โรคนิ่วในถุงน้ำดี สาเหตุ อาการและวิธีรักษาป้องกันอย่างรู้เท่าทัน

โรคนิ่วในถุงน้ำดี อาการ สาเหตุ วิธีการรักษา

นิ่วในถุงน้ำดี โรคนี้เมื่อเป็นแล้วย่อมก่อให้เกิดความทุกข์ทรมานแก่ร่างกายได้เป็นอย่างมาก โดยเฉพาะช่วงหลังจากกินอาหารบางประเภท หลายคนไม่รู้ว่าอาการที่ปวดบริเวณลิ้นปี่ หรือใต้ชายโครงขวาเป็นสัญญาณบ่งบอกโรคใด

แต่วันนี้เราจะมาบอกให้ทราบถึงสัญญาณของ โรคนิ่งในถุงน้ำดี พร้อมทั้งอาการอื่นๆ ที่เกิดขึ้นพร้อมกัน อยากรู้กันหรือยังคะว่า โรคนิ่งในถุงน้ำดีคืออะไร มีสาเหตุ อาการและวิธีรักษาป้องกันได้อย่างไรบ้าง

บทความนี้เราคัดสรรสาระดีๆ เกี่ยวกับโรคนี้มาให้คุณได้ทราบกันแล้วดังต่อไปนี้

โรคนิ่วในถุงน้ำดี คืออะไร?

โรคนิ่วในถุงน้ำดี (Gallstone หรือ Choleithiasis) เป็นโรคที่พบได้บ่อยในชาวตะวันตก โดยเฉพาะในประเทศสหรัฐอเมริกา

พบโรคนี้ได้ประมาณ 10 – 20 เปอร์เซ็นต์ของจำนวนประชากรผู้ใหญ่ โรคนี้พบได้ในผู้ใหญ่ที่มีอายุตั้ง 40 ปีขึ้นไป

ซึ่งพบในผู้หญิงได้บ่อยกว่าผู้ชาย 2 – 3 เท่า ลักษณะของนิ่วในถุงน้ำดีอาจจะเป็นเพียงแค่ก้อนนิ่วก้อนเดียวหรือหลาย ๆ ก้อน

ก้อนนิ่วจะมีหลากขนาดตั้งแต่ ขนาดเล็กเท่าเม็ดทรายจนถึงขนาดใหญ่เท่าลูกปิงปอง โดยมีสาเหตุมาจากอายุและพันธุกรรม

ชนิดของนิ่วในถุงน้ำดี

นิ่วในถุงน้ำดีแบ่งออกเป็น 2 ชนิด คือ ชนิดที่เกิดจากคอเลสเตอรอล และชนิดที่เกิดจากสารให้สี ซึ่งแต่ละชนิดมีลักษณะดังนี้

1.ชนิดคอเลสเตอรอล เป็นชนิดที่พบได้บ่อยประมาณ 80 เปอร์เซ็นต์ นิ่วชนิดนี้จะมีส่วนประกอบที่เป็นคอเลสเตอรอล นิ่วจะมีลักษณะแข็ง มีสีเหลืองหรือเขียว

2.ชนิดที่เกิดจากสารให้สี สารประกอบส่วนใหญ่ของนิ่วจะเป็นสารให้สีในน้ำดี มีชื่อเรียกว่า บิลิรูบิน

มีคอเลสเตอรอลเป็นส่วนประกอบน้อยกว่า 20 เปอร์เซ็นต์ ส่วนประกอบอื่น ๆ จะเป็นแคลเซียม

ลักษณะของนิ่วชนิดนี้จะเป็นก้อนเล็ก ๆ มีความแข็งน้อยกว่าชนิดแรก มีสีดำคล้ำ

สาเหตุของนิ่วในถุงน้ำดี

นิ่วในถุงน้ำดีที่เกิดจากคอเลสเตอรอล นิ่วในถุงน้ำดีชนิดนี้จะมีคอเลสเตอรอลเป็นองค์ประกอบหลัก

