เราคงไม่ค่อยคุ้นชินกับโรคมะเร็งสมองกันเท่าใดนัก แต่มักได้ยินกันในชื่อว่าเนื้องอกในโพรงกะโหลกศีรษะ
โดยการเกิดโรคจะสามารถเกิดได้ทุกตำแหน่งภายในสมอง ไม่ว่าจะเป็นเซลล์เส้นประสาทสมอง เซลล์เยื่อหุ้มสมอง เซลล์ต่อมใต้สมอง และกะโหลกศีรษะ
นอกจากนี้โรคมะเร็งสมองยังสามารถเกิดขึ้นได้จากการลุกลามของมะเร็งจากอวัยวะอื่นๆ เข้ามาสู่สมองก็ได้เช่นกัน
แม้จะเป็นโรคที่พบได้ไม่บ่อย แต่ลักษณะของโรคมีได้หลากหลายชนิด แบ่งตามเนื้องอกที่เติบโตขึ้นราวๆ 120 ชนิด
และยังแบ่งเป็นประเภทใหญ่ๆ ได้อีก 2 ชนิดคือ เนื้องอกที่เกิดจากเนื้อสมอง
และเนื้องอกที่มาจากเนื้อเยื่อรอบๆ เนื้อสมอง อย่างไรก็ตามเนื้องอกในสมองส่วนใหญ่ไม่ได้กลายสภาพไปเป็นมะเร็ง
แต่ก็มีเนื้องอกบางชนิดที่สามารถกลายเป็นเซลล์มะเร็งในอนาคตได้เช่นกัน ดังนั้นเมื่อเกิดอาการปวดหัว
อาเจียน เวียนศีรษะ หน้ามืดบ่อยๆ แบบไม่ทราบสาเหตุ ทางที่ดีควรเข้ารับการตรวจจากแพทย์เพื่อหาสาเหตุอย่างเร่งด่วนที่สุดก่อนจะสายเกินแก้
ลักษณะของโรคมะเร็งสมอง
โรคมะเร็งสมอง (Malignant brain tumor) เป็นโรคที่เกิดขึ้นจากเนื้องอกร้ายแรง
อัตราการพบโรคนี้มีอยู่ราวๆ 5 เปอร์เซ็นต์ เมื่อเทียบกับมะเร็งส่วนอื่นๆ ภายในร่างกาย
โรคนี้สามารถเกิดขึ้นได้กับคนทุกวัย แต่จะมีความเสี่ยงสูงในกลุ่มอายุ 20-40 ปี
และในปัจจุบันโรคนี้ยังมีความเสี่ยงต่อการเสียชีวิตเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ ทุกปี
หากแบ่งลักษณะของเนื้อร้ายที่เกิดขึ้นภายในสมอง จะแบ่งเป็นเนื้อร้ายที่เกิดขึ้นภายในสมองเอง
ไม่พบปัจจัยการเกิดที่แน่ชัดว่าอะไรเป็นตัวกระตุ้นให้เกิดเนื้องอกและกลายเป็นเซลล์มะเร็งตามมา
แต่เชื่อว่ามาจากความผิดปกติของหน่วยพันธุกรรมภายในเซลล์เป็นตัวเกี่ยวข้อง
และอีกชนิดคือกลุ่มเนื้อร้ายที่แพร่กระจายมาจากอวัยวะส่วนอื่น
เป็นชนิดที่เป็นสาเหตุของการเกิดมะเร็งสมองได้มากที่สุด เช่น มะเร็งเต้านม, มะเร็งลำไส้ใหญ่ และมะเร็งโพรงจมูก เป็นต้น
อาการที่พบของผู้ป่วยโรคมะเร็งสมอง
สำหรับอาการที่พบในผู้ป่วย จะแบ่งออกเป็น 3 อาการใหญ่ๆ ด้วยกันคือ
1.อาการปวดศีรษะ
จัดว่าเป็นอาการที่พบได้มากที่สุด ซึ่งมักจะมีอาการคลื่นไส้อาเจียนร่วมมาด้วย
อาการปวดที่เกิดขึ้นจะเป็นในช่วงเช้าและหลังตื่นนอน เป็นส่วนใหญ่ บางครั้งก็จะเกิดอาการปวดในช่วงนอนหลับตอนกลางคืน
จนทำให้สะดุ้งตื่นขึ้นมากะทันหัน อาการปวดจะดำเนินต่อไปเรื่อยๆ หากไม่ได้รับการรักษา
และความรุนแรงก็เพิ่มขึ้นตามลำดับอีกด้วย ทั้งนี้อาการปวดที่เพิ่มระดับขึ้น ยังทำให้เกิดความผิดปกติอื่นตามมาในขณะปวด
เช่น การมองเห็นภาพผิดเพี้ยนจากปกติ หรือการสูญเสียการมองเห็นแบบฉับพลัน
กรณีความผิดปกติอื่นที่สามารถเกิดขึ้นได้นอกเหนือจากนี้ จะขึ้นอยู่กับตำแหน่งของโรคที่พบภายในสมองด้วย
2.การเปลี่ยนแปลงทางด้านพฤติกรรม
ผู้ป่วยอาจมีการเปลี่ยนแปลงทางพฤติกรรม ความคิด การควบคุมการเคลื่อนไหว รู้สึกชาตามมือและเท้า
