โรคนิ่วในต่อมน้ำลาย โรคต่อมน้ำลายอุดตันเกิดจากอะไร รักษาป้องกันได้อย่างไรบ้าง?

โรคนิ่วในต่อมน้ำลาย โรคต่อมน้ำลายอุดตัน เกิดจากอะไร

แม้ โรคนิ่วในต่อมน้ำลาย เป็นโรคที่มีโอกาสเกิดขึ้นได้น้อยมากถึงมากที่สุด และเป็นโรคที่ไม่ได้มีความรุนแรงมากนัก

แต่อย่างไรก็ตาม ก็ไม่อยากให้ทุกคนมองข้าม เพราะหากเป็นโรคนี้แล้ว ย่อมทำให้ผู้ป่วยมีความทรมานจากอาการปวดบวมของต่อมน้ำลายอยู่บ้างไม่น้อย

ดังนั้น เราจึงต้องศึกษาทำความเข้าใจโรคนี้กันให้มากขึ้น เพื่อที่จะได้รับมือป้องกัน วันนี้เราเลยมาแนะนำว่า

โรคนิ่วในต่อมน้ำลาย คืออะไร สาเหตุ อาการและวิธีรักษาป้องกันทำได้อย่างไรบ้าง? รู้แล้วจะได้หลีกเลี่ยงปัจจัยในการเกิดโรคนั่นเอง

โรคต่อมน้ำลายอุดตัน หรือนิ่วในต่อมน้ำลาย คืออะไร?

โรคต่อมน้ำลายอุดตัน หรือ นิ่วในต่อมน้ำลาย (Sialolithiasis) คือ การอุดตันที่เกิดขึ้นบริเวณท่อน้ำลายหรือต่อมน้ำลาย

จนทำให้เกิดเป็นก้อน ตกตะกอน ที่ทางแพทย์เรียกกันว่า “นิ่ว” โดยนิ่วตัวนี้จะเกิดบริเวณท่อน้ำลายตัวในของต่อมน้ำลาย

ซึ่งโดยปกติแล้ว นิ่วจะมีขนาดเล็กและสามารถหลุดออกไปยังท่อน้ำลายตัวนอกของต่อมน้ำลายเองได้

ซึ่งตัวท่อน้ำลายตัวนอกนี้ก็คือ ตัวที่ส่งน้ำลายออกไปทางช่องปากอีกที  โดยนิ่วจะเกิดบริเวณต่อมน้ำลายขนาดใหญ่ซึ่งมีอยู่ 3 จุด

คือ ต่อมน้ำลายหน้ากกหู ต่อมน้ำลายใต้ขากรรไกร และต่อมน้ำลายใต้ลิ้น ซึ่งกระจายกันอยู่ภายในหน้าทั้งด้านซ้ายและขวา

และสามารถเกิดการอุดตันได้หลายจุดพร้อมกัน แต่ก็สามารถหลุดออกมากับน้ำลายได้เองเช่นกัน

จากผลสำรวจพบว่าโรคต่อมน้ำลายอุดตันส่วนใหญ่มักเกิดในผู้ที่มีอายุ 30 ปีขึ้นไป แต่ก็พบในเด็กโตบ้างประปราย

สามารถเกิดได้ทั้งเพศชายและหญิง โดยโอกาสเกิดเท่าเทียมกัน นอกจากนี้ ยังพบว่าจุดที่เกิดการอุดตันบ่อยที่สุดคือ

บริเวณต่อมใต้ขากรรไกร โรคนิ่วต่อมน้ำลายอุดตันเป็นโรคที่มีโอกาสเกิดขึ้นได้น้อยมากซึ่งพบเพียงแค่ 1% ของจำนวนประชากรทั้งหมด

สาเหตุของโรคต่อมน้ำลายอุดตัน

สำหรับสาเหตุที่ทำให้เกิดโรคนิ่วในต่อมน้ำลาย ทางการแพทย์ยังไม่สามารถสรุปสาเหตุได้อย่างแน่ชัด

