เชื่อว่า คนส่วนมากที่มีปัญหาสุขภาพมักจะรู้จักกับ โรคความดันโลหิตสูง กันมากกว่า โรคความดันต่ํา (Hypertension)
ที่จัดได้ว่า เป็นหนึ่งในโรคที่สร้างผลกระทบต่อชีวิตประจำวันของสาวๆ ได้เช่นเดียวกัน
เนื่องจาก อันตรายของโรคนี้มีน้อยกว่า จึงทำให้ผู้คนไม่ค่อยให้ความสนใจและมองข้าม
ด้วยการไม่ยอมดูแลตัวเองหรือสังเกตอาการที่เกิดขึ้น ปล่อยปละละเลย จนส่งผลให้เกิดอันตรายร้ายแรงแบบคาดไม่ถึงตามมา
พร้อมที่จะทำลายคุณภาพชีวิตของสาวๆ ได้ไม่น้อยไปกว่าโรคความดันโลหิตสูงเลยล่ะค่ะ
ภาวะโรคความดันโลหิตต่ำ คืออะไร ?
โรคความดันโลหิตต่ำ (Hypotension) เป็นโรคที่จะมีภาวะความดันเลือด ตรงข้ามกับโรคความดันโลหิตสูง
ความดันที่ตรวจพบจะมีค่าต่ำกว่า 90/50 มิลลิเมตรปรอท โดยลักษณะของความดันที่ตรวจพบ
อาจพบว่า ต่ำได้ทั้งค่าด้านหน้าและด้านหลังพร้อมกัน หรือเกิดภาวะความดันต่ำในค่าใดค่าหนึ่งก็ได้
สำหรับการตรวจพบ แพทย์จะไม่จัดกลุ่มอาการนี้เป็นโรคแต่อย่างใด เพียงแต่ให้เป็นภาวะหนึ่ง
ที่มีทั้งส่งผลกระทบต่อร่างกาย และอาจไม่ส่งผลใดๆ เลยก็เป็นได้
ด้วยเหตุที่ความดันโลหิตต่ำ มักจะเป็นความเชื่อว่ามันเป็นค่าที่ดีกว่าความดันโลหิตสูง
เราจึงไม่ค่อยให้ความสนใจกับมันนัก ทว่าภาวะที่ความดันต่ำมากๆ จะส่งผลกระทบ
ทำให้เลือดในระบบร่างกายไหลเวียนได้ช้าลง ออกซิเจนไม่สามารถเข้าไปเลี้ยงอวัยวะต่างๆ ในร่างกายได้เพียงพอ
เกิดเป็นลิ่มเลือดที่เสี่ยงต่อการเข้าไปอุดตันภายในหลอดเลือดที่เป็นอันตรายร้ายแรงตามมา
สาเหตุของภาวะโรคความดันโลหิตต่ํา
สาเหตุของโรคความดันโลหิตต่ำ เกิดขึ้นได้จากหลายปัจจัยด้วยกัน ซึ่งมักพบได้ตั้งแต่การไหลเวียนของเลือด
ของเหลวในร่างกายช้าลง ส่งผลให้เลือดเคลื่อนตัวเข้าสู่หัวใจน้อยลง กระทบต่อผลของการบีบตัวของหัวใจลดลงตามมา
จึงเกิดเป็นภาวะความดันโลหิตต่ำ อาจมีตัวกระตุ้นเป็นภาวะขาดน้ำ ขาดเกลือแร่ ภาวะเลือดออกอย่างรุนแรง
ท้องเสียอย่างรุแรง มีแผลไหม้รุนแรง การลุกขึ้นอย่างรวดเร็วโดยเฉพาะจากท่านอนเป็นท่ายืนในทันที
ไม่ค่อยเคลื่อนไหวร่างกาย นั่งในท่าที่ทำให้เลือดไหลเวียนในร่างกายไม่สะดวกเป็นเวลานาน
และพฤติกรรมที่ไม่ค่อยชอบดื่มน้ำ เป็นต้น ในกลุ่มผู้ป่วยที่มีภาวะโลหิตจางก็ยังมีความเกี่ยวข้อง
ทำให้เกิดภาวะข้างเคียงนี้ได้ เนื่องจากความเข้มข้นของเลือดลดลง ความดันโลหิตจึงลดต่ำลงตามมา
การขาดปริมาณเลือดภายในหลอดเลือด เนื่องจากการทานอาหารในปริมาณมาก
เลือดจึงถูกส่งไปเลี้ยงกระเพาะอาหารและลำไส้เพราะการทำงานหนัก เป็นเหตุให้เลือดกลับเข้าสู่หัวใจน้อยลง
เรียกลักษณะภาวะเช่นนี้ว่า Postprandial Hypotension คล้ายกับภาวะที่เลือดเข้าไปคั่งอยู่ในกระเพาะอาหารและลำไส้
นอกจากนี้ ยังเกิดขึ้นได้โรคที่ทำให้ระบบประสาทอัตโนมัติทำงานผิดปกติ การควบคุมหลอดเลือดลดลง
ขนาดของหลอดเลือดขยายตัวมากขึ้น จึงทำให้เลือดเข้าไปค้างอยู่ภายในอวัยวะต่างๆ รวมถึงเนื้อเยื่อ
การไหลเวียนของเลือดกลับสู่หัวใจจึงลดปริมาณลง ตามมาด้วยความดันโลหิตต่ำ
เช่น โรคความจำเสื่อมบางชนิดทำให้เกิดกลไกที่เรียกว่า Neurogenic orthostatic hypotension และโรคพาร์กินสัน เป็นต้น
