มะเร็งกระเพาะอาหาร (Gastric cancer) เป็นมะเร็งที่พบได้บ่อยในปัจจุบัน เนื่องจากสภาพพฤติกรรมการใช้ชีวิต
โดยเฉพาะการเลือกอาหารต่างๆ บริเวณการเกิดของมะเร็งชนิดนี้จะอยู่ที่เยื่อบุภายในโพรงกระเพาะอาหาร
พบได้มากในกลุ่มคนที่มีอายุตั้งแต่ 40 ปีขึ้นไป มะเร็งในระยะเริ่มแรกจะไม่ปรากฏอาการที่ชัดเจน
กว่าผู้ป่วยจะรู้ตัวและเข้ามารับการตรวจจากแพทย์มักจะอยู่ในช่วงระยะสุดท้ายที่ทำการรักษาได้ยากไปแล้ว
ดังนั้นโรคมะเร็งชนิดนี้จึงเป็นโรคที่มีความน่ากลัว เนื่องจากความคลุมเครือของอาการที่ทำให้ผู้ป่วยนิ่งนอนใจ
จนกระทั่งเกิดอาการปวดท้อง น้ำหนักตัวลดผิดปกติ ในระยะนี้โรคจะลุกลามไปอย่างรวดเร็ว
สาวๆ ที่เคยมีประวัติคนในครอบครัวป่วยเป็นโรคมะเร็งกระเพาะอาหาร จะต้องหมั่นเฝ้าระวังตัวเอง
ตรวจสุขภาพอย่างสม่ำเสมอ หรือแม้จะเป็นคนที่ไม่เคยใกล้ชิดกับโรคนี้มาก่อนก็ตาม
ก็ยังต้องระมัดระวังในพฤติกรรมการกินและการดำเนินชีวิตที่ทำลายสุขภาพอยู่บ่อยๆ
สามารถเป็นตัวกระตุ้นให้โรคนี้แทรกตัวเข้ามาสร้างความทุกข์ทรมานให้กับเราได้เช่นเดียวกัน
สาเหตุมะเร็งกระเพาะอาหาร
มะเร็งกระเพาะอาหารเกิดจากหลากหลายปัจจัย ไม่ว่าจะเป็นสิ่งแวดล้อมภายนอกหรือสิ่งแวดล้อมภายใน
ก็ล้วนทำให้เกิดโรคนี้ทั้งสิ้น เชื่อว่าตัวการสำคัญที่ทำให้เกิดมะเร็งคือพันธุกรรม ในกลุ่มที่มีญาติพี่น้องสายตรง
ป่วยเป็นมะเร็งชนิดนี้ จะมีโอกาสเสี่ยงในการเกิดโรคมากกว่าคนอื่นๆ บางคนที่เคยมีประวัติเป็นโรคกระเพาะอักเสบแบบเรื้อรังบางชนิด
มีแผลเรื้อรังในกระเพาะอาหารหรือลำไส้ส่วนต้น ซึ่งมักจะมาจากเชื้อแบคทีเรีย Helicobacter pylori ทำให้ผู้ป่วยเป็นโรคกระเพาะแบบเป็นๆ หายๆ
คนที่มีนิสัยชอบดื่มเหล้าสูบบุหรี่ ชอบกินอาหารรสจัด อาหารสุกๆ ดิบๆ อาหารหมักดอง อาหารแปรรูป
เช่น แหนม กุนเชียง ไส้กรอก และแฮม เป็นต้น มีนิสัยกินเนื้อสัตว์เป็นหลัก กินผักและผลไม้น้อย
มีประวัติเคยผ่านการผ่าตัดกระเพาะอาหารมาก่อน และยังเชื่อว่าเกิดขึ้นจากสภาพจิตใจ
โดยเฉพาะความเครียด ความกดดัน คนที่หงุดหงิดบ่อย จะไปกระตุ้นให้กระเพาะหลั่งน้ำย่อยออกมามาก
เกิดอาการระคายเคือง และกลายเป็นโรคกระเพาะแบบเรื้อรังตามมา
อาการมะเร็งกระเพาะอาหาร
มะเร็งกระเพาะอาหารระยะแรกมักจะตรวจไม่ค่อยพบ และไม่ค่อยแสดงอาการ
ซึ่งส่วนใหญ่อาจจะมีความผิดปกติอยู่บ้างคืออาการปวดท้องหรือแสบกระเพาะ เหมือนกินอาหารไม่ตรงเวลา
คนส่วนมากก็จะคิดว่าเป็นเพียงโรคกระเพาะเล็กๆ น้อยๆ ที่สามารถหายไปได้เองด้วยการกินยาลดกรด
แต่เมื่อโรคมีการลุกลามมากขึ้น ก็จะเริ่มปรากฏอาการหลักๆ คือ รู้สึกไม่สบายท้องเหมือนอาหารไม่ย่อย
