มะเร็งผิวหนัง (Skin Cancer หรือ Cutaneous carcinoma) อันตรายไหม ? เป็นคำถามที่ดูน่าสงสัยสำหรับใครหลายๆ คน
เพราะนอกจาก มะเร็งเต้านม มะเร็งปากมดลูก หรือมะเร็งที่เกี่ยวกับอวัยวะสืบพันธุ์ จะเป็นมะเร็งที่ขึ้นมาอยู่อันดับต้นๆ จนใครต่างก็หวาดกลัว
เรายังมีเรื่องของโรคมะเร็งผิวหนัง ที่แม้จะพบได้ไม่บ่อยนัก แต่อาการของโรคมักจะไม่ค่อยแสดงผลให้เราได้เอ๊ะใจในช่วงแรกเท่าใดนัก
ดังนั้นหากถามว่าอันตรายไหม ก็จัดว่าเป็นโรคที่มีความอันตราย หากไม่ได้ทำการรักษามะเร็งผิวหนังระยะแรกให้ทันการณ์ ก็ย่อมนำไปสู่ระยะสุดท้ายที่รักษาได้ยากนั่นเองค่ะ
ต้นตอการเกิดโรคมะเร็งผิวหนัง และปัจจัยเสี่ยง
ปัจจัยภายนอกที่เป็นตัวการทำให้สาวๆ มีความเสี่ยงในการเกิดโรคนี้คือ แสงแดดและรังสียูวี ทั้ง UVA และ UVB กรณีที่ได้รับแสงแดด จะเป็นการที่ได้รับแสงแดดบ่อยเป็นประจำ
แสงแดดจัด มีผิวที่บอบบางเป็นทุนเดิม แผลเป็นที่มาจากไฟไหม้ น้ำร้อนลวก ที่สามารถแปรสภาพกลายเป็นมะเร็งผิวหนังได้ รวมไปถึงสารเคมีที่สัมผัสกับผิวบ่อยๆ และครอบครัวที่เคยมีประวัติเป็นโรคมะเร็งผิวหนังมาก่อน
มะเร็งผิวหนัง จัดว่าเป็นเนื้อร้ายชนิดหนึ่ง ที่จะเกิดขึ้นกับเยื่อบุผิวหนัง โดยตัวกระตุ้นมาจากความผิดปกติในการแบ่งเซลล์ พัฒนาการเจริญเติบโตของผิวหนังและเยื่อบุ ซึ่งแบ่งออกเป็น 3 ประเภทด้วยกัน คือ
1.มะเร็งผิวหนังชนิดสะความัส (Squamous cell carcino ma)
จัดว่าเป็นมะเร็งผิวหนังที่พบได้บ่อยชนิดหนึ่ง พบมากในกลุ่มคนที่มีอายุตั้งแต่ 40 ปีขึ้นไป
ไม่ว่าจะหญิงหรือชายก็สามารถพบได้เท่าๆ กัน เป็นชนิดที่มีความรุนแรง เมื่อเกิดขึ้นแล้วจะลุกลามเข้าสู่ต่อมน้ำเหลืองอย่างรวดเร็ว
จากนั้นจะแพร่กระจายเข้าสู่กระแสเลือด ตัวเซลล์มะเร็งมีขนาดใหญ่ มีการแบ่งตัวได้รวดเร็ว เสี่ยงต่อการแพร่กระจายเข้าสู่ปอดได้ง่ายมาก
2.มะเร็งผิวหนังชนิดเบซาลเซลล์ (Basal cell Carcinoma)
มะเร็งผิวหนังที่พบได้บ่อยมากที่สุด เซลล์ผิดปกติมักพบได้ที่บริเวณผิวหน้า ลักษณะเหมือนก้อนเนื้อสีคล้ำ ที่ดูคล้ายเหมือกระหรือฝ้า แต่จะแผ่กระจายตัวได้เร็วกว่า
จากนั้นจะแตกออกเป็นแผลเรื้อรัง เป็นมะเร็งที่สามารถรักษาได้ทัน ผู้ป่วยส่วนใหญ่เป็นแล้วกลับมาหายได้ แต่ไม่ควรปล่อยทิ้งไว้ เพราะมีโอกาสลุกลามเข้าสู่ต่อมน้ำเหลือง
3.มะเร็งผิวหนังชนิดเมลาโนมา (Malignant melanoma)
เป็นมะเร็งผิวหนังที่เราจะสามารถพบได้จากเซลล์สร้างเม็ดสี ที่เรียกกันว่า “เมลาโนไซต์” (Melanocyte)
พบได้ตั้งแต่ในวัยเด็กและช่วงวัยรุ่นอายุ 20 ปีขึ้นไป พบได้น้อย แต่จะมีความเสี่ยงมากขึ้นเมื่อมีอายุมากในช่วง 45-65 ปี
จัดว่าเป็นมะเร็งผิวหนังที่มีความรุนแรงมากเป็นพิเศษ เมื่อลุกลามเข้าต่อมน้ำเหลืองแล้วจะกระจายเข้าสู่กระแสเลือดอย่างรวดเร็ว
จากนั้นจะแพร่เข้าสู่ปอด กระดูก และสมอง โอกาสในการเสียชีวิตเป็นไปได้สูงมาก
อาการของโรคมะเร็งผิวหนังที่พบได้บ่อย