แต่เบื้องต้นจากการตรวจสอบที่บริเวณแกนกลางของนิ่วพบว่าเป็นสารประเภทโปรตีน ซากเซลล์ที่ตายต่างๆ ของแบคทีเรียที่อยู่ในต่อมน้ำลายนั้น

ส่วนบริเวณด้านนอกนิ่ว มักพบว่าเป็นสารแคลเซียมอยู่ประมาณ 80-90% ซึ่งแคลเซียมเป็นสารที่ช่วยทำให้การเอ็กซเรย์สามารถมองเห็นได้

แต่อีก 10-20% ของนิ่วไม่ได้มีส่วนประกอบของแคลเซียม จึงอาจจะต้องใช้วิธีการตรวจสอบโดยการส่องกล้อง เอ็กซเรย์คอมพิวเตอร์

หรือการเข้าเครื่องสแกน MRI เพื่อตรวจสอบ เป็นต้น แต่อย่างไรก็ตาม ทางแพทย์ก็สามารถสรุปว่าสาเหตุเบื้องต้นที่ทำให้เกิดโรคนี้ได้นั้น มีด้วยกันดังนี้

1.มีอาการติดเชื้อภายในช่องปาก จนทำให้เกิดการอักเสบอย่างเรื้อรังภายในช่องปาก

2.ภาวะร่างกายขาดน้ำ ทำให้ต่อมน้ำลายผลิตน้ำลายได้น้อย น้ำลายที่ผลิตขึ้นมามีความข้น และเกิดการตกตะกอน

3.การสูบบุหรี่ เพราะสารพิษที่อยู่ในบุหรี่เป็นตัวทำให้เกิดการอักเสบของท่อน้ำลายและต่อมน้ำลาย

4.มีความผิดปกติของแคลเซียมและเมตาบอลิซึม ซึ่งสาเหตุนี้ไม่เกี่ยวข้องกับกระบวนการสร้างแคลเซียมของร่างกายแต่อย่างใด เพราะถือเป็นแคลเซียมคนล่ะส่วนกัน

ปัจจัยเสี่ยงทำให้เกิดโรคนิ่วในต่อมน้ำลาย

นอกจากสาเหตุเบื้องต้นดังที่กล่าวมาแล้ว ก็ยังมีปัจจัยอื่นๆ ที่อาจทำให้เกิดโรคต่อมน้ำลายอุดตัน หรือเกิดนิ่วในต่อมน้ำลายได้เช่นเดียวกัน ซึ่งมีดังนี้

1.การดื่มน้ำน้อย ทำให้ต่อมน้ำลายมีการสร้างน้ำลายน้อย และน้ำลายเกิดความข้นผิดปกติ

2.ทานอาหารน้อย จึงทำให้ต่อมน้ำลายผลิตน้ำลายน้อยลง

3.ช่องปากสกปรก ทำให้เกิดเชื้อโรคและแบคทีเรียภายในช่องปาก ส่งผลทำให้ภายช่องปากเกิดอาการอักเสบเกิดขึ้น

อาการของโรคนิ่วในต่อมน้ำลายอุดตัน

อาการอุดตันของนิ่วในต่อมน้ำลาย มีทั้งในรูปแบบที่ปรากฏอาการให้ผู้ป่วยทราบและแบบที่ไม่ปรากฏอาการใดๆ เลย

เนื่องจากนิ่วต่อมน้ำลายมีขนาดที่เล็ก สามารถหลุดออกไปกับน้ำลายไปยังช่องปากได้ ซึ่งในกรณีที่ปรากฎอาการให้เห็นสามารถแบ่งออกเป็น 2 แบบได้ดังนี้

1.ท่อน้ำลายแบบที่ยังไม่อุดตัน

คือ รูท่อน้ำลายมีก้อนนิ่วขนาดเล็กอยู่บริเวณท่อน้ำลาย แต่ไม่ยอมหลุดออก และน้ำลายก็ยังสามารถไหลผ่านได้อยู่ โดยอาการที่พบ คือ

