ภาวะเจ็บหน้าอกจากการขาดเลือด ภัยเงียบใกล้ตัวที่ควรเฝ้าสังเกต

ภาวะเจ็บหน้าอกจากการขาดเลือด angina

ภาวะเจ็บหน้าอกจากการขาดเลือดของผู้สูงอายุ สามารถเกิดขึ้นโดยที่ผู้สูงอายุไม่รู้ตัวจนกว่าอาการจะแสดงออก

ดังนั้น เพื่อเป็นการเตือนผู้สูงอายุให้รู้เท่าทันภาวะอาการดังกล่าว คนดูแลใกล้ชิดก็จำเป็นที่จะต้องทำความเข้าใจกับภาวะนี้กันแต่เนิ่นๆ ด้วยเช่นเดียวกัน

เพื่อคอยให้ความรู้แก่ผู้สูงอายุที่คุณดูแล และเพื่อคอยเฝ้าสังเกตอาการร่วมด้วย โดยเรื่องที่ควรรู้เกี่ยวกับภาวะเจ็บหน้าอกจากการขาดเลือดของผู้สูงอายุก็มีดังนี้

ภาวะเจ็บหน้าอกจากการขาดเลือดของผู้สูงอายุ คืออะไร?

ภาวะเจ็บหน้าอกจากการขาดเลือดของผู้สูงอายุ (Angina) คือ ภาวะที่กล้ามเนื้อหัวใจไม่ได้รับเลือดอย่างเพียงพอ

ซึ่งไม่ได้มีผลแค่ในเรื่องของเลือดแต่เพียงอย่างเดียวเท่านั้น เพราะสามารถที่จะส่งผลต่อการลำเลียงออกซิเจนไปยังอวัยวะอื่นๆ

ซึ่งในการขาดเลือดไปเลี้ยงกล้ามเนื้อหัวใจเป็นผลอันตราย เนื่องจากจะทำให้หัวใจเสื่อมสภาพได้อย่างรวดเร็วและที่สำคัญยังสามารถส่งผลต่อการเสียชีวิตได้

สาเหตุของภาวะเจ็บหน้าอกจากการขาดเลือดของผู้สูงอายุ มีอะไรบ้าง?

สำหรับสาเหตุที่ทำให้เกิดภาวะเจ็บหน้าอกจากการขาดเลือดของผู้สูงอายุสามารถเกิดได้จากหลากหลายสาเหตุ อย่างที่ทราบกันดีว่า

สาเหตุที่ทำให้เกิดภาวะหัวใจขาดเลือด เกิดจากการที่เลือดไม่สามารถไปเลี้ยงกล้ามเนื้อหัวใจได้เพียงพอ ซึ่งสามารถอธิบายสาเหตุเพิ่มเติมได้ดังนี้

1.ปัญหาช่องปาก (oral disease)

ช่องปากเป็นส่วนที่สามารถทำให้เชื้อโรคและแบคทีเรียสามารถเข้าสู่กระแสเลือดได้ง่าย โดยเฉพาะเมื่อเป็นโรคเหงือก

ก็จะทำให้เกิดการสะสมของแบคทีเรียภายในเหงือกและฟัน เมื่อรับประทานอาหารหรือกลืนน้ำลายก็จะทำให้แบคทีเรีย

สามารถเข้าสู่กระแสเลือดได้โดยตรง ซึ่งแบคทีเรียที่เข้าสู่กระแสเลือดก็จะเติบโตอยู่กับคราบที่มีการสะสมภายในหลอดเลือด

เช่น ไขมัน หลังจากนั้นก็จะส่งผลปฏิกิริยาทำให้เลือดเป็นลิ่ม จนเข้าไปอุดตันบริเวณหลอดเลือดทางเข้าหัวใจ

2.โรคหลอดเลือดหัวใจ (Coronary artery disease)

สาเหตุจากการที่ไขมันเกาะตัวอยู่บริเวณผนังหลอดเลือดหัวใจ ทำให้เลือดไม่สามารถไหลเวียนเข้าสู่หัวใจได้อย่างเป็นปกติ

และกล้ามเนื้อหัวใจไม่ได้รับเลือดในปริมาณที่เพียงพอ จนส่งผลทำให้กล้ามเนื้อหัวใจตาย

