โรคมะเร็ง ถือว่าเป็นโรคยอดฮิตติดอันดับหนึ่งของโลก ที่มีความน่ากลัว และคร่าชีวิตผู้คนไปเป็นจำนวนมาก และเมื่อขึ้นชื่อว่าเป็นโรคมะเร็ง
มันก็คือมัจจุราชที่พร้อมจะทำลายชีวิตเราได้ทุกเมื่อโดยไม่ทันระวังตัว โดยเฉพาะในกลุ่มผู้หญิงที่มีความเสี่ยงต่อการเกิด “โรคมะเร็งรังไข่”
โรคร้ายแรง ที่มีอัตราการเสียชีวิตสูงเป็นอย่างมาก การเฝ้าระวังดูแลสุขภาพตัวเองอย่างสม่ำเสมอ จึงเป็นสิ่งสำคัญที่ผู้หญิงทุกคน พึงตระหนักก่อนที่ทุกอย่างจะสายเกินแก้เอาได้ค่ะ
ความสำคัญของรังไข่ในร่างกาย
ก่อนจะพูดถึงมะเร็ง สาวๆ ควรรู้จักหน้าที่ของรังไข่ก่อนว่า เป็นอวัยวะชิ้นสำคัญ ที่มีอยู่ในระบบสืบพันธุ์ของเพศหญิง
ลักษณะของรังไข่ จะเป็นรูปทรงคล้ายเมล็ดอัลมอนด์ อยู่ในตำแหน่งของปีกมดลูกทั้งสองข้าง ขนาดประมาณ 2 เซนติเมตร
หน้าที่สำคัญของมันคือ การผลิตฮอร์โมนเพศหญิง และผลิตไข่เพื่อส่งต่อไปผสมกับน้ำเชื้อของเพศชาย ทำให้เกิดการปฏิสนธิกลายเป็นตัวอ่อนที่จะเจริญเติบโตในโพรงมดลูกต่อไป
กลุ่มเสี่ยงของการเกิดโรคมะเร็งรังไข่
โดยมากเราจะพบมะเร็งชนิดนี้ในกลุ่มคนอายุตั้งแต่ 50 ปีขึ้นไป แต่ก็สามารถพบได้ในเด็กทีมีอายุน้อยกว่า 20 ปี
อันเนื่องมาจากหลายสาเหตุ ทั้งปัจจัยภายในและภายนอก โดยพันธุกรรมมีส่วนทำให้เกิดความเสี่ยงมากถึง 20 เปอร์เซ็นต์
มีการกล่าวว่า ในหญิงที่เป็นโสดไม่เคยตั้งครรภ์มาก่อน จะมีความเสี่ยงมากกว่า เนื่องจาก การตกไข่อย่างต่อเนื่อง ไม่มีช่วงเว้นระยะหยุดพัก
ไปจนถึ งกลุ่มคนที่กินยาฮอร์โมนต่างๆ ทำให้ฮอร์โมนในร่างกายถูกกระตุ้นและเสียสมดุล โดยเฉพาะในกลุ่มคนที่ทานยาคุมกำเนิดเป็นประจำ
นอกจากนี้ ยังมีในกลุ่มที่ขาดการออกกำลังกาย ทานผักผลไม้น้อย มีความเครียดสูง และไม่ค่อยดูแลสุขภาพ ก็มีโอกาสกระตุ้นทำให้ร่างกายเกิดโรคนี้ได้เช่นกัน
อาการผิดปกติที่ควรเฝ้าระวัง
สำหรับคนที่มีความเสี่ยงของการเกิดโรคมะเร็งรังไข่ ควรสังเกตความผิดปกติที่เกิดขึ้นกับตัวเอง อย่างสม่ำเสมอ
ซึ่งความเกี่ยวเนื่องของอาการ ที่พบจะแตกต่างจากอาการปวดประจำเดือนทั่วไป ซึ่งหากสังเกตให้ดีจะพบว่า
หากเป็นอาการปวดประจำเดือนตามปกติ จะปวดช่วงก่อนมีประจำเดือน 1-2 วันเท่านั้น แล้วอาการจะดีขึ้นตามลำดับ อาการจะปวดเพียงเล็กน้อย สามารถดำเนินชีวิตประจำวันได้ตามปกติ
ส่วนอาการปวดที่ต้องระวังคือ รู้สึกปวดท้องตลอดเวลา ที่มีประจำเดือน ปวดอย่างรุนแรงจนต้องนอนพัก ไม่สามารถทำงานได้
หากอาการนี้เกิดขึ้นก็ไม่ควรปล่อยทิ้งไว้และรีบเข้าพบสูตินารีแพทย์เพื่อหาสาเหตุโดยด่วน
ลักษณะของโรคมะเร็งรังไข่ที่ควรรู้
มะเร็งชนิดนี้ จะมีการจำแนกออกเป็น 3 กลุ่มหลักด้วยกัน คือ
1.Epithelial Tumors คือ มะเร็งเยื่อบุผิวรังไข่ เป็นมะเร็งที่ถือว่าพบได้มากที่สุดของกลุ่มมะเร็งชนิดนี้ เกือบร้อยละ 90