แขนขาอ่อนแรง มีปัญหาในการพูดและฟัง ไม่สามารถเข้าใจสิ่งแวดล้อมรอบข้าง
และอาจมีปัญหาด้านความทรงจำ การจดจำผู้อื่น และหลงๆ ลืมๆ ได้
3.อาการชัก
อาการชักในผู้ป่วยมะเร็งสมอง จะแบ่งออกเป็น 2 แบบ คือ อาการชักทั้งตัวจนเสี่ยงที่จะทำให้ผู้ป่วยหมดสติ
บางรายมีอาการปัสสาวะและอุจจาระโดยไม่รู้ตัว และอีกแบบคืออาการชักเฉพาะจุด
เกิดขึ้นที่มัดกล้ามเนื้อใดกล้ามเนื้อหนึ่งมีอาการสั่นหรือกระตุกโดยไม่สามารถควบคุมได้ เช่น นิ้วมือ
นิ้วเท้า แขน ขา เป็นต้น อย่างไรก็ตาม อาการชักเฉพาะจุดสามารถลุกลามกลายเป็นการชักแบบทั้งตัวได้
หากรอยโรคมีการกระจายตัวภายในสมองมากขึ้น โดยที่ยังไม่ได้รับการรักษาใดๆ
สาเหตุของการเกิดโรคมะเร็งสมอง
ดังที่กล่าวไปข้างต้นแล้วว่าโรคชนิดนี้ยังไม่ทราบสาเหตุที่แน่ชัดว่ามีปัจจัยใดเป็นตัวกระตุ้น
ซึ่งคาดเดากันว่าอาจมาจากหลายๆ ปัจจัยทั้งสภาพแวดล้อมภายนอกและสภาพแวดล้อมภายใน
เช่น การได้รับคลื่นรังสีจากโทรศัพท์มือถือ คอมพิวเตอร์ หรือรังสีอื่นๆ ที่เป็นตัวกระตุ้นทำให้เกิดเซลล์มะเร็ง,
การเกิดบาดแผลจากภายนอกที่ส่งผลกระตุ้นไปยังเนื้อเยื่อภายในสมองจนทำให้กลายเป็นเนื้องอก,
ปัจจัยทางด้านเคมีภัณฑ์ อย่างการสัมผัสกับยาฆ่าแมลง ยาย้อมผม และยาทาเล็บเป็นเวลานาน
นอกจากนี้ยังมีปัจจัยภายในที่เกี่ยวข้องคือ ความผิดปกติของสารพันธุกรรม
ความผิดปกติของเซลล์ตั้งแต่กำเนิดที่หลงเหลืออยู่ภายในศีรษะ จนทำให้เซลล์เติบโตกลายเป็นเนื้องอกร้ายแรงตามมา
การวินิจฉัยและรักษาโรคมะเร็งสมอง
การวินิจฉัยเบื้องต้นในผู้ป่วยที่อยู่ในกลุ่มที่มีอาการใกล้เคียงกับโรคดังกล่าว
แพทย์จะทำการเอกซเรย์กะโหลกศีรษะ การทำ CT สแกน การตรวจด้วยคลื่นแม่เหล็กไฟฟ้า
การตรวจคลื่นสมอง ละตรวจวัดทางชีวภาพ และอาจมีการตรวจอื่นๆ เพิ่มขึ้นมาเพิ่มเติมในผู้ป่วยแต่ละรายแตกต่างกันออกไป
ในขั้นตอนการรักษา มีทั้งแบบผ่าตัดเพื่อกำจัดเอาเนื้องอกที่กดทับภายในสมองออกไป
เป็นตัวช่วยป้องกันไม่ให้เซลล์มะเร็งลุกลาม และการทำเคมีบำบัดที่จะมีการจำกัดการรักษาไว้มาก
เนื่องจากมีผลต่อระบบสมอง จึงใช้ยาเคมีละลายในไขมันส่งผ่านหลอดเลือดภายในเนื้อเยื่อของเซลล์
ตรงเข้าไปทำลายเนื้องอกโดยไม่ส่งผลกระทบต่อการทำงานของสมอง ส่วนอีกวิธีคือการฉายรังสี
แพทย์จะใช้ระดับความไวต่อรังสีของเซลล์มะเร็งเป็นตัวหลักในการทำงาน
โดยสังเกตจากการแตกตัวของเซลล์เนื้องอก สังเกตจากภาพถ่ายสมอง
นำมาวิเคราะห์เพื่อหาปริมาณของรังสีที่จะใช้และขอบเขตของการฉายรังสี เพื่อให้เกิดผลข้างเคียงต่อร่างกายน้อยที่สุด
Photo Credit : charchaguru.com
สาวๆ ที่พบว่าตัวเองมีอาการผิดปกติ ซึ่งโดยทั่วไปอาการอันเนื่องมาจากโรคมะเร็งสมองจะมีความจำเพาะ
สังเกตได้ง่าย แต่เมื่อพบความน่าสงสัยเกิดขึ้น ควรรีบเข้ารับการตรวจจากแพทย์อย่างเร่งด่วน
หลีกเลี่ยงการซื้อยากินเอง หรือรักษาด้วยวิธีอื่นที่อาจจะทำให้โรครุนแรงและเกิดอันตรายตามมา จนทำการรักษาได้ยาก