โรคผนังกั้นหัวใจห้องล่างรั่ว เป็นโรคหนึ่งที่มีความน่ากลัวอยู่ไม่น้อย เพราะมีหลายคนที่ได้ยินว่าเมื่อมีรูรั่วที่ผนังหัวใจ
ก็อาจจะมีความอันตรายตามมามากพอสมควร ซึ่งโรคนี้ก็ถือเป็นโรคหัวใจที่เกิดขึ้นได้มาแต่กำเนิด
โดยร่างกายผู้ป่วยจะมีความผิดปกติเกี่ยวกับการสร้างผนังกั้นหัวใจห้องล่างซ้ายและขาวที่เป็นไปอย่างไม่สมบูรณ์
จนทำให้เกิดเป็นรูรั่วขึ้นที่ผนังกั้นหัวใจห้องล่าง หลายคนอาจจะอยากรู้เพิ่มเติมแล้วว่า โรคผนังกั้นหัวใจห้องล่างรั่ว อันตรายมากน้อยแค่ไหน?
เพราะฉะนั้น เรามาทำความเข้าใจโรคผนังกั้นหัวใจห้องล่างรั่วให้มากยิ่งขึ้น โดยศึกษาไปพร้อมๆ กับบทความนี้กันได้เลยค่ะ
โรคผนังกั้นหัวใจห้องล่างรั่ว คืออะไร?
โรคผนังกั้นหัวใจห้องล่างรั่ว (Ventricular Septal Defect – VSD) คือ การเกิดรูรั่วที่ผนังกั้นห้องหัวใจ
ซึ่งเป็นปัญหาที่จะทำให้เลือดที่อยู่ในหัวใจห้องล่างซ้ายผ่านไปสู่หัวใจห้องล่างขวา โดยเป็นรูปแบบของการลัดวงจร สำหรับภาวะแบบนี้
เป็นความเสี่ยงที่จะทำให้หัวใจบริเวณนั้นทำงานหนักมากยิ่งขึ้น และมีโอกาสเสี่ยงที่จะทำให้เลือดไหลไปสู่ปอดมากกว่าปกติ
สาเหตุของโรคผนังกั้นหัวใจห้องล่างรั่ว
โรคผนังกั้นหัวใจห้องล่างรั่ว ยังไม่พบสาเหตุที่แน่ชัดว่าทำไมจึงเกิดโรคนี้ได้ หากก็มีสาเหตุที่พอจะแจกแจงให้ได้ทราบด้วยกันดังนี้
1.บางรายสามารถที่เกิดได้จากความผิดปกติทางพันธุกรรม หรือการติดเชื้อไวรัสจากมารดาขณะที่กำลังตั้งครรภ์ ไม่ว่าจะเป็นหัดเยอรมัน แต่ก็มีส่วนน้อยเท่านั้นที่เกิดขึ้นจากพันธุกรรม
2.เกิดจากการมีพฤติกรรมแบบผิดๆ โดยมารดามีการเสพสารเสพติด ได้รับสารเคมีหรือยาบางชนิด และชอบดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์
3.บางรายสามารถที่จะเป็นได้ตั้งแต่กำเนิด กล่าวคือ เมื่อคุณแม่ตั้งครรภ์มีร่างกายไม่แข็งแรงสมบูรณ์หรือมีปัญหาสุขภาพ
ก็อาจจะส่งผลกระทบมายังทารก ทำให้ทารกในครรภ์มีพัฒนาการในด้านต่างๆ ได้อย่างไม่สมบูรณ์เต็มที่ จึงเป็นอีกหนึ่งสาเหตุของการนำมาสู่โรคนี้ได้ด้วยนั่นเอง
อาการของโรคผนังกั้นหัวใจห้องล่างรั่ว
สำหรับอาการของโรคผนังกั้นหัวใจห้องล่างรั่วจะมีความแตกต่างกันไปในแต่ละราย โดยบางรายอาจจะไม่มีการแสดงอาการใดๆ ออกมาให้เห็น
แต่อาจจะมีความผิดปกติแค่มีเสียงของหัวใจ ในขณะที่บางรายก็อาจจะมีอาการเป็นลมหมดสติ แต่ก็ไม่ใช่ผู้ป่วยจำนวนมากที่จะเป็นอาการนี้
นอกจากนี้ บางรายอาจจะมีอาการหัวใจวาย สาเหตุเป็นเพราะหัวใจมีการทำงานหนักมากยิ่งขึ้น อันเนื่องจากปริมาณเลือดหรือความดันที่เพิ่มมากกว่าปกติ
โดยอาการที่แสดงออกก็อาจจะเหนื่อยง่าย แต่หากเกิดในเด็กเล็กก็อาจจะทำให้การเจริญเติบโตเป็นไปอย่างผิดปกติ เด็กมีลักษณะรูปร่างตัวเล็ก
และไม่สามารถที่จะดูดนมได้ กล่าวคือ จะมีอาการเหนื่อย หายใจเร็วหรือเหนื่อยได้ง่ายในขณะดูดนม และอาจจะมีอาการหัวใจบีบตัวเร็วอีกด้วย
พร้อมกันนี้ ผู้ป่วยก็อาจจะมีอาการอื่นๆ เพิ่มเข้ามาไม่ว่าจะเป็นภาวะซีด หรืออาจจะมีความเสี่ยงที่เพิ่มมากขึ้นคือ
ติดเชื้อทางเดินหายใจได้ง่ายและบ่อยมากขึ้น ซึ่งก็ถือเป็นอาการที่เกิดขึ้นจากโรคผนังกั้นหัวใจห้องล่างรั่วนั่นเอง
