การขับรถ เป็นอีกหนึ่งสิ่งที่เป็นปัญหาของคนที่มีอายุมากขึ้น เพราะในปัจจุบันผู้สูงอายุส่วนใหญ่นิยมพึ่งพาตัวเองเป็นหลัก
ดังนั้น การขับรถจึงเป็นอีกหนึ่งกิจกรรมที่ผู้สูงอายุส่วนใหญ่มักทำอยู่ตลอดเวลา เพราะไม่ต้องพึ่งพาคนอื่นเวลาอยากไปไหนมาไหน
แต่ด้วยความที่อายุมากขึ้น การมองเห็นและทักษะไหวพริบต่างๆ ที่เคยมีอาจจะลดน้อยลง ซึ่งเสี่ยงต่อการเกิดอุบัติเหตุ
หรือเกิดสิ่งที่ไม่คาดฝันขึ้นในระหว่างขับรถได้ ด้วยเหตุนี้ เราจึงควรศึกษาเรียนรู้ปัญหาที่มักจะเกิดขึ้นในผู้สูงอายุที่ขับรถ
ทั้งตัวผู้สูงอายุเองและผู้ดูแล ตลอดจนสมาชิกคนอื่นๆ ในบ้าน หากรู้ถึงปัญหาจะได้รับมือทันนั่นเอง
กลุ่มผู้สูงอายุที่มีความเสี่ยงต่อการเกิดปัญหาระหว่างขับรถ มีกลุ่มใดบ้าง?
กลุ่มอายุมาก : สำหรับผู้สูงอายุที่มีอายุมากกว่า 70 ปีขึ้นไป เนื่องจากเป็นกลุ่มวัยที่ระบบต่างๆ ภายในร่างกาย
สามารถเสื่อมลงได้เร็วมากที่สุด ดังนั้น การตอบสนองต่อเหตุการณ์ต่างๆ ที่เกิดขึ้นจะเป็นอันตรายต่อผู้ขับขี่มากที่สุด
เพศ : เพศเป็นอีกหนึ่งปัจจัยสร้างความเสี่ยงให้กับผู้สูงอายุได้มาก ดังนั้น ผู้สูงอายุเพศชายจะพบความเสี่ยงมากกว่าในการขับรถ
ปัญหาสุขภาพ : สำหรับผู้สูงอายุที่มีปัญหาสุขภาพจะมีความเสี่ยงในการเกิดอันตรายในการขับรถมากที่สุด
โดยเฉพาะผู้สูงอายุที่มีปัญหาในเรื่องของสุขภาพสายตา เพราะจะบดบังวิสัยทัศน์ในการขับรถ
การใช้ยา : การใช้ยามีส่วนส่งผลต่อการทำให้เกิดปัญหาในการขับรถ เพราะผู้สูงอายุส่วนใหญ่แพทย์จะมีการจ่ายยาแก้เวียนศีรษะ
ยานอนหลับ ยาคลายกล้ามเนื้อ ซึ่งจะเป็นยาที่ส่งผลต่อระบบภายในร่างกายไม่สามารถทำงานได้เป็นปกติ
ปัญหาสุขภาพที่ส่งผลต่อการขับรถมีอะไรบ้าง?
