โรคเบลพาซี่ โรคหน้าเบี้ยวครึ่งซีก อันตรายที่คนวัย 40 ขึ้นไปต้องรับมือ

โรคเบลพาซี่ โรคหน้าเบี้ยวครึ่งซีก

โรคเบลพาซี่ เป็นอีกหนึ่งโรคที่น่ากังวลเป็นอย่างมากสำหรับคนอายุ 40 ปีขึ้นไป และสามารถสร้างความเสี่ยงให้กับ ผู้สูงอายุ ได้ด้วยเช่นกัน

ถือเป็นอีกหนึ่งโรคพื้นฐานที่จะต้องรู้และทำความเข้าใจ เราไปดูกันว่า โรคเบลพาซี่ คืออะไร อันตรายสำหรับ คนวัย 40 และคนสูงอายุอย่างไรบ้าง จะมีวิธีการไหนรับมือป้องกันได้ ไปดูกันเลยค่ะ

โรคเบลพาซี่ คืออะไร?

โรคเบลพาซี่ (Bell’s palsy) หรือ โรคอัมพาตเบลล์ ที่รู้จักกันดีใน ชื่อ โรคหน้าเบี้ยวครึ่งซีก คือ โรคที่เกิดจากความผิดปกติของเส้นประสาทบนใบหน้า

โดยเส้นประสาทบนใบหน้าจะเกิดการบวมเป็นบางจุด ซึ่งเส้นประสาทที่เกิดความผิดปกติ คือ เส้นประสาทที่ควบคุมกล้ามเนื้อบนใบหน้า

จึงจะทำให้ใบหน้าเบี้ยว แต่ภาวะที่เกิดขึ้นนั้นจะเป็นเพียงแค่ชั่วคราวเท่านั้น อาการนี้สามารถเกิดขึ้นกับกล้ามเนื้อส่วนอื่นของร่างกายด้วยเช่นเดียวกัน

สาเหตุของโรคเบลพาซี่

สำหรับสาเหตุของโรคเบลพาซี่ ยังไม่สามารถที่จะบอกสาเหตุของโรคที่ชัดเจนได้ แต่สำหรับสาเหตุที่ทางการแพทย์มีอยู่ในปัจจุบันถือเป็นสาเหตุที่เกิดขึ้นจากการสันนิษฐาน โดยสาเหตุเหล่านั้นมีดังนี้

การติดเชื้อ : การติดเชื้อถือเป็นสาเหตุหลักที่เกิดจากการสันนิษฐานที่ทำให้เป็นโรคเบลพาซี่ โดยผู้ป่วยสามารถที่จะติดเชื้อได้หลากหลายชนิด

เชื้อไวรัสเหล่านี้สามารถทำให้ระบบภูมิคุ้มกันในร่างกายอ่อนแอและปลายประสาทอักเสบได้ง่ายจึงไม่สามารถควบคุมกล้ามเนื้อได้เช่นเดียวกัน  โดยเชื้อไวรัสมีดังนี้

  • เชื้อ chickenpox and shingles virus (ทำให้เกิดโรคอีสุกอีใสและโรคงูสวัด)
  • เชื้อ coldsores and genital herpes virus (ชนิดเดียวกันกับการทำให้เกิดโรคเริมที่อวัยวะเพศ)
  • เชื้อ Epstein-Barr virus (เมื่อเป็นไข้จะทำให้ต่อมภายในร่างกายโตหรือบวมมากยิ่งขึ้น เช่น ต่อมทอนซิล)
  • เชื้อ cytomegalovirus (ทำให้เกิดโรคเริม)
  • เชื้อ mumps virus (ทำให้เกิดโรคคางทูม)
  • เชื้อ influenza B (ทำให้เกิดโรคไข้หวัดใหญ่สายพันธุ์ B)
  • เชื้อ coxsackievirus (ทำให้เกิดโรค มือ เท้า ปาก)

ความเครียด : ความเครียดเป็นปัจจัยสำคัญที่ทำให้เกิดโรคเบลพาซี่ โดยความเครียดนั้นสามารถที่จะเกิดได้จากหลากหลายรูปแบบ

