โรคเวียนศีรษะในผู้สูงอายุ สาเหตุ อาการ และวิธีรักษาอย่างถูกต้อง

โรคเวียนศีรษะในผู้สูงอายุ สาเหตุ อาการ และวิธีรักษาอย่างถูกต้อง

โรคเวียนศีรษะในผู้สูงอายุ เป็นโรคที่สามารถเกิดขึ้นได้บ่อยกับผู้สูงอายุ และเป็นโรคที่ทำให้ผู้ป่วยต้องมาพบแพทย์อยู่เสมอ

แต่โดยทั่วไปแล้ว อาการเหล่านี้มักเกิดขึ้นเป็นครั้งคราว เนื่องจากความเสื่อมสภาพของทางร่างกายและอวัยวะหลาย ๆ ชนิด

หากนอนพักผ่อนไม่เพียงพอ หรือลุกขึ้นเร็วผิดจังหวะ ก็ย่อมสามารถทำให้เกิดอาการเวียนศีรษะได้ แต่จะมีอีกกรณีหนึ่งคือ

การเวียนศีรษะที่เกิดขึ้นแบบเรื้อรัง โดยเกิดขึ้นมากกว่า 1-2 เดือนขึ้นไป ซึ่งหากปล่อยไว้เป็นเวลานานอาจทำให้เกิดอันตรายกับผู้สูงอายุได้เลยทีเดียว

โรคเวียนศีรษะในผู้สูงอายุ คืออะไร?

โรคเวียนศีรษะในผู้สูงอายุ เป็นโรคที่ผู้สูงอายุจะมีอาการเวียนศีรษะขึ้นมาโดยไม่ทันตั้งตัว และมีอาการบ้านหมุนทำให้รู้สึกเหมือนจะหน้ามืด เป็นลม

พร้อมกับมีอาการอาเจียนและพะอืดพะอมร่วมด้วย ซึ่งทั้งนี้โรคเวียนศีรษะในผู้สูงอายุจะแบ่งอาการออกเป็น 2 แบบด้วยกันคือ

อาการเวียนศีรษะแบบฉับพลัน (Acute dizzness) โดยจะเกิดขึ้นในเวลาน้อยกว่า 1-2 เดือน และแบบเรื้อรังที่เกิดขึ้นอย่างต่อเนื่องในเวลามากกว่า 1-2 เดือนนั่นเอง

แต่ที่มักจะพบได้บ่อยที่สุดคือ อาการเวียนศีรษะแบบเรื้อรัง (Chronic dizziness) ซึ่งทำให้ผู้ป่วยไม่สามารถใช้ชีวิตตามปกติได้

เพราะผู้ป่วยจะรู้สึกทรงตัวได้ไม่ดี ทำให้มีโอกาสหกล้มได้สูง และหากหกล้มแรง ๆ ก็มีโอกาสที่จะทำให้กระดูกหัก

และเกิดปัญหาอีกมากมายตามมาได้ ด้วยเหตุนี้ หากละเลยการดูแลรักษาโรคเวียนศีรษะในผู้สูงอายุเป็นเวลานานก็จะทำให้ผู้ป่วยมีอาการซึมเศร้า

เนื่องจากไม่กล้าที่จะลุกขึ้นยืนด้วยตัวเอง อะไรที่เคยทำก็จะทำไม่ได้อย่างเช่นในอดีตเพราะกลัวหกล้ม เป็นเหตุให้รู้สึกอับอาย

รู้สึกว่าตัวเองกลายเป็นภาระของลูกหลาน ซึ่งท้ายที่สุดนั้นผู้ป่วยอาจจะรู้สึกตรอมใจ และไม่อยากมีชีวิตอยู่ได้

อันที่จริงแล้ว สาเหตุของโรคนี้อาจจะมีที่มาจากระบบต่าง ๆ อย่างหลากหลาย แต่ภาพรวมหลัก ๆ ก็คือ

เกิดจากการเสื่อมสภาพของเซลล์ต่าง ๆ รวมทั้งปัญหาสุขภาพร่างกายที่สะสมมาตั้งแต่วัยหนุ่มสาว

เพราะฉะนั้นนอกจากตัวผู้ป่วยจะต้องทำความเข้าใจกับเรื่องนี้แล้ว ลูกหลานที่ดูแลก็จะต้องเข้าใจเช่นกัน เพื่อให้เกิดความเข้าใจ

และกลายเป็นความเห็นอกเห็นใจ ให้กำลังใจ จะทำให้ผู้ป่วยมีแรงที่จะรักษาโรคและกลับมาใช้ชีวิตตามปกติได้เช่นเดิม

สาเหตุของโรคเวียนศีรษะในผู้สูงอายุ

ถึงแม้จะเกิดจากการเสื่อมสภาพของส่วนต่าง ๆ ในร่างกายตามที่กล่าวมาข้างต้น แต่อย่างไรก็ตาม แพทย์ก็ได้แบ่งสาเหตุของโรคเวียนศีรษะในผู้สูงอายุไว้ดังต่อไปนี้

ปัญหาเกี่ยวกับระบบประสาทและสมอง เช่น โรคพาร์กินสัน หรือโรคเส้นเลือดในสมองตีบ

ปัญหาเกี่ยวกับระบบหู เช่น น้ำในหูไม่เท่ากัน หินปูนในหูหลุดออกมา หรือมีก้อนเนื้องอกในหู จนทำให้เสียการทรงตัว