ผู้สูงอายุที่จำเป็นต้องขับรถ ปัญหาสุขภาพเป็นสิ่งสำคัญอย่างหนึ่งต้องใส่ใจระมัดระวังมากเป็นพิเศษ เราไปดูกันว่าปัญหาสุขภาพอะไรบ้างที่ควรรู้ จะได้รับมือระมัดระวังได้อย่างรู้เท่าทันการณ์
1.ปัญหากระดูกและข้อต่อ
ปัญหากระดูกและข้อต่อเป็นปัญหาพื้นฐานสุขภาพผู้สูงอายุอย่างมากเลยทีเดียว เพราะสามารถเกิดปัญหาขึ้นได้ตลอดเวลา
ซึ่งปัญหาที่มักพบก็คือ โรคข้อเสื่อม เนื่องจากโรคนี้จะทำให้เกิดการอักเสบและปวดได้อยู่ตลอดเวลา
อาจทำให้ไม่สามารถเหยียบเบรคหรือเหยียบคันเร่งได้ไม่เต็มที่ หรือบางครั้งอาจจะปวดบริเวณต้นคอทำให้ไม่สามารถหันมองได้อย่างเต็มที่
โดยจะมีผลในเรื่องของการจราจร นอกจากนี้ ยังอาจจะมีอาการปวดกระดูกสันหลังทำให้ไม่สามารถนั่งขับรถเป็นเวลานานได้
2.ปัญหาสายตา
ปัญหาสายตาเป็นอีกหนึ่งปัญหาที่สามารถส่งผลต่อการขับรถของผู้สูงอายุได้เป็นอย่างมาก เนื่องจากสายตาจะเสื่อมลงไปตามอายุ
และยิ่งหากมีการใช้งานสายตามากก็ย่อมทำให้สายตาเสื่อมได้อย่างรวดเร็ว ซึ่งปัญหาสายตาที่มักพบในผู้สูงอายุคือ โรคต้อหิน ต้อกระจก
หรือแม้แต่กระทั่งจอประสาทตาเสื่อม ดังนั้น หากขับรถในเวลากลางคืนก็อาจจะทำให้ไม่สามารถมองเห็นได้อย่างชัดเจน
หรือบางครั้งก็อาจทำให้ไม่สามารถมองเห็นสัญญาณไฟได้อย่างชัดเจนเนื่องจากเป็นโรคต้อหิน
3.ปัญหาการได้ยิน
ปัญหาการได้ยินสามารถส่งผลกระทบในเรื่องของการขับรถได้ เพราะในขณะขับรถมักจะมีการบีบแตรหรือเสียงไซเรนที่มาจากรถคันอื่น
ซึ่งจะส่งผลต่อการขับรถได้ยากมากยิ่งขึ้น อาจทำให้ไม่สามารถหลบรถคันเหล่านั้นได้เนื่องจากไม่ได้ยินเสียง
4.โรคพาร์กินสัน
โรคพาร์กินสันเป็นอีกหนึ่งโรคที่ส่งผลกระทบต่อผู้สูงอายุ เนื่องจากจะทำให้มีอาการสั่นอยู่ตลอดเวลา บางคนอาจเป็นเพียงแค่บริเวณมือ เท้า
หรือบางครั้งอาจจะเป็นทั้งตัว ดังนั้น ก็จะทำให้เกิดอาการสั่น จะทำให้ไม่สามารถบังคับพวงมาลัยรถได้หรืออาจจะเหยียบเบรคไม่ได้
5.โรคลมชัก
โรคลมชักมักจะเกิดขึ้นได้ในผู้สูงอายุอยู่บ่อยครั้ง เมื่อเริ่มมีอาการก็จะทำให้เกิดอาการชัก เกร็ง รวมถึงกระตุกโดยที่ไม่สามารถควบคุมตัวเองได้
ดังนั้น จะทำให้ไม่สามารถบังคับรถได้ หากผู้สูงอายุขับรถแล้วเกิดอาการของโรคลมชักขึ้นมากะทันหัน จึงอาจทำให้เกิดอุบัติเหตุในขณะขับรถได้
6.โรคสมองเสื่อม
สำหรับโรคสมองเสื่อมในระยะเริ่มต้นผู้สูงอายุบางรายอาจจะคิดว่ายังสามารถขับรถได้ตามปกติ แต่ในความเป็นจริงแล้ว
