ระบบสืบพันธุ์เพศหญิง เป็นระบบที่มีความซับซ้อนมากกว่าในเพศชายมาก ดังนั้น มันจึงมากมายไปด้วยความผิดปกติที่ทำให้สาวๆ ต้องเกิดความกังวลใจ
แม้ส่วนมากจะไม่ใช่ความผิดปกติชนิดร้ายแรง แต่หากปล่อยทิ้งไว้นานโดยไม่ยอมรักษา ก็สามารถทำให้เนื้อเยื่อต่างๆ โดยรอบ แปรสภาพกลายเป็นเนื้อร้ายที่เรียกว่ามะเร็ง
เราจึงพบว่าโรคมะเร็งในระบบสืบพันธุ์เพศหญิง พบได้มาก ส่วนใหญ่จะไม่มีสัญญาณเตือนให้รู้ล่วงหน้า หรือบางรายแม้จะมีการเปลี่ยนแปลงให้เห็น
แต่เลือกที่จะมองข้าม กลัวการเข้าพบแพทย์ จนทำให้โรคลุกลามบานปลาย ยากต่อการรักษาตามมา เพื่อลดความเสี่ยงของโรคร้ายนี้
ทางที่ดีคือสาวๆ ควรหันมาสังเกตตัวเอง และเลิกหวาดกลัวการตรวจที่เป็นเพียงเรื่องเล็กน้อย เมื่อเทียบกับการรักษาโรคเหล่านี้อย่างแน่นอนค่ะ
มะเร็งร้ายที่พบได้บ่อยในระบบสืบพันธุ์เพศหญิง
โรคมะเร็งระบบสืบพันธุ์ ถือว่าเป็นโรคที่มีความยุ่งยากในการรักษาของผู้หญิง เนื่องจากความซับซ้อนมากมาย
ทำให้บางครั้งกว่าจะสามารถตรวจพบโรค ก็ต้องถึงช่วงที่มันแสดงอาการออกมาในระยะที่รุนแรงแล้ว
และความผิดปกติที่เกิดขึ้น ก็มาจากการเปลี่ยนแปลงในระดับสารพันธุกรรม
เซลล์ภายในระบบจึงมีการทำงานผิดปกติไปจากที่เคยเป็น เกิดขึ้นได้จากหลายสาเหตุ
โดยมะเร็งที่พบได้บ่อยในผู้หญิงมากคือ มะเร็งรังไข่, มะเร็งปากมดลูก และมะเร็งเยื่อบุโพรงมดลูก
ซึ่งพบว่า มะเร็งปากมดลูก เป็นมะเร็งที่พบได้บ่อย รองลงมาจากมะเร็งเต้านม
เนื่องจากการติดเชื้อ HPV (Human papilloma virus) จากการมีเพศสัมพันธ์ มันจะสามารถกลายสภาพไปเป็นมะเร็งได้สูง
เมื่อเป็นการติดเชื้อจากสายพันธุ์ 16 และ 18 การตรวจคัดกรองมะเร็งปากมดลูกอย่างสม่ำเสมอ เริ่มตั้งแต่อายุ 21 ปีขึ้นไป
หรือหลังมีเพศสัมพันธ์ครั้งแรกประมาณ 3 ปี จะช่วยลดความเสี่ยงไม่ให้เซลล์มะเร็งลุกลาม และสามารถรักษาได้ทันการตั้งแต่ในระยะแรกๆ
รู้จักกับโรคมะเร็งในระบบสืบพันธุ์เพศหญิงชนิดต่างๆ
มะเร็งในระบบสืบพันธุ์เพศหญิง พบได้มากในหลายส่วนด้วยกัน ดังนั้นเพื่อเป็นการดูแลตัวเองตั้งแต่เนิ่นๆ
สาวๆ ควรทำความรู้จักกับโรคมะเร็งเหล่านี้กันให้มากขึ้น จะได้รู้ทันการเปลี่ยนแปลงของร่างกายก่อนสายเกินแก้เอาได้ค่ะ
โรคมะเร็งปากมดลูก
มะเร็งชนิดนี้พบได้มากเป็นอันดับสองรองจากมะเร็งเต้านม มีเชื้อ HPV เป็นพาหะ เชื้อโรคถูกนำพาเข้ามาในช่องคลอดโดยการมีเพศสัมพันธ์
อาการของโรคที่พบได้ทั่วไป คือการตรวจพบภาวะเลือดออกผิดปกติภายในช่วงคลอด แม้จะอยู่ในวัยหมดระดูแล้วก็ตาม
มีเลือดออกกระปิดกระปรอย และตกขาวปริมาณมากแบบเรื้อรัง เป็นๆ หายๆ แม้จะไม่ใช่ช่วงก่อนมีประจำเดือน ก็พบตกขาวได้
