ปวดฟันคุด ทำไงให้หาย? ก่อนอื่นมาทราบกันก่อนว่า ฟันคุด (Tooth Impaction) นั้นเป็นฟันที่ดูเหมือนจะเป็นธรรมชาติของการงอกของฟันตามปกติ
แต่ที่ผิดปกตินั้น มาจากวิวัฒนาการของเราเองที่เริ่มเปลี่ยนไป จากมนุษย์ยุคหินที่มีกรามแข็งแรง ใช้ฟันในการบดเคี้ยว ฉีก และทึ้งอาหาร
การพัฒนาที่นำเราไปสู่ชีวิตที่อาหารการกินหาได้ง่ายขึ้น แถมยังเป็นอาหารแบบกินง่าย มีการปรุงอาหารด้วยตัวเอง
ทำให้ฟันซี่กรามมีขนาดเล็กลง แต่กระนั้นจำนวนฟันก็ยังเหลืออยู่เท่าเดิม
ดังนั้นฟันที่ขึ้นมาด้านในสุดจะไม่มีพื้นที่ให้ฟันขึ้น ไม่สามารถโผล่ขึ้นมาพ้นเหงือกในช่องปากได้
ซึ่งอาจจะซ่อนตัวอยู่ใต้เหงือก หรือโผล่ขึ้นมาแบบลับๆ ล่อๆ ไม่เต็มซี่ และด้วยการถูกบีบจากฟันข้างเคียง ยังทำให้ฟันคุดขึ้นในลักษณะเฉียงหรือล้มได้
แม้ฟันคุดตามปกติจะไม่เป็นอันตราย แต่ด้วยลักษณะของการงอกขึ้นมา วันหนึ่งสาวๆ อาจจะรู้สึก ปวดฟันคุด เหงือกบวม
จนกระทั่งนอนไม่หลับ แบบนี้เห็นทีฟันคุดคงไม่ใช่แค่เรื่องเล็กๆ เมื่อพบก็ต้องสังเกต หมั่นดูแล
ทางที่ดีคือกำจัดออกไป ก่อนจะสร้างความรำคาญให้สาวๆ มากไปกว่านี้จะดีกว่าค่ะ
( อ่านเพิ่มเติม : ฟันคุดคืออะไร? ไม่ผ่าได้ไหม เกิดอาการปวดฟันคุดทําไงดี !!)
ปวดฟันคุด ทำไงให้หาย มีวิธีรักษาอย่างไรได้บ้าง ?
เนื่องจากสาเหตุความผิดปกติของฟันคุด ซึ่งจะเกิดขึ้นจากการที่ฟันกรามด้านในสุดเกิดการเอียงตัว งอกออกมาไม่ตรงตำแหน่ง
ทำให้เกิดการเบียดตัวกันกับฟันซี่ข้างเคียง ตามมาด้วยอาการเจ็บปวด ฟันคุดที่เกิดขึ้นยังเสี่ยงต่อการเกิดฟันผุได้ง่าย
แม้จะแปรงฟันอย่างถูกวิธีแล้วก็ตาม เป็นเพราะว่าด้านในสุดของกรามทำความสะอาดได้ยาก
เมื่อรับประทานอาหารเข้าไป ทำให้เศษอาหารตกค้างตลอดทั้งวัน เป็นแหล่งสะสมของแบคทีเรีย เหงือกบวม อักเสบ และกลายเป็นหนองตามมา
เมื่อ อาการปวดฟันคุด เป็นอาการเบื้องต้นที่ทำให้เรารู้ว่าเริ่มมีปัญหาที่ต้องทำการแก้ไขก่อนจะสายเกินแก้
ฟันคุดที่ปวด อาจจะมาพร้อมกับเหงือกบวมและอักเสบ เป็นหนอง มีกลิ่นปากที่ไม่พึงประสงค์
การอักเสบจนติดเชื้อ สามารถลุกลามต่อไปยังต่อมน้ำเหลืองข้างเคียง อ้าปาก เคี้ยวอาหารลำบาก ใบหน้าผิดรูป มีอาการแทรกซ้อนอื่นๆ
เป็นไข้ หนาวสั่น และหากรุนแรง เหงือกที่บวมจะถูกดันออกมา มีหนองไหลเยิ้มตลอดเวลา กลายเป็นปริทันต์อักเสบในที่สุด
