ฝีคัณฑสูตร คือโรคอะไร เรื้อรัง อันตรายไหม มีวิธีการรักษาอย่างไร?

ฝีคัณฑสูตร เรื้อรัง

เชื่่อว่าคนในสังคมยุคใหม่ คงไม่ค่อยคุ้นหูกับชื่อของโรค ฝีคัณฑสูตร กันเท่าใดนัก ด้วยชื่อที่เหมือนกับโรคในสมัยโบราณ สาวๆ ส่วนใหญ่ก็คงคิดว่า มันเป็นโรคที่ไม่ได้พบเห็นกันได้ง่ายๆ หรือสาบสูญไปจากสังคมไทยแล้วเป็นแน่

แต่จริงๆ แล้วเรายังสามารถพบโรคนี้ได้อยู่ทั่วไป ลักษณะของโรคที่เป็นคือ การอักเสบของต่อมภายในทวารหนัก

ทำให้เกิดเป็นนองไหลออกมา รุนแรงจนถึงขั้นเป็นรูทะลุออกมามองเห็นได้จากผิวด้านนอกกันเลยทีเดียว

กล่าวกันง่ายๆ คือเป็นฝีชนิดหนึ่งที่จะเกิดขึ้นบริเวณรอบรูทวาร มีทั้งชนิดที่เป็นเรื้อรังด้วย

ดังนั้นใครที่พบโรคดังกล่าว ควรรีบเข้ารับการตรวจจากแพทย์เพื่อจะได้รักษาได้ทันก่อนโรคจะลุกลามหนัก

ทำให้ฝีแตก เป็นหนองไหลเยิ้ม สร้างความทุกข์ทรมานให้กับเราได้อย่างมากเลยทีเดียวค่ะ

ฝีคัณฑสูตร คืออะไร เกิดจากสาเหตุใด?

ฝีคัณฑสูตร (Anal fistula หรือ Fistula in ano) เป็นฝีที่เกิดขึ้นได้จากการติดเชื้อของต่อมชนิดหนึ่งที่อยู่ลึกเข้าไปใต้ชั้นผิวของทวารหนัก

ตามปกติต่อมนี้จะมีหน้าที่ในการสร้างสารหล่อลื่น ซึ่งช่วยให้การขับถ่ายง่ายขึ้น แต่เมื่อฝีเกิดการอักเสบและติดเชื้อ

จะทำให้เกิดการสะสมของเชื้อแบคทีเรีย ของเสียจากอุจจาระ และหมักหมมนานวันเข้าจนกลายเป็นฝีหนอง

ปริมาณหนองที่มากขึ้นก็จะขยายใหญ่ กัดเซาะไปตามกล้ามเนื้อของทวารหนัก

และสามารถทะลุออกมาถึงชั้นผิวด้านนอกได้ หากทิ้งไว้นาน หนองก็จะแตกออกจนมีน้ำหนองไหลเยิ้มออกมาด้านนอก

ซึ่งถูกส่งต่อจากต่อมภายในช่องใต้ชั้นผิวหนังของทวารหนักที่เรียกว่า “Fistula” หรือโรคที่การทางทะลุนั่นเอง

รูที่เปิดจะเชื่อมต่อจากทวารหนักมาถึงรูที่เปิดอยู่บริเวณผิวหนังรอบๆ ปากทวารหนัก

ความรุนแรงของโรคนี้อาจตามมาด้วยภาวะแทรกซ้อน การแตกของฝีที่ทำให้ทวารหนักบาดเจ็บ

น้ำเหลืองหรือหนองไหลซึมตลอดเวลา กลายเป็นฝีคัณฑสูตรเรื้อรัง ร่วมกับอาการคัน ปวดทรมานรอบๆ ปากทวารหนัก

ซึ่งจะต้องทำการรักษาด้วยขั้นตอนที่ยุ่งยาก หากปล่อยทิ้งไว้ก็จะมีน้ำหนองไหลออกมาอยู่ตลอดเวลา

ฝีคัณฑสูตรเรื้อรัง และชนิดเฉียบพลัน สังเกตอาการได้อย่างไรบ้าง ?