ร่วมกับเกลือและแคลเซียม กรดน้ำดี ฟอสโฟโลปิด และสารอื่นๆ  เกิดจากการมีคอลเลสเตอรอลต่อกรดน้ำดี

และฟอสโฟโลปิดสูงกว่าปกติ โดยเฉพาะในกลุ่มของคนอ้วน ผู้ที่รับประทานอาหารไขมันสูง

ผู้ที่มีน้ำหนักตัวเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็วในระยะเวลาอันสั้น รวมถึงผู้ที่มีการหลั่งกรดน้ำดีน้อยกว่าปกติ

นิ่วในถุงน้ำดีชนิดเม็ดสี นิ่วในถุงน้ำดีชนิดนี้จะมีแคลเซียมบิลิรูบิเนตเป็นองค์ประกอบหลัก

เกิดจากการมีสารบิลิรูบินชนิดไม่ละลายน้ำที่อยู่ในถุงน้ำดีสูงมากเกินไป จึงทำให้เกิดการตกผลึกกลายเป็นก้อนนิ่วชนิดเม็ดสี

นิ่วชนิดนี้จะพบได้บ่อยในผู้ป่วยตับแข็งที่เกิดจากการดื่มแอลกอฮอล์ ผู้ที่มีภาวะเม็ดเลือดแดงแตกเรื้อรัง

เช่น ธาลัสซีเมีย ผู้ที่มีการติดเชื้อของทางเดินน้ำดีเรื้อรัง รวมถึงผู้สูงอายุด้วย

อาการของนิ่วในถุงน้ำดี

โดยทั่วไปแล้วนิ่วในถุงน้ำดีจะไม่มีอาการผิดปกติแสดงให้เห็น แต่อาจตรวจพบได้จากการตรวจร่างกายด้วยโรคอื่น ๆ เมื่อมีอาการเกิดขึ้น จะมีอาการดังต่อไปนี้

– ผู้ป่วยจะมีอาการปวดแบบปวดดิ้นหรือปวดบิดรุนแรงเป็นพัก ๆ ในบริเวณลิ้นปี่หรือใต้ชายโครงด้านขวา

อาจทำให้เกิดการปวดร้าวมาจนถึงบริเวณไหล่ขวา หรือบริเวณหลังใต้สะบักขวา ทำให้เกิดอาการคลื่นไส้ อาเจียน

– อาการปวดจะเกิดขึ้นได้บ่อยหลังการรับประทานอาหารมัน ๆ รวมถึงการรับประทานอาหารมื้อหนัก

ในแต่ละครั้งผู้ป่วยจะมีอาการปวดนานประมาณ 15 – 30 นาที หลังจากนั้นอาการจะทุเลาลงไปเอง

อาการปวดจะเว้นไปนาน เป็นสัปดาห์ เป็นเดือน หรือเป็นปี

– อาจทำให้เกิดอาการท้องอืดท้องเฟ้อบริเวณเหนือสะดือ เรอ คลื่นไส้ อาเจียน

มีความรู้สึกเหมือนกับอาหารไม่ย่อย พบได้บ่อยหลังการทานอาหารมัน ๆ การทานอาหารในมื้อใหญ่

– ในผู้ป่วยบางรายอาจทำให้เกิดอาการดีซ่าน ทำให้ปัสสาวะมีสีเข้ม ตัวเหลือง และตาเหลือง

แนวทางของการรักษานิ่วในถุงน้ำดี

1.ไปพบแพทย์ หากพบว่ามีอาการปวดท้องที่มีอาการสอดคล้องกับนิ่วในถุงน้ำดี ให้รีบไปพบแพทย์

หลังจากนั้นแพทย์จะแนะนำวิธีการดูแลตนเองของผู้ป่วยอย่างเหมาะสม

2.การรักษาตามอาการ เช่น หากมีอาการท้องเฟ้อ ก็จะให้กินยาลดกรด หากมีอาการปวดบิดเป็นพัก ๆ

