โรคกระดูกพรุน (ภาษาอังกฤษ – Osteoporosis) แม้เป็นโรคที่ไม่ได้ร้ายแรงมาก แต่ก็สร้างความทุกข์ให้แก่ผู้ป่วยได้ไม่น้อยเช่นกัน
ดังนั้นการดูแลสุขภาพให้แข็งแรงอยู่เสมอ เป็นเรื่องที่ทุกคนควรใส่ใจ แต่นอกจากการดูแลสุขภาพให้ดีแล้ว
การดูแลความแข็งแรงของกระดูก ด้วยการเติมสารอาหารที่ดีให้กับกระดูกเพื่อป้องกันโรคกระดูกพรุน ก็เป็นอีกเรื่องหนึ่งที่ไม่ควรมองข้าม
เพราะโรคกระดูกพรุนเป็นภัยเงียบที่ส่งผลเสียต่อร่างกายได้อย่างมากมาย ทำให้กระดูกเปราะแตกได้ง่าย
โดยเฉพาะผู้สูงอายุ วันนี้เรามีข้อมูลที่น่าสนใจเกี่ยวกับโรคกระดูกพรุนมาฝากกัน
โรคกระดูกพรุนคือ อะไร?
โรคกระดูกพรุน คือ โรคที่เกิดจากภาวะที่มีปริมาณแร่ธาตุในกระดูกลดลง โดยเฉพาะปริมาณแคลเซียม ร่วมกับการเสื่อมตัวของเนื้อเยื้อที่เป็นโครงสร้างภายในกระดูก
ทำให้เนื้อมวลกระดูกมีความหนาแน่นลดลง จึงส่งผลให้กระดูกเกิดการเปราะแตกได้ง่าย กระดูกที่พบว่าหักได้บ่อย ได้แก่ ข้อมือ สะโพก สันหลัง
แต่โรคกระดูกพรุนสามารถป้องกันได้ด้วยการ รับประทานอาหารที่มีแคลเซียมสูง ออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอ
รับแสงแดดอ่อน ๆ อย่างเป็นประจำ และไม่สูบบุหรี่ ซึ่งพฤติกรรมเหล่านี้ควรเริ่มทำตั้งแต่ยังอายุยังน้อย
สาเหตุที่ทำให้กระดูกพรุน
กระดูกประกอบไปด้วยโปรตีน คอลลาเจน แคลเซียม โดยมีแคลเซียมและฟอสเฟตเป็นตัวทำให้กระดูกแข็งแรง
ทนต่อการดึงรั้ง กระดูกจะมีการสลายตัวอยู่ตลอดเวลา ในขณะที่มีการสร้างกระดูกใหม่โดยการใช้แคลเซียมจากอาหารที่ทานเข้าไป
ก็จะเกิดการสลายแคลเซียมในเนื้อกระดูกเก่าออกมาในเลือดและถูกออกมาจากทางปัสสาวะและอุจจาระ
ในวัยเด็กจะมีการสร้างกระดูกมากกว่าการสลายตัวของกระดูก จึงทำให้กระดูกเกิดการเติบโต จนทำให้มวลกระดูกเพิ่มขึ้น
จนมีความหนาแน่นมากที่สุด เมื่ออายุประมาณ 30 – 35 ปี หลังจากนั้นจะเกิดการสลายตัวของกระดูกมากกว่าการสร้าง
จึงทำให้กระดูกบางตัวลง เมื่อมีอายุเพิ่มมากขึ้น โดยเฉพาะสำหรับผู้หญิงในวัยหมดประจำเดือน
จะทำให้ฮอร์โมนเอสโตรเจนลดลงอย่างรวดเร็ว ฮอร์โมนชนิดนี้จะช่วยดูดซึมแคลเซียมเข้าสู่ร่างกาย
ช่วยชะลอการสลายตัวของแคลเซียมที่อยู่ภายในกระดูก เมื่อฮอร์โมนชนิดนี้ลดลง จึงทำให้กระดูกบางตัวอย่างรวดเร็ว
จนทำให้เกิดภาวะกระดูกพรุนโรคกระดูกพรุนโดยส่วนใหญ่เกิดจากภาวการณ์หมดประจำเดือนในผู้หญิง
โดยกระดูกจะเกิดการสลายตัวอย่างรวดเร็วในช่วง 10 – 20 ปี หลังการหมดประจำเดือน ซึ่งช่วงหลังหมดประจำเดือน
