โรคที่เกี่ยวกับระบบสืบพันธุ์ของสาวๆ อาจจะไม่ใช่สิ่งที่ไกลตัวอีกต่อไป ด้วยความซับซ้อนของการทำงาน
ทำให้มันเสี่ยงต่อการเกิดโรคได้หลากหลายรูปแบบในอวัยวะเดียว
จะเห็นได้ว่าความเสี่ยงเหล่านี้เกิดขึ้นอย่างต่อเนื่องและเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ ไม่ว่าจะเป็นเนื้องอก มะเร็ง
ไปจนถึงความผิดปกติอื่นๆ ซึ่งหนึ่งในนั้นก็คือ เนื้องอกรังไข่ (Ovarian tumor) หนึ่งในโรคที่พบได้บ่อย
สามารถพบได้ไม่ว่าจะเป็นเด็กหรือผู้ใหญ่ ซึ่งชนิดของเนื้องอกจะมีทั้งแบบถุงน้ำที่เกิดขึ้นจากการทำงานของรังไข่โดยตรง (Functional ovarian cyst),
เนื้องอกรังไข่ชนิดที่ไม่ใช่เนื้อร้าย (Benign ovarian tumor) และเนื้องอกที่เป็นมะเร็งรังไข่ (Malignant ovarian tumor)
ซึ่งโอกาสที่เนื้องอกเหล่านี้จะกลายสภาพไปเป็นเนื้อร้ายมีไม่มากนัก
ราวๆ 6 เปอร์เซ็นต์เท่านั้น แต่หากเกิดขึ้นแล้ว สาวๆ ก็ต้องหมั่นเฝ้าระวัง เข้ารับการตรวจจากแพทย์อย่างสม่ำเสมอด้วย
เนื้องอกรังไข่ ที่ไม่ใช่เนื้อร้าย (Benign ovarian tumor)
เนื้องอกหรือถุงน้ำที่เกิดขึ้นภายในรังไข่ชนิดนี้ จะเกิดขึ้นจากการทำงานของรังไข่
พบได้บ่อยครั้ง และเกิดขึ้นแบบชั่วคราวในแต่ละรอบเดือน เนื้องอกบางชนิดที่เกิดขึ้นก็จะมีการผลิตมูกหรือน้ำภายใน
ทำให้เสี่ยงที่เติบโตขึ้นกลายเป็นถุงน้ำขนาดใหญ่ สามารถทำให้เกิดอาการเจ็บปวดอย่างรุนแรงได้หากถุงน้ำบิดตัวเป็นเกลียว
นอกจากน้ำและมูก ยังอาจพบเลือดปนอยู่ภายใน นานวันเข้าสามารถแตกตัวกลายสภาพไปเป็นช็อกโกแลตซิสต์ได้
หากเป็นถุงน้ำที่มีน้ำภายในใน จะพบได้มากในผู้หญิงอายุ 40-50 ปี พบได้ทั้งสองข้างของรังไข่
สามารถแปรสภาพกลายเป็นเซลล์มะเร็งได้ราว 25 เปอร์เซ็นต์ ส่วนถุงน้ำที่มีมูกภายใน
จะมีขนาดใหญ่กว่าชนิดแรกมาก มีโอกาสฉีกขาดหรือแตกออกมา พบได้ในช่วงอายุ 20-40 ปี
มีโอกาสเป็นมะเร็งได้ราว 5 เปอร์เซ็นต์ ผู้หญิงบางคนยังสามารถพบทั้งก้อนเนื้อและถุงน้ำอยู่ร่วมกัน แต่ส่วนใหญ่ก็จะมีโอกาสเสี่ยงเป็นมะเร็งได้น้อยมาก
เนื้องอกรังไข่ ชนิดที่เป็นเนื้อร้าย (Malignant ovarian tumor)
เนื้องอกในรังไข่ที่แปรสภาพกลายเป็นเนื้อร้าย ซึ่งเรียกกันว่ามะเร็งรังไข่
