ภาวะสายตาสั้น เป็นสิ่งที่พบได้ทั่วไป แต่หลายคนอาจจะไม่เคยได้ยินภาวะ “สายตาสั้นเทียม” (Pseudomyopia)
ซึ่งเป็นการเปลี่ยนแปลงอันเกิดขึ้นจากกล้ามเนื้อที่ชื่อว่า Ciliary body อยู่ภายในลูกตาของเรา
ซึ่งในปัจจุบันภาวะนี้มีจำนวนผู้ป่วยเพิ่มมากขึ้น อันเนื่องมาจากการจ้องหน้าจอสมาร์ทโฟน
หรือแท็บเลตติดต่อกันเป็นเวลานาน เมื่อการมองสิ่งที่อยู่ใกล้สายตามากกว่าเกินไป
จะทำให้ดวงตาทำงานหนัก เกิดอาการเกร็ง กล้ามเนื้อชนิดนี้จะหดเกร็งเพื่อช่วยทำให้สายตามองเห็นได้ชัด
เมื่อมองใกล้ติดต่อกันเป็นเวลานาน แล้วเปลี่ยนโฟกัสไปที่การมองไกล ทำให้เรายังอยู่ในภาวะสายตาสั้น
ภาพไกลๆ มองเห็นได้ไม่ชัดเจนในระยะหนึ่ง เมื่อกล้ามเนื้อคลายตัว จึงจะกลับเข้าสู่ภาวะปกติเช่นเดิมในการมองเห็น
ภาวะสายตาสั้นเทียม จึงเป็นอาการที่เกิดขึ้นเพียงชั่วครั้งชั่วคราว แต่หากปล่อยทิ้งไว้นาน
สาวๆ ไม่ยอมเปลี่ยนพฤติกรรมการจ้องหน้าจอของตัวเอง ก็อาจจะทำให้สายตาสั้นเทียม กลายเป็นสายตาสั้นจริงๆ ขึ้นมาก็ได้นั่นเองค่ะ
ทำความรู้จักกับสายตาสั้นเทียม
สายตาสั้นเทียม เป็นภาวะที่เกิดขึ้นอันเนื่องมาจากความผิดปกติในการหดเกร็งกลามเนื้อขนาดเล็กภายในลูกตา
ซึ่งการหดเข้าของกล้ามเนื้อชนิดนี้เพื่อช่วยให้เลนส์ตาโป่งออก คล้ายเลนส์ตาของคนที่มีสายตาสั้น
การเล็งสิ่งของที่อยู่ใกล้ๆ จึงมีความคมชัดมากขึ้น ขณะที่กล้ามเนื้อเกิดการคลายตัวแบบอัติโนมัติ
เมื่อเลิกมองวัตถุใกล้ๆ แต่เปลี่ยนจุดโฟกัสไปที่ระยะไกล จะรู้สึกว่ามองเห็นภาพรอบตัวไม่ชัดไปสักระยะหนึ่ง
จนกว่ากล้ามเนื้้อจะค่อยๆ คลายตัว อาการเหล่านี้จะเกิดขึ้นก็ต่อเมื่อมีการจ้อวัตถุในระยะใกล้เป็นเวลานานติดต่อกัน
ส่งผลให้กล้ามเนื้อขนาดเล็กนี้หดตัวอยู่ตลอดเวลา โดยเฉพาะในกลุ่มที่นั่งจ้องหน้าจอมือถือ
คอมพิวเตอร์ หรือสมาร์ทโฟน ก็สามารถทำให้เกิดสายตาสั้นเทียมขึ้นมาได้ทั้งสิ้น
สังเกตตัวเองว่าสายตาสั้นเทียม หรือสายตาสั้นจริง ?
