โรค HPV การติดเชื้อทางอวัยวะเพศ รู้เท่าทัน.. ป้องกันได้ !

โรค hpv คืออะไร

โรค HPV เป็นโรคที่หลายคนอาจจะเคยได้ยินชื่อกันมาบ้างแล้ว ซึ่งหลายคนมักคุ้นเคยกันในชื่อที่เรียกว่า ไวรัส HPV นั่นเอง

สำหรับโรคนี้เป็นอย่างไร อันตรายแค่ไหน สาวๆ เราไม่ควรพลาดเด็ดขาด เพราะเป็นโรคที่อยู่ใกล้ตัวอย่างมาก ว่าแล้วก็ตามไปทำความรู้จักพร้อมๆ กันเลยค่ะ

โรค HPV คืออะไร?

โรค HPV (Human Papilloma Virus) เกิดจากไวรัสชนิดหนึ่งที่มีสายพันธุ์มากกว่า 100 ชนิด

ก่อให้เกิดการติดเชื้อขึ้นบริเวณอวัยวะสืบพันธุ์กับทวารหนัก ทำให้เกิดหูดขึ้นตามอวัยวะต่าง ๆ

โดยสามารถติดต่อได้ทางเพศสัมพันธ์ทั้งชายกับหญิง และยังสามารถติดต่อกันทางการร่วมเพศทางทวารหนัก ทางปากกับคอหอย

ตามลักษณะการมีกิจกรรมทางเพศ ซึ่งโดยส่วนมากแล้วจะพบ HPV บ่อยที่สุดในช่องคลอดของผู้หญิง

กับปากมดลูกมากกว่าบริเวณอื่น ๆ และเชื้อไวรัส HPV ยังสามารถนำไปสู่การเกิดมะเร็งที่ปากมดลูกได้อีกด้วย

โดยส่วนมากแล้วการติดชื้อไวรัส HPV จะไม่มีการแสดงอาการใด ๆ ออกมา และยังสามารถหายเองได้

ภายในระยะเวลาประมาณ 2-3 ปีอยู่กับภูมิต้านทานในร่างกาย แต่ก็ยังมีบางรายที่มีการติดเชื้อไวรัส HPV เป็นระยะเวลานานหลายปี

จนพัฒนาสู่การเป็นมะเร็งปากมดลูกในที่สุด ในระยะเวลาประมาณ 10-15 ปี

ใครที่มีโอกาสป่วยเป็นโรค HPV

  • มีอายุน้อยกว่า 25 ปี
  • มีเพศสัมพันธ์ตั้งแต่อายุน้อยกว่า 16 ปี
  • ผู้ชาย หรือมีคู่นอนเป็นชายที่ยังไม่ได้ทำการขลิบอวัยวะเพศ
  • มีคู่นอนหลายคน หรือคู่นอนที่มีคู่นอนหลายคน
  • ไม่ได้รับวัคซีนป้องกันการติดเชื้อ HPV
  • มีเพศสัมพันธ์แบบไม่ป้องกัน
  • ผู้ชายที่เที่ยวผู้หญิง
  • ผู้ชายที่เป็นหูดหงอนไก่
  • มีเพศสัมพันธ์ในระหว่างมีประจำเดือน
  • ผู้หญิงตั้งครรภ์
  • มีภูมิคุ้มกันต้านทานโรคต่ำ
  • สูบบุหรี่
  • ร่างกายขาดวิตามินบี 9 (Folic Acid)
  • มีการใช้ยาฮอร์โมนคุมกำเนิดต่อเนื่องติดต่อกันนานมากกว่า 5 ปี

อาการติดเชื้อไวรัส HPV                           

1.มีเลือดออกขณะมีเพศสัมพันธ์

2.มีตกขาวมากกว่าปกติ

3.มีเลือดไหล หรือสารคัดหลั่ง ออกจากทางช่องคลอด

4.ตกขาวมีกลิ่นเหม็น

5.บริเวณที่ติดเชื้อ HPV มีอาการคัน แสบร้อน หรือตึง

6.ประจำเดือนมาผิดปกติ

7.ท่อทางเดินปัสสาวะอุดตัน ซึ่งอาจมีอาการปัสสาวะขัด

8.มีหูดขึ้น เป็นสัญญาณที่แสดงว่ากำลังติดเชื้อไวรัส HPV ซึ่งหูดอาจจะมีลักษณะที่แตกต่างกันไป อย่างเช่น มีลักษณะเป็นตุ่มเรียบแบน

ตุ่มนูน (รอบปูด ๆ คล้ายดอกกะหล่ำ) ตุ่มสีเนื้อหรือตุ่มสีชมพู โดยอาจจะสังเกตได้จากความตะปุ่มตะป่ำของผิวเนื้อ

แต่ในบางรายอาจจะมีหูดขึ้นหลาย ๆ ตุ่ม มีขนาดใหญ่บ้างเล็กบ้างแล้วแต่ราย ไม่มีอาการเจ็บ และหูดอาจขึ้นได้หลายบริเวณด้วยกัน

เช่น ขาหนีบ ขาอ่อน ช่องคลอด ปากมดลูก ทวารหนัก หรืออัณฑะ โดยหูดอาจจะเกิดขึ้นหลังจากที่มีเพศสัมพันธ์กับผู้ติดเชื้อไวรัส HPV ประมาณ 1-4 อาทิตย์ขึ้นไป