1.พบตุ่มขึ้นบริเวณผิวหนัง หรือเป็นก้อนเนื้อ หรือแผลเรื้อรัง ซึ่งจะพบได้ง่ายที่ฝ่าเท้า ฝ่ามือ หนังศีรษะ หรืออาจจะมาในรูปแบบของไฝ แต่จะโตอย่างรวดเร็ว
2.ตุ่มที่ปรากฏจะแตกออกจนกลายเป็นแผลเรื้อรัง มีเลือดออก
3.ปรากฏก้อนเนื้อหลายก้อนพร้อมๆ กันบนผิวหนัง
4.การลุกลามของโรค หากเข้าสู่ต่อมน้ำเหลืองแล้ว อาจคลำพบต่อมน้ำเหลืองได้บริเวณพื้นที่ผิวหนัง เช่น ลำคอ, หน้าหู และที่รักแร้ เป็นต้น
5.มีผื่นหรือก้อนที่เคยปรากฏอยู่มีการเปลี่ยนรูปร่างไปจากเดิม
6.พบแผลเป็นเรื้อรังนานกว่า 4 สัปดาห์ขึ้นไป โดยไม่ทราบสาเหตุ
มะเร็งผิวหนังระยะแรก หรือระยะเริ่มต้น (Actinic keratosis)
เนื่องจากมะเร็งผิวหนังจะมีการขยายตัวค่อนข้างช้า ซึ่งอาจใช้เวลาราว 5-6 ปีเลยทีเดียว และยังสามารถตรวจพบได้เร็ว เพราะเห็นความผิดปกติได้จากภายนอกบนผิวหนัง
จึงทำให้การรักษาให้หายขาดทำได้ง่าย มะเร็งผิวหนังระยะแรก เรียกกันว่า “ผื่นแอคตินิค เคราโตซิส” (Actinic Keratosis)
จะอยู่บนผิวหนังชั้นบนสุด เซลล์คงที่ ยังไม่ลุกลาม เมื่อพบแล้วรีบทำการรักษา ผู้ป่วยจะหายขาดได้ง่าย
ในระยะนี้มักมาจากการที่ผิวหนังสัมผัสกับแสงแดดเรื้อรัง และเป็นแสงแดดจัด พบได้มากในคนที่มีอายุตั้งแต่ 20 ปีขึ้นไป
และพบได้บ่อยในอายุ 50-80 ปี ตำแหน่งที่พบมากที่สุดคือ คอ, หู, ใบหน้า, หน้าผาก และศีรษะ
ส่วนอื่นๆ ที่พบตามมาคือ หลังแขน และหลังมือ คนขาวจะมีโอกาสเป็นได้มากกว่าคนที่มีผิวสีเข้ม
จะปรากฏเป็นลักษณะของผื่นนูนหรือผืนแบนราบ ขนาดประมาณ 2 เซนติเมตร สีเหมือนสีเนื้อ จากนั้นจะขยายตัว เปลี่ยนเป็นสีเทา ตกสะเก็ด และเป็นขุย
ขั้นตอนในการรักษา
มะเร็งผิวหนัง ถูกจัดแบ่งออกเป็น 4 ระยะเช่นเดียวกันกับมะเร็งทั่วๆ ไป ก่อนที่โรคจะลุกลามกลายเป็นมะเร็งผิวหนังระยะสุดท้าย
ซึ่งมักจะกระจายไปยังต่อมน้ำเหลือง ทำให้ต่อมน้ำเหลืองโต แล้วกระจายเข้าสู่กระแสเลือดและปอดในที่สุด
แพทย์จะรีบหาแนวทางในการรักษาอย่างเร่งด่วน ด้วยการตรวจสอบว่ามะเร็งอยู่ในระยะไหนแล้ว
ซึ่งการรักษาจะแบ่งออกเป็นการผ่าตัดก้อนเนื้อมะเร็งออกไป มีการผ่าตัดต่อมน้ำเหลืองที่ปรากฏโรคลุกลาม
มีการตรวจประเมินความรุนแรงของโรค ตรวจดูว่าเซลล์มะเร็งลุกลามไปยังเส้นประสาทหรือไม่
Photo Credit : webmd.com
จากนั้นจะทำการรักษาด้วยเคมีบำบัดหรือรังสี ขึ้นอยู่กับดุลยพินิจของแพทย์ แม้ว่ามะเร็งผิวหนังจะเป็นโรคที่พบได้ว่ามะเร็งผิวหนังระยะแรกปรากฏอาการให้เห็นชัดเจนได้ง่าย
เพราะอยู่ชั้นนอกของผิวหนัง แต่เราก็ควรทำการป้องกันตัวเองให้ดี ย่อมดีกว่าปล่อยให้เซลล์แปรสภาพไปเป็นมะเร็งผิวหนังก่อน ด้วยการหลีกเลี่ยงปัจจัยเสี่ยงที่กล่าวมาข้างต้น โดยเฉพาะการปกป้องตัวเองจากแสงแดดที่ร้อนแรง
หากพบความผิดปกติบนผิวหนังเกิดขึ้น ก็ควรเข้ารับคำปรึกษาจากแพทย์เพื่อตรวจสอบว่าเป็นต้นกำเนิดของเซลล์มะเร็งหรือไม่
จะเป็นการดีที่จะช่วยให้สาวๆ สบายใจได้ว่า หากเป็นจะได้รีบรักษา และหากไม่เป็นก็จะได้สบายใจ ไม่ต้องมานั่งกังวลกันอีกนั่นเองค่ะ