วุ้นตาเสื่อม น้ำวุ้นตาเสื่อม หรือ โรควุ้นในตาเสื่อม ปัญหาเกี่ยวกับสุขภาพตาเหล่านี้ ย่อมทำให้ผู้ป่วยมีความรู้สึกรำคาญกับการมองเห็น
เพราะมักจะทำให้มองเห็นจุดดำๆ ลอยไปลอยมาบ่อยๆ แม้ไม่ได้เป็นโรคที่สร้างความเจ็บปวดทรมาน
หากแต่เมื่อเป็นแล้ว ก็อาจจะทำให้การที่ต้องใช้สายตาจดจ่อหรือเพ่งสมาธิทำสิ่งใดสิ่งหนึ่ง ไม่ค่อยเป็นผลสำเร็จนัก
วันนี้เรามาดูกันดีกว่าว่า โรควุ้นในตาเสื่อม หรือ โรคน้ำวุ้นตาเสื่อมคืออะไร สาเกตุ อาการและวิธีรักษาทำได้อย่างไรบ้าง? ไปติดตามกันค่ะ
น้ำวุ้นตา คืออะไร?
ในดวงตาจะมีส่วนประกอบอยู่หลายอย่างที่ส่งผลต่อการมองเห็น หนึ่งในนั้นก็คือ วุ้นตา หรือ น้ำวุ้นตา (Vitreous body หรือ Vitreous humor)
ซึ่งอยู่บริเวณด้านหลังของดวงตา น้ำวุ้นตาจะมีลักษณะเป็นเจลใส มีหน้าที่เป็นตัวกลางให้แสงผ่าน โดยคอยให้สารอาหารกับจอประสาทตาและเซลล์ผนังที่อยู่ภายใน
อีกทั้งยังเป็นตัวช่วยพยุงลูกตาให้อยู่ในลักษณะวงกลมด้วย เมื่อน้ำวุ้นตามีความเสื่อมสภาพเกิดขึ้น ก็จะทำให้การมองเห็นมีความผิดปกติ
คือเวลาที่เรามองหรือขยับตามองไปยังสิ่งต่างๆ จะทำให้เห็นว่ามีจุดวงกลมหรือเส้นเกลียว ลักษณะคล้ายใยแมงมุมเกิดขึ้นบริเวณสิ่งที่เรากำลังมอง
โรควุ้นตาเสื่อม คืออะไร?
โรคน้ำวุ้นตาเสื่อม หรือ โรควุ้นในตาเสื่อม (Eye floater) คือ ภาวะหนึ่งของการมองเห็นภาพโดยมีจุดเล็กๆ ลอยไปลอยมา
ซึ่งจะมีลักษณะรูปร่างหรือขนาดที่แตกต่างกันออกไป เช่น เป็นลักษณะจุดดำๆ เล็กๆ หรือเป็นวงใหญ่คล้ายก้อนเมฆ
ในบางครั้ง ผู้ป่วยก็อาจมองเห็นจุดขนาดเล็กเป็นจำนวนหลายจุดพร้อมกัน หรืออาจมองเห็นเป็นจุดที่มีขนาดใหญ่
โดยเกิดขึ้นเพียง 1-2 จุด และยังสามารถสังเกตเห็นได้อย่างชัดเจน หากมองไปยังบริเวณที่มีพื้นหลังสว่างๆ
สาเหตุของโรคน้ำวุ้นตาเสื่อม
โรคน้ำวุ้นตาเสื่อม หรือวุ้นในตาเสื่อม มีสาเหตุของการเกิดโรคหลักๆ โดยแบ่งออกได้เป็นดังนี้
1.เกิดจากภาวะน้ำวุ้นตาเสื่อมและเกิดการหดตัว
เดิมทีน้ำวุ้นตาจะมีความหนืด โดยเกิดจากการวมตัวของสารอื่นๆ ที่ไม่ใช่น้ำ แต่เป็นส่วนที่มีลักษณะเป็นเส้นใย
เมื่อมีอายุมากขึ้น ส่วนที่เป็นเส้นใยก็จะจับตัวกันหนาขึ้น บวกกับน้ำวุ้นตามีความหดตัวลงอีก
จึงทำให้เส้นใยที่รวมกันอยู่มีขนาดใหญ่ขึ้นและชัดขึ้น ลอยไปมาตามดวงตา โดยสาเหตุนี้จะพบมาในกลุ่มคนผู้สูงอายุ
2.เกิดจากการการโดนแทนที่ของน้ำวุ้นที่ขั้วประสาทตา
ปกติน้ำวุ้นตาจะนาบติดอยู่กับจานขั้วประสาทตาแน่นกว่าบริเวณส่วนอื่น เมื่อน้ำวุ้นตาเสื่อมจะมีส่วนที่เป็นน้ำใสๆ
และส่วนที่หนืดซึ่งเป็นส่วนที่มีการรวมตัวของเส้นใยบางๆ คอยดึงน้ำวุ้นที่ขั้วประสาทตาจนหลุดออกมา
แล้วให้น้ำวุ้นที่มีลักษณะใสเข้าไปแทนที่ ทำให้ผู้ป่วยมองเห็นวงลอยไปมา
