ภาวะแคลเซียมในเลือดต่ํา ยังถือเป็นภาวะหรือโรคที่ยังใหม่สำหรับคนไทยเป็นอย่างมาก บางคนอาจจะเข้าใจผิดไปว่า
อาจจะเป็นโรคที่เกี่ยวกับกระดูกโดยตรง เช่น โรคกระดูกพรุน เพราะส่วนมากมักจะเข้าใจว่าเมื่อใดก็ตามที่พูดถึงแคลเซียม
จะต้องหมายถึงสารอาหารที่เข้าไปช่วยทำให้กระดูกและฟันแข็งแรง แต่ความจริงแล้ว แคลเซียมมีความสำคัญกับร่างกายมนุษย์มากกว่านั้น
ถ้าหากได้รับแคลเซียมไม่เพียงพอ หรือมีแคลเซียมต่ำกว่าที่ร่างกายต้องการเป็นเวลานาน ก็อาจเป็นอันตรายที่ถึงแก่ชีวิตได้
ภาวะแคลเซียมในเลือดต่ํา คืออะไร ?
ภาวะแคลเซียมในเลือดต่ํา (Hypocalcemia) จากชื่อภาวะก็สามารถระบุได้ตามตรงแล้วว่า
เป็นภาวะที่แคลเซียม อยู่ในเลือดของเราน้อยผิดปกติ คือต่ำกว่า 8 mg/dL (มิลลิกรัม ต่อ เดซิลิตร)
ซึ่งค่าเฉลี่ยทั่ว ๆ ไปจากห้องปฏิบัติการนั้น ได้ระบุค่าปกติของแคลเซียมที่ควรจะอยู่ในเลือดของเราที่ 8.5 – 10 mg/dL.
ถึงแม้ว่าจะพบได้ไม่ค่อยบ่อยในประเทศไทย แต่ก็ยังสามารถพบได้เรื่อย ๆ ซึ่งความน่ากลัวของโรคนี้
อยู่ที่การสามารถพบได้ทุกเพศและทุกวัย อย่างไม่มีข้อจำกัดใด ๆ ทั้งสิ้น และเร็ว ๆ นี้ก็มีแนวโน้มที่จะพบภาวะนี้
กับนักเพาะกายที่บริโภคเวย์โปรตีนเพียงอย่างเดียวโดยไม่เสริมสารอาหารใด ๆ โดยเฉพาะแคลเซียมมากยิ่งขึ้น
เพราะ เวย์โปรตีนจะไปไล่แคลเซียมในกระดูกออกไป เมื่อบริโภคเป็นเวลานาน
จึงส่งผลให้เกิดภาวะกระดูกพรุนตามมา รวมทั้งอาจมีความเสี่ยงที่จะมีภาวะแคลเซียมในเลือดต่ำได้
ปัจจัยที่ก่อให้เกิดภาวะแคลเซียมในเลือดต่ำ
เพราะสามารถเกิดขึ้นได้กับทุกเพศและทุกวัยอย่างไม่มีข้อจำกัดใด ๆ จึงทำให้ปัจจัยที่เกิดภาวะนี้ย่อมหลากหลายตามไปด้วย
และส่งผลกระทบไปถึงส่วนอื่น ๆ ไม่ต่างกับลูกโซ่ ซึ่งเราสามารถสรุปออกมาได้ดังต่อไปนี้
– เกิดจากโรคไตโดยตรง และโรคที่เกี่ยวข้องกับไต เมื่อไตทำงานผิดปกติ ก็จะส่งผลให้มีการขับแคลเซียมออกจากร่างกายเป็นจำนวนมาก
จึงส่งผลให้เกิดภาวะนี้ และยังต่อเนื่องให้ร่างกายไม่สามารถสร้างวิตามินดีได้อีกด้วย
– เมื่อร่างกายไม่สามารถสร้างวิตามิน ดี ด้วยตัวเองได้แล้ว และยังไม่ได้รับรับจากการบริโภคอาหารเพิ่มเติม
ร่วมกับแมกนีเซียม ก็จะทำให้ร่างกายสามารถดูดซึมแคลเซียมได้น้อยลงกว่าเดิม
– เป็นโรคเกี่ยวกับลำไส้ เช่น ลำไส้อักเสบแบบเรื้อรัง จนไม่สามารถดูดซึมแคลเซียมได้
– ความผิดปกติของต่อมพาราไทรอยด์ ไม่ว่าจะเกิดจากการทำงานผิดปกติของต่อมไทรอยด์
การที่ต่อมพาราไทรอยด์ไม่สามารถทำงานได้ตามปกติ และการที่ร่างกายของเราปฏิเสธการทำงานฮอร์โมนพาราไทรอยด์
– โรคตับอ่อนอักเสบ
– ผลข้างเคียงของการใช้ยาบางชนิด เช่น ยาระบาย ยาป้องกันอาการชัก ยาเพิ่มมวลกระดูก เป็นต้น
อาการของภาวะแคลเซียมในเลือดต่ำ
