โรคเซลิแอค ความผิดปกติของโรคเซลิแอค มีความเกี่ยวข้องและคล้ายคลึงกับโรคอื่นๆ อีกหลายโรค
เช่น โรคภูมิแพ้อาหาร และโรคแพ้กลูเตนเบเกอรี่ เป็นต้น หลายคนอาจจะมองว่าเป็นโรคเดียวกัน แต่ในความเป็นจริงแล้ว เป็นคนละโรคกันนั่นเอง
ซึ่งการแยกแยะความต่างก็ค่อนข้างทำได้ยาก วันนี้เราจึงได้รวบรวมข้อมูลเฉพาะของโรคเซลิแอค มานำเสนอให้ทุกคนทราบอย่างละเอียด ถึงต้นเหตุที่ทำให้เกิด
ตลอดจนอาการ และวิธีรักษาที่ถูกต้อง รวมไปถึงความรุนแรงของโรคด้วย ว่าจะมีความอันตรายมากน้อยขนาดไหน ลองอ่านและศึกษากันดูค่ะ
โรคเซลิแอค คืออะไร?
โรคเซลิแอค (Celiac Disease) คือ โรคเกี่ยวกับลำไส้เล็กมีการทำงานที่ผิดปกติไปจากเดิม และยังมีโอกาสเสี่ยงที่จะเกิดความผิดปกติกับลำไส้อย่างถาวรด้วย
เนื่องจากลำไส้เล็กเกิดอาการอักเสบขึ้น ทำให้ไม่สามารถที่จะย่อยโปรตีนที่เรียกว่า “กลูเตน (Gluten)” ได้
ซึ่งกลูเตนเป็นโปรตีนที่มีประโยชน์ต่อร่างกายในเรื่องของการให้พลังงาน ซ่อมแซ่มส่วนที่สึกหรอ เหมือนกับโปรตีนอื่นๆ ทั่วไปหลายชนิด
และยังเป็นโปรตีนที่ย่อยยาก โดยพบในข้าวบาร์เลย์ ข้าวไรย์ ข้าวสาลี และซีเรียลเกือบจะทุกชนิด
หากผู้ป่วยยังคงรับประทานอาหารที่มีกลูเตนเข้าไปอย่างต่อเนื่อง ยิ่งจะทำให้เกิดอาการรุนแรงขึ้นเรื่อยๆ เพราะผนังของลำไส้เล็กจะค่อยๆ บางลง
ซึ่งหากตรวจพบและรักษาช้า ผู้ป่วยอาจจะเสียชีวิตได้ แต่ก็มีโอกาสพบได้น้อย ส่วนใหญ่ก็จะเสียชีวิตจากโรคอื่นๆ ที่ตามมา
สาเหตุของโรคเซลิแอค
เกิดจากการอักเสบที่บริเวณลำไส้เล็ก ซึ่งเกิดการดูดซึมอาหารที่ผิดปกติไปจากเดิม ทำให้ไม่สามารถดูดซึมวิตามิน ไขมัน
และสารอาหารประเภทต่างๆ ได้อย่างเพียงพอ ผลจากการขาดสารอาหารที่ลำไส้เล็ก ทำให้ลำไส้เล็กไม่สามารถทำงานได้อย่างมีประสิทธิภาพ
และยังส่งผลให้เกิดภาวะโลหิตจาง น้ำหนักตัวลดลง มีการเจริญเติบโตช้า (ในเด็ก) ผิวหนังและระบบประสาทเกิดการทำงานที่ผิดปกติ
ผู้ที่เสี่ยงจะเป็นโรคเซลิแอค
จากผลการสำรวจผู้ที่ป่วยโรคนี้ในประเทศไทยพบว่าประมาณ 0.3 % พบมากในคนที่ผิวขาว โดยสามารถเป็นได้ในทุกช่วงอายุ แต่พบมากในช่วงอายุ 35 ปีขึ้นไป
และหากในพ่อแม่ หรือพี่น้องในครอบครัวป่วยเป็นโรคนี้ จะทำให้บุคคลนั้นมีโอกาสถึง 10% ที่จะป่วยเป็นโรคนี้ด้วยเช่นกัน
อาการของโรคเซลิแอค
- ท้องอืด
- ท้องเสียเรื้อรัง
- ปวดท้องซึ่งเกิดจากมีก๊าซในกระเพาะอาหาร
- อุจจาระมีสีซีด กลิ่นเหม็นหรือมัน
- คลื่นไส้และอาเจียน
- เวียนศีรษะ นอนไม่หลับ อ่อนเพลีย
- น้ำหนักตัวลดลงโดยไม่ทราบสาเหตุ
- กระดูกพรุน
- ปวดตามข้อและกล้ามเนื้อ เมื่อสัมผัสจะรู้สึกเจ็บ
- ผิวหนังเป็นผื่นหรือตุ่มน้ำบริเวณข้อศอกและเข่า
