โรคตับอ่อนอักเสบ (Pancreatitis) คือโรคที่เกิดจากการอักเสบภายในเซลล์ของตับอ่อน (Pancreas) เป็นโรคที่พบได้บ่อย แม้ว่าจะไม่ใช่ในกลุ่มที่ชอบดื่มแอลกอฮอล์ก็ตาม
ดังนั้น เราจึงสามารถพบโรคนี้ได้ทั้งชนิดที่มีสาเหตุมาจากการติดเชื้อ และชนิดที่ไม่ได้ติดเชื้อ และแม้ว่าจะเป็นโรคที่พบในผู้ชายได้มากกว่าผู้หญิง
แต่สำหรับสาวๆ แล้วก็มีโอกาสจะเกิดขึ้นได้โดยไม่รู้ตัว และส่วนใหญ่มักจะปล่อยปละละเลยกับอาการที่เกิดขึ้น
ทำให้ความรุนแรงของโรคลุกลามจนยากต่อการรักษา สาวๆ ที่มีพฤติกรรมเสี่ยง โดยเฉพาะนิสัยที่ชอบดื่มแอลกอฮอล์เป็นประจำ จะมีความเสี่ยงมากกว่าคนปกติ
และยังพบได้จากปัจจัยอื่นๆ ที่ทำให้ตับอ่อนทำงานผิดปกติ จนกลายเป็นอาการอักเสบ
ลองมาทำความรู้จักกับโรคนี้กันให้มากขึ้น เพื่อจะได้ป้องกันได้ทันก่อนที่โรคจะลุกลามจนยากต่อการเยียวยานั่นเองค่ะ
ตับอ่อนอักเสบ ภาวะอักเสบที่เกิดขึ้นกับเซลล์ตับอ่อน
การอักเสบของตับอ่อน เกิดขึ้นได้ทั้งชนิดเฉียบพลันและเรื้อรัง จากปกติหน้าที่ของตับอ่อน คือการสร้างฮอร์โมนตัวสำคัญที่ช่วยทำให้ร่างกายสามารถทำงานได้อย่างสมดุล
ซึ่งมีฮอร์โมนสำคัญอย่าง Insulin, Glucagon และ Somatostatin โดยทั้งหมดจะสัมพันธ์กับการทำงานของระบบย่อยอาหารเป็นหลัก
และยังทำหน้าที่ผลิตเอนไซม์ช่วยย่อยอาหาร ที่จะถูกส่งเข้าไปในลำไส้เล็กผ่านทางท่อตับอ่อน เมื่อตับอ่อนอักเสบขึ้นมา จะทำให้ระบบการทำงานของอวัยวะชิ้นนี้ผิดปกติ
โดยผู้ป่วยจะเกิดการอักเสบแบบเฉียบพลัน (Acute pancreatitis) ก่อนเป็นอันดับแรก
ซึ่งจะมีอาการที่รุนแรง เซลล์ตับอ่อนบวมมากขึ้น ไขมันเกิดการตายขึ้น และพบว่ามีการตกเลือดร่วมด้วย
การอักเสบแบบเฉียบพลัน อาจจะเกิดขึ้นแบบทันทีทันใด หรืออาการจะค่อยๆ ปรากฏขึ้นภายใน 2-3 วัน
ผู้ป่วยสามารถมีอาการดีขึ้นและหายเป็นปกติได้ ภายหลังการรักษาประมาณ 1-2 สัปดาห์
ส่วนโรคตับอ่อนอักเสบแบบเรื้อรัง (Chronic pancreatitis) จะเกิดขึ้นภายหลังที่เซลล์มีการอักเสบมาก่อนหน้านี้แล้ว และการอักเสบก็ยังคงดำเนินไป โดยไม่สามารถรักษาให้หายได้มาก่อนหน้านี้
อาการที่เกิดขึ้นสามารถเป็นได้ทั้งการอักเสบเฉียบพลันซ้ำๆ แบบเป็นๆ หายๆ หรือเซลล์ที่อักเสบมีการรวมตัวกัน
กลายเป็นถุงน้ำที่เรียกกันว่า ถุงน้ำตับอ่อนจากตับอ่อนอักเสบเรื้อรัง (Pancreatic pseudocyst)
มีพังผืดเกิดขึ้นและทำให้การทำงานของตับอ่อนเสื่อมสภาพ เนื่องจากเซลล์บางส่วนตายไป
สาเหตุของการเกิดโรคตับอ่อนอักเสบ
ตับอ่อนอักเสบ ยังไม่สามารถค้นหาสาเหตุในการเกิดโรคที่แน่ชัดได้ แต่เชื่อว่าเกิดจากน้ำย่อยที่ผลิตขึ้นจากตับอ่อน อย่างทริปซินที่มีหน้าที่หลักในการย่อยโปรตีน
ตามปกติจะไม่ทำงานเมื่ออยู่ในตับอ่อน แต่จะเริ่มทำงานเมื่อถูกส่งเข้าไปภายในลำไส้เล็กแล้ว