อาจจะมีอาการปวดบริเวณต่อมน้ำลายแบบเป็นๆ หายๆ และอาจจะมีอาการบวมๆ ยุบๆ ของต่อมน้ำลาย ซึ่งเวลาคลำจะพบว่าเป็นก้อนแข็งๆ

และหากมีการอักเสบเกิดขึ้นที่ต่อมน้ำลาย จะมีอาการปวด ร้อน และหากเป็นหนองจะส่งผลให้มีอาการไข้สูงและไข้ต่ำ ขึ้นอยู่กับการอักเสบว่าเรื้อรังหรือไม่

2.ท่อน้ำลายอุดตันแบบสิ้นเชิง

คือ การอุดตันของนิ่วที่ท่อน้ำลายบริเวณที่เปิดสู่ช่องปาก ส่งผลให้น้ำลายไหลสู่ช่องปากไม่ได้

เมื่อต่อมน้ำลายมีการสร้างน้ำลายอย่างเต็มที่ และเมื่อผู้ป่วยทานอาหารก็จะทำให้เกิดการสร้างน้ำลายเพิ่ม

ทำให้เกิดน้ำลายล้นอยู่ในต่อมน้ำลาย จะทำให้ผู้ป่วยเกิดอาการปวด และต่อมน้ำลายบวมโตจนทำให้ต้องหยุดการกิน

และเมื่อหยุดกินต่อมน้ำลายก็จะหยุดสร้างน้ำลาย และน้ำลายที่ค้างอยู่ ก็จะค่อยๆ ซึมผ่านท่อน้ำลายออกไป อาการปวดและบวมก็ค่อยๆ บรรเทาลง

แต่ในกรณีที่อุดตันจนน้ำลายไม่สามารถซึมผ่านได้ ผู้ป่วยก็จะมีอาการปวด และต่อมน้ำลายโตอยู่อย่างนั้น จนต้องไปพบแพทย์เพื่อรักษา

การวินิจฉัยโรค

ทางแพทย์มีการวินิจฉัยได้หลายทาง เช่น การตรวจสอบช่องปาก ตรวจสอบจากประวัติการตรวจร่างกายของผู้ป่วย

หรือการใช้มือคลำไปยังบริเวณต่อมน้ำลายที่เป็นก้อน แต่เพื่อความถูกต้องและชัดเจนของขนาดนิ่วรวมถึงบริเวณจุดที่เกิดนิ่ว

แพทย์จะทำการตรวจสอบโดยการเอ็กซเรย์แบบธรรมดา การเอ็กซเรย์เครื่องคอมพิวเตอร์ หรือจะเอ็กซย์แบบฉีดสีไปที่ท่อน้ำลาย

หรืออาจจะส่องกล้องตรวจที่ท่อน้ำลายก็ได้ เพื่อที่จะดูผลการเอ็กซเรย์ประกอบการวินิจฉัย

ซึ่งทางแพทย์อาจจะเลือกทำหลายๆ วิธีรวมกัน ขึ้นอยู่กับอาการของผู้ป่วยที่ตรวจพบ และดุลพินิจของแพทย์เอง

วิธีรักษาโรคนิ่วในต่อมน้ำลาย

การรักษามีหลากหลายวิธี ซึ่งก็ขึ้นอยู่กับขนาดของนิ่วว่ามีขนาดเล็กหรือใหญ่ขนาดไหน โดยแพทย์ผู้เชี่ยวชาญจะทำการรักษาตามขั้นตอนต่อไปนี้

1.ดื่มน้ำเยอะๆ หรือทานอาหารเปรี้ยวๆ หากตรวจสอบพบนิ่วมีขนาดเล็ก แพทย์จะให้ผู้ป่วยดื่มน้ำเยอะๆ หรือรับประทานของที่มีรสเปรี้ยว

เพื่อที่จะให้เกิดการผลิตน้ำลายมากขึ้นและนิ่วก็จะถูกขับออกมากพร้อมกับน้ำลายผ่านทางช่องปาก

