เช็คก่อนสายภัยร้ายจาก “โรคความดันโลหิตต่ำ” อันตรายที่ไม่ไกลตัว !

อาการความดันต่ำ

สาวๆ อาจจะคุ้นหูกับโรคความดันโลหิตสูงที่เป็นโรคยอดฮิตของผู้คนในสังคมยุคใหม่

น้อยคนที่จะเคยได้ยินว่าเมื่อความดันเลือดต่ำ จะกลายเป็นโรคความดันโลหิตต่ำขึ้นมาได้

และด้วยความที่เราให้ความสำคัญกับโรคความดันโลหิตสูงกันมากกว่า โรคนี้จึงไม่ค่อยถูกกล่าวถึง

ทำให้กลายเป็นอันตรายที่มักจะมาพร้อมความประมาท การมองข้ามโรคนี้อาจจะทำให้สุขภาพของสาวๆ

เกิดปัญหาตามมา ในความเป็นจริงแล้ว โรคความดันโลหิตต่ำ ถือว่าเป็นโรคที่มีอันตรายร้ายแรงไม่แพ้กัน

\หากรู้สึกตัวว่าอ่อนเพลีย แม้จะนอนหลับพักผ่อนอย่างเต็มอิ่ม อีกทั้งยังมีอาการวิงเวียนศีรษะอยู่บ่อยๆ

สาวๆ คงต้องระมัดระวัง เข้ารับการตรวจจากแพทย์ เพื่อหาสาเหตุที่อาจมาจากโรคที่หลายคนมองข้ามนี้ก็เป็นได้ค่ะ

ลักษณะของภาวะความดันโลหิตต่ำ

ความดันโลหิตต่ำ (Hypotension) มักจะไม่ค่อยถูกพูดถึง เพราะเราจะได้ยินจากแพทย์

ก็ต่อเมื่อมีปัญหาความดันโลหิตสูงเสียส่วนใหญ่ แต่สำหรับการตรวจความดันในผู้ใหญ่

หากต่ำกว่า 90/60 มิลลิเมตรปรอท ความดันนี้อาจจะต่ำเพียงค่าใดค่าหนึ่งก็ได้

ก็ถือว่าเข้าข่ายเป็นโรคความดันโลหิตต่ำได้ อีกทั้งเป็นโรคที่พบได้มากในผู้หญิงมากกว่าผู้ชาย

ความเสี่ยงจะมากขึ้นอีกหากพบว่าในครอบครัวเคยมีประวัติเป็นโรคความดันโลหิตต่ำกันมาก่อน

อย่างไรก็ตาม แพทย์จะไม่จัดความผิดปกติที่พบว่าเป็นโรค แต่จะถือว่าเป็นภาวะหนึ่งๆ

นั่นเป็นเพราะว่า หากความดันโลหิตยังไม่ต่ำมากเกินไป ไม่มีประวัติการเกิดที่บ่อยนัก

อาการที่แสดงออกมามีเพียงครั้งคราว และบางครั้งก็แทบจะไม่ก่อให้เกิดอาการใดๆ ให้ได้ทราบ นอกจากจะทำการวัดด้วยเครื่อง

สาเหตุของการเกิดโรคความดันโลหิตต่ำ

สาเหตุของการเกิดโรคนี้ มาจากกลไกลการทำงานของร่างกายที่ผิดปกติ กล่าวคือ

เมื่อน้ำหรือของเหลวที่ไหลเวียนเลือดลงปริมาณลง ส่งผลให้เลือดถูกส่งเข้าสู่หัวใจน้อยลงตามมา

ผลที่เกิดขึ้นคือหัวใจมีการบีบตัวช้าลง เป็นต้นตอทำให้ความดันโลหิตลดต่ำ โดยพบได้จากภาวะขาดน้ำ

ภาวะเลือดออกอย่างรุนแรง มีแผลไฟไหม้รุนแรง ภาวะขาดเกลือแร่

หรือแม้กระทั่งการลุกขึ้นนั่งในทันทีจากการนอนเป็นเวลานาน หรือขณะที่ร่างกายไม่ค่อยได้เคลื่อนไหว

เช่นเดียวกันกับการนั่งนานๆ จนเลือดไปสะสมอยู่ที่ช่วงล่างมากกว่าช่วงบน เมื่อทำการลุกขึ้นในทันที

เลือดจะถูกส่งไปเลี้ยงหัวใจได้ไม่ทัน ทำให้เกิดอาการหน้ามืด เหล่านี้ล้วนเป็นสาเหตุที่ทำให้เกิดโรคความดันโลหิตต่ำได้บ่อยครั้ง

โรคนี้ยังพบได้ในกลุ่มคนที่มีภาวะโลหิตจาง อันเนื่องมาจากความเข้มข้นของเม็ดเลือดแดงที่ลดลง