โรคมะเร็งรังไข่
เป็นโรคมะเร็งที่พบได้ประมาณ 3.7 เปอร์เซ็นต์ของมะเร็งในผู้หญิง ช่วงวัยที่พบคือ 50-65 ปี
มีปัจจัยเสี่ยงของการเกิดโรคนี้คือ มีประวัติบุคคลในครอบครัวเคยป่วยเป็นโรคมะเร็งรังไข่
หรือมะเร็งที่เกี่ยวกับอวัยวะสืบพันธุ์ ไม่เคยมีลูกมาก่อน มีความผิดปกติที่สังเกตได้คือ
ภาวะเลือดออกผิดปกติภายในช่องคลอด รู้สึกแน่นท้อง น้ำหนักลด เบื่ออาหาร
คลำพบก้อนในท้องน้อย คลื่นไส้อาเจียน อาการเหล่านี้จะพบได้เมื่อโรคลุกลามเข้าสู่ระยะที่เป็นหนักแล้ว
ในช่วงแรกจะตรวจพบได้ยากและไม่ค่อยมีอาการปรากฏให้เห็น ไม่ว่าจะเป็นการตรวจคัดกรอง
ดังนั้นการป้องกันที่ดี คือการเข้ารับการตรวจภายในประจำปีอย่างสม่ำเสมอ
โรคมะเร็งเยื่อบุโพรงมดลูก
โรคมะเร็งที่พบได้บ่อยรองลงมาจากมะเร็งเต้านม พอๆ กับการพบโรคมะเร็งปากมดลูก
พบได้มากในกลุ่มวัยหมดประจำเดือน ตั้งแต่ 55 ปีขึ้นไป แต่ก็ยังสามารถพบได้ในกลุ่มวัยที่ยังมีประจำเดือนได้เช่นกัน
โดยปัจจัยที่กระตุ้นให้เกิดโรคนี้คือ ระดับการเปลี่ยนแปลงของฮอร์โมนเอสโตรเจน โรคเบาหวาน ภาวะอ้วน
กลุ่มที่ใช้ยา SERM สำหรับการรักษามะเร็งเต้านม โดยอาการที่พบ มักจะมีเลือดออกผิดปกติในช่วงวัยหมดประจำเดือน
มีภาวะตกขาวผิดปกติ และตรวจพบเยื่อบุโพรงมดลูกหนาตัวเกินมาตรฐาน
โรคมะเร็งช่องคลอด
เป็นโรคมะเร็งที่พบได้ไม่บ่อยนัก มีเพียงร้อยละ 1-2 เท่านั้น สำหรับมะเร็งในผู้หญิง
สาเหตุของมะเร็งในส่วนนี้ จะมาจากการกระจายตัวของมะเร็งภายในอวัยวะอื่นลุกลามเข้ามา
พบมากในช่วงวัย 60 ปี ขึ้นไป โดยผู้ป่วยมักจะเข้ารับการรักษาจากโรคมะเร็งของระบบอวัยวะสืบพันธุ์อื่นๆ อยู่ก่อนแล้ว
โดยอาการที่พบ จะใกล้เคียงกับโรคมะเร็งปากมดลูก มีอาการตกขาวผิดปกติ บางรายมีเลือดปนออกมา
แม้จะไม่ใช่ในช่วงมีประจำเดือน หรือมีเลือดกระปิดกระปอยหลังมีเพศสัมพันธ์ ร่วมกับอาการปวดท้องน้อย
กรณีที่โรคลุกลามมากขึ้นแล้ว ส่วนใหญ่จะรักษาได้ยาก โอกาสหายน้อยลง
เนื่องจากการลุกลามนี้จะเข้าสู่อวัยวะอื่นๆ อีก เช่น ต่อมน้ำเหลือง ที่จะทำให้เซลล์มะเร็งลุกลามไปทั่วร่างกายได้อย่างรวดเร็ว
Photo Credit : healthline.com
จะเห็นได้ว่ามะเร็งภายในระบบสืบพันธุ์เพศหญิงพบได้มากกว่าในเพศชาย อีกทั้ง การตรวจพบยังทำได้ยาก
ดังนั้นการตรวจร่างกาย และการตรวจภายในประจำปี จึงเป็นสิ่งที่สาวๆ ไม่ควรมัวเขินอาย เพราะเมื่อเทียบกับความเสี่ยงของโรคร้ายแล้ว
เรื่องนี้ถือว่าเป็นเรื่องเล็กน้อยเป็นอย่างมาก ที่สำคัญ หากพบความผิดปกติเกิดขึ้น ไม่ควรนิ่งนอนใจ ควรเข้ารับคำปรึกษาจากแพทย์โดยด่วน