ปัญหาเกี่ยวกับความดันโลหิต โดยเฉพาะเรื่องของความดันโลหิตต่ำ

ปัญหาเกี่ยวกับลำคอ เช่น เป็นโรคกระดูกต้นคอเสื่อม คราบไขมันเข้าไปอุดกั้นหลอดเลือดที่จะเข้าไปเลี้ยงสมอง ซึ่งเป็นสาเหตุของโรคเส้นเลือดตีบบริเวณลำคอ

โรคเกี่ยวกับระบบตา เช่น ต้อหิน ต้อกระจก หรือต้อลม

โรคเกี่ยวกับจิตเวช เช่น โรคซึมเศร้า โรควิตกกังวล และโรคย้ำคิดย้ำทำ

ผลข้างเคียงของการใช้ยาบางชนิด เช่น ยาลดความดัน ยาแก้แพ้ ยานอนหลับ และยารักษาอาการทางจิตเวช

โรคอื่นๆ เช่น โรคเกี่ยวกับไขมัน โรคซีด หรือโรคเบาหวาน เป็นต้น

อาการของโรคเวียนศีรษะในผู้สูงอายุ

อาการเวียนศีรษะ ไม่ว่าจะเรื้อรังหรือไม่เรื้อรังนั้น ไม่มีอาการที่แตกต่างกันมาก เพราะส่วนที่แตกต่างคือเวลาที่เกิด โดยอาการที่สามารถสังเกตได้ง่าย มีดังต่อไปนี้

  • รู้สึกเวียนศีรษะ บ้านหมุนตลอดเวลา หลับตาแล้วลืมตาใหม่ก็ยังหมุนอยู่
  • รู้สึกหน้ามืด คล้ายจะเป็นลมตลอดเวลา ตัวเย็น มือและเท้าเย็น
  • รู้สึกอยากอาเจียน พะอืดพะอม แต่ไม่มีอะไรออกมา
  • ไม่สามารถทรงตัวได้อย่างมั่นคง เมื่อก้าวก็รู้สึกคล้ายกับจะล้ม หรือยืนไม่ติดพื้น
  • ทานอาหารไม่ค่อยได้ เพราะรู้สึกว่าตัวเองจะอาเจียน เนื่องมาจากการวิงเวียนที่เกิดขึ้น
  • นอนไม่หลับ เพราะเกิดความวิตกกังวลเกี่ยวกับอาการของโรคที่เกิดขึ้น รวมไปถึงการใช้ชีวิตในอนาคต

วิธีรักษาโรคเวียนศีรษะในผู้สูงอายุ

เนื่องด้วยปัญหาของโรคเวียนศีรษะในผู้สูงอายุ ส่วนมากแล้วมักจะเกิดจากสาเหตุต่าง ๆ ดังที่กล่าวมา เช่น ระบบหู ระบบประสาท

ระบบตา เป็นต้น เพราะฉะนั้นแพทย์จะต้องทำการวินิจฉัยเพื่อหาสาเหตุที่แท้จริง และทำการรักษาตามอาการต่อไป

เช่น การให้ยาควบคุมความดัน การให้ยาเพื่อรักษาโรคซึมเศร้า และถ้าหากยาชนิดไหนมีผลข้างเคียงที่รุนแรง

แพทย์อาจพิจารณาทำการเปลี่ยนยา เพื่อให้ผู้ป่วยรู้สึกดีขึ้นได้ นอกจากนี้ผู้ป่วยก็สามารถดูแลตัวเองในระยะเบื้องต้นได้ ด้วยการใช้ยาดม ยาหอม หรือทานอะไรเปรี้ยว ๆ เพื่อให้สดชื่น เป็นต้น

วิธีป้องกันโรคเวียนศีรษะในผู้สูงอายุ

วิธีป้องกันโรคเวียนศีรษะในผู้สูงอายุ ค่อนข้างจะทำได้ยาก เพราะร่างกายย่อมต้องมีการเสื่อมไปตามกาลเวลา

เพราะฉะนั้นวิธีที่ดีที่สุดคือ การดูแลสุขภาพตัวเอง และปฏิบัติตามคำแนะนำของแพทย์อย่างเคร่งครัด ด้วยวิธีดังต่อไปนี้

1.พักผ่อนให้เพียงพอ อย่างน้อยวันละ 8-10 ชั่วโมง และหมั่นออกกำลังกายเป็นประจำอย่างสม่ำเสมอ

2.พยายามทานอาหารให้ครบ 5 หมู่ เพื่อให้อาหารเหล่านี้เข้าไปซ่อมแซมส่วนที่สึกหรอของร่างกาย

3.หากมีโรคประจำตัว ควรปฏิบัติตามที่แพทย์สั่ง เพื่อป้องกันไม่ให้โรคมีความรุนแรงมากยิ่งขึ้น

4.ทันทีที่พบความผิดปกติเกี่ยวกับร่างกาย ควรรีบเดินทางไปพบแพทย์ในทันที

Credit : health.mthai.com

โรคเวียนศีรษะในผู้สูงอายุ เป็นโรคที่ดูไม่น่ากลัวมากนัก แต่ก็มีผลต่อคุณภาพของชีวิตผู้ป่วยเป็นอย่างมาก หากปล่อยทิ้งไว้เป็นเวลานาน

เพราะผลกระทบที่เกิดขึ้นอาจถึงขั้นทำให้ผู้ป่วยเป็นอัมพาต เป็นโรคซึมเศร้าที่เป็นผลให้ไม่อยากมีชีวิตอยู่ต่อได้ ควรดูแลเอาใจใส่

และให้กำลังใจผู้ป่วยอย่างใกล้ชิด และควรไปพบแพทย์ทันทีเมื่อเกิดความผิดปกติขึ้น เพียงเท่านี้ก็จะช่วยป้องกันโรคในระยะเบื้องต้นได้แล้ว