โรคดึงผม เป็นโรคที่หลายคนอาจจะคาดไม่ถึงว่ามีโรคนี้ด้วยหรือ แท้จริงแล้ว โรคนี้ก็มีให้พบในหลายๆ คนอยู่เช่นเดียวกัน
เพราะเป็นโรคที่เกิดจากภาวะความผิดปกติอย่างหนึ่ง แม้ว่าจะไม่ใช่โรคร้ายแรงแต่อย่างใด
แต่เมื่อเป็นแล้วก็ย่อมทำให้ผู้ป่วยหมดความมั่นใจ และสูญเสียบุคลิกภาพกับการดำเนินชีวิตได้ไม่น้อยทีเดียว
วันนี้เราไปทำความรู้จัก โรคดึงผมตัวเอง สาเหตุ อาการและวิธีรักษาป้องกันกันดีกว่าค่ะ
โรคดึงผมตัวเอง คืออะไร?
โรคดึงผมตัวเอง (Trichotillomania) คือโรคที่เกิดขึ้นจากภาวะผิดปกติทางจิตชนิดหนึ่ง จนกลายมาเป็นนิสัยหรือพฤติกรรม
ที่มักทำแบบย้ำคิดย้ำทำ โดยผู้ป่วยมักจะชอบดึงหรือถอนเส้นผม หรือเส้นขนตามร่างกายตนเองอยู่บ่อยๆ
ส่วนมากแล้วมักจะถอนผมในช่วงที่ทำกิจกรรมอย่างเพลิดเพลิน เช่น อ่านหนังสือหรือดูทีวี
ผู้ป่วยบางรายดึงเส้นผมจนแหว่งเว้าหายไปจนเกือบหมดหัวหรือแหว่งเว้าเป็นหย่อมๆ จนกลายเป็นปัญหาหัวล้าน
สร้างความอับอายและทำให้เสียบุคลิกภาพได้เป็นอย่างมาก สำหรับโรคนี้จะพบในผู้หญิงมากกว่าผู้ชาย
โดยเฉลี่ยอายุอยู่ที่ประมาณ 11 ปี หากป่วยตอนอายุมากอาการก็จะเป็นแบบเรื้อรัง ค่อนข้างรักษาให้ขาดหายยาก
สาเหตุของการเกิดโรคดึงผมตัวเอง
1.เกิดจากพยาธิสภาพของโรค
โดยเกิดขึ้นจากความผิดปกติของสมองในส่วนที่มีความเกี่ยวข้องกับพฤติกรรมการแสดงออก หรือระดับสารเคมีในร่างกายบางชนิดเกิดความผิดปกติ
จึงก่อให้เกิดโอกาสที่จะมีปัญหาด้านการกระทำในแบบซ้ำๆ ในผู้ป่วยบางรายอาจจะแสดงออกมา
เป็นพฤติกรรมการทำร้ายตัวเองอย่างรุนแรงซ้ำกันหลายครั้ง เช่น การโขกศีรษะหรือการดึงเส้นผมตัวเอง เป็นต้น
2.เกิดจากพยาธิสภาพทางจิตใจ
เป็นอาการที่เกิดขึ้นมาจากภาวะความเครียด เช่น ผู้ป่วยมีปัญหาด้านความสัมพันธ์กับคนรัก หรือคนในครอบครัว และกลัวการถูกทอดทิ้ง เป็นต้น
3.เกิดจากปัจจัยหรือสิ่งแวดล้อมรอบตัว
หากสิ่งแวดล้อมรอบตัวเกิดความเปลี่ยนแปลงซึ่งไม่เป็นไปดั่งที่เราอยากให้เป็น ก็อาจก่อให้เกิดความอึดอัดคับข้องใจให้ได้
หรือแม้แต่การดำเนินชีวิตภายใต้กิจวัตรประจำวันแบบซ้ำๆ อย่างการกินอาหารเดิมๆ ซ้ำซาก การเดินทางในเส้นทางเดิมหรือการจัดข้าวของให้อยู่แต่ในที่เดิมๆ
หากสภาพแวดล้อมเกิดการเปลี่ยนแปลงหรืออาจไม่เป็นไปตามสภาพแวดล้อมปกติ ก็ย่อมก่อให้เกิดความไม่สบายใจ เกิดความคับข้องใจจนแสดงพฤติกรรมออกมาเป็นการทำร้ายตนเองได้
นอกจากสาเหตุดังกล่าวแล้ว ในส่วนของพันธุกรรมโดยหากเคยมีสมาชิกในครอบครัวเคยเป็นโรคดึงผมเหมือนกัน ก็ย่อมทำให้คุณเป็นโรคดึงผมได้ด้วย
ลักษณะของผู้ป่วยแบ่งออกได้เป็น 2 ประเภท
1.ดึงผมตนเองโดยรู้ตัว