แต่ด้วยความผิดปกติของกลไกเคมี ทำให้น้ำย่อยถูกกระตุ้นทำงานภายในตับอ่อน
เกิดการย่อยสลายเซลล์จนกลายเป็นภาวะอักเสบตามมา นอกจากนี้ที่พบได้บ่อยคือ
พฤติกรรมการดื่มแอลกอฮอล์ในปริมาณมากและบ่อยครั้ง เนื่องจากแอลกอฮอล์จะเป็นพิษโดยตรงกับอวัยวะสำคัญชิ้นนี้
ทำให้เกิดการเสื่อมสภาพลงอย่างรวดเร็ว มาพร้อมกับระบบการทำงานที่ผิดปกติ จนกลายเป็นการทำลายเซลล์ของตัวเองตามมา
อาการของโรคตับอ่อนอักเสบ
กรณีที่ผู้ป่วยมีภาวะตับอ่อนอักเสบแบบเฉียบพลัน อาการที่พบได้คือ ปวดท้องอย่างรุนแรงแบบไม่ทันตั้งตัว
และมักไม่มีสัญญาณเตือนล่วงหน้า อาการปวดจะร้าวไปทั่วทั้งตัวและคงอยู่ประมาณ 2-3 วัน ร่วมกับอาการไข้สูง คลื่นไส้อาเจียน เบื่ออาหาร และอ่อนเพลีย
ส่วนผู้ป่วยที่มีภาวะตับอ่อนอักเสบเรื้อรัง การอักเสบเกิดขึ้นมานานแบบเป็นๆ หายๆ บางครั้งอาจมีอาการแบบเฉียบพลันร่วมด้วย
อาการหลักๆ ที่พบคือ ปวดท้องเป็นครั้งคราวหรือปวดอยู่ตลอดเวลา บางครั้งก็ปวดร้าวไปทั่วทั้งตัว
พบว่าอุจจาระมีสีเทา ซีด และบางครั้งมีไขมันปนออกมาด้วยขณะขับถ่าย น้ำหนักตัวลดลงมากผิดปกติ
เบื่ออาหาร อ่อนเพลีย ยิ่งรับประทานอาหารเข้าไป ก็จะยิ่งทำให้อาการปวดรุนแรงมากขึ้น
การรักษาและดูแลตัวเองของผู้ป่วยโรคตับอ่อนอักเสบ
การรักษาโรคตับอ่อนอักเสบ จะช่วยลดภาวะแทรกซ้อนร้ายแรงที่จะเกิดขึ้นตามาหากผู้ป่วยดูแลตัวเองไม่ดี
โดยแพทย์ที่ทำการรักษา มีเป้าหมายคือกำจัดต้นตออันเป็นสาเหตุของการเกิดโรค
และบรรเทาอาการข้างเคียงอันเนื่องมาจากภาวะแทรกซ้อน มีการรักษาด้วยยาหากมีอาการปวดท้องมาก
แพทย์จะให้ยาระงับอาการปวด เช่น เพทินดิน และเมเพริดิน ทุก 4-6 ชั่วโมง
แต่จะหลีกเลี่ยงการให้มอร์ฟีนที่มีผลข้างเคียงสูง กรณีที่ผู้ป่วยเกิดภาวะช็อก
ซึ่งเป็นสาเหตุที่มักทำให้ผู้ป่วยเสียชีวิต แพทย์จะใช้วิธีต่อสายยางเข้าไปภายในเส้นเลือดดำด้วย
เพื่อป้องกันไม่ให้เกิดภาวะช็อก เป็นการประเมินสภาพน้ำในร่างกาย
Photo Credit : womenshealthency.com
บางรายอาจได้รับเลือดและสารน้ำทดแทนน้ำที่สูญเสียไปภายในช่องท้อง ให้โซเดียมคาร์บอเนตเพื่อลดความเป็นกรด ร่วมกับลดการทำงานของตับอ่อน
และทำการดูดน้ำย่อยจากกระเพาะอาหารออกด้วยการใส่สายตรงเข้าสู่กระเพาะอาหารทางจมูก
ซึ่งจะทำในรายที่มีอาการรุนแรง เป็นการช่วยลดภาวะตึงตัวของท้อง และลดอาการคลื่นไส้อาเจียนไปในตัวด้วย
นอกจากนี้ยังมีการรักษาตามดุลยพินิจของแพทย์ ขึ้นอยู่กับสภาพร่างกายของผู้ป่วยและระดับความรุนแรงที่เกิดขึ้น
ในรายที่อาการดีขึ้นแล้ว จะต้องดูแลตัวเองด้วยการหลีกเลี่ยงการดื่มแอลกอฮอล์ กินยาตามแพทย์สั่ง
เข้ารับการตรวจร่างกายตามนัดหมาย และหมั่นสังเกตความผิดปกติของตัวเอง เพราะโรคตับอ่อนอักเสบ สามารถกลับมาเป็นได้อีกแบบไม่ได้บอกกล่าวล่วงหน้า