ปริมาตรโดยรวมของเลือดจึงลดลงตามมา กลายเป็นความดันโลหิตต่ำได้

ความผิดปกติจากระบบประสาทส่วนกลาง ที่มีหน้าที่ควบคุมกันบีบตัวของหลอดเลือดและหัวใจ

มีความเสี่ยงทำให้เกิดโรคความดันโลหิตต่ำได้เช่นเดียวกัน เนื่องจากภาวะนี้จะทำให้หลอดเลือดเกิดการขยายตัว

เลือดเข้าไปคั่งอยู่ภายในอวัยวะและเนื้อเยื่อต่างๆ การไหลเวียนของโลหิตลดลงอย่างมาก

เลือดจึงไม่ถูกส่งไปที่หัวใจได้เพียงพอ โดยความผิดปกตินี้พบได้ในผู้ป่วยโรคพาร์กินสัน

และโรคความจำเสื่อมบางชนิด ส่วนในความผิดปกติอื่นๆ ของร่างกายที่พบว่าเป็นตัวกระตุ้น

ทำให้เลือดถูกส่งไปเลี้ยงหัวใจได้น้อยลงเช่นเดียวกัน คือ ภาวะติดเชื้อรุนแรงในกระแสเลือด

การแพ้ยา แพ้อาหาร หรือแพ้สารเคมีบางชนิดอย่างรุนแรง ผู้ป่วยโรคหัวใจ

ผู้ป่วยโรคต่อมไร้ท่อที่ทำหน้าที่สร้างฮอร์โมนควบคุมการทำงานของหลอดเลือดและหัวใจ

รวมถึงการทำงานในการปรับสมดุลของเกลือแร่ในร่างกาย ส่วนใหญ่จะทำให้เกิดการขยายตัวของหลอดเลือด และกลายเป็นอาการดังกล่าว

อาการของโรคความดันโลหิตต่ำ

อาการของโรคความดันโลหิตต่ำ มักจะไม่แสดงอาการที่จะสามารถระบุให้แน่ชัดถึงโรคนี้ได้

ที่พบได้จึงเป็นอาการทั่วๆ ไปคือ ปวดศีรษะ หูอื้อ ตาลาย ปวดหลัง ปวดเอว มือเท้าเย็น

สมองล้า รู้สึกอ่อนเพลีย หลงๆ ลืมๆ ง่าย ขาดสมาธิ ปวดแสบปวดร้อน ท้องเสียหรือท้องผูก

มีแก๊สในกระเพาะมากจนทำให้ท้องอืด เสื่อมสมรรถภาพทางเพศ ประจำเดือนมาผิดปกติ

มือและเท้าเย็น หรือบางรายก็แทบจะไม่มีอาการแสดงให้เห็นเลย

อันตรายจากการเกิดโรคความดันโลหิตต่ำ

โรคความดันโลหิตต่ำ มีอันตรายไม่แพ้ไปกว่าโรคความดันโลหิตสูง แม้ความเชื่อของเรา

ที่ว่าความดันเลือดยิ่งต่ำก็ยิ่งดีกว่าสูง แต่หากความดันที่ต่ำมากเกินค่ามาตรฐาน

กลับส่งผลกระทบต่อร่างกายได้เช่นเดียวกัน เนื่องจากจะทำให้ระบบเลือดไหลเวียนได้ช้าลง

ตามมาด้วยความสามารถในการส่งออกซิเจนไปเลี้ยงส่วนต่างๆ ของร่างกายได้ไม่เต็มที่

เสี่ยงต่อการเกิดลิ่มเลือดอุดตันภายในหลอดเลือด คาร์บอนไดออกไซด์ในเลือดเกิดการคั่งค้าง

จนกลายเป็นอาการไม่สบายทางกายต่างๆ ตามมา หากปล่อยทิ้งเอาไว้นาน การทำงานของร่างกายจะเสื่อมลง

รู้สึกอ่อนเพลีย ซึมเศร้า การได้ยินและการมองเห็นลดลง หากเกิดขึ้นในกลุ่มผู้สูงอายุ

ก็จะทำให้เกิดภาวะอัลไซเมอร์ได้ง่าย จนสามารถทำให้เกิดโรคหลอดเลือดภายในสมองตีบตัน หรือภาวะกล้ามเนื้อหัวใจขาดเลือดตามมาได้

หน้ามืด ความ ดัน ต่ำ

Photo Credit : nhs60.co.uk

หากพบอาการความผิดปกติดังกล่าวแม้เพียงเล็กน้อย ก็ควรรีบเข้ารับคำปรึกษาจากแพทย์

เพื่อป้องกันการเกิดโรคความดันโลหิตต่ำ และทางที่ดีหมั่นตรวจสุขภาพประจำปีอย่างสม่ำเสมอ

ก็จะช่วยให้ห่างไกลจากภัยร้ายที่ไม่มีสัญญาณเตือนล่วงหน้าเช่นนี้ได้