- ตัวซีด เนื่องจากปริมาณเม็ดเลือดแดงต่ำ
- ระบบประสาททำงานผิดปกติ มีอาการปลายประสาทอักเสบ ชาตามปลายเท้า ปวดคล้ายโดนเข็มแทง โดยมักจะมีอาการในตอนกลางคืน
- ในกรณีที่เกิดในเด็กจะทำให้เด็กเจริญเติบโตช้า ตัวเล็กกว่าเด็กปกติทั่วไป
การวินิจฉัยโรคเซลิแอค
สามารถใช้วิธีการทดสอบได้หลากหลายวิธีว่าผู้ป่วยเป็นโรคเซลิแอค หรือเป็นโรคเกี่ยวกับระบบทางเดินอาหารอย่างอื่นหรือไม่ โดยจะใช้วิธีการทดสอบดังต่อไปนี้
การตรวจเลือด โดยสามารถนำตัวอย่างเลือดไปตรวจหา antibody ซึ่งเป็นโปรตีนชนิดพิเศษ และบางตัวจะพบว่าสูงขึ้น
โดยก่อนการเจาะเลือด ควรรับประทานอาหารที่มีกลูเตนตามปกติ เพื่อให้ได้ผลดีในการวินิจฉัย
การตรวจพันธุกรรม แพทย์จะให้ตรวจพันธุกรรมเพื่อตัดโรคนี้ออกจากการวินิจฉัย โดยส่วนมากผู้ป่วยจะมียีน HLA DQ2 หรือ DQ8
แต่ยีนส์เหล่านี้ก็สามารถพบได้กับผู้ที่ไม่ได้ป่วยเป็นโรคนี้ วิธีการวินิจฉัยนี้เพียงวิธีเดียวจึงจะไม่สามารถยืนยันได้ว่าเป็นโรคนี้หรือไม่
การตรวจมวลกระดูก แพทย์จะแนะนำให้ตรวจเพื่อดูว่ามีมวลกระดูกหายไปหรือไม่ การทดสอบวิธีนี้จะทำหลังจากที่ผู้ป่วยไม่ได้รับประทานอาหารที่มีกลูเตนมาแล้วประมาณ 1 ปี
การทดสอบนี้จะคล้ายกับเครื่องเอ็กซเรย์ หากผลการตรวจพบว่ามีมวลกระดูกหายไป ผู้ป่วยจะต้องรับประทานอาหารเสริมหรือรับการรักษาเพื่อเสริมให้มีการเจริญเติบโตของกระดูก
การส่องกล้อง แพทย์จะแนะนำให้ทำการส่องกล้องเพื่อยืนยันการวินิจฉัย หากผลการตรวจเลือดพบว่าอาจจะเป็นโรคนี้
ผู้ป่วยจะต้องกลืนท่อขนาดเล็กที่ภายในมีกล้องอยู่ภายใน ก่อนที่แพทย์จะการตัดชิ้นเนื้อขนาดเล็กจากบริเวณผนังลำไส้ใหญ่มาตรวจ
แพทย์จะทำการตรวจชิ้นเนื้อดังกล่าวภายใต้กล้องจุลทรรศน์เพื่อดูว่ามีการทำลายที่เกิดจากโรคเซลิแอคหรือไม่
วิธีรักษาโรคเซลิแอค
ปัจจุบันโรคนี้ยังไม่มีวิธีการรักษาให้หายขาดได้ แต่จะใช้วิธีการรักษาที่เหมาะสมจะช่วยลดอาการให้มีน้อยลง ซึ่งได้แก่
การรับประทานอาหารที่ไม่มีกลูเตน
เป็นวิธีที่ค่อนข้างทำเองได้ยาก โดยแพทย์ก็อาจจะแนะนำให้ผู้ป่วยพบกับนักโภชนาการ ซึ่งนักโภชนาการจะมีความเชี่ยวชาญเกี่ยวกับโรคนี้อยู่แล้ว
โดยจะช่วยแนะนำให้ผู้ป่วยรู้จักวางแผนในการรับประทานอาหาร และรู้จักเลือกทานอาหารที่ไม่มีกลูเตน
แต่จะแนะนำให้เลือกทานเป็นอาหารประเภทอื่นทดแทน เพื่อให้ได้สารอาหารในปริมาณตามที่ร่างกายต้องการ
หลังจากรับประทานอาหารที่ไม่มีกลูเตนแล้ว ผู้ป่วยจะต้องได้รับการตรวจติดตามอาการว่าดีขึ้นหรือไม่
โดยจะเริ่มตรวจหลังจากที่เริ่มรับประทานอาหารไปแล้วประมาณ 4-6 สัปดาห์ ซึ่งผลที่ออกมาส่วนใหญ่พบว่า
ประมาณ 70% ของผู้ที่ป่วยมีอาการที่ดีขึ้นภายใน 2 สัปดาห์ หลังจากเริ่มรับประทานอาหารที่ไม่มีกลูเตน