เมื่อเกิดอาการปวด ทันตแพทย์จะใช้ วิธีถอนฟันคุด ด้วยการ “ผ่าตัด” เป็นส่วนใหญ่ เพื่อกำจัดเอาฟันซี่ดังกล่าวออกไปเลย
จะได้กำจัดปัญหาแบบถาวร แต่ก็ใช่ว่าทุกคนจะได้รับการผ่าตัด ทันตแพทย์จะมีการวินิจฉัยอาการคร่าวๆ
โดยที่การผ่าตัดฟันคุดจะเกิดขึ้นก็เพื่อหยุดการลุกลามของโรค ซึ่งปัญหาที่มักพบจากฟันคุด เป็นเหตุให้ต้องทำการกำจัดทิ้ง ได้แก่
1. ฟันคุดมีลักษณะที่เสี่ยงจะทำให้เหงือกบวมและอักเสบ การผ่าตัดจะทำเพื่อป้องกันการอักเสบของเหงือกบางส่วนของฟันคุดที่ขึ้นมา
มักจะกลายเป็นแหล่งเก็บเศษอาหาร หมักหมมด้วยเชื้อแบคทีเรีย และทำความสะอาดได้ยาก จนทำให้เหงือกอักเสบและเป็นหนอง กรณีเช่นนี้ หากทิ้งไว้จะทำให้อาการปวดรุนแรงมากขึ้นเรื่อยๆ
การอักเสบลุกลาม เชื้อโรคแพร่กระจายไปยังแหล่งอื่นของร่างกาย จนทำให้การรักษายุ่งยาก และมีอันตรายมากขึ้น
2. เพื่อป้องกันไม่ให้เกิดการละลายตัวของกระดูก เนื่องจากฟันคุดที่พยายามดันตัวเองขึ้นมาด้านบนกระดูก ที่อยู่บริเวณรากฟันข้างเคียงหรือในตำแหน่งที่ฟันคุดขึ้น จะถูกทำลายได้ง่าย
3. ลดปัญหาฟันผุที่บริเวณซอกฟัน ซึ่งเข้าถึงได้ยาก ฟันผุมักจะเกิดขึ้นที่ตำแหน่งฟันคุดกับฟันซี่ข้างเคียงที่ติดกัน ซอกมีความแคบและเล็กมากจนขนแปรงไม่สามารถเข้าถึงได้ เป็นการป้องกันไม่ให้ฟันผุพร้อมๆ กันทั้ง 2 ซี่ นั่นเอง
4. ช่วยป้องกันไม่ให้เกิดเนื้องอกหรือถุงน้ำ เนื่องจากฟันคุดที่ถูกทิ้งเอาไว้นานจะค่อยๆ กลายเป็นถุงน้ำบริเวณเหงือก และสามารถแปรสภาพไปเป็นเนื้องอก ทำลายกระดูกและฟันในช่องปากจนเสียหาย
การเตรียมตัวก่อน ผ่าตัดแก้ปวดฟันคุด
แจ้งแพทย์ก่อนหากมีโรคประจำตัว กรณีที่มีโรคประจำตัวอยู่ การเตรียมตัวให้พร้อมก่อนผ่าตัด สิ่งนี้ถือเป็นหัวใจสำคัญ
ก่อนเริ่มการผ่าตัดจะต้องปรึกษาแพทย์ที่ทำการรักษาโรคประจำตัวก่อน เตรียมร่างกายตัวเองให้พร้อม ให้มั่นใจว่าอาการของโรคจะไม่กำเริบขึ้นมา
พักผ่อนให้เพียงพอ เป็นการเตรียมตัวก่อนผ่าตัด แม้จะเป็นเพียงแค่ฟันคุดธรรมดาแต่หากบางคนที่มีอาการปวดฟันคุดมากๆ มักจะมีการติดเชื้อตามมา ทำให้การผ่าตัดซับซ้อนมากขึ้น
แม้จะไม่ใช่เรื่องใหญ่ ผู้ป่วยก็จำเป็นต้องนอนหลับพักผ่อนให้เพียงพอ รับประทานอาหารก่อนเข้าผ่าตัดเพียงแค่พออิ่ม