3.เกิดจากมีเศษชิ้นเนื้อตายตกตะกอนเป็นจุดเล็กๆ
อาจจะมีจุดเดียวหรือหลายจุด มีลักษณะเป็นเส้นเกลียวหรือเป็นวง ซึ่งเมื่อจุดเหล่านี้ได้รับแสงจากข้างหน้าของดวงตา
จะทำให้เกิดเงาทอดไปที่จอตา หรืออาจจะมีการหักเหของแสงที่รับเข้ามาจนกระจายไปยังส่วนต่างๆ ของจอตา ทำให้เกิดเป็นจุดมืดขึ้น
และจุดมืดนี้ที่เกิดขึ้นอยู่ในบริเวณน้ำวุ้นตา ซึ่งเมื่อมีการเคลื่อนไหวของลูกตา จะทำให้เห็นว่ามีจุดหรือสิ่งผิดปกติลอยไปมาตามลูกตาอยู่ตลอด
ปัจจัยอื่นๆ ที่ทำให้เกิดโรคน้ำวุ้นตาเสื่อม
1.ผู้ที่เคยประสบอุบัติเหตุทางตา หรือได้รับการกระทบกระเทือนทางศีรษะ จะมีโอกาสน้ำวุ้นตาเสื่อมเร็วกว่าคนปกติ
2.ผู้ที่มีสายตาสั้นมากๆ ก็อาจจะมีความเสี่ยงทำให้เกิดโรคน้ำวุ้นตาเสื่อมได้
3.โรคนี้มักจะเกิดกับผู้สูงอายุ ซึ่งสามารถเกิดได้กับคนที่มีอายุ 50 ปีขึ้นไป โดยถือเป็นภาวะที่เกิดขึ้นเองตามธรรมชาติ
4.โรคเบาหวาน สำหรับผู้ที่ป่วยเป็นโรคเบาหวานขึ้นตาก็จะทำให้เสี่ยงที่จะเกิดโรคนี้ได้เช่นเดียวกัน
5.เกิดจากการอักเสบของดวงตา
6.ผู้ที่ดวงตามีการบาดเจ็บหรือมีแผล และผู้ที่เกิดภาวะแทรกซ้อนจากการผ่าตัดต้อกระจก
อาการของโรคน้ำวุ้นตาเสื่อม
ในเบื้องต้นอาการอาจเกิดได้หลากหลายลักษณะ โดยผู้ป่วยจะสังเกตเห็นได้จากการมอง ซึ่งเวลามองผู้ป่วยจะเห็นจุดที่เป็นอณูขนาดเล็กสีดำที่บริเวณจอตา
หรืออาจจะเห็นเป็นเส้นคล้ายใยแมงมุง และเมื่อมีการขยับดวงตามองไปทางอื่นเส้น จุดเหล่านี้ก็จะคอยขยับตามไปมาด้วย
แต่เมื่อเราทำการเพ่งมองไปยังจุดดังกล่าวอย่างจริงจัง จะพบว่าจุดจะหายไปเองทันที ซึ่งอาการเหล่านี้จะสังเกตได้ชัดมากเวลาที่ผู้ป่วยมองไปยังอะไรที่มีสีอ่อนๆ หรืออะไรที่เรียบๆ
การวินิจฉัย
เบื้องต้นทางแพทย์จะทำการสอบถามอาการเบื้องต้นของผู้ป่วย ซักถามประวัติว่าเคยมีประวัติการเจ็บป่วยเกี่ยวกับโรคต้อกระจก
การเป็นเบาหวานขึ้นตา หรือเคยได้รับการกระทบกระเทือนทางตาหรือไม่ และจะทำการทดสอบการมองเห็นของผู้ป่วย
โดยแพทย์จะใช้วิธีการตรวจลูกตาด้วยกล้อง Slit Lamp ซึ่งเป็นกล้องเอาไว้ใช้สำหรับตรวจดวงตาเฉพาะ
แพทย์จะเริ่มจากการใช้ยาหยดลงไปที่ดวงตาเพื่อให้ตาดำเกิดการขยาย เมื่อตาดำขยาย แพทย์จะทำการตรวจจอตาและวุ้นตา
โดยใช้แสงไฟจากกล้องส่องตรวจส่องดู ซึ่งจะทำให้แพทย์สามารถมองเห็นวุ้นตาที่เสื่อมได้อย่างชัดเจน เพื่อจะได้ทำการรักษาในขั้นตอนต่อไป
ภาวะแทรกซ้อนของโรคน้ำวุ้นตาเสื่อม
โรคน้ำวุ้นตาเสื่อมหรือวุ้นตาเสื่อม ไม่ได้มีภาวะแทรกซ้อนของโรคที่รุนแรง และยังไม่มีผลกระทบใดๆ ต่อการมองเห็นอีกด้วย
แต่อย่างไรก็ตาม ผู้ที่มีปัญหาของโรคดังกล่าวก็ควรเข้ารับการตรวจสุขภาพตาเป็นประจำอย่างน้อยทุก 2 ปี
และถึงแม้ว่าโรคนี้จะไม่ได้มีผลกระทบต่อการมองเห็น แต่สำหรับผู้ที่มองเห็นจุดดำๆ ขนาดใหญ่ลอยไปลอยมา ย่อมทำให้เกิดความรู้สึกรำคาญ