รู้สึกคลื่นไส้แต่ไม่อาเจียน มีอาการท้องอืดหลังกินอาหารเสร็จใหม่ๆ เบื่ออาหาร ไม่รู้สึกหิว รู้สึกแสบร้อนกลางอก
ส่วนในกลุ่มผู้ป่วยที่เคยได้รับการรักษาโรคกระเพาะอาหารจนอาการดีขึ้นแล้ว
สามารถกลับมาเป็นอีกได้ซ้ำๆ และจะพบอาการผิดปกติแทรกซ้อนเข้ามาคือ ถ่ายอุจจาระเป็นสีดำเนื่องจากมีเลือดปนมาด้วย
อาเจียนเป็นเลือด มีภาวะซีด น้ำหนักลดลงโดยไม่ทราบสาเหตุ ปวดท้อง และอาจคลำพบก้อนเนื้อในตำแหน่งใกล้กับลิ้นปี่ได้
โรคเกิดการแพร่กระจายไปยังอวัยวะข้างเคียง และจะลุกลามอย่างรวดเร็ว
ทำให้ต่อมน้ำเหลืองบริเวณเหนือไหปลาร้าโต ตาเหลือง ตับโต ตัวเหลือง หรือที่เรียกกันว่าดีซ่าน เหนื่อยง่าย
หายใจลำบาก เมื่อมะเร็งกระจายตัวไปยังปอด นอกจากนี้เซลล์มะเร็งยังสามารถหลุดลอดผ่านเข้าไปในช่องท้อง
แล้วไปรวมตัวเป็นก้อนที่รังไข่จนกลายเป็นโรคมะเร็งรังไข่ตามมาได้อีกด้วย
การรักษามะเร็งกระเพาะอาหาร
การรักษาโรคมะเร็งกระเพาะอาหาร จะมีการรักษาหลักๆ 4 แนวทางด้วยกันคือ การผ่าตัด
ซึ่งจะเป็นการรักษาทางเลือกแรกๆ ที่แพทย์ใช้ มีหลากหลายวิธีการ ขึ้นอยู่กับระดับการกระจายตัวของมะเร็ง
ความแข็งแรงของผู้ป่วย โรคประจำตัว และดุลยพินิจของแพทย์แต่ละรายด้วย
ซึ่งบารายอาจจะเป็นการผ่าตัดเอากระเพาะอาหารบางส่วนที่เป็นมะเร็งออกไป ร่วมกับต่อมน้ำเหลืองในบริเวณใกล้เคียง
บางรายอาจตัดเอากระเพาะอาหารทั้งหมดออกไปเลย ซึ่งจะรวมไปถึงเนื้อเยื่อรอบๆ ที่เป็นมะเร็ง
แทนที่กระเพาะอาหารด้วยการใส่หลอดอาหารเข้าไปเชื่อมต่อกับลำไส้เล็ก เพื่อให้ผู้ป่วยสามารถกลับมากลืนอาหารได้ตามปกติ
ผู้ป่วยที่ไม่ได้รับการผ่าตัด อาจจะใช้การรักษาด้วยยาเคมีบำบัด เพื่อช่วยลดขนาดของก้อนมะเร็ง
มีการใช้ร่วมกับการฉายรังสี อีกทั้งยังเป็นตัวช่วยป้องกันไม่ให้โรคแพร่กระจายไปยังอวัยวะข้างเคียง
ในกรณีที่ผู้ป่วยมีร่างกายไม่แข็งแรง จะต้องใช้การรักษาแบบประคับประคองไปก่อนเพื่อบรรเทาอาการให้ดีขึ้น
เมื่อร่างกายกลับมาแข็งแรงแล้วก็จะใช้การรักษาในวิธีอื่นๆ ข้างต้นต่อไป
แต่ทั้งนี้การรักษาแบบประคับประคองยังถูกใช้ในผู้ป่วยที่เป็นมะเร็งกระเพาะอาหารระยะสุดท้ายด้วย
Photo Credit : mountsinai.org
ความน่ากลัวของโรคมะเร็งกระเพาะอาหารคือยังไม่มีวิธีตรวจคัดกรองที่ได้ผล
การดูแลสุขภาพตัวเองให้ดีอยู่เสมอ จึงเป็นสิ่งที่สาวๆ ควรใส่ใจ เปลี่ยนพฤติกรรมในการกินอาหารใหม่
เน้นผักและผลไม้เป็นหลัก ทำจิตใจให้ผ่องใส หลีกเลี่ยงความเครียด และพฤติกรรมที่จะเป็นตัวทำลายสุขภาพต่างๆ
และหากพบอาการผิดปกติเกิดขึ้น ก็ควรรีบเข้ารับคำปรึกษาจากแพทย์โดยด่วน เพราะหากตรวจพบโรค จะได้ทำการรักษาได้ตั้งแต่เนิ่นๆ นั่นเองค่ะ