แคลเซียม (Ca) เป็นสารอาหารสำคัญอย่างหนึ่งที่ร่างกายต้องการ ซึ่งมีความจำเป็นอย่างมาก ต่อการเสริมสร้างกระดูกและฟัน หรือจะเรียกได้ว่า เป็นแร่ธาตุที่เป็นหัวใจในการทำงานของระบบภายในร่างกาย
ซึ่งในผู้หญิงจะมีโอกาสสูญเสียแคลเซียมได้มากกว่าผู้ชาย จึงมีความต้องการร่าตุชนิดนี้มากเป็นพิเศษ
หากไม่เพียงพอต่อความต้องการของร่างกาย ก็อาจจะทำให้เกิดภาวะเสี่ยงต่อโรคกระดูกพรุนได้ง่าย ซึ่งพบได้มากใน ผู้หญิงวัยหมดประจำเดือน
การรับเอาอาหารที่มีปริมาณแคลเซียมเพียงพอต่อวันเ ข้าสู่ร่างกายอย่างสม่ำเสมอ ตั้งแต่ในวัยหนุ่มสาวต่อเนื่องกันไป
เมื่ออายุมากขึ้นจะสามารถลดปัญหาของกระดูกและฟัน ให้ผู้หญิงสามารถมีคุณภาพชีวิตที่ดีได้แม้จะเข้าสู่วัยหมดประจำเดือนแล้วก็ตาม
ดังนั้น ใครที่ยังไม่รู้ว่า แคลเซียมมีประโยชน์กับเรามากน้อยแค่ไหน ต้องลองไปทำความรู้จักกับ Calcium แร่ธาตุอันเป็นหัวใจสำคัญของการเสริมสร้างร่างกายให้แข็งแรงตัวนี้กันดีกว่าค่ะ
บทบาทของแคลเซียมที่มีผลต่อร่างกาย
เนื่องจาก แคลเซียมเป็นส่วนหนึ่งในกระบวนการทำงานที่ร่างกายจำเป็นต้องนำมาใช้ เป็นองค์ประกอบของกระดูกและฟัน รวมไปถึงระบบอื่นๆ อีกมากมาย
อาทิเช่น ระบบประสาทที่ต้องใช้แคลเซียม เป็นตัวนำพากระแสประสาทภายในเซลล์ของระบบประสาท ทำหน้าที่ในกระบวนการยืดหดตัวของกล้ามเนื้อและหัวใจ
เป็นตัวช่วยปรับสมดุลให้ร่างกายทำงานได้ดีขึ้น เป็นตัวนำสารอาหารสำคัญส่งผ่านไปยังเซลล์ และช่วยทำให้เลือดแข็งตัว
ปริมาณแคลเซียมที่มีมากพอ จะช่วยสร้างเกราะป้องกันจากโรคภัยต่างๆ โดยเฉพาะโรคกระดูกพรุนที่พบได้มากในกลุ่มผู้หญิงวัยหมดประจำเดือน
กระบวนการนำแคลเซียมเข้าสู่ร่างกาย
สำหรับการรับแคลเซียมเข้าสู่ร่างกายโดยการเลือกกินอาหารที่มีความเหมาะสม เมื่อถูกนำไปย่อยแล้วจะถูกกรดในกระเพาะ ทำหน้าที่กระตุ้นให้แคลเซียมแตกตัวเป็นโมเลกุลขนาดเล็ก ซึ่งจะช่วยให้เกิดการดูดซึมที่ดี
การดูดซึมจะเกิดขึ้นบริเวณลำไส้ส่วนปลาย โดยปริมาณที่ร่างกายดูดซึมต่อวันจะอยู่ที่ 20-40 เปอร์เซ็นต์ จากนั้นจะถูกดูดซึมส่งต่อไปยังกระแสเลือด เพื่อเดินทางไปยังระบบการทำงานของอวัยวะต่างๆ
โดยปริมาณส่วนมากจะถูกนำพาเข้าสู่กระดูก บางส่วนถูกส่งไปยังเซลล์ ส่วนที่เหลือหากเกินกว่าร่างกายต้องการ จะถูกขับออกทางปัสสาวะ
ความสำคัญของแคลเซียมที่เราพบได้คือ ปริมาณที่ซึมผ่านเข้าสู่กระดูก ซึ่งจะรับได้มากถึง 700 มิลลิกรัมต่อวัน ซึ่งจะอยู่ในวัฎจักรที่กระดูกสูญสลาย (resorption) และกระบวนการสร้างกระดูกใหม่ (formation)
ดังนั้น ร่างกายจึงมีความต้องการแคลเซียมอยู่ตลอดเวลา แม้จะดูเหมือนว่ากระดูกเป็นส่วนยึดติดไม่ยืดหยุ่น
ทว่าในความเป็นจริงปริมาณของแร่ธาตุภายในโครงสร้างแข็งๆ เหล่านี้ กลับมีการเปลี่ยนแปลงอย่างต่อเนื่อง
