ประสบการณ์กล้ามเนื้อกระตุก ไม่ว่าจะเป็นส่วนแขน ขา ใบหน้า หรือหนังตา เคยเกิดขึ้นมาแล้วกับสาวๆ กันทั้งสิ้น
ส่วนใหญ่ก็มักจะไม่ค่อยใส่ใจกับสิ่งที่เกิดขึ้น เพราะคิดว่าเป็นเพียงอาการกระตุกของกล้ามเนื้อตามธรรมชาติที่พบได้ทั่วไป
แต่บางครั้งอาการกระตุกที่เกิดขึ้น สามารถเป็นอาการที่เกี่ยวเนื่องกับโรคได้เช่นกัน
ลองมาทำความรู้จักกับ “โรคบีเอฟเอส” (BFS – Benign fasciculation syndrome) ที่เป็นโรคกล้ามเนื้อกระตุกชนิดหนึ่ง
จัดอยู่ในชนิดไม่ร้ายแรง แต่มักสร้างผลกระทบต่อร่างกายได้ ดังนั้นสาวๆ ลองมาดูกันดีกว่าค่ะว่า
โรคนี้จะมีอันตราย ผลแทรกซ้อน และจำเป็นต้องเข้ารับการวินิจฉัยจากแพทย์หรือไม่
ทำความรู้จักกับอาการกล้ามเนื้อกระตุก
สำหรับการกระตุกของกล้ามเนื้อทั่วๆ ไป เราเรียกว่า Fasciculation
ซึ่งจะเกิดขึ้นจากการหดเกร็งตัวของกล้ามเนื้อร่วมกับการคลายตัวอย่างรวดเร็ว
จนทำให้เราสัมผัสได้ถึงการเปลี่ยนแปลงนั้น สามารถพบได้กับกล้ามเนื้อทั่วไป
แม้จะอยู่ในสภาวะที่ร่างกายทำงานเป็นปกติ แต่อาจจะมีตัวกระตุ้นเป็นความอ่อนล้า ภาวะเครียด
ความตื่นเต้น การได้รับสารคาเฟอีนในระดับสูง การดื่มเครื่องดื่มชูกำลัง และความผิดปกติที่มาจากโรคทางกายชนิดอื่น
การกระตุกของกล้ามเนื้อ มาจากการตอบสนองที่ไวกว่าปกติเมื่อสัมผัสกับตัวกระตุ้นหรือสิ่งเร้า การกระตุกนี้จะเกิดขึ้นในระดับเซลล์
จะเกิดขึ้นในระยะสั้นๆ เพียงแค่ 1-2 วินาทีเท่านั้น เราจะแยกว่าเป็นการกระตุกแบบปกติก็ต่อเมื่อมันเกิดขึ้นแบบนานๆ ครั้ง
แต่หากเกิดขึ้นบ่อยจะถูกจัดอยู่ในกลุ่มของโรคดังกล่าว มีผลกระทบต่อการดำเนินชีวิตประจำวัน
และอาจเป็นสัญญาณเตือนถึงความผิดปกติในเส้นประสาทไขสันหลังกันได้เลยทีเดียว
กล้ามเนื้อที่กระตุกจะมาจากความอ่อนแรง การหมุนเวียนพลังงานที่ไม่เพียงพอ
มักพบในกล้ามเนื้อที่ถูกเกร็งหดรัดอยู่นาน พบได้บ่อยในกล้ามเนื้อขนาดเล็ก
ยิ่งเล็กมาก ก็จะยิ่งทำให้พบอาการได้บ่อยสุด เพราะการหมุนเวียนพลังงานได้ต่ำกว่า
และกล้ามเนื้อที่มีการหดเกร็งตัวอยู่เกือบตลอดเวลาเพื่อช่วยรักษาการเคลื่อนไหวของร่างกายในท่าต่างๆ พบได้ที่กล้ามเนื้อแขนและกล้ามเนื้อขา
นอกจากนี้เรายังพบการกระตุกของกล้ามเนื้อได้ที่ส่วนของลูกตา
ซึ่งถือว่าเป็นอาการที่พบได้มากจนเราคุ้นชินกันเป็นอย่างดี ไม่ว่าจะมาจากการใช้สายตาเพ่งนานๆ
การใช้สายตาโฟกัสวัตถุให้กลายเป็นจุดเดียวกัน หรือการอ่านในระยะใกล้
ส่งผลให้กล้ามเนื้อลูกตาเกิดอาการเกร็งเนื่องจากต้องมองอยู่ในจุดเดิมตลอด
การหลับลึกก็สามารถทำให้เกิดการกระตุกของกล้ามเนื้ออย่างรุนแรงได้
เนื่องจากส่วนของกล้ามเนื้อลายยังไม่คลายตัว แม้จะอยู่ในท่าพัก แต่ก็สามารถเกิดอาการกระตุกจนทำให้สะดุ้งตกใจตื่นขึ้นมาได้
กล้ามเนื้อกระตุกมีอาการอย่างไรบ้าง?
