วัยทอง เป็นภาวะหนึ่งสำหรับคนที่มีอายุตั้งแต่ 40 ปีขึ้นไป บางคนเข้าสู่วัยทองเร็วหรือช้าขึ้นอยู่ที่สภาวะฮอร์โมนในร่างกายที่เปลี่ยนแปลงไปด้วย
อย่างไรก็ตาม เมื่อเข้าสู่วัยทองแล้ว ก็มักจะมี ปัญหาสุขภาพวัยทอง ต่างๆ อันเกิดจากภาวะวัยทอง เราไปดูกันดีกว่าว่า ปัญหาวัยทอง มีอะไรบ้าง?
วัยทองคือ อะไร?
วัยทอง หรือ วัยหมดระดู หมายถึง สตรีที่อยู่ในช่วงที่รังไข่หยุดทำงานลงแล้ว
โดยสัญญาณเข้าสู่วัยดังกล่าวที่สามารถสังเกตได้คือ จะต้องไม่มีประจำเดือนติดต่อกันมาเป็นระยะ 1 ปี
ผลจากการสำรวจประชากรผู้หญิงในประเทศไทย พบว่าจะเข้าสู่วัยทองตามธรรมชาติเอง
ในช่วงอายุประมาณ 48-50 ปี แต่มีบางรายที่อาจจะเข้าสู่วัยทองไวกว่าปกติ โดยมีสาเหตุอื่นเป็นตัวกระตุ้น
เช่น มีการผ่าตัดเอารังไข่ออกทั้งสองข้าง เคยผ่านการฉายแสงหรือรับยาเคมีบำบัด เป็นต้น
เมื่อเข้าสู่วัยทองทำให้เกิดภาวะที่มีการลดลงของฮอร์โมนเอสโตรเจนที่ถูกสร้างจากรังไข่ ซึ่งส่งผลให้เกิดการเปลี่ยนแปลงของระบบของร่างกายเกือบทั้งหมด
ไม่ว่าจะเป็นระบบหลอดเลือด อวัยวะสืบพันธุ์ กระดูกและกล้ามเนื้อ เต้านม ระบบทางเดินปัสสาวะ ผิวหนังและเส้นผม
การกระจายตัวของไขมันในร่างกาย รวมไปจนถึงความเปลี่ยนแปลงทางอารมณ์ ความจำ การควบคุมอุณหภูมิในร่างกาย
ปัญหาสุขภาพของวัยทอง มีอะไรบ้าง?
การเข้าสู่วัยทอง จะทำให้ร่างกายเกิดการเปลี่ยนแปลงขึ้นอย่างมากมาย ส่งผลทำให้เกิด อาการวัยทอง ต่างๆ
เนื่องจากระบบฮอร์โมนเอสโตรเจนลดลง ทำให้หลายๆ ท่านเลือกไปพบแพทย์เพื่อปรึกษาและรับคำแนะนำ โดยปัญหาที่พบส่วนใหญ่ได้แก่
ผิวเหี่ยว ผมร่วง
เป็นผลมาจากเกิดการเปลี่ยนแปลงของระบบภายในร่างกาย ส่วนใหญ่มักจะพบแพทย์เพื่อปรึกษา
ว่าสามารถที่จะใช้ฮอร์โมนช่วยในการรักษาได้หรือไม่ โดยแพทย์จะต้องพิจารณาจากข้อบ่งชี้ทั้ง 4 ข้อ คือ
1.ช่องคลอดแห้ง มีอาการคัน เจ็บ ส่งผลกระทบต่อการดำเนินชีวิต
2.มีอาการร้อนวูบวาบในระดับที่รบกวนกับการใช้ชีวิตประจำวัน
3.เข้าสู่ภาวะหมดประจำเดือนก่อนอายุ 40-45 ปี เพราะจะมีความเสี่ยงที่จะเกิดโรคกระดูกพรุนกับโรคหัวใจมากกว่าคนปกติ
4.ใช้เพื่อป้องกันการเกิดโรคกระดูกพรุน
ซึ่งผิวเหี่ยว ผมร่วงไม่ได้อยู่ในข้อบ่งชี้ทั้ง 4 ข้อ แพทย์จะไม่แนะนำให้ใช้ฮอร์โมนในการช่วยรักษา
เนื่องจากคำนึงถึงประโยชน์และความเสี่ยงแล้วว่าไม่สมควร เว้นแต่ว่าจะมี 1 ใน 4 ข้อบ่งชี้เป็นสาเหตุร่วมด้วย
อ้วนลงพุงง่ายทั้งที่กินในปริมาณเท่าเดิม
โดยทั่วไปจะสังเกตเห็นได้ว่า ผู้ชายจะมีภาวะอ้วนลงพุง เนื่องจากไขมันส่วนเกินที่สะสมไว้จะถูกเก็บไว้ที่บริเวณเนื้อเยื่อของช่องท้องด้านใน
ซึ่งไขมันเหล่านี้เป็นไขมันไม่ดี และมีปัจจัยเสี่ยงที่จะทำให้เกิดโรคต่างๆ ตามมา เช่น โรคไขมันในเลือดสูงผิดปกติ โรคเบาหวาน
โรคหัวใจและโรคระบบหลอดเลือด ต่างกันกับผู้หญิงในวัยเจริญพันธุ์ ไขมันส่วนเกินจะไปถูกจัดเก็บที่บริเวณสะโพก หน้าอก และต้นขา
แต่เมื่อเข้าสู่วัยทองจะมีการเปลี่ยนแปลงและลดระดับของฮอร์โมนเพศหญิง ส่งผลให้เกิดการเปลี่ยนแปลงของการเก็บไขมัน