2.รักษาด้วยวิธีนวด โดยแพทย์ผู้เชี่ยวชาญจะทำการนวดเพื่อดันให้นิ่วหลุดออกมา แต่แพทย์ก็ต้องมีความเชี่ยวชาญในด้านนี้โดยเฉพาะ เพื่อความปลอดภัยของผู้ป่วย

3.ส่องกล้องเพื่อเอาก้อนนิ่วออก ซึ่งเป็นวิธีรักษาเดียวกันกับการสลายนิ่วในไต เพื่อให้ขนาดของก้อนนิ่วเล็กลงจนสามารถเอาออกมาจากการส่องกล้องได้

4.ผ่าตัดเอาต่อมน้ำลายออก หากแพทย์พบว่ามีการอุดตันที่บริเวณน้ำลายบ่อยๆ และต่อมนั้นไม่สามารถสร้างน้ำลายได้อีกแล้ว

ทางแพทย์จะทำการตัดต่อมดังกล่าวออก แต่การผ่าตัดก็ไม่ได้ส่งผลกระทบกับการสร้างน้ำลาย เพราะร่างกายคนเรามีต่อมน้ำลายหลายจุด

วิธีป้องกันโรคนิ่วในต่อมน้ำลาย

เนื่องจากทางการแพทย์ยังไม่สามารถสรุปหาสาเหตุที่แท้จริงของการเกิดโรคนิ่วในต่อมน้ำลายได้อย่างชัดเจน

จึงยังไม่สามารถระบุวิธีการป้องกันที่แน่ชัดได้ แต่เบื้องต้นอาจจะมีหลายวิธีที่จะช่วยลดความเสี่ยงที่จะทำให้เกิดโรคนี้ได้ ซึ่งก็มีดังนี้

1.ดื่มน้ำให้มากๆ เพื่อให้ร่างกายมีการสร้างปริมาณน้ำลายได้มากขึ้น ลดความความข้นของน้ำลายได้นั่นเอง

2.งดสูบบุหรี่ เพื่อหลีกเลี่ยงสารเคมีหรือสารพิษที่จะเข้าสู่ร่างกาย เพราะสารพิษเหล่านี้ก็มีความอันตราย

ทำให้เกิดอาการอักเสบของท่อน้ำลายและต่อมน้ำลาย ซึ่งก่อให้เกิดอาการอักเสบชนิดเรื้อรัง ทำให้เกิดการตกตะกอนที่ท่อน้ำลายขึ้น จนกลายเป็นก้อนนิ่วได้

3.การรักษาความสะอาดภายในช่องปาก เพื่อลดปัญหาการติดเชื้อที่เกิดจากแบคทีเรียภายในช่องปาก ที่อาจจะส่งผลทำให้เกิดการอักเสบภายในต่อมน้ำลาย

โรคนิ่วในต่อมน้ำลาย โรคต่อมน้ำลายอุดตัน เกิดจากอะไร

Credit : medthai.com

แม้ว่ายังไม่มีการวินิจฉัยหาสาเหตุที่เกิด โรคต่อมน้ำลายอุดตัน ได้อย่างแน่ชัดว่าเกิดจากอะไร แต่จากข้อมูลเบื้องต้นที่ได้กล่าวไว้

ก็ทำให้เราสามารถทราบได้ว่าเหตุผลหลักๆ ซึ่งน่าจะมาจากต่อมน้ำลายมีการสร้างน้ำลายได้น้อยผิดปกติ และอาจจะเกิดได้จากหลายปัจจัย

แต่เราก็สามารถที่จะป้องกันหรือรักษาเบื้องต้นได้ โดยการพยายามดื่มน้ำในปริมาณที่มาก เพื่อช่วยให้มีการสร้างน้ำลายเยอะขึ้น

แต่ถึงอย่างไรก็ตาม หากเรารู้สึกว่ามีความผิดปกติทางร่างกาย ก็ควรไปพบแพทย์เพื่อวินิจฉัยและรับการรักษาอย่างถูกวิธีจะดีที่สุด