อันตรายจากโรคมะเร็ง เป็นตัวทำลายเนื้อเยื่อภายในร่างกายของเราจนเกิดความผิดปกติขึ้นมา
ซึ่งในปัจจุบัน ไม่เพียงแค่โรคมะเร็งเต้านม, มะเร็งรังไข่, มะเร็งปากมดลูก หรือมะเร็งอื่นๆ ที่มักพบได้บ่อยในผู้หญิง
เรายังพบว่ามีมะเร็งที่หลายคนไม่ค่อยคุ้นหูกับชื่อของมันเท่าใดนัก นั่นก็คือ “มะเร็งจีสต์” (GIST- Gastrointestinal Stromal Tumor)
ซึ่งถือว่าเป็นโรคใหม่ที่ปรากฏให้เห็นไม่กี่ปีที่ผ่านมา เกิดขึ้นภายในระบบทางเดินอาหาร
อันเนื่องมาจากความผิดปกติของเซลล์ผนังทางเดินอาหาร มีการแบ่งเซลล์จนเพิ่มปริมาณขึ้นอย่างมหาศาลจนยากเกินควบคุมได้
เซลล์ร้ายเหล่านี้เมื่อเติบโตขึ้น ก็จะแพร่ขยายตัวออกไปจากผนังทางเดินอาหารสู่ภายนอก
มีขนาดใหญ่ขึ้นจนไปกดทับอวัยวะใกล้เคียง สามารถพบได้มากที่กระเพาะอาหารมากถึง 50 เปอร์เซ็นต์
และลำไส้เล็กประมาณ 30 เปอร์เซ็นต์ ยังสามารถพบมะเร็งชนิดนี้ได้ที่หลอดอาหาร และอวัยวะอื่นๆ ได้ด้วย
ด้วยความที่เป็นโรคใหม่ ทำให้ผู้คนไม่ทันได้ตระหนักถึงภัยคุกคาม และมีความแตกต่างจากมะเร็งอื่นๆ
ดังนั้นเพื่อเป็นการป้องกันความเสี่ยงที่อาจจะเกิดขึ้น สาวๆ ควรหันมาดูแลตัวเอง
สังเกตความผิดปกติของร่างกาย หากพบเนื้องอกภายในระบบทางเดินอาหาร ก็ควรเข้ารับการตรวจจากแพทย์อย่างเร่งด่วนที่สุดค่ะ
รู้จักกับมะเร็งจิสต์ให้มากขึ้น
อย่างที่กล่าวไปข้างต้นว่า มะเร็งจิสต์ เพิ่งค้นพบ และโอกาสเกิดโรคนี้พบได้น้อยมาก
ซึ่งลักษณะของโรคจะเกิดขึ้นที่ระบบทางเดินอาหารเป็นหลัก แต่สามารถพบได้ที่อวัยวะอื่นๆ ได้เช่นกัน
ความแตกต่างของมะเร็งชนิดนี้คือเกิดขึ้นจากเซลล์ต้นกำเนิด ซึ่งทำหน้าที่บีบตัวของลำไส้
เป็นการกลายพันธุ์ของยีนพันธุกรรม จับบนผิวเซลล์ที่เรียกกันว่า C-kit (CD 117)
ซึ่งปกติจะทำหน้าที่คอยส่งสัญญาณภายในให้กับเซลล์ต่างๆ ทำให้เกิดการขยายตัวในปริมาณที่เหมาะสม
แต่เมื่อเซลล์ชนิดนี้เกิดความผิดปกติขึ้นมา การส่งสัญญาณให้เซลล์ขยายตัวอย่างต่อเนื่องโดยไม่หยุด
ไม่สามารถควบคุมปริมาณได้ เซลล์ที่ผิดปกติจะเพิ่มจำนวนมากขึ้นอย่างรวดเร็ว กลายเป็นเนื้องอกที่มีขนาดใหญ่
มักพบได้บ่อยในผู้ป่วยที่มีอายุมากตั้งแต่ 50 ปีขึ้นไป ในเด็กและวัยรุ่นก็สามารถพบได้เช่นกัน แต่อยู่ในอัตราส่วนที่น้อยกว่า
สาเหตุของการเกิดโรคมะเร็งจิสต์
สาเหตุที่พบยังไม่สามารถระบุชี้ชัดลงไปได้ว่า เกิดขึ้นจากสาเหตุไหนเป็นหลัก
แต่เชื่อกันว่ามาจากความผิดปกติของโปรตีนในระดับเซลล์พันธุกรรมที่เรียกกันว่าเซลล์ Kit ซึ่งจับตัวอยู่บนผิวของเซลล์
โปรตีนที่มีความผิดปกตินี้จะทำหน้าที่ส่งสัญญาณให้เซลล์กลายสภาพเป็นเซลล์มะเร็งที่ไม่สามารถควบคุมได้
ยิ่งปล่อยไว้นาน เซลล์เหล่านี้ก็จะเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง และส่งผลให้เกิดอันตราย