รวมไปถึงการติดเชื้อภายในกระแสเลือด การแพ้ยาบางชนิด การแพ้อาหารและสารเคมี การทำงานผิดปกติของหัวใจจากโรคหัวใจ หญิงที่อยู่ในช่วงตั้งครรภ์
ซึ่งมักพบได้มากในระยะ 6 เดือนแรก เนื่องจากเลือดถูกส่งเข้าไปเลี้ยงทารกในครรภ์ร่วมด้วย โรคต่อมไทรอยด์ โรคเบาหวาน และโรคที่เกี่ยวกับต่อมไร้ท่อ เป็นต้น
อาการของโรคความดันโลหิตต่ำ
แม้อาการของโรคนี้ จะไม่ได้ถูกบ่งชี้ให้แน่ชัด เมื่อผู้ป่วยเข้าพบแพทย์ด้วยความผิดปกติ การวินิจฉัย มักจะไม่ได้ระบุเอาไว้ว่า
มีความเกี่ยวเนื่องกับโรคความดันโลหิตต่ำ แต่อาการโดยทั่วไปที่พบของผู้ป่วยที่มีความดันเลือดต่ำกว่าเกณฑ์ที่ตั้งเอาไว้
จะรู้สึกวิงเวียนศีรษะ หน้ามืด ตาลาย คลื่นไส้ อาเจียน มือและเท้าเย็น เหงื่อออกมากแม้ไม่ได้อยู่ในอากาศร้อน
หายใจเร็ว หอบเหนื่อย หิวน้ำ ปัสสาวะน้อย ตัวแห้ง บางรายอาจรู้สึกเจ็บบริเวณหน้าอก ตัวบวม มีผื่นขึ้นตามลำตัว ชักและหมดสติได้หากเกิดภาวะความดันโลหิตต่ำมากๆ
การรักษาภาวะโรคความดันโลหิตต่ำ
โดยทั่วไปความดันโลหิตต่ำจะถูกกำหนดจากปัจจัย 3 ชนิดด้วยกันคือ ปริมาตรของเลือด ที่อยู่ภายในหลอดเลือดที่ปริมาตรลดลง
อัตราการส่งเลือดออกและเข้าหัวใจลดต่ำลง และประสิทธิภาพในการทำงานของหลอดเลือด ที่ทำหน้าที่ปั้มเลือดมีขนาดขยายตัวขึ้น
สังเกตได้จากขนาดของเส้นผ่านศูนย์กลาง ถือว่า เข้าข่ายต่อภาวะความดันโลหิตต่ำได้
แพทย์จะทำการวินิจฉัยทั้งจากการซักประวัติ การสอบถามอาการ ประวัติการกินยา การบาดเจ็บที่เคยเกิดขึ้น
อาหารที่กินเข้าไป ร่วมกับการตรวจร่างกาย ตามลักษณะอาการของผู้ป่วยที่เข้ามาพบ
ขึ้นอยู่กับการวิเคราะห์ของตัวแพทย์เอง ซึ่งอาจมีการตรวจคลื่นไฟฟ้าหัวใจร่วมด้วย
หากอาการดูเกี่ยวเนื่องกับโรคหัวใจ การตรวจดูความเข้มข้นของน้ำตาลในเลือด และตรวจจากโรคประจำตัวของผู้ป่วยด้วย
การรักษาทางการแพทย์เมื่อพบสาเหตุว่ามาจากความดันโลหิตต่ำ แพทย์จะทำการปรับระดับความดันด้วยการเพิ่มขึ้นมา
ให้อยู่ในเกณฑ์ปกติ ซึ่งอาจมีการให้น้ำและเกลือแร่ทางหลอดเลือดดำ กรณีที่ผู้ป่วยมีภาวะขาดน้ำ ให้ยาเพิ่มความดันโลหิต
ให้เลือดเมื่อผู้ป่วยเสียเลือดเป็นจำนวนมาก และให้ยาขยายหลอดเลือดจากการทำงานของหลอดเลือดที่ผิดปกติ เป็นต้น
ดูแลตัวเองอย่างไรเมื่อมีภาวะความดันโลหิตต่ำ
การดูแลตัวเองเบื้องต้นเมื่อมีภาวะความดันโลหิตต่ำ สิ่งที่ควรทำคือการหยุดกิจกรรมที่ต้องใช้แรงทุกชนิด
นอนหลับพักผ่อนให้เพียงพอ เวลานอนหลีกเลี่ยงการหนุนหมอนที่ต่ำเกินไป
และหลีกเลี่ยงการนอนดึก พยายามอย่าอยู่ในท่ายืนหรือนั่งติดต่อกันเป็นเวลานาน ขณะเปลี่ยนอิริยาบถควรทำอย่างช้าๆ
ส่วนการป้องกันตัวเองจากภาวะนี้ ควรหมั่นออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอ ซึ่งจะเป็นตัวช่วยกระตุ้น
ให้ระบบความดันโลหิตทำงานได้ดียิ่งขึ้น ทานอาหารให้ครบตามหลักโภชนาการ หลีกเลี่ยงอาหารที่มีรสจัด
Photo Credit : reachingutopia.com
ดื่มน้ำเปล่าให้มากพอในแต่ละวัน หากทานยาที่มีผลต่อความดันโลหิต ควรแจ้งกับแพทย์เสมอว่า ตนเองเป็นโรคภาวะความดันเลือดต่ำ
เพราะยาบางชนิด จะยิ่งเข้าไปลดการทำงานของหลอดเลือด ส่งผลให้ความดันยิ่งต่ำลงมากกว่าเดิม
และอย่าลืมหมั่นตรวจสุขภาพประจำปี เพื่อจะได้ช่วยให้สาวๆ มีคุณภาพชีวิตที่ดี ห่างไกลจากความเจ็บป่วยได้มากขึ้นนั่นเองค่ะ