โดยไขมันส่วนเกินจะถูกย้ายไปเก็บไว้ที่บริเวณช่องท้องด้านในเหมือนกับผู้ชาย จึงพบว่าผู้หญิงที่มีอายุน้อยมีโอกาสน้อยกว่าผู้ชาย
ที่จะเป็นโรคไม่ติดต่อเรื้อรัง แต่เมื่ออายุมากขึ้นโอกาสที่จะเป็นโรคเหล่านั้นเท่ากับผู้ชาย เพราะฉะนั้นผู้หญิงสูงวัยจึงควรเลือกรับประทานอาหารอย่างระมัดระวัง
โดยควรเลือกทานในสิ่งที่มีประโยชน์ และทานให้ครบถ้วนทั้ง 5 หมู่ เพื่อลดความเสี่ยงที่เกิดโรคอื่นๆ ตามมา
มีอาการร้อนวูบวาบในร่างกายรบกวนการใช้ชีวิต
จากการสำรวจพบว่ามีผู้หญิงไทยเพียง 20-30% เท่านั้นที่มาพบแพทย์ เนื่องจากมีอาการร้อนวูบวาบรบกวนการใช้ชีวิต
ต่างจากผู้หญิงชาวตะวันตกที่มีอาการร้อนวูบวาบถึง 70-80% ซึ่งอาการร้อนวูบวาบที่เกิดขึ้นภายในร่างกายของผู้หญิงวัยทอง สามารถรักษาได้ด้วย 2 วิธีดังต่อไปนี้
1.รักษาแบบใช้ยา ซึ่งยาที่ใช้ก็ได้แก่ ยาฮอร์โมน หรือยาที่ไม่ใช่ฮอร์โมนบางชนิด เช่น ยาต้านโรคซึมเศร้าบางชนิด ซึ่งสามารถช่วยรักษาอาการร้อนวูบวาบได้
2.รักษาแบบไม่ใช้ยา คือใช้วิธีการบำบัดตัวเอง ซึ่งได้แก่ การทำจิตใจให้สบาย ไม่เครียด การนั่งสมาธิในพื้นที่ที่มีอากาศถ่ายเทสะดวก
รับประทานของเย็นจำพวกน้ำหวาน ไอศกรีม หลีกเลี่ยงการดื่มเครื่องดื่มที่มีกาเฟอีนและอาหารรสชาติเผ็ด เป็นต้น
ซึ่งการรักษาด้วยวิธีนี้สามารถทำได้เองที่บ้าน แต่หากมีอาการที่รุนแรงควรจะปรึกษาแพทย์จะดีที่สุด
มีความเสี่ยงที่จะเป็นโรคกระดูกพรุนได้มากกว่าคนทั่วไป
โดยปกติแล้ว กระดูกจะมีการสร้างและสลายอยู่ตลอดเวลา แต่เมื่อเข้าสู่วัยทองฮอร์โมนเอสโตรเจนที่ลดลง
และหมดไปส่งผลให้กระดูกสลายตัวมากยิ่งขึ้น จึงพบปัญหาโรคกระดูกบางและกระดูกพรุนในผู้หญิงวัยทองเป็นจำนวนมาก
โดยกระดูกส่วนที่พบปัญหาบ่อยคือ บริเวณกระดูกสันหลังและบริเวณกระดูกสะโพก ซึ่งมีความเสี่ยงที่เกิดปัญหากระดูกหักได้ง่ายกว่าคนปกติ
แพทย์จึงค่อนข้างกังวลในเรื่องนี้ จึงหาวิธีป้องไม่ให้กระดูกหัก โดยสามารถทำได้ดังนี้
1.ลดความเสี่ยงที่จะเกิดการพลัดตกหกล้ม โดยให้จัดการกับสภาพแวดล้อมที่เป็นอยู่ให้เป็นระเบียบ เดินสะดวก แสงสว่างทั่วถึง ไม่วางของเกะกะ พื้นห้องน้ำควรปูยางกันลื่น
2.กินยารักษาโรคกระดูกพรุน ซึ่งไม่สามารถที่ป้องกันกระดูกหักได้โดยตรง แต่เป็นยาที่ช่วยลดความเสี่ยงที่กระดูกหักได้ถึง40-70%เลยทีเดียว
3.หลีกเลี่ยงการใช้ยาที่มีผลต่อจิตประสาท เนื่องจากจะส่งผลต่อการควบคุมร่างกาย
อย่างไรก็ตาม เมื่อพบว่าตนเองเข้าสู่ภาวะวัยทอง แล้ว ควรหันมาใส่ใจและดูแลสุขภาพกันให้มาขึ้น โดยทานอาหารที่มีประโยชน์ ให้ครบทั้ง 5 หมู่
ออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอ แต่ไม่ควรหักโหมจนเกินไป ทำจิตใจให้สบาย ไม่เครียด เนื่องจากระดับฮอร์โมนในร่างกายลดลง
ซึ่งส่งผลต่อระบบร่างกายของเรา เพราะฉะนั้นเราจึงควรดูแลตนเองให้แข็งแรงอยู่เสมอ เพื่อหลีกเลี่ยงความเสี่ยงที่จะเกิดโรคต่างๆ ที่จะตามมาในอนาคตได้