อาการหูอื้อ หูอื้อข้างเดียว มีสาเหตุและวิธีการรักษาอย่างไรได้บ้าง ?

อาการหูอื้อ หูอื้อข้างเดียว หูอื้อข้างขวา หูอื้อข้างซ้าย

อาการหูอื้อข้างเดียว ไม่ว่าจะเป็น หูอื้อข้างซ้าย หรือหูอื้อข้างขวา เมื่อกลืนน้ำลายหรือเคี้ยวหมากฝรั่งก็จะหายเป็นปกติ หากอยู่ในระดับพื้นดินที่มีความดันปกติของร่างกาย ก็จะไม่มีอาการดังกล่าวเกิดขึ้น ทว่าบางคนกลับพบอาการหูอื้อได้แบบไม่มีสาเหตุ เป็นๆ หายๆ แม้จะใช้ชีวิตประจำวันปกติ

ตามปกติ เวลาที่เรารู้สึกว่า หูอื้อ จะเกิดขึ้นในช่วงที่มีการเปลี่ยนความดันอากาศ เช่น การขึ้นลงลิฟต์บนตึกสูง การนั่งรถขึ้นเขา การขึ้นเครื่องบิน ซึ่งเหล่านี้ถือว่าเป็นอาการหูอื้อปกติ และมักจะเป็นลักษณะหูอื้อที่มาพร้อมกันทั้งสองข้าง

ลองมาดูกันดีกว่าค่ะว่า อาการที่เกิดขึ้นเป็นความผิดปกติ ที่ร่างกายกำลังส่งสัญญาณเตือนหรือไม่ แล้วจะมีวิธีรักษาและป้องกันอย่างไร เรารวบรวมข้อมูลที่เป็นประโยชน์มาให้เป็นตัวช่วยกันแล้วค่ะ

ลักษณะของอาการหูอื้อ เป็นอย่างไร

หูอื้อ หรือการเกิดเสียงในหู เราเรียกในภาษาอังกฤษว่าTinnitus เป็นอาการที่จะเรียกได้ว่า พบได้ทั่วไปในคนปกติที่อยู่ในสภาพแวดล้อมที่ไม่เหมาะสมกับสภาพร่างกาย

หรือบางรายก็เกิดขึ้นจากความเจ็บป่วย ความผิดปกติที่ทำให้เกิดโรคภายในหูขึ้นมา หูอื้อสามารถเป็นได้ทั้งแบบสองข้าง หรือข้างเดียวก็ได้

อาการเหล่านี้จะส่งผลทำให้ประสิทธิภาพในการได้ยินลดลง เหมือนมีอะไรอุดอยู่ในรูหู ทำให้เสียงภายนอกเล็ดลอดเข้าไปได้น้อยลง

บางรายได้ยินเป็นเสียงดังในหู เหมือนมีแมลงบินวนอยู่ ได้ยินเป็นเสียงแหลม หรือตุบๆ เหมือนกับชีพจรกำลังเต้น

อาการในลักษณะดังกล่าวจะเกิดขึ้นแบบเป็นๆ หายๆ เสียส่วนใหญ่ ในขณะหูอื้อมักจะได้ยินเสียงลมหายใจหรือเสียงกลืนอาหารของตัวเองดังชัดเจนขึ้นจนน่ารำคาญ

ประเภทของอาการ หูอื้อ ข้างเดียว ที่พบได้บ่อย

การจัดแบ่งประเภทของหูอื้อ จะถูกแบ่งออกเป็นชนิดที่ไม่อันตราย และชนิดที่เป็นอันตราย โดยสามารถสังเกตจากอาการเหล่านี้ อันได้แก่

1.หูอื้อแบบเสียงดังแหลม “วี๊ด”

เสียงวี๊ดๆ ในหู เหมือนกับมีแมลงอยู่ภายใน เกิดขึ้นได้จากความผิดปกติของหูชั้นใน

หรือส่วนของเส้นประสาทหูที่เสื่อมสภาพ ทำให้การได้ยินลดลง จะรู้สึกเหมือนกับมีแมลงมีชีวิตบินวนหึ่งอยู่ด้านใน

อาจะเป็นอาการหูอื้อข้างเดียวหรือจะเกิดขึ้นกับทั้งสองข้างก็ได้ ผู้ป่วยที่มีอาการหูอื้อในลักษณะนี้