ก็จะให้ยาแอนติสปาสโมติก แพทย์จะแนะนำให้ผู้ป่วยงดการรับประทานอาหารมัน

3.การใช้ยาละลายนิ่ว การรักษาด้วยวิธีนี้มักจะไม่ได้ผล เหมาะสำหรับการรักษานิ่วบางชนิดเท่านั้น

นอกจากนี้ ผู้ป่วยจะต้องรับประทานยาติดต่อกันเป็นเวลานาน เมื่อหยุดรับประทานยา ก็จะมีโอกาสกลับมาเป็นนิ่วในถุงน้ำดีได้อีก

4.การสลายนิ่วด้วยคลื่นความถี่สูง เป็นการใช้คลื่นเสียง ในการกระแทกนิ่วให้แตก หลังการรักษาจะทำให้ผู้ป่วยเกิดอาการปวดท้อง

มีอัตราความสำเร็จต่ำ ในปัจจุบันจะไม่มีการใช้วิธีนี้ในการสลายนิ่วในถุงน้ำดีในประเทศไทย

เนื่องจากนิ่วในถุงน้ำดีของคนไทยส่วนใหญ่ เป็นนิ่วที่มีส่วนประกอบของแคลเซียม ทำให้ก้อนนิ่วมีความแข็งแตกยาก

5.การผ่าตัดเอาถุงน้ำดีออก เป็นวิธีการรักษาที่ให้ผลถาวร เพื่อป้องกันไม่ให้เกิดนิ่วในถุงน้ำดีอีกต่อไป การผ่าตัดนิ่วถุงน้ำดีในปัจจุบันทำได้ 2 วิธี

(1) การผ่าตัดถุงน้ำดีแบบเปิดหน้าท้อง เป็นการผ่าตัดแบบเดิม หลังการผ่าตัดผู้ป่วยจะต้องหลีกเลี่ยงการทำงานหนัก หรือยกของหนักเป็นประมาณ 4 – 6 สัปดาห์

(2) การผ่าตัดถุงน้ำดีโดยการส่องกล้อง เป็นวิธีการผ่าตัดแบบใหม่ ทำโดยการเจาะรูเล็ก ๆ บริเวณหน้าท้อง 4 จุด

ทำให้เจ็บแผลน้อยกว่า ฟื้นตัวได้เร็วกว่า แต่การผ่าตัดด้วยวิธีนี้ จะต้องทำโดยศัลยแพทย์ที่มีความเชี่ยวชาญเท่านั้น

การป้องกันนิ่วในถุงน้ำดี

  • รักษาน้ำหนักตัวให้อยู่ในเกณฑ์มาตรฐาน
  • ลดอาหารที่มีไขมันและคอเลสเตอรอลสูง
  • ถ้าหากมีน้ำหนักตัวเกิน จะต้องลดน้ำหนักอย่างถูกวิธี อย่าลดน้ำหนักเร็วมากจนเกินไป เพราะจะส่งผลเสียต่อร่างกายได้
  • หมั่นออกกำลังกายอย่างเป็นประจำ เพื่อทำให้สุขภาพแข็งแรง

โรคนิ่ว

Credit : Dodeden.com

นิ่วในถุงน้ำดี เป็นโรคหนึ่งที่เกิดจากการใช้ชีวิตที่ขาดสมดุล โดยเฉพาะผู้ที่ชอบรับประทานอาหารมัน จะทำร่างกายมีระดับคอเลสเตอรอลสูง ทำให้เกิดนิ่วในถุงน้ำดีได้ การปรับเปลี่ยนพฤติกรรมการใช้ชีวิต

โดยการรักษาระดับน้ำหนักตัวให้เหมาะสม ทานอาหารไขมันต่ำ รวมกับการออกกำลังกายเป็นประจำ ย่อมเป็นวิธีหนึ่งที่ช่วยป้องกันความเสี่ยงจาก โรคนิ่วในถุงน้ำดี ได้อย่างแน่นอน