ถึงแม้ว่าจะเป็นโรคสมองเสื่อมในระยะเริ่มต้นก็ควรหลีกเลี่ยงการขับรถ เนื่องจากอาจจะมีอาการหลงลืม และไม่สามารถจดจำเส้นทางได้ดี ดังนั้น อาจจะเป็นอันตรายในการขับรถได้
7.ภาวะการตอบสนองช้า
ภาวการณ์ตอบสนองช้า สามารถเกิดขึ้นได้กับผู้สูงอายุแทบทุกราย เนื่องจากระบบประสาทในร่างกายมีการเสื่อมสภาพลงจนไม่สามารถทำงานได้อย่างมีประสิทธิภาพเหมือนเดิม
ดังนั้น จึงทำให้ระบบการรับรู้และการตอบสนองกลับไปช้าลงเช่นเดียวกัน ทำให้สามารถเกิดอุบัติเหตุในขณะขับรถได้นั่นเอง
วิธีรับมือแก้ปัญหาเพื่อให้ผู้สูงอายุขับรถได้อย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้น
สำหรับวิธีแก้ปัญหาเพื่อช่วยให้ผู้สูงอายุสามารถขับรถได้ตามปกติ สามารถทำได้หลายวิธีดังนี้
เตรียมความพร้อมพื้นฐาน : การเตรียมความพร้อมให้กับผู้สูงอายุที่ต้องการขับรถเป็นเรื่องสำคัญ
โดยเฉพาะคนในครอบครัวต้องใส่ใจในเรื่องนี้มากเป็นพิเศษ คือ การเตรียมความพร้อมเรื่องของทักษะในการขับรถ แต่เท่านั้นยังไม่พอ
เพราะจะต้องให้ผู้สูงอายุได้เรียนรู้เรื่องของเส้นทางและช่วงเวลาการจราจร เพราะบางช่วงเวลาอาจรถติด ซึ่งจะส่งผลต่อความเครียดของผู้สูงอายุได้ง่าย
เตรียมความพร้อมทางร่างกาย : เพื่อเป็นการป้องกันไม่ให้เกิดอุบัติเหตุในขณะขับรถ ผู้สูงอายุควรหมั่นตรวจเช็คร่างกายอยู่เสมอ
หรืออาจจะต้องไปตรวจสุขภาพตามที่แพทย์กำหนด เพื่อหาข้อบกพร่องของระบบต่างๆ ในร่างกาย เพราะหากพบความผิดปกติ
ก็จะได้รีบทำการรักษาได้อย่างทันท่วงที นอกจากนี้ควรหมั่นออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอด้วย เพื่อเสริมสร้างความยืดหยุ่นให้กับระบบประสาท กระดูก ข้อต่อ และกล้ามเนื้อ
ทำให้สามารถใช้งานได้อย่างมีประสิทธิภาพในการขับรถ และลดความเสี่ยงในการเกิดการอักเสบระหว่างกระดูกข้อต่อในขณะกำลังขับรถ
ทำความเข้าใจเรื่องสภาพอากาศ : เพื่อสร้างความปลอดภัยให้กับผู้สูงอายุ การให้ผู้สูงอายุทำความเข้าใจกับสภาพอากาศที่ไม่เหมาะสมต่อการขับรถเป็นเรื่องสำคัญ
เพราะถึงแม้ว่าผู้สูงอายุจะทราบดีแต่หลายๆ รายก็มีความมั่นใจว่าสามารถขับรถได้ ดังนั้น ท่ามกลางสภาพอากาศที่ย่ำแย่
ไม่ว่าจะเป็นฝนตก หรืออาจจะมีหมอกก็ไม่ควรปล่อยให้ผู้สูงอายุออกไปขับรถอย่างเด็ดขาด
เตรียมความพร้อมของสภาพรถ : นอกจากสภาพร่างกายแล้ว การเตรียมความพร้อมของสภาพรถก็เป็นเรื่องสำคัญเช่นกัน