การเสื่อมสลายตัวของกระดูกที่เกิดจากอายุที่เพิ่มขึ้นจะมีการสะสมตัวอย่างค่อย ๆ เป็นค่อย ๆ ไปอย่างยาวนาน
จนทำให้เกิดการเสียสมดุลระหว่างการสร้างและการสลายตัวของกระดูก โดยพบได้ทั้งชายและหญิงที่มีอายุมากกว่า 35 ปี
โรคกระดูกพรุนที่เกิดจากสาเหตุอื่น ๆ
โรคกระดูกพรุนสามารถเกิดขึ้นได้จากภาวะอื่น ๆ ได้ด้วย เรียกว่า กระดูกพรุนชนิดทุติยภูมิ โดยเกิดจากต่อมพาราไทรอยด์ทำงานมากเกินไป
นอกจากนี้ ยังเกิดจากโรคเบาหวาน โรคปวดข้อรูมาตอยด์ โรคตับเรื้อรัง น้ำหนักน้อย ภาวะขาดสารอาหาร ภาวการณ์ขาดแคลเซียม
มะเร็งเต้านม มะเร็งเม็ดเลือดขาว ต่อมน้ำเหลือง การใช้ยาสเตียรอยด์ รวมถึงการใช้ฮอร์โมนไทรอยด์ทนแทนในปริมาณที่มากเกินไป
และการขาดการเคลื่อนไหวร่างกายนาน ๆ เช่น ผู้ป่วยที่ต้องนอนอยู่บนเตียงตลอดเวลา การสูบบุหรี่ก็ทำให้ฮอร์โมนเอสโตรเจนลดลง
รวมถึงการดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ เป็นต้น นอกจากนี้ยังพบอีกว่าโรคกระดูกพรุนมีความเกี่ยวข้องกับพันธุกรรมอีกด้วย
อาการของโรคกระดูกพรุน
โรคกระดูกพรุนโดยส่วนใหญ่จะไม่มีอาการแสดงออกมา จนกว่าจะเกิดภาวะกระดูกหัก ก็จะเกิดอาการเจ็บปวด
รวมถึงมีความผิดปกติของโครงสร้างกระดูก เช่น มีอาการปวดสะโพก ปวดข้อมือ ปวดหลัง อันเกิดจากการแตกหักของกระดูกสะโพก
กระดูกข้อมือ กระดูกสันหลัง อาจมีส่วนสูงลดลงจากเดิม เนื่องจากการหักหรือการยุบตัวของกระดูกสันหลัง เป็นสิ่งหนึ่งที่เกิดขึ้นโดยไม่รู้ตัว
การแยกโรค
เมื่อมีอาการปวดกระดูกที่เกิดจากกระดูกหัก นอกจากกระดูกพรุนที่เกิดจากอายุที่เพิ่มมากขึ้นแล้ว
จะมีการคำนึงถึงสาเหตุอื่น ๆ ที่ทำให้กระดูกพรุนก่อนวัยด้วย เช่น โรคไทรอยด์ โรคพาราไทรอยด์
โรคปวดข้อรูมาตอยด์ โรคคุชชิง อันเกิดจากภาวะต่อหมวกไตทำงานมากเกินไป โรคมะเร็งที่แพร่กระจายไปที่กระดูก
การใช้ยาติดต่อกันเป็นเวลานาน เช่น ยาสตีรอยด์ ยาชุด ยาลูกกลอน เป็นต้น
การดูแลตัวเอง
– ในกลุ่มผู้สูงอายุที่มีความเสี่ยงสูงในการเป็นโรคกระดูกพรุน รวมถึงหญิงวัยหมดประจำเดือน ผู้ที่ใช้ยาสเตียรอยด์ติดต่อกันเป็นเวลานาน
ผู้ที่มีโรคเสียงต่อการเกิดกระดูกพรุนได้ง่าย ควรปรึกษาแพทย์เพื่อตรวจคัดกรองโรคกระดูกพรุน
– ผู้ตรวจพบว่าเป็นโรคกระดูกพรุน สำหรับผู้ป่วยในกลุ่มนี้จะต้องระมัดระวังในการเคลื่อนไหว ไม่ให้เกิดการหกล้มหรืออุบัติเหตุ