โดยทั่วไปแล้ว หากมีอาการภาวะแคลเซียมในเลือดต่ำเพียงเล็กน้อย ร่างกายก็จะไม่แสดงอาการผิดปกติใด ๆ ออกมา
จึงทำให้หลายคนอาจไม่รู้ตัวว่ามีความเสี่ยงกับภาวะนี้อยู่ และถ้ายังไม่เติมแคลเซียมเข้าไปให้กับร่างกาย ก็อาจพบอาการต่อไปนี้ได้
- ความดันโลหิตต่ำ
- มีภาวะเครียด ซึมเศร้า สับสน คิดอะไรไม่ค่อยออก
- เกิดอาการเกร็งบริเวณกล้ามเนื้อส่วนต่าง ๆ เช่น กล้ามเนื้อมือ ขา และเท้า
- เป็นโรคกระดูกพรุน หากเกิดการกระทบกระเทือนก็มีโอกาสที่กระดูกจะได้รับความเสียหาย
- หากมีอาการหนักมากขึ้นจะเริ่มมีอาการชาตามกล้ามเนื้อต่าง ๆ ที่เคยเกิดอาการเกร็ง และอาจเกิดบริเวณรอบ ๆ ริมฝีปากเพิ่มขึ้นด้วย
- เกิดอาการห้อเลือด หรือเลือดออกเป็นจุดกระจายไปทั่วบริเวณผิวหนัง
- ถ้าแคลเซียมในเลือดต่ำมากถึงมากที่สุด ก็อาจเจออาการกล้ามเนื้อกล่องเสียงหดตัวจนรู้สึกหายใจไม่ออก หรือหัวใจเต้นผิดจังหวะ จนเป็นเหตุให้เกิดอันตรายถึงแก่ชีวิตได้
- ถ้าหากเกิดภาวะนี้ในเด็กเล็ก ก็อาจพบปัญหาการเจริญเติบโตช้า สมองไม่เจริญเติบโต จนถึงขั้นปัญญาอ่อน
วิธีรักษาภาวะแคลเซียมในเลือดต่ำ
สำหรับวิธีการรักษานั้น มีทั้งการดูแลโดยแพทย์ และการดูแลตัวเองที่บ้าน โดยมีรายละเอียดดังต่อไปนี้
การดูแลโดยแพทย์ – แพทย์จะให้แคลเซียมชดเชย ซึ่งจะมาทั้งในรูปแบบของยา อาหารเสริม และยาฉีด แล้วแต่อาการ
นอกจากนี้อาจจะมีการวินิจฉัยถึงปัจจัยสำคัญที่ทำให้เกิดภาวะแคลเซียมในเลือดต่ำ เพื่อเป็นการรักษาให้ถูกต้องตามอาการ
ยกตัวอย่างเช่น หากเกิดจากไต ก็จะต้องทำการรักษาที่ไต เพื่อไม่ให้เกิดภาวะนี้ซ้ำอีก
การดูแลตัวเองที่บ้าน – รับประทานอาหารที่มีแคลเซียมสูงเป็นประจำและสม่ำเสมอ เช่น นม และผลิตภัณฑ์ต่าง ๆ ที่ทำจากนม
(ชีส โยเกิร์ต เนยจืด) ปลา (โดยเฉพาะปลาตัวเล็ก ๆ ที่ทานได้ทั้งตัว) และอาจจะทานอาหารเสริมแคลเซียมร่วมด้วย
วิธีป้องกันภาวะแคลเซียมในเลือดต่ำ
สำหรับวิธีป้องกันที่ดีที่สุด ก็ไม่ต่างจากการรักษา นั่นก็คือการทานอาหารที่มีส่วนผสมของแคลเซียมเป็นประจำและสม่ำเสมอ
เพื่อไม่ให้ร่างกายเกิดภาวะแคลเซียมในเลือดต่ำ นอกจากนี้ก็ต้องพักผ่อนให้เพียงพอ รวมทั้งออกกำลังกายอย่างน้อยสัปดาห์ละ 3 ครั้ง
เพื่อให้ร่างกายแข็งแรงและมีภูมิต้านทานต่อโรคที่ดี และเมื่อใดก็ตามที่เกิดความผิดปกติกับร่างกาย
ก็ให้ไปพบแพทย์ในทันที เพื่อจะได้วินิจฉัยอาการ และทำการรักษาได้อย่างถูกต้อง
Credit : bepo.ctitv.com.tw
ภาวะแคลเซียมในเลือดต่ำ เป็นภาวะที่มีความอันตรายพอสมควร แต่ก็ไม่ได้รุนแรงจนถึงขั้นรักษาไม่ได้
เพราะฉะนั้นก็ต้องสังเกตความผิดปกติของตัวเองให้ดีทุกครั้ง เพื่อจะได้ป้องกันและรักษาได้อย่างทันท่วงทีก่อนที่อาการจะรุนแรงมากขึ้น