เป็นลักษณะอาการที่ผู้ป่วยมักจะดึงผมตนเองโดยรู้ตัว ซึ่งภาวะนี้อาจเกิดขึ้นจากความเครียด หรือมีเรื่องทำให้ไม่สบายใจ
เกิดความวิตกกังวลกับสิ่งต่างๆ เมื่อได้ดึงผมแล้วก็จะทำให้มีอาการผ่อนคลาย สบายใจขึ้น
2.ดึงผมตนเองโดยไม่รู้ตัว
เป็นลักษณะของผู้ป่วยที่มักจะดึงผมตนเองโดยที่ไม่รู้ตัว เพราะอาจเกิดจากพฤติกรรม ที่ทำจนติดเป็นนิสัยปกติไปแล้ว
อาการนี้มักจะเกิดขึ้นในช่วงที่ผู้ป่วยรู้สึกผ่อนคลาย เช่น นอนดูหนังหรืออ่านหนังสือเพลินๆ ก็เผลอเอามือไปดึงเส้นผม
อย่างไรก็ตาม โดยส่วนมากแล้วผู้ป่วยจะมีอาการทั้งสองอย่างคือ ดึงทั้งรู้ตัวและไม่รู้ตัวผสมกันไป
นอกจากนี้ ผู้ป่วยยังอาจดึงผมเพราะรู้สึกไม่สบายหนังศีรษะ เช่น คันหรือมีความรู้สึกยุกยิกๆ และแม้แต่การที่รู้สึกว่า เส้นผมไม่เรียบตรงก็อยากดึงออกด้วยเช่นกัน
นอกจากพฤติกรรมดึงผมแล้ว ผู้ป่วยยังมีพฤติกรรมอื่นอีกหรือไม่?
ไม่เพียงแค่พฤติกรรมการดึงผมเท่านั้นที่ผู้ป่วยมักทำอยู่บ่อยๆ เพราะบางคนอาจจะมีพฤติกรรมชอบถอน
หรือดึงขนตามตัวในส่วนอื่นๆ ร่วมด้วย เช่น ขนตา ขนคิ้ว ขนจมูก ขนหน้าอก ขนแขน ขนขาและขนอวัยวะเพศ
ผลกระทบที่ผู้ป่วยได้รับ
แม้ว่า โรคดึงผมตัวเองจะไม่ใช่โรคร้ายแรงที่มีอันตรายถึงแก่ชีวิต แต่กระนั้นก็อย่าทำเป็นเล่นไป
เพราะสามารถส่งผลกระทบต่อการใช้ชีวิตประจำวันได้มากทีเดียว เนื่องจากการดึงผมมากๆ จะทำให้เส้นผมแหว่งเว้า
เส้นผมในบริเวณดังกล่าวบางลง ขาดหายหรือหัวล้านได้นั่นเอง ในบางรายที่มีปัญหาดังกล่าว
ก็ต้องหาวิธีปกปิดเส้นผมในส่วนที่หายไปด้วยการใส่วิกหรือสวมหมวก ซึ่งยิ่งจะก่อให้เกิดความเครียด
และทำให้เป็นโรคซึมเศร้าตามมาได้ง่ายอีกด้วย อีกทั้งยังบั่นทอนความมั่นใจ ทำให้ผู้ป่วยไม่อยากออกไปเผชิญชีวิตนอกบ้านมากขึ้น
อาการระยะแรก
โรคนี้มักจะเกิดขึ้นตั้งแต่ในช่วงวัยรุ่นและสามารถเป็นแบบเรื้อรังมาตลอดต่อเนื่องเรื่อยๆ จนกระทั่งเติบโตเข้าสู่วัยผู้ใหญ่
หากผู้ป่วยไม่ได้รักษาอย่างถูกวิธี ก็จะทำให้มีอาการแบบเป็นๆ หายๆ โดยขึ้นอยู่กับสภาวะจิตใจร่วมด้วย
หากมีปัจจัยกระตุ้นอย่างความเครียด ความวิตกกังวลหรือในภาวะที่มีประจำเดือน ซึ่งทำให้รู้สึกไม่สบายใจ
อารมณ์หงุดหงิดง่ายก็อาจมีพฤติกรรมทำร้ายตนเองด้วยการดึงผมบ่อยกว่าช่วงเวลาอื่น
อย่างไรก็ตาม การรักษาโรคนี้ หากได้รับการรักษาตั้งแต่ช่วงวัยรุ่นหรือช่วงที่เป็นใหม่ๆ โอกาสที่จะรักษาหายขาด
ก็ย่อมมีสูงกว่าวัยผู้ใหญ่ และไม่เพียงเท่านั้น ผู้ป่วยบางรายอาจมีการกินเส้นผมเข้าไปด้วย
ซึ่งจะทำให้เกิดการสะสมเส้นผมอยู่ในลำไส้ จนมีการอุดตันและสร้างปัญหาต่อสุขภาพตามมา