ฝีคัณฑสูตร สามารถพบได้ทั้งชนิดที่เกิดขึ้นแบบเฉียบพลัน (anorectal abscess) และฝีคัณฑสูตรเรื้อรัง (fistula in ano)

ทั้งสองชนิดมีลักษณะเหมือนกันคือการเกิดภาวะอักเสบบริเวณรอบทวารหนัก

อันเนื่องมาจากต่อมเมือกที่อยู่ใต้ชั้นผิวหนัง (anal gland) ซึ่งเราสามารถสังเกตอาการระหว่างชนิดของฝีคัณฑสูตรว่าเป็นแบบเฉียบพลันหรือเรื้อรังนั้น ให้สังเกตดังนี้

1.ฝีคัณฑสูตรชนิดเฉียบพลัน (anorectal abscess)

ลักษณะความแตกต่างของฝีคัณฑสูตรเฉียบพลันคือการเกิดเป็นฝีบริเวณทวารหนัก

อาการที่พบคือ ขอบทวารหนักจะมีอาการเจ็บ และบวม แก้มก้นด้านในจะบวมมาก และมีไข้ร่วมด้วย

รู้สึกปวดแบบหน่วงๆ อยู่ตลอดเวลา ยิ่งในขณะขับถ่าย และมีการเบ่ง จะยิ่งทำให้อาการปวดหนักมากขึ้น

ทั้งนี้อาการไข้ก็จะเกิดขึ้นอย่างต่อเนื่อง เพราะการอักเสบ แต่จะยังไม่มีการทะลุออกมาของรูให้เห็นที่ผิวหนังด้านนอกแต่อย่างใด

2.ฝีคัณฑสูตรชนิดเรื้อรัง (fistula in ano)

อาการของฝีคัณฑสูตรเรื้อรัง จะมีอาการเป็นๆ หายๆ กลับมาเป็นซ้ำซ้อนได้อีก

เป็นผลจากการอักเสบของต่อมผลิตเมือกในช่องทวารหนักที่ทำให้ฝีมีขนาดใหญ่ขึ้น เกิดการแตกตัว

มีน้ำหนองหรือน้ำเหลืองไหลซึมออกมาร่วมกับอาการคันอยู่ตลอดเวลา ซึ่งจะพบรูทะลุที่ทวารหนักร่วมด้วย

มีตุ่มที่ขอบของทวารหนัก โดยตุ่มเหล่านี้จะมีทั้งอาการคันๆ เจ็บๆ ร่วมด้วย การอักเสบที่เป็นๆ หายๆ ดังกล่าว

ผู้ป่วยมักมีประวัติเคยเป็นชนิดเฉียบพลันมาก่อน การรักษาที่ดีที่สุดสำหรับชนิดเรื้อรัง

อาจจำเป็นต้องผ่าฝีคัณฑสูตร ออกไป เพื่อจะได้หายขาดจากโรคได้อย่างถาวร

สาเหตุที่ทำให้เกิดฝีคัณฑสูตร

1.มีสาเหตุส่วนใหญ่มาจากการอักเสบของต่อมบริเวณทวารหนัก และอาจเกี่ยวเนื่องกับโรคของลำไส้อักเสบ

2.เกิดจากการอุดตันของสิ่งแปลกปลอม มะเร็ง การฉายรังสี อุบัติเหตุ

3.การผ่าตัดทวารหนัก มีโอกาสทำให้ต่อมเมือกในช่องทวารหนักเกิดการอักเสบตามมา ซึ่งถือว่าเป็นภาวะแทรกซ้อนจากการผ่าตัด

4.การติดเชื้อแบคทีเรียที่พบได้ทั่วไปในอุจจาระ เช่น แบคทีรอยด์ (Bacteroides), เปปโตสเตรปโตคอคคัส (Peptostreptococcus) และ อีโคไล (E.Coli) เป็นต้น

โดยเชื้อชนิดสุดท้ายนี้ จะเป็นตัวที่ทำให้เกิดโรคฝีคัณฑสูตรชนิดเรื้อรังได้ง่ายมากที่สุดด้วย