การรับประทานอาหารเสริม
ผู้ป่วยโรคนี้จะมีความเสี่ยงที่จะขาดสารอาหาร เนื่องจากถูกจำกัดความสามารถของลำไส้เล็กในการดูดซึมสารอาหาร
ในผู้ป่วยหลายคนมีการทำลาย villi ซึ่งเป็นส่วนผนังของลำไส้เล็กที่ยื่นเข้ามาช่วยในการดูดซึมอาหารของผนังลำไส้เล็ก
เข้าสู่กระแสเลือดเรื้อรัง เพราะฉะนั้นแพทย์จะต้องทำการตรวจหาภาวะขาดสารอาหารโดยการตรวจเลือด
โดยผลเลือดที่ออกมาส่วนใหญ่จะพบว่าระดับของสารอาหาร ได้แก่ ธาตุเหล็ก แคลเซียม กรดโฟลิค วิตามิน A, D และ B12 จะมีค่าต่ำ
จึงใช้วิธีการรับประทานอาหารเสริมหรือวิตามินรวม ซึ่งอาจจะเป็นตัวช่วยให้ระดับของสารอาหารเพิ่มขึ้นมาได้
แต่ผู้ป่วยควรปรึกษาแพทย์หรือเภสัชกรก่อนรับประทานอาหารเสริม เนื่องจากวิตามิน แร่ธาตุ หรือสมุนไพรบางตัวอาจมีส่วนผสมของเลซิทิน ซึ่งอาจเป็นแหล่งของกลูเตน
การใช้ยารักษา
ในกรณีที่ผู้ป่วยรับรับประทานอาหารที่ไม่มีกลูเตนอย่างเคร่งครัดแล้ว แต่ยังพบว่าอาการไม่ดีขึ้น
หรืออาการหายไปเพียงชั่วคราวแล้วกลับมาเป็นซ้ำอีก แพทย์จะให้ยากลุ่มสเตียรอยด์ เช่น Deltasone (prednisolone)
ช่วยในการรักษา โดยมักจะใช้ยาในระยะเวลาสั้นๆ เพื่อช่วยลดการทำงานของภูมิคุ้มกันและหยุดการทำลายที่อาจจะเกิดจากภูมิคุ้มกัน
วิธีป้องกันโรคเซลิแอค
โรคนี้ยังไม่มีวิธีป้องกันได้ เพราะยังไม่มีใครทราบถึงสาเหตุที่แน่ชัดว่าทำไมร่างกายถึงเกิดอาการแพ้อาหารประเภทกลูเตน
อาจจะเป็นเพราะร่างกายของคนเราแต่ละคนมีการต่อต้าน หรือมีภูมิคุ้มกันที่ไม่เหมือนกันก็ได้ เพราะฉะนั้นการป้องกันหลักๆ
คงทำได้แค่เพียงป้องกันไม่ให้โรครุนแรงมากไปกว่าเดิม หรือมีอาการกำเริบขึ้นมาอีก โดยการไม่รับประทานอาหารประเภทกลูเตนอย่างเคร่งครัด
พยายามหลีกเลี่ยงอาหารที่มีสาร sodium bisulfate, potassium bisulfate, sulfur dioxide, potassium metabisulfite และ sodium sulfite ซึ่งวิธีเหล่านี้คงเป็นวิธีที่ดีที่สุดแล้วสำหรับตอนนี้
Credit : pobpad.com
โรคเซลิแอค จัดว่าเป็นโรคที่มีความรุนแรงพอสมควร เพราะอาจจะถึงขั้นทำให้ผู้ป่วยเสียชีวิตได้เลยทีเดียว
หากปล่อยไว้นาน ไม่ได้รับการรักษา เพราะร่างกายจะค่อยๆ ขาดสารอาหารไปเรื่อยๆ ถึงแม้ว่าจะมีโอกาสเกิดขึ้นได้น้อยก็ตาม
เพราะฉะนั้นหากรู้สึกว่ามีอาการผิดปกติเกิดขึ้นกับร่างกาย เช่น ท้องอืด หรือท้องเสียบ่อยๆ พยายามอย่าสันนิษฐานเอาเอง
ว่าแค่ท้องเสียธรรมดาทั่วกินยาเดี๋ยวคงหาย ควรรีบไปพบแพทย์เพื่อตรวจรักษา เพราะมันอาจจะเป็น อาการของโรคเซลิแอค
หรือโรคเกี่ยวกับระบบทางเดินอาหารอย่างอื่นก็ได้ เพราะยิ่งถ้าหากรู้ไวก็จะทำให้สามารถรักษาได้อย่างทันท่วงที