วิธีรักษาโรค HPV

โดยทั่วไปแล้ว อาการติดเชื้อ HPV ผู้ติดเชื้อจะสามารถหายเองได้ หลังติดเชื้อภายในเวลาประมาณ 2-3 ปี

ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับว่าภูมิต้านทานในร่างกายของแต่ละราย แต่ก็ยังมีผู้ติดเชื้อที่เชื้อคงอยู่นานหลายปีผ่านไป

จึงส่งผลทำให้มีความเสี่ยงเป็นโรคมะเร็งปากมดลูก โดยในการรักษาหรือกำจัดเชื้อไวรัส HPV ทำได้ด้วยการผ่าตัดชิ้นเนื้อที่ติดเชื้อออกไป

ก็สามารถที่จะช่วยในการยับยั้งการแพร่เชื้อ HPV แต่ก็ยังมีโอกาสที่จะกลับมาติดเชื้อ HPV ได้อีกครั้ง

วิธีดูแลตัวเอง เมื่อป่วยติดเชื้อโรค HPV

– ทุกครั้งที่มีเพศสัมพันธ์ ควรใช้ถุงยางอนามัยทุกครั้ง และควรใส่อย่างถูกวิธี

– ดูแลสุขภาพให้แข็งแรงอยู่เสมอ เน้นทานอาหารให้ครบ 5 หมู่ นอนให้เพียงพอ และออกกำลังกายสม่ำเสมอ จะช่วยสร้างภูมิต้านทานไวรัส

– เน้นทานผักใบเขียวเยอะ ๆ อย่างน้อยควรทานในปริมาณครึ่งหนึ่งของอาหารที่ทาน

– ติดตามภาวะการแพร่ของเชื้อไวรัส HPV โดยทุก ๆ 12 เดือน ทำการตรวจหาเชื้อ HPV และทุก ๆ 6 เดือน

ต้องทำการตรวจ Pap Smear เพื่อช่วยตรวจหาเซลล์มะเร็งกับเซลล์ที่ผิดปกติในระยะก่อนเป็นมะเร็ง

– เมื่อมีหูดหงอนไก่ขึ้น ควรต้องรีบทำการพบแพทย์

– ทุก ๆ ปี ควรตรวจคัดกรองมะเร็งปากมดลูกหรือตามแพทย์นัด

– งดสูบบุหรี่เด็ดขาด และไม่ควรอยู่ในบริเวณที่มีการสูบบุหรี่

– พยายามไม่เครียด

วิธีป้องกันโรค HPV

1.คอยดูแลสุขภาพให้แข็งแรงอยู่ตลอด เน้นทานผักผลไม้ อาหารที่มีประโยชน์ต่อร่างกาย และออกกำลังเป็นประจำ อย่างน้อย 5 วัน ต่อหนึ่งอาทิตย์

2.ทุกครั้งที่มีเพศสัมพันธ์ แม้ต่างฝ่ายต่างเป็นคู่นอนของกันและกันก็ควรจะต้องใช้ถุงยางอนามัยทุกครั้ง โดยจะต้องสวมใส่ถุงยางอนามัยอย่างถูกวิธี

3.ไม่ควรจะเปลี่ยนคู่นอนบ่อย ๆ

4.ฉีดวัคซีนป้องกันการติดเชื้อ HPV สามารถฉีดได้ตั้งแต่อายุ 9-26 ปี (ผู้ชายได้ถึงอายุ 21 ปี และผู้หญิงได้ถึงอายุ 26 ปี)

โดยฉีด 3 เข็มต่อเนื่อง แต่ทั้งนี้วัคซีนไม่สามารถที่จะช่วยได้ 100% ซึ่งช่วยป้องกันเชื้อ HPV ได้บางสายพันธุ์เท่านั้น

และยังไม่ช่วยในการรักษาเชื้อ HPV ที่ร่างกายมีมาก่อนหน้า ดังนั้นแล้วการฉีดวัคซีน HPV จะได้ผลอย่างดีที่สุด

ก็จะต้องฉีดก่อนที่จะมีเพศสัมพันธ์ครั้งแรก และฉีดก่อนที่ร่างกายจะได้รับเชื้อ HPV ซึ่งในปัจจุบันต่างประเทศมีการรณรงค์ให้ฉีดวัคซีนป้องกัน HPV ทั้งหญิงและชาย

5.ตรวจร่างกายหาการติดเชื้อไวรัส HPV ในทุก ๆ ปี ด้วยการตรวจคัดกรองมะเร็งปากมดลูก หรือ Pap Smear (แปปสเมียร์)

เป็นการตรวจที่ช่วยลดความเสี่ยงจากการเป็นโรคมะเร็งปากมดลูกได้มาก และยังสามารถรักษาได้หากตรวจเจอเชื้อมะเร็งในช่วงระยะเริ่มต้น

Credit : bldchemical.com

จะเห็นได้ว่า โรค HPV นั้น เป็นอีกหนึ่งโรคที่ร้ายแรงไม่น้อยทีเดียว สำหรับสาวๆ คนไหนที่มีคู่นอนหลายคน

ก็ต้องใส่ใจป้องกันด้วยการสวมถุงยางอนามัยทุกครั้ง และควรฉีดวัคซีนป้องกันเชื้อ HPV ด้วยจะดีที่สุด ก็จะสามารถช่วยป้องกันการติดเชื้อ ไวรัส HPV ได้ค่ะ