การรักษาด้วยการใช้ยาและผ่าฝีคัณฑสูตร

ในการรักษาทั่วไป หากไม่ใช่ฝีคัณฑสูตรเรื้อรัง จะสามารถรักษาตามอาการความรุนแรงได้ตั้งแต่การรักษาด้วยยา

เช่น ยาปฏิชีวนะเพื่อฆ่าเชื้อแบคทีเรียที่เป็นต้นเหตุ นิยมใช้ในกลุ่มผู้ป่วยที่มีอาการแสดงของภาวะติดเชื้อ

มีระบบภูมิคุ้มกันต่ำ เช่น ผู้ป่วยโรคโลหิตจาง และผู้ป่วยโรคเบาหวาน เป็นต้น

ส่วนอีกวิธีที่นิยมรักษา เมื่อเกิดภาวะหนองในปริมาณมากจนยากต่อการกำจัดออกจะต้องใช้วิธี “ผ่าตัด”

ซึ่งจะต้องได้รับการทำอย่างรวดเร็วมากที่สุด เพื่อป้องกันไม่ให้หนองและเชื้อโรคลุกลาม

วิธีดังกล่าวมีทั้งเพื่อการระบายหนองอย่างเดียว ทำให้ผู้ป่วยมีโอกาสที่จะกลับมาเป็นฝีคัณฑสูตรเรื้อรังได้มากถึงร้อยละ 50 เลยทีเดียว

แต่ถือว่าเป็นการผ่าตัดที่ง่าย แพทย์จะเลือกระบายหนองออกก่อน

จากนั้นจะพิจารณาต่อไปว่าจะใช้วิธีการผ่าตัดระบายหนองร่วมกับการรักษาอื่นด้วยหรือไม่ ซึ่งจะเป็นการป้องกันไม่ให้เกิดฝีคัณฑสูตรซ้ำซ้อนขึ้นมาอีก

การผ่าฝีคัณฑสูตรเพื่อป้องกันฝีคัณฑสูตรเรื้อรัง (มีทางทะลุแล้ว)

ฝีคัณฑสูตรเรื้อรังเป็นปัญหามากที่สุดในกลุ่มผู้ป่วย เพราะอาการที่เกิดขึ้นแบบซ้ำๆ ซากๆ

ทำให้เกิดความทุกข์ทรมานอย่างหนัก การผ่าตัดจะทำเพื่อระบายเอาหนองออกก่อนเป็นอันดับแรก

แต่จะไม่ถูกใช้เป็นการรักษาหลัก ทำเพื่อป้องกันไม่ให้เกิดการลุกลามของเชื้อโรค และระงับอาการไม่ให้รุนแรงไปกว่าเดิม

มีการให้ยาแก้ปวดลดไข้ การใช้วิธีประคบร้อนในจุดที่มีอาการบวม และให้ยาปฏิชีวนะ การผ่าจึงถูกแบ่งออกเป็น 3 ชนิดด้วยกันคือ

1.การผ่าแบบ Fistulotomy

วิธีนี้จะช่วยผ่าเปิดแผลตลอดแนวที่ทะลุ เพื่อกำจัดเอาหนองออก ทำให้แผลหายได้อย่างรวดเร็ว

และได้รับความนิยมในการรักษาผู้ป่วยมากที่สุด โดยจะใส่ตัวนำทางที่เรียกกันว่า “Probe” เข้าไปที่รูเปิดบริเวณผิวหนัง ไปสุดที่รูเปิดภายในทวารหนัก

จากนั้นจะใช้การจี้ไฟฟ้าหรือใช้มีดกรีดเปิดทางเส้นทางที่ทะลุให้ทะลุออกมาสู่ภายนอกกลายเป็น “แผลเปิด”

การรักษาจะต้องทำต่อเนื่องประมาณ 4 สัปดาห์ จนมีเนื้อเยื่อชั้นใหม่เกิดขึ้นมาจนเต็มแผล

