ลักษณะของ ตุ่มใสที่มือ บางคนก็เป็นตุ่มน้ําใสๆ ที่นิ้วมือ เป็นอาการแพ้จนทำให้ผิวหนังระคายเคือง บางครั้งก็ไม่สามารถหาสาเหตุที่แน่ชัดได้
เชื่อว่าสาวๆ ส่วนใหญ่จะต้องเคยประสบอาการในรูปแบบนี้กันมาบ้าง แต่ก็พบได้ไม่มาก และไม่ค่อยมีคนให้ความสนใจกับมันเท่าใดนัก
เนื่องจาก ไม่ค่อยปรากฏอาการเจ็บปวดหรือรุนแรงหนักขึ้น นอกจากอาการคัน และปริมาณของตุ่มใสที่เพิ่มมากขึ้น เมื่อตุ่มใสแตกตัว ส่วนที่เป็นเนื้อเยื่อหุ้มก็จะลอกออก
จากนั้นก็จะกลับมาหายเป็นปกติได้เอง แต่ทราบหรือไม่ว่าด้วยการที่มันเป็นภาวะที่เกี่ยวเนื่องกับ อาการแพ้ของผิวหนัง
ซึ่งอาจเป็นต้นตอของอาการที่เรียกว่า Dyshidrotic Eczema พบได้ทั่วไปตามฝ่ามือ ฝ่าเท้า และตามด้านข้างนิ้ว
มีปริมาณมากน้อยแตกต่างกัน รวมตัวกันเป็นกระจุดคล้ายผื่น มีความหนาและแข็ง ร่วมกับอาการคัน
มักพบได้ในช่วงวัยทำงาน หากรุนแรงมากๆ จะส่งผลทำให้เกิดอาการคันอย่างหนัก
เมื่อแตกตัวจะมีน้ำเหลืองไหลออกมา เสี่ยงต่อการอักเสบเมื่อแผลเปิด ลุกลามด้วยการติดเชื้อโรคอื่นๆ ตามมาได้
ตุ่มใสที่มือ อาการของตุ่มน้ําที่นิ้วมือ
สำหรับอาการที่เกิดขึ้นของตุ่มใสๆ ที่มือ หากเป็นคนที่มีปัญหาภูมิแพ้ผิวหนังเรื้อรังอยู่แล้ว อาการที่เกิดขึ้นจะเป็นๆ หายๆ
หรือบางรายอาจเป็นสัญญาณเตือนของร่างกายที่กำลังบอกถึงความผิดปกติด้านใน ซึ่งอาจเกี่ยวเนื่องกับสารพิษ
ที่สะสมอยู่ โดยเริ่มต้นของผื่น จะปรากฏให้เห็นตั้งแต่ 3 เม็ดขึ้นไป ขนาดประมาณ 3-4 มิลลิเมตร
สามารถปรากฏตามนิ้วมือได้พร้อมกันทั้งสองข้าง ตุ่มเหล่านี้จะอยู่ภายในชั้นหนังกำพร้า รูปร่างคล้ายกับเม็ดสาคู
อาการที่ตามมาอาจรู้สึกว่าบริเวณมือแฉะ มีเหงื่อออกตามซอกมืออยู่ตลอดเวลา เมื่ออาการกำเริบขึ้น
จะลุกลามเป็นผื่นอย่างรวดเร็ว รู้สึกคันอย่างรุนแรง ยิ่งเกามากๆ ก็ยิ่งเป็นตัวกระตุ้นทำให้คันหนักขึ้น
จะคันมากเป็นพิเศษในตอนกลางคืน ทำให้ไม่สามารถนอนหลับได้สนิท ในช่วงเวลากลางวัน จะรู้สึกหงุดหงิด
ทำงานไม่ได้ ขาดสมาธิ เพราะรู้สึกรำคาญกับความคัน โดยตุ่มน้ำจะคงอยู่หลายสัปดาห์ จากนั้นจะยุบตัวและหายไปได้เอง
หรือแตกออก กลายเป็นแผลตกสะเก็ด บางรายมีเลือดออกด้านใน กลายเป็นแผลสด
ตามมาด้วยการติดเชื้อแบคทีเรียแทรกซ้อน สามารถทำให้เกิดการลุกลามของเชื้อโรคเข้าสู่กระแสเลือดได้
โดยเฉพาะในกลุ่มผู้ป่วยที่เป็นโรคเบาหวาน อย่างไรก็ตาม สาเหตุของโรคยังไม่ทราบเป็นที่แน่ชัดว่า เกิดขึ้นจากอะไร
แต่ตัวกระตุ้นที่มักทำให้อาการกลับมาเป็นได้อีก มีปัจจัยมาจากความเครียด แพ้สารเคมีอย่างน้ำยาล้างจาน ผงซักฟอก อากาศ ไปจนถึงอาหารต่างๆ
การดูแลรักษา ตุ่มใสที่มือ
แม้ลักษณะของโรคจะดูเหมือนกับโรคติดต่อ ซึ่งถือว่าเป็นความเข้าใจผิด ผู้ป่วยสามารถใช้ชีวิตร่วมกับคนอื่นในสังคมได้
การรักษาพื้นฐานคือการดูแลตัวเองของผู้ป่วย อาจเลือกใช้เป็นยาทาตามแพทย์สั่งชนิดสเตียรอยด์ที่มีส่วนช่วยลดการอักเสบ และทานยาแก้คันเพื่อช่วยบรรเทาอาการ
ทั้งนี้หากรู้สึกว่าอาการไม่ดีขึ้นก็ควรเข้ารับการตรวจจากแพทย์ เพราะบางครั้งอาการที่เกิดขึ้นอาจจะไม่ใช่เพียงแค่โรคผิวหนังธรรมดา
เนื่องจากมีอาการใกล้เคียงกับโรคหิด โรคเชื้อรา กลาก เป็นต้น โดยแพทย์จะเป็นผู้แยกโรคเหล่านี้
เพื่อหาต้นตอที่แน่ชัดว่า ตุ่มใสที่ปรากฏเกิดขึ้นจากสาเหตุใด เนื่องจาก อาการคันจากตุ่มใสๆ ที่มือ จะทำให้เกิดความทรมานมาก
สาวๆ ที่มีอาการเป็นๆ หายๆ จึงควรเข้ารับการรักษาอย่างถูกวิธี ไม่ควรเลือกซื้อยามาทานเอง และอย่าลืมดูแลสุขภาพตัวเอง
หมั่นออกกำลังกาย ทานอาหารที่มีประโยชน์และหลีกเลี่ยงความเครียด จากนั้นให้ดูแลตัวเองตามคำแนะนำของแพทย์ไปพร้อมๆ กันด้วยค่ะ