แนวทางในการรักษา
ส่วนใหญ่แล้ว ผู้ที่ป่วยเป็นโรคดึงผมมักจะไม่ได้รับการรักษา เพราะคิดไปเองว่าโรคนี้คงจะไม่สามารถรักษาให้หายได้
อย่างไรก็ตาม ผู้ป่วยควรเข้ารับการรักษากับทางแพทย์ผิวหนังร่วมกันกับจิตแพทย์เพื่อรับการรักษาโดยพฤติกรรมบำบัด
ร่วมกับการใช้ยา โดยจะใช้ยาในกลุ่ม selective serotinin reuptake ก็จะช่วยลดอาการดึงผมลงได้
วิธีลดอาการดึงผมด้วยตนเอง
แม้ว่าโรคดึงผมจะไม่สามารถรักษาให้หายได้ง่ายๆ แต่การปรับเปลี่ยนพฤติกรรมตนเองบางอย่าง
ก็สามารถช่วยลดพฤติกรรมการดึงผมทั้งที่รู้ตัวและไม่รู้ตัวลงได้เช่นกัน โดยสามารถทำได้ดังนี้
1.ในกรณีผู้ป่วยที่มีอาการคันหนังศีรษะจนต้องถอนผมบ่อยๆ ควรปรึกษาแพทย์ผิวหนังเพื่อเลือกแชมพูสระผมที่ช่วยลดอาการคันลงได้
2.ทำกิจกรรมที่สร้างความผ่อนคลายให้แก่ตนเอง เพื่อบำบัดความเครียด และอาจหมั่นทำกิจกรรมกับคนในครอบครัว
หรือคนรักบ่อยๆ ก็จะทำให้ลบลืมอาการดึงผมลงได้ อีกทั้งเมื่อไม่เครียดหรือไม่มีอาการวิตกกังวลใดๆ
ตลอดจนเมื่อผู้ป่วยไม่มีอาการโรคซึมเศร้า โอกาสที่จะดึงเส้นผมตนเองก็น้อยลงตามด้วยเช่นกัน
3.หากผู้ป่วยไม่สามารถหยุดดึงผมตนเองได้ แนะนำให้จดบันทึกตารางการดึงผมในระหว่างวัน
เมื่อทำบ่อยๆ ก็จะพบว่าตนเองดึงผมไปมากเท่าไรแล้ว ก็จะทำให้มีสติมากขึ้น เมื่อพฤติกรรมการดึงผมเริ่มดีขึ้น
ก็ย่อมทำให้คุณมีกำลังใจต่อสู้กับโรคดังกล่าวมากขึ้นไปด้วย
4.ป้องกันการดึงผมด้วยการใช้อุปกรณ์อื่นๆ ช่วย เช่น คลุมศีรษะด้วยหมวกคลุมผมอาบน้ำ สวมหมวก พันศีรษะด้วยผ้าคลุม ฯลฯ
ในระยะแรกนั้นอาจจะรู้สึกรำคาญอยู่บ้าง แต่เมื่อหมั่นทำเป็นประจำก็จะเกิดความรู้สึกเคยชิน เพราะเมื่อเอามือจับศีรษะแล้ว
ไม่สามารถดึงเส้นผมอีกได้ก็ย่อมหยุดพฤติกรรมการดึงผมไปได้เอง ซึ่งวิธีนี้จะช่วยลดพฤติกรรมการดึงผมได้ในที่สุด
5.หากผู้ป่วยมีอาการของโรคดึงผมแบบเรื้อรังและยังมีทีท่าจะรุนแรงหนักขึ้น แนะนำให้ปรึกษาจิตแพทย์เพื่อแพทย์อาจจะพิจารณาในการให้ยารักษาโรคนี้เพิ่มเติม
Credit : myfavoritebeauty.com
และนี่ก็คือ โรคดึงผมตัวเอง หลายคนคงจะทราบกันดีแล้วนะคะว่าโรคนี้เป็นอย่างไร แม้ไม่ใช่โรคที่สร้างความเจ็บปวดทรมานให้ร่างกาย
แต่ก็ก่อให้เกิดผลกระทบต่อผู้ป่วยไม่น้อย โดยเฉพาะในด้านความมั่นใจในตนเอง จนอาจนำมาซึ่งความเครียด
และก่อให้เกิดโรคซึมเศร้าตามมา ดังนั้น ใครที่มีอาการของ โรคดึงผม อยู่จากนี้ก็ควรพบแพทย์เพื่อทำการรักษาอย่างถูกจุด
และควรหากิจกรรมทำเพื่อผ่อนคลายตนเองจะดีที่สุด ที่สำคัญทุกอย่างอยู่ที่ใจ หากคุณมีสติ หักห้ามใจตนเองไม่ดึงผมได้ก็ย่อมทำให้สามารถเอาชนะโรคได้ในที่สุด