2.Sex Cord-Stromal Tumors คือ มะเร็งเนื้อรังไข่ เป็นมะเร็งที่พบได้น้อยมาก
3.Germ Cell Tumors คือ มะเร็งฟองไข่ พบได้ประมาณร้อยละ 10 ของมะเร็งรังไข่ และมีความเสี่ยงเกิดขึ้นได้ตั้งแต่เด็กอายุต่ำกว่า 20 ปี
อาการของโรคจะแบ่งออกเป็น 4 ระยะ โดยระยะแรกมะเร็ง จะยังไม่กระจายตัวและอยู่ในรังไข่เท่านั้น
หากตรวจพบทันก็สามารถทำการรักษาด้วยการผ่าตัดออก มีโอกาสหายขาดได้สูงมาก
แต่โอกาสพบในระยะนี้เป็นไปได้ยาก เนื่องจากโรคจะไม่ค่อยแสดงอาการออกมาให้เห็น เมื่อเข้าสู่ระยะที่สอง
มะเร็งจะเริ่มลุกลามเขาสู่อวัยวะใกล้เคียงบริเวณช่องเชิงกราน
ในมะเร็งระยะที่สาม เซลล์จะกระจายตัวออกจากช่องเชิงกรานไปบริเวณช่องท้องและต่อมน้ำเหลือง
เป็นระยะที่มักตรวจพบได้บ่อย ไปจนถึงมะเร็งระยะสุดท้ายคือระยะที่สี่ เซลล์มะเร็งกระจายตัวออกไปยังอวัยวะต่างๆ ในร่างกาย
ซึ่งถือว่าเป็นระยะที่ผู้ป่วยเสี่ยงต่อการเสียชีวิตได้สูงมาก แทบจะไม่มีโอกาสกลับมาใช้ชีวิตได้ตามปกติอีกครั้ง
อาการของโรคมะเร็งรังไข่
เนื่องจากอาการมักจะปรากฏในช่วงที่มะเร็งลุกลามเข้าสู่ระยะที่สามแล้วเป็นส่วนใหญ่
จะพบว่าผู้ป่วยมีการท้องโตมากขึ้น รู้สึกท้องอืด แน่นท้อง คลำเจอก้อนด้านในหากมีขนาดใหญ่ ทำให้เกิดอาการแน่นหรือปวดได้
ซึ่งหากก้อนมีขนาดใหญ่มาก ก็อาจจะเข้าไปเบียดอวัยวะใกล้เคียงอย่างลำไส้ใหญ่ส่วนปลาย ทำให้รู้สึกเหมือนอุจจาระไม่สุด ปวดถ่วง และต้องใช้แรงเบ่งมากกว่าปกติ
หากพบว่า มะเร็งกระจายตัวไปยังต่อมน้ำเหลือง และอวัยวะภายในช่องท้อง สังเกตได้ว่า ท้องจะบวมโตเหมือนคนอ้วน เนื่องจากมีน้ำสะสมอยู่ภายใน
ผู้ป่วยจะเริ่มรู้สึกเบื่ออาหาร เป็นไข้บ่อย ผอมแห้ง น้ำหนักลดลงอย่างรวดเร็ว หากอยู่ในวัยประจำเดือน
จะทำให้ ประจำเดือนมาผิดปกติ ฮอร์โมนทำงานผิดปกติ มีขนและหนวดขึ้น เสียงห้าวคล้ายผู้ชาย
ซึ่งเป็นอาการที่พบได้แต่ก็ไม่ใช่ทุกคน บางรายแม้มะเร็งจะลุกลามไปมากแล้ว แพทย์ก็อาจจะตรวจพบเพียงแค่ก้อนเนื้องอก โดยผู้ป่วยยังไม่แสดงอาการผิดปกติใดๆ เลยก็เป็นได้
หากตรวจพบมะเร็งรังไข่ ในกระบวนการรักษาแพทย์จะเป็นผู้วินิจฉัยเองว่า จะทำการรักษาแบบใด ขึ้นอยู่กับระยะของมะเร็งว่า ลุกลามไปมากน้อยแค่ไหนแล้ว
ซึ่งมีตั้งแต่การผ่าตัด การฉายรังสี ไปจนถึงการทำเคมีบำบัด หรือทำทั้งหมดควบคู่กันไป เพื่อกำจัดเซลล์มะเร็งและเข้าขัดขวางการกระจายตัว
โดยตัวผู้ป่วยเอง ก็จะต้องเข้ารับการรักษา พร้อมตรวจร่างกายอย่างสม่ำเสมอตามนัดหมายของแพทย์
credit : healthline.com
ส่วนสาวๆ ที่รู้ตัวว่าอยู่ในความเสี่ยง ก็ควรเข้ารับการตรวจร่างกายอย่างสม่ำเสมอ เพื่อจะได้ป้องกันการเกิดโรคร้ายแรงนี้
หรือหากตรวจพบก็จะได้พบในช่วงเริ่มต้น ที่จะช่วยให้ขั้นตอนใน การรักษามะเร็งรังไข่ ไม่ยุ่งยาก มีโอกาสหายกลับมาใช้ชีวิตได้อย่างปกติสุขอีกครั้งนั่นเองค่ะ