จะทำให้รู้สึกหงุดหงิด นอนไม่หลับ จนคิดว่าเสียงในหูคือสาเหตุที่ทำให้นอนพักผ่อนไม่เพียงพอ

จนตามมาด้วยความเครียด และภาวะซึมเศร้า เป็นตัวเสริมให้อาการหูอื้อรุนแรงมากขึ้น

2.หูอื้อแบบได้ยินเสียง “ตุบๆ”

หูอื้อที่เหมือนกับการได้ยินเสียงหัวใจหรือชีพจรเต้นภายในหู มักจะพบในกลุ่มผู้ป่วยที่เป็นโรคเกี่ยวกับเนื้องอกในช่องหู (Glomus tumor)

ในการตรวจวินิจฉัย แพทย์สามารถจะได้ยินเสียงดังกล่าวเกิดขึ้นได้ด้วย

ภายในจะปรากฏเป็นเนื้องอกสีแดง อาจมีการลุกลามเกิดขึ้นได้หากไม่รีบรักษา ส่วนใหญ่มักจะเป็นอาการหูอื้อข้างเดียวมากกว่า

และเนื้องอกจะเกิดขึ้นเพียงครั้งใดข้างหนึ่งเท่านั้น โอกาสที่จะพบในหูทั้งสองข้างเป็นไปได้ยาก

3.หูอื้อจนได้ยินเสียงภายในร่างกายชัดเจนมากขึ้น

หูอื้อในลักษณะนี้ ให้สังเกตดูว่า เวลาพูดผู้ป่วยจะได้ยินเสียงของตัวเองดังกว่าปกติ

ได้ยินชัดเจนเหมือนกับกำลังพูดกับตัวเอง สาเหตุมักมาจากความผิดปกติของหูชั้นนอก

หรือส่วนของหูชั้นกลาง พบมากในผู้ป่วยโรคภูมิแพ้ ซึ่งจะทำให้ท่อระบายอากาศของหู (Eustachian tube) เกิดการบวมตัว

ไม่สามารถถ่ายเทอากาศออกมาได้ ซึ่งอาการจะค่อยๆ ทุเลาลงเมื่อภูมิแพ้ดีขึ้น

แต่สามารถกลับมาเป็นได้อีกเมื่อร่างกายได้รับสารกระตุ้นจนทำให้ท่อระบายอากาศหูบวมตัวอีกครั้ง

ถือว่าเป็นอาการที่มาๆ ไปๆ ไม่ยอมหายถาวร นอกจากนี้อาจจะสังเกตได้อีกว่าในขณะขึ้นเครื่องบินหรือดำน้ำ

จะมีอาการปวดหูที่รุนแรงได้ แต่พบได้ไม่มากนัก หากอาการดังกล่าวเกิดขึ้น เสี่ยงที่จะมีความเกี่ยวข้องกับโรคมะเร็งโพรงจมูก

ซึ่งจะมีอาการหูอื้อข้างเดียวแสดงออกมาอย่างชัดเจน เพราะก้อนมะเร็งจะขยายใหญ่ อุดตันช่องทางระบายอากาศและการได้ยินเสียง

วิธีแก้หูอื้อ ข้างเดียว และการดูแลตัวเอง

เนื่องจากอาการหูอื้อ ทั้งหูอื้อข้างเดียว หรือสองข้าง สามารถเกิดขึ้นได้จากหลายปัจจัย

อาจจะเป็นอาการปกติธรรมดาที่เกิดขึ้นแล้วหายไปได้เองโดยไม่ทำให้เกิดอันตราย

หรืออาจจะเป็นหูอื้อที่มาจากโรคร้ายแรง ซึ่งหากเกิดขึ้นบ่อยๆ ไม่ยอมหายไปซักที

มีอาการปวดหูร่วมด้วยเป็นครั้งคราว ควรเข้ารับการตรวจจากแพทย์หู คอ จมูก โดยตรง

หูอื้อส่วนมากเป็นอาการที่ไม่รุนแรง ไม่มีอันตรายใดๆ แต่การที่เกิดขึ้นบ่อยๆ จะกระทบต่อคุณภาพชีวิต