โดยปากแผลจะค่อยๆ แคบลงจนตื้นขึ้น และหายไปได้อย่างถาวรแบบไม่กลับมาเป็นอีก

2.การผ่าฝีคัณฑสูตรด้วยเส้นไหม

ฝีคัณฑสูตรที่เป็นชนิดรูปเปิดอยู่ด้านบนรูทวารหนัก หรือพบว่ามีทางทะลุหลายเส้นทาง

หรือในผู้ป่วยที่มีโรคลำไส้อักเสบเรื้อรังอยู่ก่อนแล้ว ตัวฝีจะทำให้เกิดการหดรัดตัวของกล้ามเนื้อหูรูดที่ไม่ดีนัก

การผ่าตัด จะใช้เส้นใยที่ทำจากยาหรือเส้นไหมที่สามารถยืดหดได้ (Elastic) ใส่เข้าไปในเส้นทางที่มีการทะลุ

จากนั้นนำปลายทั้งสองของเส้นไหมผูกเข้าด้วยกันที่ด้านนอก โดยผู้ป่วยจะต้องเข้ามาพบแพทย์เพื่อทำการรัดเส้นไหมให้แน่นขึ้นทุกๆ สัปดาห์

เพื่อช่วยตัดเอาเนื้อเยื่อออกจนทำลายทางที่ทะลุให้หายไป อาจใช้ระยะเวลาในการรักษาราว 7-8 อาทิตย์

ซึ่งเส้นไหมทำหน้าที่เปรียบเสมือนมีดบางๆ ที่ค่อยๆ ตัดเอาเนื้อเยื่อส่วนนั้น

3.การผ่าตัดแบบ Fistulectomy with mucosal advancement flap

เป็นวิธีผ่าตัดที่เหมือนกับการผ่าฝีคัณฑสูตรด้วยเส้นไหม แต่การผ่าตัดนี้จะไม่ใช้ในกลุ่มผู้ป่วยที่เป็นโรคลำไส้อักเสบชนิดเรื้อรัง

การผ่าคล้ายวิธี Fistulotomy แต่จะตัดเอาส่วนของเส้นทางทะลุออกไป

พร้อมกับการนำเอาเนื้อเยื่อบางๆ จากส่วนของลำไส้ตรงมาใช้เย็บเพื่อซ่อมแซมบาดแผลและส่วนของกล้ามเนื้อหูรูดไปพร้อมๆ กันด้วย

นอกจากนี้ยังมีการคิดค้นวิธีปิดทางทะลุใหม่ๆ ด้วยการใช้ Fibrin glue ซึ่งมีลักษณะคล้ายกาวฉีดเข้าไปเพื่อปิดเส้นทางเชื่อมต่อของทางทะลุ

หรือการใช้เทคนิค VAAFT technique และ LIFT technique เป็นต้น

โรคฝีคัณฑสูตร

Photo Credit : healthtap.com

แม้ โรคฝีคัณฑสูตร จะเป็นโรคที่ดูไม่คุ้นหู แต่เมื่อเกิดขึ้นแล้วจัดได้ว่าเป็นโรคที่มีความรุนแรงและสร้างความเจ็บปวดอย่างมาก

อีกทั้งยังจำเป็นต้องได้รับการรักษาอย่างถูกวิธี มีขั้นตอนที่เหมาะสม ตั้งแต่การรักษาในช่วงที่ฝีกำเริบขึ้นมายังไม่แตกเป็นหนองทะลุ

แพทย์จะต้องรักษาให้ฝีดังกล่าวหายก่อนเพื่อระบายหนองออก จึงจะทำการผ่าตัด ให้ยา

หรือการผ่าตัดที่ซับซ้อนมากขึ้นหากฝีหนองแตกเกิดการทะลุหลายเส้นทางออกมาถึงผิวหนังภายนอก

ผู้ป่วยที่เป็นโรคนี้ยังจำเป็นต้องดูแลตัวเองภายหลังจากการรักษาหายดีแล้ว

เนื่องจากมีโอกาสเกิดภาวะแทรกซ้อนต่างๆ ได้ง่าย จะต้องล้างทำความสะอาดแผลในระยะแรกตามคำแนะนำของแพทย์อย่างเคร่งครัด และป้องกันตัวเองไม่ให้เกิดอาการท้องผูกตามมาอีกด้วยค่ะ