3.ภาวะขาดออกซิเจนในเลือด (Hypoxia)

ภาวะที่ร่างกายมีปริมาณคาร์บอนไดออกไซด์มากกว่าปริมาณของออกซิเจนในเลือด แต่การไหลเวียนเลือดภายในหัวใจยังเป็นปกติ

ก็จะเป็นการนำคาร์บอนไดออกไซด์ให้กับหัวใจ ดังนั้น เมื่อหัวใจไม่ได้รับออกซิเจนในเลือด ก็จะทำให้การทำงานมีความผิดปกติและส่งผลเสียหายต่อกล้ามเนื้อหัวใจ

โรคที่มีความเสี่ยงในการเกิดภาวะเจ็บหน้าอกจากการขาดเลือดของผู้สูงอายุ

โรคเบาหวาน : เป็นโรคที่เกิดจากการที่ร่างกายไม่สามารถตอบสนองต่ออินซูลิน ที่จะนำมาใช้เพื่อควบคุมระดับน้ำตาล น้ำตาลจึงเปลี่ยนรูปแบบกลายเป็นไขมัน

และทำให้ไขมันเหล่านี้ไปสะสมบริเวณหลอดเลือดและเกิดการอุดตันบริเวณทางเข้าหัวใจ หัวใจจึงได้รับเลือดไม่เพียงพอ

โรคความดันโลหิตสูง : เป็นโรคที่มีผลทำให้ระดับความดันโลหิตในร่างกายนั้นเพิ่มมากขึ้น จากการที่หัวใจจะต้องทำงานหนักขึ้น

ซึ่งเป็นการสร้างความเสียหายให้กับหลอดเลือด และเลือดส่งไปถึงหัวใจไม่เพียงพอ

ความเครียด : ความเครียดเป็นภาวะอารมณ์ที่จะทำให้เกิดการกระชากฮอร์โมน หลอดเลือดที่จะต้องมีการส่งผ่านฮอร์โมน

มีการบีบตัวอย่างรวดเร็วและจะทำให้หลอดเลือดบริเวณนั้นแคบลง ส่งผลทำให้เลือดไม่สามารถส่งไปถึงหัวใจได้

ภาวะเจ็บหน้าอกจากการขาดเลือด มีกี่ชนิด มีอะไรบ้าง?

ภาวะเจ็บหน้าอกจากการขาดเลือดสามารถที่จะแบ่งได้ 5 ชนิด แต่ส่วนใหญ่มักจะรู้กันเพียงแค่ 2 ชนิด

โดยชนิดต่างๆ ล้วนเป็นสาเหตุเบื้องต้นที่ทำให้เกิดภาวะเจ็บหน้าอกจากการขาดเลือดได้ โดยสามารถอธิบายได้ดังนี้

1.ภาวะเจ็บหน้าอกแบบคงที่ (stable angina) : จะเกิดขึ้นเมื่อร่างกายต้องทำงานหนักกว่าปกติ อย่างเช่น การทำกิจกรรมโลดโผน

การออกกำลังกาย ซึ่งภาวะเจ็บหน้าอกแบบคงที่จะไม่มีอาการที่รุนแรงมากขึ้น และเพียงแค่หยุดการทำกิจกรรมเหล่านั้น อาการเจ็บก็จะหายไป

2.ภาวะเจ็บหน้าอกแบบไม่คงที่ (unstable angina) : เป็นชนิดที่สามารถทำให้เกิดภาวะหัวใจวายได้โดยเฉียบพลัน

ซึ่งจะมีสาเหตุคล้ายกับภาวะเจ็บหน้าอกแบบคงที่ โดยสามารถเกิดได้จากความเครียด ซึ่งเมื่อหยุดกิจกรรม หรือพยายามกำจัดความเครียด

อาการเจ็บหน้าอกก็จะยังไม่หายไปและอาจมีระดับที่รุนแรงมากยิ่งขึ้น และสามารถส่งผลต่อภาวะหัวใจเต้นผิดจังหวะได้

3.ภาวะเจ็บหน้าอกแบบบีบเค้น (variant angina) : เป็นชนิดที่จะเกิดในระยะเวลาตั้งแต่เที่ยงคืนจนถึง 8 โมงเช้า