เสี่ยงต่อการแพร่กระจายเชื้อไปยังอวัยวะข้างเคียงได้โดยไม่พบการแสดงอาการใดๆ ให้เห็นเลยก็เป็นได้
อาการของโรคที่สังเกตได้
อาการของโรคมะเร็งมาจิสต์ที่พบได้ จะใกล้เคียงกับมะเร็งในระบบทางเดินอาหารชนิดอื่น
คือมีอาการปวดท้อง รู้สึกคลื่นไส้อาเจียน เบื่ออาหาร กินอาหารได้น้อยลง อิ่มเร็ว น้ำหนักลด
อุจจาระปนเลือด กลืนอาหารลำบาก จะปรากฏอาการในลักษณะนี้ก็ต่อเมื่อโรคได้ดำเนินไปถึงจุดๆ หนึ่ง
ซึ่งเนื้องอกมีขนาดใหญ่แล้ว แพทย์สามารถคลำพบก้อนเนื้อภายในช่องท้อง แต่หากก้อนเนื้อยังมีขนาดเล็กอยู่
มักจะไม่ค่อยมีอาการแสดงให้เห็น แต่สามารถตรวจพบได้โดยบังเอิญจากการตรวจโรคอื่นๆ
หากตำแหน่งของก้อนเนื้ออยู่บริเวณกระเพาะอาหาร อาจอาเจียนออกมาเป็นเลือดอย่างรุนแรง
จนทำให้เกิดภาวะซีดตามมาได้ นอกจากนี้เรายังสามารถตรวจพบภาวะบวมน้ำบริเวณใต้ดวงตา
หรือภาวะน้ำคั่งที่หนังตาบนหรืออาจจะเกิดขึ้นรอบดวงตาร่วมด้วย
ขั้นตอนในการรักษา
โรคมะเร็งชนิดนี้ ส่วนใหญ่จะตรวจพบในช่วงที่อาการเริ่มรุนแรงแล้ว เนื่องจากไม่มีความจำเพาะของโรค
นอกจากจะปรากฏอาหารที่น่าสงสัยให้เห็น การตรวจพบก้อนเนื้อภายในช่องท้องโดยบังเอิญ
เมื่อทำการรักษาตามอาการแล้วไม่ได้ผล แพทย์จะทำการตรวจร่างกายเพื่อหาก้อนเนื้อ หรือในรายที่พบก้อนเนื้อแล้วก็จะนำเอาเนื้อเยื่อไปตรวจ
การรักษาในระยะแรกของโรคจะสามารถทำได้ด้วยการผ่าตัด ผู้ป่วยมีโอกาสหายเป็นปกติได้สูง
แต่มีโอกาสเสี่ยงที่โรคนี้จะกลับมาเป็นซ้ำได้อีก ขึ้นอยู่กับสภาพร่างกายของแต่ละคน
กรณีที่มะเร็งลุกลามมากขึ้น กระจายตัวไปถึงตับ จะต้องทำการรักษาด้วยการให้ยาและเคมีบำบัด
แต่ในปัจจุบันจะมีการนำเอาการพัฒนายาตัวใหม่ที่ช่วยกระตุ้นการรักษาแบบเฉพาะเจาะจงมากขึ้นเรียกว่า “อิมมาตินิบ”
เนื่องจากมะเร็งจิสต์จะตอบสนองต่อเคมีบำบัดน้อยมาก ยาตัวใหม่ที่นำมาใช้สามารถตอบสนองการรักษาได้เป็นอย่างดี
ทำให้ผู้ป่วยสามารถมีชีวิตอยู่ได้นานมากขึ้น การรักษายังสามารถใช้วิธีจี้ด้วยคลื่นความถี่สูง
กรณีที่มะเร็งกระจายตัว ด้วยการฉีดสารเข้าไปทำลายเนื้องอกผ่านทางเส้นเลือดที่ส่งมาหล่อเลี้ยง
Photo Credit : verywell.com
ส่วนการดูแลตัวเองของผู้ป่วย จะต้องหลีกเลี่ยงการกินอาหารที่มีรสจัดทุกชนิด
กินอาหารอ่อนที่ย่อยง่าย พักผ่อนให้เพียงพอ ออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอ
หลีกเลี่ยงความเครียดและการทำงานหนัก งดการดื่มสุรา บุหรี่ หมั่นสังเกตอาการตัวเองอย่างต่อเนื่อง
กินยาตามแพทย์สั่ง และเข้ารับการตรวจให้ตรงตามนัด จะได้มีโอกาสช่วยให้ผู้ป่วยโรคมะเร็งจิสต์ สามารถหายเป็นปกติ และกลับมามีชีวิตที่มีความสุขอีกครั้ง