ทำความสะอาดช่องปาก ก่อนเริ่มผ่าตัด การทำความสะอาดช่องปากด้วยการแปรงฟันและดูแลอนามัยภายในช่องปากให้สะอาดก่อน และไม่รับประทานหรือดื่มเครื่องดื่มอะไรอีกก่อนการผ่าตัด
หลีกเลี่ยงเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ หลีกเลี่ยงการดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ทุกชนิดก่อนผ่าตัด รวมถึงการสูบบุหรี่ด้วย เพราะจะทำให้เกิดความเสี่ยงเลือดไหลไม่หยุด
ระยะเวลาในการผ่าฟันคุด ตามปกติจะใช้ระยะเวลาราว 10-30 นาที ต่อซี่ แต่บางรายอาจจะใช้เวลานานกว่านั้น
อย่างไรก็ตามในขั้นตอนของการผ่าตัด ฟันคุดบางคนจะอยู่ลึกและไกล มีการล้มตัวที่ยากกว่าปกติ
หรือบางครั้งไม่ได้รับความร่วมมือจากผู้ป่วย แพทย์สามารถพิจารณาใช้วิธีดมยาสลบเพื่อช่วยให้การผ่าตัดง่ายขึ้นได้
ปัญหาจากฟันคู่สบ ในการผ่าตัดฟันคุด ฟันคู่สบมักจะทำให้เกิดปัญหาทำให้เกิดการอักเสบตามมาได้
เนื่องจากฟันจะกัดกระแทกกันกับแผลที่ยังไม่หายดี และเป็นฟันคู่สบตลอดเวลา
ดังนั้นหากแพทย์เจอฟันคู่สบ มักจะถูกกำจัดออกไปด้วยเพื่อตัดปัญหา ด้วยการถอนเอาฟันคู่สบออกไปด้วยเลยในระหว่างผ่าฟันคุด
ซึ่งจะช่วยป้องกันไม่ให้แผลผ่าตัดเกิดการอักเสบและติดเชื้อตามมา
การดูแลตัวเองหลังผ่าฟันคุด
การดูแลตัวเองหลังผ่าตัด จะช่วยลดภาวะแทรกซ้อนในผู้ป่วย ช่วยให้แผลหายไวขึ้น
หลังผ่าเสร็จ แพทย์จะให้กัดผ้าก๊อซเอาไว้แน่นๆ ประมาณ 2-3 ชั่วโมง เพื่อช่วยให้เลือดหยุดไหล
หากมีเลือดและน้ำลายออกมาในปาก จะต้องกลืนทั้งหมดลงไป ห้ามอมทิ้งไว้ เพราะจะทำให้เกิดอาการคลื่นไส้ แล้วทำให้ผ้าก๊อซคลายตัวตามมา เลือดจะหยุดไหลช้า
ห้ามใช้วิธีบ้วนเลือดและน้ำลายออกมา เนื่องจากจะยิ่งทำให้เลือดออกมาก ในรายที่มีเลือดออกมาก ไม่ยอมหยุด
ให้เปลี่ยนผ้าก็อซใหม่วางไว้บนแผลแล้วกัดให้แน่น ใช้น้ำแข็งประคบบริเวณแก้มบ่อยๆ จะช่วยให้เลือดหยุดไหลได้ง่าย และยังลดอาการบวมของแผลอีกทางหนึ่งด้วย
Photo Credit : purenzdental.com
อาการปวดฟันคุด เหงือบวม เป็นหนอง เป็นอาการที่ไม่ควรปล่อยทิ้งไว้ เพราะอาการดังกล่าว เปรียบเสมือนสัญญาณเตือนที่มักมาจากภาวะอักเสบ เป็นหนอง
หรือฟันผุระหว่างฟันสองซี่จนลึกเข้าไปถึงด้านในรากฟัน ทางที่ดีควรทำความสะอาดช่องปากให้ดี
พบทันตแพทย์อย่างสม่ำเสมอ แต่หากต้องการจบปัญหาการปวดฟันคุดในอนาคต การผ่าถอนฟัน ถือว่าเป็นทางออกที่ดีที่สุด