พบได้ไม่บ่อยนัก และจะไม่แสดงอาการให้เห็นในระยะแรกๆ จนกว่าโรคจะลุกลามไปมาก
หรือตรวจพบเนื้องอกโดยบังเอิญจากการวินิจฉัยโรคอื่นๆ พบได้มากในผู้หญิงอายุ 35 ปีขึ้นไป
ความอันตรายของมะเร็งชนิดนี้ คือมักตรวจพบในระยะที่โรครุนแรงแล้ว (ระยะที่ 3 ขึ้นไปที่จะแสดงอาการ)
อาจพบเนื้องอกได้ทั้งข้างใดข้างหนึ่งหรือทั้งสองข้างของรังไข่ พบเลือดออกผิดปกติภายในช่องคลอด
อ่อนเพลีย เบื่ออาหาร ปวดท้องน้อย เจ็บท้องน้อยขณะมีเพศสัมพันธ์ กลั้นปัสสาวะไม่อยู่
ท้องอืด เบื่ออาหาร และอาจพบอาการอื่นๆ ตามมา ขึ้นอยู่กับการกระจายตัวของเซลล์มะเร็ง
เนื้องอกรังไข่ กับอาการที่ผู้หญิงควรสังเกต
โดยส่วนมากแล้ว เนื้องอกรังไข่ หากมีขนาดเล็กจะไม่แสดงอาการให้เห็น
แต่จะเริ่มปรากฏความผิดปกติต่อเมื่อเนื้องอกมีขนาดใหญ่ขึ้น ซึ่งเนื้องอกรังไข่
ไม่ว่าจะเป็นชนิดไหน มักจะมีอาการใกล้เคียงกัน ซึ่งที่พบได้บ่อยเมื่อมันมีขนาดใหญ่ขึ้น
คือสามารถคลำพบก้อนที่ท้องน้อย รู้สึกปวดท้องน้อยบ้าง บางรายอาจสังเกตเห็นว่าตัวเองมีท้องบวมขึ้นผิดปกติจากที่ไม่ใช่คนอ้วน
ประจำเดือนมีการเปลี่ยนแปลง ปัสสาวะบ่อยขึ้น ท้องผูก ถ่ายอุจจาระลำบาก
ซึ่งมักจะพบได้ในกรณีที่ก้อนเนื้องอกขยายขนาดจนใหญ่ขึ้นมาก ทำให้ไปกดทับอวัยวะข้างเคียง
ในบางรายอาจพบภาวะแทรกซ้อนแบบเฉียบพลันเรียกว่า ภาวะรังไข่บิดตัว (Twisted ovarian tumor)
ทำให้เกิดอาการปวดขึ้นมาอย่างรุนแรง และมีไข้อ่อนๆ ร่วมด้วย บางรายที่ไม่มีอาการใดๆ เกิดขึ้น
อาจตรวจพบโดยบังเอิญจากแพทย์ด้วยการตรวจภายในประจำปี หรือการตรวจวินิจฉัยโรคทางสูตินรีเวชอื่นๆ
กรณีที่ก้อนเนื้อเติบโตอย่างรวดเร็ว อาจจะทำให้ผู้ป่วยรู้สึกเบื่ออาหาร น้ำหนักลดลง
มีภาวะท้องมาน พบได้บ่อยในรายที่เนื้องอกกลายสภาพไปเป็นมะเร็งรังไข่
สาเหตุของการเกิดเนื้องอกรังไข่
ปัจจัยเสี่ยงหรือสาเหตุที่ทำให้เกิดโรคมะเร็งรังไข่ในปัจจุบัน ยังไม่สามารถทราบอาการที่แน่ชัดได้
แต่เชื่อว่ามาจากสภาพแวดล้อมทั้งภายนอกและภายในเป็นตัวกระตุ้น ได้แก่
1.เนื้องอกรังไข่ที่มาจากถุงน้ำ ซึ่งเกิดขึ้นตามธรรมชาติจากการทำงานของรังไข่
พบได้ในผู้หญิงวัยมีประจำเดือนทุกคน ถุงน้ำอาจจะขยายตัวจนใหญ่ขึ้นหรือมีขนาดเท่าเดิมก็ได้