รู้สึกรำคาญ นอนไม่หลับ จนกระทบต่อสุขภาพอื่นตามมา

อาการหูอื้อที่รุนแรงมักจะมาจากปัจจัยของโรค เช่น เนื้องอกประสาท Glomus tumor, มะเร็งที่อยู่ในโพรงหู

ที่ล้วนเป็นโรคที่รุนแรงควรรีบพบแพทย์ (แม้ส่วนใหญ่จะพบได้น้อยก็ตาม)

ผู้ป่วยที่มีอาการหูอื้อมาก จนแทบไม่ได้ยินเสียงเลยทั้งสองข้าง จะรบกวนคุณภาพชีวิตเป็นอย่างมาก

โดยเฉพาะในการสื่อสารกับบุคคลอื่น จะต้องรักษาด้วยการฟื้นฟู บำบัดการได้ยินใหม่ด้วยการใช้เครื่องช่วยฟังหรือยาที่ช่วยขยายหลอดเลือด

ทำให้เลือดไปเลี้ยงหูชั้นในได้มากขึ้น ร่วมกับยาบำรุงระบบประสาทภายในหู ที่จะช่วยบรรเทาอาการ ทำให้ผู้ป่วยได้ยินขึ้นบ้าง

อาการหูอื้อ ที่ควรเข้าพบแพทย์

เมื่อใดก็ตามที่เกิดอาการหูอื้อแบบผิดปกติ กระทบต่อการดำเนินชีวิตประจำวัน โดยสังเกตว่า

1.มีอาการหูอื้อร่วมกับประสิทธิภาพในการได้ยินลดลงไป วิงเวียนศีรษะ บ้านหมุน และทรงตัวไม่อยู่

2.หูอื้อภายหลังจากอาการหวัด หรือไข้หวัดใหญ่ บางรายเกิดขึ้นภายหลังการติดเชื้อภายในระบบทางเดินหายใจ หรือไซนัส

เมื่อโรคเหล่านี้หายไปแล้ว แต่กลับพบว่าอาการหูอื้อไม่ดีขึ้น อาการทรุดหนัก

สังเกตว่าภายใน 1 สัปดาห์ หลังจากโรคต่างๆ หายแล้ว แต่หูอื้อยังไม่ดีขึ้น

3.หูอื้อแม้จะใช้ชีวิตตามปกติ แบบไม่ทราบสาเหตุ และเกิดขึ้นบ่อย

ทั้งหมดนี้เป็นอาการที่อาจจะเกิดขึ้นพร้อมๆ กัน หรือเกิดขึ้นเพียงแค่ข้อใดข้อหนึ่งเท่านั้น

อย่างไรก็ตามหากสังเกตตัวเองว่ามีความใกล้เคียงกับที่กล่าวมา ก็ควรเข้ารับการตรวจจากแพทย์โดยด่วนที่สุด

หูอื้อข้างเดียว มีสาเหตุ และการรักษาอย่างไร ?

อาการหูอื้อข้างเดียว มักมีสาเหตุได้จากหลายปัจจัย ได้แก่

1.ไข้หวัดและการติดเชื้อภายในลำคอ อาการป่วยเนื่องจากต่อมทอนซิลอักเสบ หัด ไข้หวัดใหญ่

หรือการลุกลามของเชื้อโรคจากหวัด ลงสู่ลำคอ แล้วผ่านเข้าไปในท่อยูสเตเซียนจนถึงหูชั้นกลาง

จนก่อให้เกิดอาการอักเสบของเยื่อบุภายในหูชั้นกลาง ตัวท่อยูสเตเซียนมีอาการบวมจนอุดตัน

ซึ่งมักจะเป็นการอักเสบจากเชื้อแบคทีเรีย หากไม่รีบทำการรักษาจะลุกลาม กลายเป็นหนอง

จนทำให้ผู้ป่วยมีอาการไข้สูง หูอื้อ ปวดในช่องหู และเสี่ยงที่จะทำให้เยื่อแก้วหูทะลุ

หากหนองที่ขังอยู่สะสมในปริมาณมากจนไหลออกมา กลายเป็นภาวะ “หูน้ำหนวก” ที่เยื่อแก้วหูทะลุเป็นรูไปแล้วนั่นเอง