เพราะจะทำให้กระดูกหัก ควรจัดสภาพแวดล้อมภายในบ้านให้ปลอดภัย มีแสงสว่างตรงบันไดขึ้นลง บริเวณห้องน้ำ พื้นต่างระดับ มีราวเกาะยึดเป็นต้น
– ผู้ที่มีภาวะกระดูกพรุนรุนแรง หรือมีภาวะแทรกซ้อน ควรรักษากับแพทย์และกินยาอย่างต่อเนื่อง
จะช่วยทำให้กระดูกแข็งแรงขึ้น ช่วยป้องกันภาวะแทรกซ้อนต่าง ๆ ได้
วิธีรักษาโรคกระดูกพรุน
1.ผู้ป่วยที่มีกระดูกพรุน โดยไม่มีภาวะแทรกซ้อน แพทย์จะให้ทานแคลเซียม ครั้งละ 600 – 1,250 มก. วันละ 2 ครั้ง
อาจทานร่วมกับวิตามินดีวันละ 400 – 800 มก. สำหรับผู้ป่วยที่อยู่ในร่ม ไม่ค่อยได้รับแสงแดด
2.สำหรับผู้หญิงวัยหมดประจำเดือน แพทย์จะให้ฮอร์โมนเอสโตรเจนทดแทน เช่น conjugated equine estrogen 0.3 – 0.625 มก. วันละครั้ง
3.สำหรับผู้ชายสูงอายุที่มีภาวะฮอร์โมนเทสโทสเทอโรนร่วมด้วย อาจต้องใช้ฮอร์โมนชนิดนี้เสริม
นอกจากนี้ยังอาจให้ยากระตุ้นการดูดซึมแคลเซียม หรือยาลดการสลายกระดูกเพิ่มเติมสำหรับผู้ป่วยบางราย
ภาวะแทรกซ้อน
ภาวะแทรกซ้อนที่สำคัญคือกระดูกหัก อาจทำให้เกิดการพิการ เดินไม่ได้ หลังโก่งหลังค่อม
สำหรับผู้ที่มีกระดูกสะโพกหัก จะต้องรักษาด้วยการผ่าตัด อาจทำให้เกิดภาวะแทรกซ้อนที่ร้ายแรงหลังการผ่าตัด
วิธีป้องกันโรคกระดูกพรุน
1.รับประทานแคลเซียมให้เพียงพอ โดยการเลือกรับประทานอาหารที่มีแคลเซียมสูง
เช่น นม เนยแข็ง ปลาเล็กปลาน้อย กุ้งแห้ง เต้าหู้แข็ง ถั่วแดง ผักสีเขียวเข้ม งาดำ
2.ออกกำลังกายอย่างเป็นประจำ การออกกำลังกายที่มีการถ่วงหรือต้านน้ำหนัก เช่น การเดิน การวิ่ง
การเต้นแอโรบิก กระโดดเชือก การยกน้ำหนัก จะทำให้กระดูกเพิ่มมากขึ้น กระดูกมีความแข็งแรงเพิ่มมากขึ้น
3.รับแสงแดดอยู่เสมอ การรับแสงแดดจะทำให้ร่างกายสังเคราะห์วิตามินดี ซึ่งเป็นฮอร์โมนกระตุ้นการสร้างกระดูก
ควรออกไปรับแสงแดดอ่อน ๆ ในตอนเช้าหรือตอนเย็น วันละ 10 – 15 นาที สัปดาห์ละ 3 วัน
สำหรับผู้ที่อยู่ในร่ม ไม่ถูกแสงแดด ควรได้ทานวิตามินดีวันละ 400 – 800 มก.
Credit : articlekey.com
โรคกระดูกพรุน เป็นภัยร้ายที่แฝงตัวอยู่อย่างเงียบ ๆ มักไม่แสดงอาการจนกว่ากระดูกจะหัก
ซึ่งเป็นภาวะที่ร่างกายค่อย ๆ สูญเสียมวลกระดูกไปอย่างช้า ๆ และยาวนาน เราสามารป้องกันโรคกระดูกพรุน
ด้วยการรับประทานอาหารที่มีแคลเซียมสูง รับแสงแดดเป็นประจำ รวมถึงการออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอ
จะทำให้กระดูกแข็งแรงอยู่ตลอดเวลา ทำให้กระดูกเกิดการเสื่อมตัวน้อยลง