อาการเวียนศีรษะ พบได้ในทุกเพศทุกวัย แต่พบบ่อยในกลุ่มผู้สูงอายุ จัดเป็นอาการอย่างหนึ่งไม่ใช่โรค
ถ้าเป็นเพียงเล็กน้อยหรือเป็นพักๆ ก็ไม่จำเป็นต้องไปหาหมอ แต่หากพบว่ามีอาการเวียนศีรษะ และอาการอื่นๆ ร่วมด้วย
เช่น อาการเสียการทรงตัว หรือมีอาการคลื่นไส้ อาเจียน นั่นอาจเป็นสัญญาณเตือนให้ทราบถึง โรคนิ่วในหูชั้นใน หรือเรียกอีกชื่อว่า
โรคหินปูนในหูชั้นในเคลื่อน หรือ โรคเวียนศีรษะขณะเปลี่ยนท่า วันนี้เราเลยจะพาคุณมาทำความรู้จักโรคนี้กันมากยิ่งขึ้น
ใครมีอาการดังกล่าวบ่อยๆ อย่าชะล่าใจมองข้ามเป็นอันขาด เอาล่ะ โรคนี้เป็นอย่างไรบ้าง ไปติดตามกันเลยค่ะ
โรคนิ่วในหูชั้นใน คืออะไร?
โรคนิ่วในหูชั้นใน (benign paroxysmal positional vertigo: BPPV) เป็นโรคที่ก่อให้เกิดอาการเวียนศีรษะบ้านหมุนที่พบได้บ่อยที่สุด
โดยมีสาเหตุเกิดมาจากความเสื่อมของหูชั้นใน ซึ่งเป็นอวัยวะภายในที่ฝังอยู่ในกระดูกเทมโพราล (temporal bone)
มีอวัยวะที่สำคัญ 2 ส่วนคือ อวัยวะรูปหอยโข่ง (Cochlea) ทำหน้าที่เกี่ยวกับการได้ยิน และหลอดกึ่งวงกลม (semicircular canal)
ทำหน้าที่เกี่ยวกับการทรงตัว ซึ่งอวัยวะทั้งสองส่วนนี้จะต่อกันเป็นอวัยวะภายในหูชั้นใน รวมเรียกว่า แลบบิรินท์ (labyrinth)
โรคนี้จะพบตะกอนแคลเซียมสะสมอยู่ในบริเวณอวัยวะการทรงตัวในหูชั้นใน เมื่อมีการเคลื่อนไหวศีรษะจะเกิดการกระตุ้น
ให้เกิดการเคลื่อนที่ของตะกอนแคลเซียม ซึ่งจะเคลื่อนที่ได้เมื่อน้ำในหูชั้นในเคลื่อนไหว จึงมีผลไปกระตุ้นอวัยวะการทรงตัว
ทำให้เกิดอาการเวียนศีรษะบ้านหมุนขึ้นมาได้ ซึ่งพบได้ในคนอายุ 30-70 ปี พบในเพศหญิงมากกว่าเพศชาย
และมักพบในคนสูงอายุ โรคนิ่วในหูชั้นในสามารถเกิดในหูทั้งสองข้างได้ประมาณร้อยละ 15 และอาจพบร่วมกับโรคไมเกรน
อาการของโรคนิ่วในหูชั้นใน
โดยส่วนมากผู้ป่วยโรคนิ่วในหูชั้นใน มักจะมีอาการเวียนศีรษะ บ้านหมุน รู้สึกโคลงเคลง หรือเสียการทรงตัว
ในขณะที่เปลี่ยนท่าทางของศีรษะโดยเฉพาะในแนวดิ่งอย่างรวดเร็ว เช่น ขณะพลิกตัวในที่นอน, ขณะล้มตัวลงนอนหรือลุกจากที่นอน,
ก้มดูของหรือเงยหน้าขึ้นข้างบน อาการมักจะเป็นระยะเวลาสั้นๆ เป็นแค่ช่วงวินาทีที่ขยับศีรษะ
แล้วอาการจะค่อยๆ หายไป เมื่อขยับศีรษะในท่าเดิมอาการก็อาจกลับมาใหม่ได้ แต่อาการจะไม่รุนแรงเท่าครั้งแรก
ผู้ป่วยโรคนี้มักจะมีอาการเป็นซ้ำๆ เกือบทุกวัน หรืออาจเป็นได้หลายๆ ครั้งต่อวัน มักเป็นอยู่หลายวันแล้วจะค่อยๆ ดีขึ้นในเวลาเป็นสัปดาห์หรือเดือน
แต่จะไม่มีอาการหูอื้อ, สูญเสียการได้ยิน, หรือได้ยินเสียงผิดปกติในหู รวมถึงไม่มีอาการทางระบบประสาท เช่น แขนขาชาหรืออ่อนแรง
วิธีรักษาโรคนิ่วในหูชั้นใน
1.รักษาตามอาการและให้คำแนะนำ เช่น หลีกเลี่ยงท่าทางและกิจกรรมที่กระตุ้นให้เกิดอาการ รับประทานยาบรรเทาอาการเวียนศีรษะ
ซึ่งโดยส่วนมากอาการจะค่อยๆ ทุเลาลง โดยเฉพาะหลัง 1 เดือนขึ้นไป และอาจให้ยาก่อนจะทำกายภาพบำบัด
