัดเจน
ดังนั้น สาเหตุที่สามารถระบุได้ในปัจจุบัน จะเกิดจากการที่สิ่งกระตุ้นหรือปัจจัยสภาพแวดล้อมโดยรอบ
เป็นตัวกระตุ้นสารพันธุกรรม ทำให้สารพันธุกรรมในร่างกายทำงานผิดปกติ โดยปัจจัยสภาพแวดล้อมที่ส่งผลคือ
- ลักษณะทางพันธุกรรมที่มีความเสี่ยงแต่กำเนิด
- เครื่องดื่มแอลกอฮอล์
- การติดเชื้อ
- ความเครียด
- การได้รับฮอร์โมน
- การสูบบุหรี่
โรคออโตอิมมูนที่ส่งผลต่อโรคอื่นๆ
สำหรับโรคออโตอิมมูนหรือโรคแพ้ภูมิตนเอง เป็นโรคที่เป็นสาเหตุของโรคต่างๆ ได้มากมาย ดังนี้
1.โรครูมาตอยด์ (Rheumatoid arthritis)
โรครูมาตอยด์จะมีความแตกต่างกับโรคข้อเข่าเสื่อม สาเหตุจากการที่เมื่อเป็นโรคออโตอิมมูน ระบบภูมิคุ้มกันจะโจมตีข้อต่อภายในร่างกาย
2.โรคสะเก็ดเงิน (psoriatic arthritis)
โรคสะเก็ดเงินที่มีผลมาจากโรคออโตอิมมูน จะมีรูปแบบอาการคือ มีปัญหาผิวหนัง เช่น บวม แดง คัน ตึง และมีอาการปวดข้อต่อร่วมด้วย
3.โรคเบาหวาน (diabetes)
โรคออโตอิมมูนที่ส่งผลให้เกิดโรคเบาหวาน โดยจะเป็นโรคเบาหวานชนิดที่ 1
ซึ่งมีสาเหตุมาจากระบบภูมิคุ้มกันทำลายเซลล์ที่ใช้ในการผลิตอินซูลินในตับอ่อน ซึ่งจะช่วยควบคุมระดับน้ำตาลในเลือด
4.โรคปลอกประสาทเสื่อมแข็ง (Multiple sclerosis)
สาเหตุจากการที่ระบบภูมิคุ้มกันทำลายเซลล์ที่หุ้มรอบเซลล์ประสาท ซึ่งจะเริ่มแสดงอาการมึนงง และมีปัญหาต่อการเดิน
5.โรคแอดดิสัน (Addison’s disease)
โรคออโตอิมมูนจะส่งผลต่อต่อมหมวกไตที่ใช้ในการผลิตฮอร์โมนคอร์ติซอล และอัลดอสเตอโรน
ซึ่งเป็นฮอร์โมนที่จะใช้ในการจัดเก็บน้ำตาลและคาร์โบไฮเดรตของร่างกาย ทำให้ไม่สามารถจัดเก็บได้ตามปกติส่งผลทำให้ร่างกายอ่อนเพลียและมีระดับน้ำตาลในเลือดต่ำ
6.โรคหลอดเลือดอักเสบ (vasculitis)
เมื่อระบบภูมิคุ้มกันที่ผิดปกติจากโรคออโตอิมมูน โจมตีหลอดเลือดภายในร่างกาย
จึงทำให้เกิดการอักเสบทั้งหลอดเลือดแดงและหลอดเลือดดำ และส่งผลต่อการไหลเวียนของระบบเลือดภายใน
7.โรคแพ้กลูเตน (Celiac)
กลูเตน โปรตีนที่สามารถพบได้ในธัญพืช ซึ่งเมื่อเป็นโรคออโตอิมมูนร่างกายจะมีความไวในการตอบสนองต่อโปรตีนชนิดนี้
โดยระบบภูมิคุ้มกันจะทำการโจมตี ดังนั้นเมื่อโปรตีนชนิดนี้อยู่ภายในลำไส้และระบบภูมิคุ้มกันได้ทำการโจมตีก็จะทำให้เกิดการอักเสบ
อาการของโรคออโตอิมมูน
อย่างแรกต้องทำความเข้าใจก่อนว่าโรคออโตอิมมูนนั้นเป็นกลุ่มโรคที่สามารถส่งผลต่อระบบต่างๆ ภายในร่างกายได้ไม่ใช่เพียงส่วนใดส่วนเดียว
เพราะฉะนั้น อาการของแต่ละโรคที่อยู่ภายในกลุ่มโรคออโตอิมมูนจะขึ้นอยู่กับแต่ละโรค
แต่ทั้งนี้สำหรับทุกๆ โรคที่อยู่ในกลุ่มโรคออโตอิมมูน จะมีอาการพื้นฐานที่คล้ายคลึงกันดังนี้
- เมื่อยล้า
- มีไข้
- ปวดกล้ามเนื้อต่างๆ
- อาการชา
- มีผื่นที่ผิวหนัง
- ผมร่วง
ภาวะแทรกซ้อนของโรคออโตอิมมูน
เนื่องจากโรคออโตอิมมูนเป็นโรคของระบบภูมิคุ้มกันที่โจมตีเซลล์อื่นๆ ภายในร่างกาย จึงสามารถทำให้เกิดโรคแทรกซ้อนอื่นๆ ตามมาได้ ดังนี้
1.โรคหัวใจ สาเหตุเป็นเพราะระบบภูมิคุ้มกันที่ผิดปกติ โจมตีกล้ามเนื้อหัวใจ จึงทำให้เป็นสาเหตุของโรคหัวใจตามมาได้