และเป็นชนิดที่ไม่สามารถเดาสาเหตุที่จะเกิดได้ แต่ส่วนใหญ่แล้วมีการวินิจฉัยว่า อาจจะเกิดจากการสะสมคราบจุลินทรีย์ของไขมันในหลอดเลือด

และอาจจะเกิดจากการที่กล้ามเนื้อหลอดเลือดกระตุกจนทำให้เกิดภาวะดังกล่าว

4.ภาวะเจ็บหน้าอกแบบกลุ่ม x (Syndrome X microvascular angina) : ภาวะเจ็บหน้าอกที่เกิดขึ้นบริเวณเส้นเลือดที่มีขนาดเล็ก

และส่งตรงถึงหัวใจ แต่อาจจะเป็นเพียงแค่ที่เส้นเลือดขนาดเล็กแปลหลอดเลือดใหญ่ที่ส่งตรงเข้าสู่หัวใจจะไม่ได้รับผลกระทบ ซึ่งก็เป็นภาวะที่ทำให้เกิดอาการเจ็บหน้าอกได้เล็กน้อย

5.ภาวะเจ็บหน้าอกแบบคลุมเครือ (atypical angina) : เป็นภาวะที่ยังไม่สามารถยืนยันได้โดยตรงว่าเป็นภาวะเจ็บหน้าอกจากการขาดเลือด

แต่จะทำให้มีอาการเหนื่อยง่าย และอึดอัดบริเวณหน้าอก รวมถึงอาการปวดบริเวณหลังและคอ โดยส่วนใหญ่แล้วมักจะเกิดในเพศหญิงมากกว่าเพศชาย

ภาวะเจ็บหน้าอกจากการขาดเลือดในผู้สูงอายุ มีอาการอย่างไร?

อาการเหล่านี้คือ ภาวะอาการเจ็บหน้าอกจากการขาดเลือดในผู้สูงอายุ หากพบอาการเหล่านี้เกิดขึ้น แนะนำให้พบแพทย์เพื่อตรวจรักษาทันที

  • อาการแน่นหน้าอก
  • คลื่นไส้
  • เหนื่อยง่าย
  • หายใจถี่
  • เหงื่อออกตลอด
  • เวียนศีรษะ

การวินิจฉัย

แพทย์จะเริ่มจากการซักประวัติของผู้ป่วยอย่างละเอียด รวมถึงการสอบถามอาการที่เกิดขึ้น

เพื่อเป็นการช่วยวินิจฉัยหาปัจจัยที่เป็นความเสี่ยง หลังจากนั้นแพทย์จะต้องการตรวจผ่านทางห้องปฏิบัติการด้วย ดังนี้

ตรวจด้วยคลื่นไฟฟ้า ECG (Electrocardiogram) : การตรวจจังหวะการเต้นของหัวใจผ่านแรงกระตุ้นของไฟฟ้า

และจะมีการบันทึกคลื่นไฟฟ้าที่ถูกส่งไปถึงหัวใจเพื่อเป็นการตรวจการไหลเวียนเลือดภายในหัวใจ

การตรวจสมรรถภาพหัวใจ (Stress test) : การตรวจสภาพหัวใจผ่านการออกกำลังกายและมีการวัดด้วยคลื่นไฟฟ้า เพื่อตรวจความสามารถในการทำงานของหัวใจ

แต่สำหรับผู้ที่ไม่สามารถออกกำลังกายเพื่อทำการตรวจแพทย์จะต้องมีการใช้สารกระตุ้นเพื่อทดสอบหัวใจทำงานหนักมากยิ่งขึ้น

คลื่นเสียง (Echocardiogram) : การตรวจผ่านเครื่องเสียงเพื่อสังเกตข้อเสียหายที่เกิดขึ้นกับกล้ามเนื้อหัวใจและการไหลเวียนของเลือด

การเอกซเรย์ (X-ray) : เป็นการตรวจหาสภาพหัวใจว่ามีความผิดปกติในเรื่องของขนาดหรือไม่

การทำ CT Scan : เป็นการสแกนเพื่อดูสภาพหัวใจ และหลอดเลือดของหัวใจว่ามีขนาดที่เล็กลงหรือขยายใหญ่มากยิ่งขึ้น