2.การอักเสบของหูชั้นกลางเฉียบพลัน เมื่อหูชั้นกลางเกิดการอักเสบแบบเฉียบพลัน

เป็นสาเหตุที่ทำให้หูอื้อข้างเดียวได้ง่าย เมื่อเกิดอาการดังกล่าวขึ้นแล้ว

จะต้องรีบทำการรักษา เพื่อป้องกันการลุกลามที่อาจรุนแรงจนทำให้หูหนวก

เชื้อโรคที่เกิดขึ้นภายในสามารถแพร่กระจายตัวเข้าสู่เยื่อหุ้มสมอง ทำให้เยื่อหุ้มสมองอักเสบ เป็นฝีภายในสมอง ซึ่งล้วนมีความรุนแรงและรักษาได้ยาก

การรักษา หูอื้อข้างเดียว

การรักษาอาการต่างๆ ที่ทำให้เกิดภาวะหูอื้อในลักษณะนี้ แพทย์จะต้องใช้วิธีการรักษาที่ถูกต้อง

เพื่อจะช่วยให้การอักเสบหายขาด ส่วนผู้ป่วยก็ไม่ควรปล่อยปละละเลย เพราะระบบการทำงานของหูอาจจะกลายเป็นหูน้ำหนักชนิดเรื้อรัง

หรือการอักเสบที่ส่งผลให้หูหนวกถาวรไม่สามารถกลับมาเป็นปกติได้อีก

พื้นฐานแล้วเมื่อผู้ป่วยมาพบแพทย์ด้วยอาการหูอื้อ ปวดหู หรือมีเสียงในหู แพทย์จะใช้เครื่องส่องหูที่เรียกว่า Otoscope ส่องตรวจภายในช่องหู เพื่อดูตั้งแต่ความผิดปกติของแก้วหูว่ามีอาการอักเสบเกิดขึ้นหรือไม่

หากพบจะให้รับประทานยาปฏิชีวนะร่วมกับยาลดไข้เป็นเวลา 10 วัน อาการจะค่อยๆ ดีขึ้น

ผู้ป่วยที่รับประทานยาแล้วไม่ได้ผล อาการทรุดลง แพทย์อาจจะส่องตรวจเพื่อหาหนอง ทำการเจาะด้วยเข็มเพื่อระบายหนองออกจากเยื่อแก้วหู

ที่จะช่วยบรรเทาอาการอักเสบ และแผลที่ถูกเจาะจะค่อยๆ หายสนิทได้เองภายใน 1-2 อาทิตย์

กรณีที่เกิดโรคไข้หวัด ทอนซิอักเสบ ไขหวัดใหญ่ และโรคหัด จะต้องรีบทำการดูแลรักษา

ซึ่งถือว่าเป็นต้นตอของการเกิดโรคภายในหู หากทำการรักษาโรคเหล่านี้ได้จนหายดี

เชื้อแบคทีเรียไม่ลุกลาม ก็จะไม่ทำให้เกิดอาการหูอื้อข้างเดียวตามมาได้นั่นเอง

ผู้ป่วยที่มีแก้วหูทะลุจนใกล้จะเป็นโรคหูน้ำหนวก แพทย์จะให้ยาปฏิชีวนะร่วมกับการนัดตรวจดูเป็นระยะๆ

เพื่อดูว่ารูที่ทะลุเริ่มปิดสนิทได้ดีแล้วหรือยัง โดยในระหว่างทำการรักษา

ผู้ป่วยจะต้องห้ามไม่ให้น้ำเข้าหู และหมั่นดูแลความสะอาดไม่ให้มีเชื้อโรคเข้าไปภายในเพิ่มได้อีก

หูอื้อข้างเดียว

Photo Credit : headmania.org

อย่างไรก็ตาม อาการหูอื้อ เกิดขึ้นได้จากหลายสาเหตุ การรักษาและดูแลตัวเองจึงแตกต่างกันออกไป

กรณีที่ไม่ได้มีอันตรายหรือมีอันตราย ก็ควรเข้ารับการตรวจหาต้นตอจากแพทย์ที่เชี่ยวชาญ

เพื่อทำให้การได้ยินกลับมามีประสิทธิภาพเต็มที่อีกครั้ง พร้อมทั้งช่วยป้องกันไม่ให้เกิดโรคร้ายแรง ที่สามารถลุกลามจนยากต่อการรักษาเอาได้ค่ะ