การเสริมแร่ธาตุที่จำเป็นเข้าไปให้เพียงพอ ก็จะช่วยสร้างสมดุล ทำให้กระดูกแข็งแรง ห่างไกลจากความเปราะบางได้
ความจำเป็นของแคลเซียมสำหรับผู้หญิง
ความจำเป็นของแคลเซียม ต่อร่างกายที่ผู้หญิงไม่ควรมองข้าม เริ่มกันตั้งแต่ในวัยสาวสะพรั่ง วัยที่ร่างกายยังอยู่ในช่วงเจริญเติบโตอย่างรวดเร็ว
จึงจำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องได้รับแคลเซียมให้เพียงพอในแต่ละวัน เพื่อช่วยรักษามวลกระดูกให้เพิ่มขึ้น
เมื่อเข้าสู่ช่วงวัยทำงาน ปริมาณแคลเซียมก็ยังจำเป็นอยู่ อีกทั้ง ยังเป็นช่วงที่ร่างกายยังสามารถดูดซึมแคลเซียมได้อย่างเต็มประสิทธิภาพ
ซึ่งในช่วงวัยเหล่านี้ ต้องอย่าลืมหมั่นออกกำลังกาย เพื่อกระตุ้นการเสริมสร้างกระดูก อีกทั้ง ยังเป็นตัวช่วยลดการสูญเสียแคลเซียมให้น้อยลง
ผู้หญิงที่อยู่ในวัยทอง หรือ วัยหมดประจำเดือน เป็นช่วงที่ร่างกายสูญเสียแคลเซียมได้มาก โดยปริมาณที่สูญเสียจะถูกดึงออกจากกระดูก เสี่ยงต่อการเกิดโรคกระดูกพรุนได้ง่ายกว่าในวัยอื่นๆ
นอกจากนี้ ในกลุ่มผู้หญิงที่กำลังตั้งครรภ์ และให้นมบุตร จะมีความต้องการปริมาณแคลเซียมมากขึ้นเป็น 2 เท่า
เนื่องจาก ทารกที่กำลังเจริญเติบโตภายในครรภ์ ก็ต้องการแคลเซียมเข้าไปช่วยสร้างกระดูกและฟัน
การทานอาหารที่มีแคลเซียมปริมาณมากพอต่อวันของคุณแม่ จะเป็นได้ทั้งตัวช่วยเสริมพัฒนาการให้ลูกน้อยในครรภ์
ส่วนในช่วงให้นม แร่ธาตุชนิดนี้ ก็จะถูกส่งผ่านสู่ลูกทางน้ำนมเพื่อเสริมสร้างกระดูกของเด็กให้เติบโตต่อไป
ปริมาณแคลเซียมที่ผู้หญิงในแต่ละช่วงวัยควรได้รับ
สำหรับการรับแคลเซียมเข้าสู่ร่างกายในกลุ่มผู้หญิงตั้งแต่วัยรุ่น ในแต่ละวัน ควรทานอาหารที่มีแคลเซียมเป็นส่วนประกอบ อย่างน้อย 1,000 – 1,500 มิลลิกรัม
ผู้หญิงวัยทำงาน อยู่ที่ 800 – 1,000 มิลลิกรัม ผู้หญิงวัยทองและหญิงตั้งครรภ์ หรือให้นมบุตร อยู่ที่ 1,500 – 2,000 มิลลิกรัมต่อวัน
ซึ่งปริมาณเบื้องต้นเหล่านี้ เป็นปริมาณที่ควรรับเข้าไป ทว่าในการดูดซึมของร่างกาย ก็อาจจะมีความแตกต่างกัน ขึ้นอยู่กับช่วงอายุด้วย
เพราะยิ่งมีอายุมากขึ้น ระบบการดูดซึมแคลเซียมก็ยิ่งเสื่อมสภาพตามไป นั่นเอง
โดยอาหารที่เป็นแหล่งแคลเซียม พบได้ตั้งแต่ในปลาตัวเล็กที่กินได้ทั้งกระดูก นม เนยแข็ง โยเกิร์ต เนื้อสัตว์ ผลิตภัณฑ์ที่มีส่วนประกอบของนม ผักและธัญพืชบางชนิด
Photo Credit : looppng.com
ส่วนใครที่คิดว่าตัวเองกินอาหารได้ไม่เพียงพอต่อความต้องการตามหลัก 5 หมู่ ก็สามารถเลือกกินแคลเซียมเสริม ตัวช่วยที่ป้องกันการเกิดโรคกระดูกพรุนได้อีกทางหนึ่ง
แต่อย่าลืมว่า ปริมาณแคลเซียม ที่ร่างกายต้องการ ได้รับในแต่ละช่วงวัยแตกต่างกัน เพื่อความปลอดภัยก็อย่าลืมที่จะศึกษาข้อมูลให้ละเอียด
จะได้ช่วยให้เราได้รับแคลเซียม อย่างเพียงพอ ต่อความต้องการในแต่ละวันอย่างเหมาะสมมากที่สุด นั่นเองค่ะ