ภาวะแทรกซ้อนของโรคผนังกั้นหัวใจห้องล่างรั่ว
สำหรับภาวะแทรกซ้อนของโรคผนังกั้นหัวใจห้องล่างรั่ว ผู้ป่วยจะมีอาการ เช่น หัวใจล้มเหลว มีความดันในปอดสูง
เลือดเข้าไปยังปอดมากเกินไป หัวใจส่วนบนมีอาการสั่นระริก และมีความเสี่ยงในการเกิดอัมพฤกษ์สูง
การวินิจฉัยของโรคผนังกั้นหัวใจห้องล่างรั่ว
การวินิจฉัยโรคผนังกั้นหัวใจห้องล่างรั่ว เริ่มจากจะต้องมีการดูประวัติของผู้ป่วย และอาจจะต้องมีการสอบถามอาการที่เกิดขึ้น
เพื่อที่จะใช้เป็นข้อมูลเพิ่มเติมในการวินิจฉัย นอกจากนี้ ก็ยังมีการตรวจทางห้องปฏิบัติการ ไม่ว่าจะเป็นการตรวจคลื่นหัวใจด้วยไฟฟ้า
การตรวจด้วยการสวนหัวใจ ตรวจด้วยภาพถ่ายรังสีทรวงอกและหัวใจ และอาจจะต้องมีการตรวจด้วยคลื่นสะท้อนร่วมด้วยเช่นกัน
วิธีรักษาโรคผนังกั้นหัวใจห้องล่างรั่ว
การรักษาโรคผนังกั้นหัวใจห้องล่างรั่ว สามารถแบ่งวิธีของการรักษาได้ดังนี้
1.รักษาด้วยยา การรักษาด้วยยาจะใช้กับผู้ที่มีปัญหากับโรคนี้ไม่มาก หรือผู้ป่วยสามารถที่จะหายได้เองโดยที่ไม่ต้องทำการรักษาอะไรมาก
อย่างไรก็ตาม หากพบว่ามีอาการแทรกซ้อนอย่างเช่น ปอดบวมก็จะต้องทำการรักษาภาวะแทรกซ้อนที่เกิดขึ้นด้วย
2.รักษาด้วยการสวนหัวใจ ถือเป็นการรักษาอีกรูปแบบหนึ่ง ซึ่งรูปแบบการรักษานี้จะต้องมีการใส่เครื่องช่วยในการสวนหัวใจ
3.รักษาด้วยการผ่าตัด แพทย์จะรักษาด้วยการผ่าตัดก็ต่อเมื่อรักษาด้วยยาแล้วไม่ได้ผล โดยจะผ่าตัดแก้ไขความผิดปกติ แต่ทั้งนี้ก็ต้องขึ้นอยู่กับความผิดปกติที่เกิดขึ้นว่ามีอันตรายหรือไม่
วิธีป้องกันโรคผนังกั้นหัวใจ
โรคผนังกั้นหัวใจห้องล่างรั่ว เป็นโรคที่อาจจะไม่ได้มีวิธีป้องกันอย่างแน่ชัด เพราะเป็นโรคที่สามารถเกิดได้ตั้งแต่กำเนิด
ผู้ป่วยจึงจำเป็นที่จะต้องดูแลสุขภาพของตัวเองให้ดีเป็นหลักอยู่อย่างสม่ำเสมอ
คำแนะนำในการดูแลตัวเอง
1.ผู้ป่วยควรได้รับการรักษา โดยควรได้รับยาอย่างเหมาะสมตามแพทย์สั่ง แต่อาจจะต้องมีการปรึกษาแพทย์ในเรื่องของผลข้างเคียงที่จะเกิดขึ้นด้วย
2.ในเด็กควรที่จะต้องได้รับวัคซีนอย่างเหมาะสมอยู่เสมอ เพื่อเสริมสร้างภูมิคุ้มกันให้แข็งแรง
3.เด็กเล็กควรที่จะได้รับนมแม่มากกว่านมผสม และไม่ควรที่จะให้เด็กรับประทานอาหารที่มีรสชาติมากจนเกินไป ไม่ว่าจะเป็นรสเค็มจัด หรือหวานจัด
4.ควรดูแลสุขภาพภายในช่องปาก โดยควรพาเด็กไปตรวจสุขภาพช่องปากทุก 6 เดือน เพื่อป้องกันการติดเชื้อสเตร็ปโตค็อกคัส มิวเทนส์
ซึ่งเป็นแบคทีเรียที่เป็นสาเหตุของฟันผุและใช้เป็นที่อยู่อาศัย เพราะเมื่อแบคทีเรียชนิดนี้สามารถเข้าไปภายในกระแสเลือดได้ ก็จะไปเกาะที่บริเวณหัวใจและทำให้เกิดการอักเสบได้
Credit : m.blog.daum.net
โรคผนังกั้นหัวใจห้องล่างรั่ว เป็นอีกหนึ่งโรคที่มีความสำคัญที่จะต้องระวังเป็นอย่างมาก เพราะสามารถที่จะเป็นได้ตั้งแต่เด็กๆ
และสำหรับบางรายเองก็อาจจะมีปัญหาที่เป็นโรคนี้แต่ไม่มีการออกอาการ เพราะฉะนั้นทางที่ดี ขณะตั้งครรภ์
ควรที่จะต้องมีการตรวจสุขภาพอย่างละเอียดเพื่อจะช่วยป้องกันหรือลดความเสี่ยงของโรคลงได้