โดยจะต้องมีการตรวจสภาพตั้งแต่เครื่องยนต์ เบรก ล้อรถยนต์ รวมถึงน้ำมันซึ่งเป็นการเตรียมความพร้อมเพื่อให้รถยนต์มีประสิทธิภาพในการใช้งานมากที่สุด
เตรียมความพร้อมด้านอุปกรณ์ : สำหรับผู้สูงอายุที่มีปัญหาสุขภาพบางส่วนและจำเป็นต้องมีอุปกรณ์ช่วย ไม่ว่าจะเป็นแว่นตา เครื่องช่วยฟัง
หรืออาจจะมีอุปกรณ์อื่นๆ ที่แพทย์เตรียมไว้สำหรับผู้สูงอายุที่ต้องขับรถด้วยตนเองเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการขับรถและป้องกันการเกิดอุบัติเหตุขึ้นในขณะขับรถนั่นเอง
หลีกเลี่ยงพฤติกรรมเสี่ยง : ขณะขับรถผู้สูงอายุอาจจะมีการรับโทรศัพท์ ทานอาหาร หรือแม้แต่กระทั่งพูดคุย
สิ่งเหล่านี้ล้วนแต่เป็นการรบกวนสมาธิของผู้สูงอายุในการขับรถทั้งสิ้น ดังนั้น ควรเลี่ยงพฤติกรรมเสี่ยงที่อาจก่อให้เกิดอันตรายขณะขับรถได้
หลีกเลี่ยงการขับรถกลางคืน : สำหรับผู้สูงอายุการขับรถในขณะเวลากลางคืนถือเป็นช่วงเวลาที่ควรหลีกเลี่ยง
เนื่องจากสายตาของผู้สูงอายุที่มีความเสื่อมสภาพลงไปมาก อาจทำให้ไม่สามารถมองเห็นได้อย่างชัดเจน โดยจะส่งผลกระทบต่อความปลอดภัยในการขับรถ
ดังนั้น หากเป็นไปได้ ควรเลือกขับรถในตอนกลางวันแทนจะดีกว่า หรือหากมีเหตุจำเป็นต้องเดินทางในตอนกลางคืน แนะนำให้หาคนอื่นขับรถแทนจะดีที่สุด
การใช้ยา : ผู้สูงอายุควรปรึกษาแพทย์ในเรื่องของการใช้ยา เพราะยาบางชนิดอาจทำให้เกิดอาการง่วงนอนหรือเวียนศีรษะ
ดังนั้น เมื่อเกิดอาการเหล่านี้ในขณะขับรถก็ย่อมส่งผลอันตรายต่อผู้สูงอายุได้
เพื่อนร่วมทาง : ไม่ควรปล่อยให้ผู้สูงอายุขับรถเพียงลำพัง แนะนำให้มีญาติหรือคนสนิทไปด้วย
เพื่อช่วยเพิ่มวิสัยทัศน์ในการขับรถให้มากยิ่งขึ้น ทั้งในเรื่องของสัญญาณไฟและเส้นทาง เพื่อความปลอดภัยต่อผู้สูงอายุนั่นเอง
Credit : statefarm.com
การขับรถในผู้สูงอายุ แม้มองดูเผินๆ เหมือนจะเป็นเรื่องที่ทำได้อย่างไม่มีอะไรให้ต้องกังวล หากแต่เอาจริงๆ แล้ว
ผู้สูงอายุยิ่งแก่ตัวมากขึ้น โรคประจำตัวหรือปัญหาสุขภาพ บวกกับความเสื่อมสภาพทางร่างกาย ทั้งการได้ยินเสียง
การมองเห็นและความเคลื่อนไหวต่างๆ อาจลดประสิทธิภาพลง ซึ่งควรจะต้องให้การระมัดระวังอย่างมาก
ดังนั้น หากจำเป็นจะต้องขับรถจริงๆ ก็ควรมีผู้คอยดูแลอย่างใกล้ชิดหรือหากเป็นไปได้ก็ควรจะหลีกเลี่ยงการขับรถ
โดยให้สมาชิกคนอื่นๆ ในบ้านเป็นผู้คอยขับรถให้แทนจะดีกว่า เพื่อป้องกันอุบัติเหตุที่อาจจะเกดขึ้นขณะขับรถนั่นเอง