2.โรคลิ่มเลือดอุดตันในปอด เมื่อเป็นโรคออโตอิมมูน และระบบภูมิคุ้มกันโจมตีหลอดเลือดในปอด ก็จะส่งผลทำให้เลือดนั้น กลายเป็นลิ่มและอุดตันภายในปอด
3.โรคมะเร็ง เมื่อโรคออโตอิมมูนทำให้เกิดการอักเสบในส่วนต่างๆ ของร่างกาย ก็จะทำให้การอักเสบที่เกิดขึ้นนั้น พัฒนาส่งผลทำให้เกิดเป็นโรคมะเร็ง
4.ภาวะซึมเศร้า โรคออโตอิมมูนทำให้ส่วนต่างๆ ภายในร่างกายเกิดการอักเสบ
ดังนั้น เมื่อเกิดการอักเสบก็จะเป็นแบบเรื้อรัง ทำให้ผู้ป่วยเริ่มมีความวิตกกังวลจนส่งผลทำให้เกิดภาวะซึมเศร้า
การวินิจฉัยโรคออโตอิมมูน
สำหรับการวินิจฉัยโรคออโตอิมมูน ลำดับแรกแพทย์จะเริ่มจากการสอบถามประวัติของผู้ป่วย รวมถึงประวัติของคนในครอบครัว
ว่ามีผู้ที่ป่วยเป็นโรคนี้หรือไม่ นอกจากนี้แล้วแพทย์จะให้มีการตรวจสอบทางห้องปฏิบัติการ เช่น
- Antinuclear Antibodies
- Antoantibodies
- Blood Test Immunoglobulin A
- C-Reactive Protein
- Erythrocyte Sedimentation Rate
- Immunofixation Electrophosis
วิธีรักษาโรคออโตอิมมูน
ในการรักษาโรคออโตอิมมูนยังไม่มีวิธีในการรักษาที่แน่ชัด แต่ส่วนใหญ่แล้วจะเป็นการรักษาไปตามอาการและโรคที่เกิดขึ้น
ซึ่งการรักษาโรคออโตอิมมูนแบบพื้นฐาน แพทย์จะจ่ายยาตามอาการพื้นฐานดังนี้
1.ยากดภูมิคุ้มกัน
เป็นยาที่จะช่วยป้องกันระบบภูมิคุ้มกันทำลายอวัยวะภายในร่างกาย แต่ควรจะรับยาตามแพทย์สั่ง เพื่อเป็นการป้องกันการรับยากดภูมิเกินขนาด
2.ยาต้านอักเสบที่ไม่ใช่สเตียรอยด์
เป็นยาที่ใช้เพื่อการรักษาอาการปวดข้อ จากสาเหตุของข้ออักเสบ และยังมียาชนิดอื่นๆ ที่ไม่ใช่สเตียรอยด์ และสามารถนำมารักษาได้
- ยารักษาอาการซึมเศร้า
- ยานอนหลับ
3.ยาแทนฮอร์โมน
เป็นยาที่ใช้เพื่อการสร้างสารและฮอร์โมนทดแทน เพราะร่างกายไม่สามารถที่จะผลิตได้ ซึ่งก็คือ ยาอินซูลิน
วิธีป้องกันรักษาโรคออโตอิมมูน
โรคออโตอิมมูน อาจจะไม่ได้มีวิธีในการป้องกันและรักษาได้อย่างชัดเจน แต่ทั้งนี้สามารถที่จะป้องกันได้จากการเปลี่ยนพฤติกรรมบางอย่าง ดังนี้
1.อาหาร เลือกรับประทานอาหารให้ครบทั้ง 5 หมู่ และควรหลีกเลี่ยงอาหารที่ส่งผลกระทบต่อสุขภาพ
เช่น ไขมัน อาหารรสหวาน และควรที่จะเน้นปลา เพื่อช่วยระบบย่อยอาหาร ย่อยอาหารได้ง่ายและได้รับสารอาหารอย่างครบถ้วน
รวมถึงไม่ควรที่จะเน้นโปรตีนมากจนเกินไป เพราะร่างกายจะไม่สามารถย่อยโปรตีนทั้งหมดได้
2.ออกกำลังกาย การออกกำลังกายไม่ควรออกอย่างหักโหมมากจนเกินไป และควรที่จะค่อยๆ ฝึกทำไป
สำหรับผู้ที่กำลังอยู่ในช่วงเพิ่งเริ่มต้น เพื่อเป็นการกระตุ้นการทำงานของระบบต่างๆ ให้ค่อยๆ ทำงานดีขึ้น
3.พักผ่อนให้พอ ควรนอนพักผ่อนให้เพียงพอ เพราะเมื่อร่างกายพักผ่อนได้เพียงพอ
ก็สามารถที่จะซ่อมแซมส่วนที่มีปัญหาได้ ที่สำคัญไม่ควรนอนดึก ควรเข้านอนช่วงเวลา 4 ทุ่มก่อน 5 ทุ่มจะดีที่สุด
Credit : jansatta.com
โรคออโตอิมมูน ควรที่จะต้องหมั่นดูแลร่างกายให้เหมาะสม และได้รับสารอาหารที่ครบถ้วน
แนะนำว่าควรหลีกเลี่ยงปัจจัยที่ส่งผลกระทบ เพื่อป้องกันการเกิดโรคหรือภาวะแทรกซ้อนตามมา
และควรพบแพทย์ทำการรักษาเมื่ออาการของโรคมีความผิดปกติ เพียงเท่านี้ก็จะทำให้สุขภาพดีขึ้นได้แล้ว