สำหรับใครที่มีปัญหาสายตาสั้น ยังไม่หนักหนา สามารถใช้ชีวิตประจำวันได้แบบไม่ต้องใส่แว่นตลอดเวลา
ซึ่งจะพบในกลุ่มที่เพิ่งมีปัญหาสายตาสั้นระยะเริ่มต้นเท่านั้น ซึ่งเราจะสังเกตตัวเองได้ว่า
ภาวะสายตาสั้นที่เกิดขึ้นเป็นสายตาสั้นจริงๆ หรือเป็นภาวะสายตาสั้นเทียมที่เกิดขึ้นเพียงชั่วคราว
จากพฤติกรรมการใช้สายตา ให้ดูว่า หลังจากอ่านหนังสือหรือใช้คอมพิวเตอร์ติดต่อกันราว 1-2 ชั่วโมง
พอเงยหน้าขึ้นมามองไปไกลๆ รู้สึกว่าภาพต่างๆ ดูเบลอจากปกติ ให้รอสักพักแล้วมองไปไกลๆ อีกครั้ง
ถ้าอาการไม่ดีขึ้น แสดงว่ามีภาวะสายตาสั้นจริง แต่หากภาพมองชัดขึ้นหรือมองเห็นได้ชัดตามปกติ แสดงว่าเป็นภาวะสายตาสั้นเทียมนั่นเอง
สาเหตุของการเกิดภาวะสายตาสั้นเทียม
ภาวะสายตาสั้นเทียม มีต้นตอหลักๆ มาจากพฤติกรรมการมองของเราเอง โดยเฉพาะการมองจอคอมพิวเตอร์
ติดต่อกันเป็นเวลานานโดยไม่หยุดพัก นั่งจ้องมือถือ สมาร์ทโฟน หรืออ่านหนังสือ
ก็สามารถทำให้เกิดภาวะนี้ได้ทั้งสิ้น นอกจากนี้ยังพบโรคที่เกี่ยวข้องกับสมอง
เป็นตัวการทำให้การทำงานของระบบประสาทอัตโนมัติผิดปกติขึ้นมา การเกิดโรคตาบางชนิด
ทำให้ Ciliary body ทำงานหนักขึ้น เช่น โรคยูเวียอักเสบ, ภาวะสายตาเอียง เป็นต้น
อีกทั้งยารักษาโรคบางชนิด ก็ผลทำให้เกิดภาวะสายตาสั้นชั่วคราวได้ เช่น ยารักษาโรคพาร์กินสัน, ยาคลายกังวล, ยาคลายกล้ามเนื้อ เป็นต้น
การรักษาและป้องกัน
การรักษาสายตาสั้นเทียมแบบง่ายๆ เมื่อพบว่าตัวเองมีอาการดังกล่าว
สามารถแก้ไขด้วยการพักสายตาจากคอมพิวเตอร์ สมาร์ทโฟน หรืออุปกรณ์ที่ต้องนั่งจ้องแบบใกล้ๆ
เป็นเวลานาน หากจำเป็นต้องใช้ทั้งวัน ควรพักสายตาทุกๆ 30 นาที ด้วยการมองออกไปไกลๆ
แบบไม่โฟกัสภาพ หลีกเลี่ยงการมองในที่มีแสงแดดจ้า มองต้นไม้หรือกำแพงที่เป็นสีเข้ม
ประมาณ 5 นาที จะช่วยให้สายตาได้พักผ่อน ลดอาการเมื่อยล้า ป้องกันไม่ให้สายตาต้องทำงานหนักมากเกินไป
ในกรณีของคนที่ต้องไปพบแพทย์ จะต้องดูอาการของตัวเองก่อนว่า ภาวะสายตาสั้นที่เกิดขึ้นมีการเพิ่มอย่างรวดเร็ว
ตรวจพบค่ามากกว่า 100 เมื่อใช้สายตามองใกล้ๆ เป็นเวลานาน รู้สึกปวดที่กระบอกตา
ปวดศีรษะบ่อยๆ หรือรู้สึกวิงเวียน คลื่นไส้อาเจียน ควรเข้ารับการตรวจจากแพทย์เพื่อหาสาเหตุความผิดปกติที่เกิดขึ้น
PhotoCredit : healthtap.com
พฤติกรรมการใช้อุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ของเราในปัจจุบัน คือสาเหตุที่ทำให้เกิดปัญหาทางด้านสายตา ไม่เฉพาะแค่ภาวะสายตาสั้นเทียมเท่านั้น
แต่ยังกลายเป็นตัวการทำให้เกิดโรคตาที่ร้ายแรงตามมาในอนาคตได้ หากสาวๆ ยังไม่รู้จักการดูแลตัวเองให้มากขึ้นกว่านี้