เพื่อลดอาการเวียนศีรษะที่อาจจะเกิดขึ้นในขณะทำกายภาพบำบัด ทำให้ผู้ป่วยทนต่อการทำกายภาพบำบัดได้ดีขึ้น
2.ทำกายภาพบำบัด เป็นวิธีการรักษาที่นิยมในปัจจุบัน และได้ผลในการรักษา ซึ่งจะทำการรักษาโดยแพทย์
ที่มีความชำนาญในการทำกายภาพบำบัดโดยเฉพาะ เพราะการบำบัดจะต้องทำการขยับศีรษะกับคอโดยใช้แรงดึงดูดของโลก
เพื่อเคลื่อนตะกอนหินปูนออกจากอวัยวะควบคุมการทรงตัว semicircular canal ที่ตะกอนหินปูนเคลื่อนไปรบกวน
จนเกิดอาการ ให้เข้าที่เดิมคือ utricle ซึ่งไม่ทำให้ผู้ป่วยมีอาการ แต่หากไม่มีความชำนาญในการทำกายภาพบำบัด
อาจทำให้เกิดการบาดเจ็บขึ้นได้ ซึ่งการรักษาด้วยการทำกายภาพบำบัดมีอยู่ด้วยกัน 2 วิธีคือ
การทำกายภาพบำบัดเพื่อเคลื่อนตะกอนหินปูนได้แก่ วิธีของ Semont กับ Epley (canalith repositioning therapy)
และการทำกายภาพบำบัดเพื่อให้เกิดการปรับสภาพของสมองได้เร็วขึ้น ได้แก่ Brandt และ Daroff หรือวิธี Cawthorne vestibular exercise
3.การผ่าตัด หากการรักษาตามอาการ และการทำกายภาพบำบัดไม่ได้ผลคือ ยังมีอาการเวียนศีรษะอยู่ตลอด
และมีอาการรุนแรง ไม่ดีขึ้น หรือกลับมามีอาการซ้ำบ่อยๆ แพทย์อาจแนะนำให้ผู้ป่วยทำการรักษาด้วยวิธีผ่าตัด
ซึ่งเป็นการรักษาเพื่อทำให้อาการเวียนศีรษะน้อยลงหรือหายไป การผ่าตัดที่นิยมทำคือ canal plugging surgery คือใช้ชิ้นส่วนของกระดูก
อุดอวัยวะควบคุมการทรงตัว semicircular canal ซึ่งจะทำให้ semicircular canal ไม่สามารถตอบสนองต่อการเคลื่อนตัวของหินปูนได้
ดูแลตัวเองอย่างไร? ไม่ให้อาการของโรคนิ่วในหูชั้นในกำเริบ
1.เวลานอน หลีกเลี่ยงการนอนราบ และควรหนุนหมอนสูง เช่น ใช้หมอนนอน 2 ใบ หรือใช้เตียงนอนปรับระดับให้ศีรษะสูง
2.หลีกเลี่ยงการนอนที่เอาหูด้านที่กระตุ้นให้เกิดอาการลง
3.ตอนตื่นนอนตอนเช้า ควรลุกขึ้นจากเตียงนอนอย่างช้าๆ และนั่งอยู่ตรงบริเวณขอบเตียงสัก 1 นาที
4.หลีกเลี่ยงการทำท่าทางที่ทำให้เกิดอาการ อย่างเช่น เงยหยิบสิ่งของที่สูง หรือการก้มเก็บสิ่งของ
5.ควรระวังเวลานอนบนเตียงสระผม หรือนอนบนเก้าอี้ทำฟัน เพราะอาจกระตุ้นให้เกิดอาการเวียนศีรษะได้
6.หลีกเลี่ยงการออกกำลังกาย ที่มีการเคลื่อนไหวของศีรษะ หรือลำตัวมาก
7.เวลาหยอดยาหยอดตา ควรพยายามหยอด โดยที่ไม่เงยศีรษะไปข้างหลัง
8.หลีกเลี่ยงการนอนหงาย ในท่าเงยคอ และหันไปทางหูด้านที่จะทำให้เกิดอาการ
9.เวลาทำอะไร ให้ค่อยๆ ทำอย่างช้าๆ เพื่อป้องกันไม่ให้เกิดอาการเวียนศีรษะ หน้ามืด บ้านหมุน
Credit : halsat.com
ซึ่งการรักษา โรคนิ่วในหูชั้นใน ด้วยการทำกายภาพบำบัด อาการจะเริ่มทุเลาลงเรื่อย และบางรายอาจหายขาดในเวลาต่อมา
แต่ถึงแม้อาการจะรักษาจนหายขาด แต่ผู้ป่วยก็ยังคงต้องทำกายภาพบำบัดด้วยตนเองอย่างสม่ำเสมอ
ตามคำแนะนำของแพทย์ เพื่อไม่ให้อาการของโรคนิ่วในหูชั้นในกำเริบขึ้นมาอีก