พบได้น้อยมากที่จะเปลี่ยนสภาพกลายเป็นเนื้อร้าย
2.กรรมพันธุ์ภายในครอบครัว คนที่ญาติพี่น้องมีประวัติเคยป่วยเป็นมะเร็งมาก่อน
3.การเข้าสู่วัยทอง ทำให้ฮอร์โมนเปลี่ยนแปลง เสี่ยงต่อการเกิดเนื้องอกรังไข่ พบในช่วงอายุตั้งแต่ 50 ปีขึ้นไป
4.มีประจำเดือนตั้งแต่อายุยังน้อย ในเด็กที่มีประจำเดือนตั้งแต่อายุ 11 ปี จะมีความเสี่ยงเมื่อโตขึ้น
5.กินยาต้านฮอร์โมนเพศหญิง
6.การสูบบุหรี่
7.การกินยาคุมกำเนิดติดต่อกันเป็นเวลานาน
8.เป็นโรคอ้วน ทำให้ฮอร์โมนในร่างกายเสียสมดุล
เนื้องอกรังไข่กับการรักษา
ในขั้นตอนของการรักษาเนื้องอกรังไข่ แพทย์จะต้องทำการวิเคราะห์ก่อนว่าเนื้องอกที่เกิดขึ้น
เป็นถุงน้ำ หรือเนื้องอก ซึ่งยังจะมีการนำเอาเนื้อเยื่อไปตรวจหาเซลล์มะเร็งด้วย หากมีขนาดไม่ใหญ่
เป็นสิ่งที่เกิดขึ้นตามธรรมชาติ จะใช้วิธีเฝ้าสังเกตอาการโดยไม่ต้องทำอะไร ส่วนมากจะหายไปได้เองในที่สุด
บางรายอาจแนะนำให้ทานยาเม็ดคุมกำเนิดที่มีฮอร์โมนรวม พร้อมกับการตรวจติดตามต่อไป
หากก้อนที่พบไม่หายไป ก็จะถือว่าเป็นเนื้องอกรังไข่จริงๆ จากนั้นจะทำการตรวจเลือดเพื่อดูค่าของสารมะเร็ง ว่ามีโอกาสเสี่ยงที่จะเป็นโรคมะเร็งมากน้อยแค่ไหน
Photo Credit : livestrong.com
หากถุงน้ำไม่ได้มีความเสี่ยงเป็นโรคมะเร็ง และมีขนาดเล็กอยู่ ประมาณ 5-7 เซนติเมตร ไม่เกินไปกว่านี้
จะใช้การตรวจติดตาม ซึ่งสามารถยุบหายไปได้เองประมาณ 1-3 เดือน ขึ้นอยู่กับแต่ละกรณีด้วย
แต่หากเนื้องอกมีขนาดใหญ่มากกว่านี้ จะใช้วิธีผ่าตัดรังไข่เพื่อนำเนื้องอกออกไป
แต่กระนั้นก็จะมีการพิจารณาตามความเหมาะสม ไม่ว่าจะเป็นขนาดก้อนเนื้อไม่ยอมยุบตัวหลังจากการเฝ้าติดตาม
มีภาวะแทรกซ้อนเกิดขึ้นจากเนื้องอก หรือเนื้องอกที่เกิดขึ้นไม่ได้มาจากการทำงานของรังไข่
จะเห็นได้ว่าเนื้องอกรังไข่ สามารถเป็นได้ทั้งชนิดที่ไม่ร้ายแรง เมื่อเกิดขึ้นแล้วหายไปได้เองตามธรรมชาติ
แต่บางกรณีก็จะขยายตัวมากขึ้นจนต้องกำจัดออกไป เพื่อป้องกันผลข้างเคียง
รวมไปถึงการเฝ้าระวังติดตามการเปลี่ยนแปลงของเซลล์ที่อาจกลายสภาพเป็นมะเร็งรังไข่
ซึ่งแน่นอนว่าหากเกิดอาการที่ไม่พึงประสงค์ สาวๆ ก็ไม่ควรนิ่งนอนใจ เข้ารับการตรวจจากแพทย์จะดีกว่าค่ะ