และอาจก่อให้เกิดความยากลำบากในการทำกิจกรรมที่จะต้องใช้สมาธิหรือการใช้สายตาจดจ่อมากๆ เช่น ขับขี่ยานพาหนะหรืออ่านหนังสือ เป็นต้น
วิธีรักษาโรคน้ำวุ้นตาเสื่อม
โรคน้ำวุ้นตาเสื่อม เป็นโรคที่ไม่จำเป็นต้องรักษาก็ได้ โดยขึ้นอยู่กับความต้องการของผู้ป่วยเองว่าต้องการรักษาหรือไม่
เพราะโรคนี้ไม่ได้ส่งผลต่อการดำรงชีวิตมากนัก และไม่ได้มีความรุนแรงถึงแก่ชีวิต เพียงแต่เมื่อป่วยเป็นโรคนี้แล้ว
ก็อาจจะทำให้ผู้ป่วยเกิดความรำคาญใจอยู่บ้างไม่น้อย ซึ่งการรักษานั้นก็จะสามารถทำได้ 2 วิธีดังนี้
1.การทำเลเซอร์
เป็นวิธีที่ยังไม่ได้รับการรับรองในการรักษาอย่างแน่ชัด ว่าได้ผลและปลอดภัยร้อยเปอร์เซ็นต์
เนื่องจากการรักษาด้วยวิธีนี้ จะได้ผลดีกับผู้ป่วยบางรายเท่านั้น บางรายอาจจะเกิดการเปลี่ยนแปลงบ้างเล็กน้อย
แต่บางรายอาจไม่เกิดการเปลี่ยนแปลงใดๆ เลย ซึ่งก็ขึ้นอยู่กับการตอบสนองของร่างกายแต่ละคนนั่นเอง
2.การผ่าตัด
เป็นอีกขั้นตอนที่ใช้ในการรักษา ซึ่งก็มีความเสี่ยงที่จะทำให้เกิดอาการข้างเคียงได้ อย่างเช่น จอตาหลอก จอตาฉีก หรือเกิดต้อกระจก
โดยวิธีรักษาก็จะเป็นการผ่าตัดเพื่อนำวุ้นตาบางส่วนกับเศษเนื้อที่ตายแล้วออก โดยใช้สารละลายน้ำเกลือเป็นตัวทดแทนวุ้นตา
แต่ไม่ต้องกังวลว่าหากนำวุ้นตาออกไปแล้วจะเกิดอันตรายอะไรหรือไม่ เพราะวุ้นตาสามารถสร้างขึ้นใหม่เองได้
วิธีป้องกันโรคน้ำวุ้นตาเสื่อม
โรคน้ำวุ้นตาเสื่อมเป็นโรคที่ยังไม่สามารถป้องกันได้ โดยเฉพาะหากเกิดในภาวะธรรมชาติ เพราะเป็นโรคที่เกิดขึ้นเมื่อคนเรามีอายุมากขึ้น
อาจทำได้เพียงป้องกันความเสี่ยงอื่นๆ ที่จะทำให้เกิดโรคนี้ได้เร็วขึ้น ซึ่งสามารถทำได้หลายทางดังนี้
1.ควบคุมภาวะน้ำตาลในเลือดไม่ให้ขึ้นสูงก็จะช่วยลดความเสี่ยงในการเป็นเบาหวานขึ้นตาได้ เพราะการเป็นเบาหวานขึ้นตา สามารถส่งผลต่อเนื่องโดยทำให้เกิดภาวะน้ำวุ้นตาเสื่อมได้นั่นเอง
2.หลีกเลี่ยงสิ่งที่จะทำให้เกิดอันตรายกับดวงตา เช่น หลีกเลี่ยงการเล่นหรือทำอะไรให้เกิดอุบัติเหตุที่จะกระทบกับดวงตา เป็นต้น
3.เลือกทานอาหารที่มีประโยชน์ให้ครบทั้ง 5 หมู่ เพราะการทานอาหารที่ดีจะช่วยลดความเสี่ยงของการเกิดโรคต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นโรคเบาหวานหรือโรคอื่นๆ
Credit : invernessathome.org
อย่างไรก็ตาม ถึงแม้ว่า โรคน้ำวุ้นตาเสื่อม จะไม่ได้มีความรุนแรงมากนัก แต่ก็มีโอกาสเกิดขึ้นได้กับทุกคนเมื่อมีอายุมากขึ้น
และเมื่อมีอาการความผิดปกติทางตาเกิดขึ้นก็ควรที่จะไปพบแพทย์ เพื่อตรวจและรับการรักษาอย่างถูกต้อง
ไม่ควรนิ่งนอนใจ เพราะอาการเหล่านี้ที่พบอาจจะเป็นปัจจัยเสี่ยงนำไปสู่สาเหตุของการเกิดโรคเกี่ยวกับตาชนิดอื่นๆ อีกได้