อาการกล้ามเนื้อกระตุกที่มาจากโรคบีเอฟเอส จะเป็นภาวะที่กล้ามเนื้อเต้นกระตุกโดยไม่ได้มีสาเหตุมาจากระบบประสาทที่ผิดปกติแต่อย่างใด
สามารถพบได้ที่ส่วนของกล้ามเนื้อร่างกายที่ทำหน้าที่ควบคุมการเคลื่อนไหว
มีอาการกระตุกเป็นอาการหลักของโรค แต่บางรายอาจพบอาการอื่นๆ ร่วมด้วย
เช่น ปวดกล้ามเนื้อมัดที่กระตุก กล้ามเนื้ออ่อนล้าง่ายขึ้น กล้ามเนื้อสั่น
เป็นตะคริว ชาในส่วนที่กระตุก และอาจมีอาการปวดเจ็บ เหมือนมีของแหลมเข้ามาทิ่มแทง
ความเสี่ยงต่อการเกิดกล้ามเนื้อกระตุกในผู้ป่วยโรคบีเอฟเอส
สำหรับความเสี่ยงที่จะทำให้เกิดโรคบีเอฟเอสได้ จะพบในคนที่ออกกำลังกายอย่างหนัก
หักโหมเกินความสามารถของกล้ามเนื้อ นอนหลับพักผ่อนไม่เพียงพอ ร่างกายอ่อนล้า
ระดับเกลือแร่ในร่างกายไม่สมดุล มีปริมาณแมกนีเซียมและฟอสเฟตต่ำ
พบได้มากในกลุ่มผู้ป่วยโรคปอด โรคลำไส้อักเสบ และคนที่ติดสุราอย่างหนัก
นอกจากนี้ยังรวมไปถึงคนที่มีภาวะตื่นเต้นง่าย สมาธิสั้น ทานยาแก้ปวดที่มีส่วนผสมของมอร์ฟีน และในกลุ่มที่บริโภคคาเฟอีนมากเกินไป
สังเกตความผิดปกติของกล้ามเนื้อว่าควรเข้าพบแพทย์หรือไม่?
เนื่องจากกล้ามเนื้อกระตุกเป็นอาการที่พบได้ทั้งแบบทั่วไปและที่มาจากโรค
ผู้ป่วยที่เป็นโรคบีเอฟเอสส่วนมากจะคิดว่าเป็นอาการธรรมดาที่เกิดขึ้นได้เท่านั้น
แต่หากอาการดังกล่าวมีผลกระทบต่อการดำเนินชีวิต เริ่มพบว่าเกิดขึ้นในหลายๆ จุดของร่างกาย
อาการเป็นนานมากกว่า 2 สัปดาห์ โดยยังไม่หายไป ทว่ากลับรุนแรงมากยิ่งขึ้น
บางรายอาจพบว่ามีภาวะแทรกซ้อนอื่นๆ เข้ามาเกี่ยวข้อง เช่น กล้ามเนื้ออ่อนแรง
แขนขาลีบ พูดไม่ชัด ปากเบี้ยว ควรรีบเข้าพบแพทย์เพื่อหาสาเหตุอย่างเร่งด่วน
ส่วนในกลุ่มที่มีอาการเป็นๆ หายๆ ไม่ได้รุนแรงมากไปกว่านี้ ลองสังเกตพฤติกรรมของตัวเองดู
ว่ามาจากนิสัยทำลายสุขภาพที่เป็นความเคยชินหรือไม่ เช่น นอนหลับพักผ่อนไม่เพียงพอ
อดนอน นอนดึกตื่นเช้า ออกกำลังกายแบบหักโหม ลองหันมาปรับเปลี่ยนพฤติกรรมตัวเองในเบื้องต้นดูก่อน
หากไม่หายเป็นปกติ ก็ควรเข้ารับการตรวจจากแพทย์ด้วยเช่นกัน
การรักษากล้ามเนื้อกระตุกจากโรคบีเอฟเอส
ผู้ป่วยที่มีอาการจากโรคบีเอฟเอสไม่มากนัก ก็ไม่จำเป็นต้องทำการรักษา
เพียงแค่หันมาปรับพฤติกรรมของตัวเองก็จะกลับมาหายเป็นปกติได้
แต่ส่วนในรายที่มีอาการรุนแรงจนกระทบต่อการดำเนินชีวิตประจำวัน แพทย์จะทำการรักษาด้วยการให้ยาในกลุ่มเบ็นโซไดอะซีปีน
ซึ่งจัดว่าเป็นยาในทางจิตเวช หรืออาจจะได้รับเป็นยาในกลุ่มต้านเบต้า
ทำหน้าที่ควบคุมการทำงานของระบบประสาทอัตโนมัติ และทำการปรับสมดุลเกลือแร่ในร่างกายให้เป็นปกติ
หากมีอาการอื่นๆ ร่วมด้วยก็จะให้ยาบรรเทา เช่น อาการปวดกล้ามเนื้อ เป็นต้น
Photo Credit : listener.co.nz
อย่างไรก็ตามอาการกล้ามเนื้อกระตุกที่มาจากโรคบีเอฟเอส ไม่ได้เกิดขึ้นจากเส้นประสาทไขสันหลัง
จึงจัดว่าเป็นอาการกระตุกที่ไม่ร้ายแรง แต่สามารถกระทบต่อการดำเนินชีวิตประจำวันได้
สาวๆ ที่มีปัญหาดังกล่าวเกิดขึ้น ลองสังเกตพฤติกรรมของตัวเองว่ามีอะไรที่ควรปรับเปลี่ยนใหม่หรือไม่
แต่หากพบว่าอาการไม่หายดี การพบแพทย์ถือว่าเป็นทางเลือกที่ดีที่สุด