การทำ MRI : เป็นการสแกนเพื่อวินิจฉัยอีกรูปแบบในการตรวจสอบโครงสร้างของหัวใจและโครงสร้างของหลอดเลือดว่ามีความเสียหายส่วนใดหรือไม่

วิธีรักษาภาวะเจ็บหน้าอกจากการขาดเลือดของผู้สูงอายุ

สำหรับการรักษาภาวะเจ็บหน้าอกจากการขาดเลือด แพทย์จะเน้นการรักษาอยู่ 2 วิธีคือ การรักษาด้วยยา และการผ่าตัด ดังนี้

1.การรักษาด้วยยา

ยาเป็นตัวช่วยในการรักษาสำคัญ แต่ขึ้นอยู่กับแพทย์จะวินิจฉัยเพื่อการจ่ายยาชนิดใด แต่ส่วนใหญ่จะมียาดังนี้

  • ไนเตรท สามารถที่จะช่วยทำให้หลอดเลือดขยายตัว และสามารถทำให้เลือดไหลเวียนไปสู่กล้ามเนื้อหัวใจได้ดีมากยิ่งขึ้น
  • ยาแอสไพริน เป็นยาที่จะช่วยลดการแข็งตัวของเลือดจึงทำให้เลือดสามารถไหลเวียนได้อย่างสะดวกและลดการอุดตันในหลอดเลือดลงได้
  • ยาเบต้าบล็อกเกอร์ เป็นตัวช่วยลดผลกระทบที่เกิดจากฮอร์โมนอะดรีนาลีน ซึ่งจะทำให้ระดับการเต้นของหัวใจช้าลง และช่วยลดระดับความดันโลหิต

2.การรักษาด้วยวิธีผ่าตัด

สำหรับผู้ป่วยบางรายการใช้ยารักษาอาจจะไม่ได้ผลดีเท่าที่ต้องการ ดังนั้น การผ่าตัดจึงเป็นทางเลือกที่ดี แต่จะต้องมีการปรึกษาแพทย์อย่างละเอียด ซึ่งวิธีผ่าตัดที่ทำได้คือ

การขยายหลอดเลือดหัวใจ (angioplasty) : โดยจะเป็นการทำบอลลูนและการดามด้วยขดลวด ซึ่งเหมาะสำหรับกรณีที่หลอดเลือดหัวใจตีบ

ซึ่งเป็นการขยายหลอดเลือดหัวใจให้กว้างขึ้น เหมาะสำหรับผู้ที่เป็นภาวะหัวใจขาดเลือดแบบคงที่

การทำบายพาส (Bypass) : เป็นการผ่าตัดเพื่อเพิ่มช่องทางให้หลอดเลือดสามารถส่งเลือดไปเลี้ยงกล้ามเนื้อหัวใจได้

โดยเป็นการเพิ่มหลอดเลือดที่จะส่งตรงถึงหัวใจ เพื่อให้เลือดเข้าไปหล่อเลี้ยงหัวใจได้อย่างราบรื่น

วิธีป้องกันภาวะเจ็บหน้าอกจากการขาดเลือดของผู้สูงอายุ

วิธีป้องกันภาวะเจ็บหน้าอกจากการขาดเลือด สามารถที่จะทำได้จากการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมการใช้ชีวิต ดังนี้

  • หลีกเลี่ยงการสูบบุหรี่และการดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์
  • ควบคุมน้ำหนักให้อยู่ในเกณฑ์ที่เหมาะสม
  • รับประทานอาหารที่ดีต่อสุขภาพ หลีกเลี่ยงอาหารที่มีไขมัน
  • หมั่นตรวจสุขภาพทุกปี
  • กำจัดความเครียด
  • หมั่นออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอ

ภาวะเจ็บหน้าอกจากการขาดเลือด

Credit : thaiseniormarket.com

ภาวะเจ็บหน้าอกจากการขาดเลือดของผู้สูงอายุ ถือเป็นภาวะที่อันตราย เพราะมีความเสี่ยงที่จะทำให้ผู้สูงอายุเสียชีวิตได้สูง

ดังนั้น หมั่นรักษาสุขภาพเพื่อหลีกเลี่ยงความเสี่ยงของภาวะดังกล่าวที่จะเกิดขึ้นดีกว่า