เช่น ความเครียดจากที่ทำงาน ความเครียดจากการเข้าสังคม ซึ่งความเครียดเหล่านี้ที่เกิดขึ้นจะไม่เพียงแค่ส่งผลต่อสภาพจิตใจและความรู้สึกเท่านั้น

เพราะยังส่งผลต่อร่างกายความเครียดจะทำให้ระบบภูมิคุ้มกันภายในร่างกายต่ำลง และสามารถทำให้เชื้อโรคเข้าไปทำลายระบบประสาทจนทำงานผิดปกติได้

โรคประจำตัว : โรคประจำตัวหลายๆ โรคสามารถส่งผลทำให้ร่างกายเป็นโรคเบลพาซีได้ อย่างเช่น โรคเบาหวาน และโรคหลอดเลือดสมองตีบ

การเสริมความงาม : เป็นอีกสาเหตุที่สามารถเกิดขึ้นได้กับผู้หญิง โดยเฉพาะการเสริมความงามในรูปแบบของการฉีดหน้า

หรือเป็นการกระตุ้นเส้นประสาทและกล้ามเนื้อบนใบหน้า จะทำให้ปลายประสาทเกิดการอักเสบและไม่สามารถควบคุมได้

ไม่ใช่เพียงแค่การฉีดสารต่างๆ บนใบหน้าเท่านั้น แม้แต่การผ่าตัดก็สามารถส่งผลกระทบต่อปลายประสาทได้เช่นกัน

อาการของโรคเบลพาซี่

สำหรับอาการของโรคเบลพาซี่ ส่วนใหญ่แล้วมักจะเกิดขึ้นโดยที่ไม่ได้ตั้งตัวและมักจะเกิดขึ้นในตอนเช้า โดยอาการผิดปกติที่เกิดขึ้นนั้น มีดังนี้

  • ไม่สามารถหลับตาได้
  • ใบหน้าข้างใดข้างหนึ่งไม่สามารถขยับได้
  • ตาแห้ง
  • ปากเบี้ยว จนไม่สามารถที่จะดื่มน้ำได้ หรือทำกิจกรรมที่เกี่ยวข้องกับปากได้แม้แต่อย่างเดียว
  • พูดไม่ชัด
  • ปวดศีรษะ
  • ปวดหู
  • ปวดขากรรไกร

การวินิจฉัยโรคเบลพาซี่

สำหรับการวินิจฉัยโรคเบลพาซี่นั้น ทางการแพทย์ก็พอจะมีกระบวนการวินิจฉัยโรคนี้แบบโดยเฉพาะได้ เพื่อที่จะช่วยเพิ่มความแม่นยำในการวินิจฉัยโรค โดยมีวิธีวินิจฉัยดังนี้

การซักประวัติ : เป็นวิธีพื้นฐานของการวินิจฉัยโรค ถ้าจะต้องมีการตรวจสอบประวัติของผู้ป่วยโรคเบลพาซี่อย่างละเอียด รวมถึงพฤติกรรมในการใช้ชีวิตว่ามีความเสี่ยงในการที่จะทำให้เกิดโรคนี้หรือไม่

การตรวจโรค : การตรวจโรคอื่นๆ จะช่วยทำให้การวินิจฉัยโรคเบลพาซี่เป็นไปง่ายขึ้น เพราะโรคนี้ยังสามารถเกิดขึ้นได้จากหลายโรค

เช่น เนื้องอก โรคหลอดเลือดสมอง ซึ่งล้วนเป็นโรคที่ส่งผลกระทบต่อระบบประสาทบนใบหน้าได้มาก

การตรวจร่างกาย : แพทย์จะทำการตรวจร่างกายบริเวณศีรษะ คอ และหู ซึ่งเป็นการตรวจเส้นประสาทบริเวณนั้นๆ รวมถึงกล้ามเนื้อบริเวณนั้นเช่นกัน

การตรวจ EMG (Electromyography) : เป็นการตรวจด้วยคลื่นไฟฟ้า เพื่อเป็นการตรวจวัดเส้นประสาทและกล้ามเนื้อบริเวณนั้นว่าเกิดความเสียหายหรือไม่

การตรวจ MRI และ CT Scan : เป็นการตรวจเพื่อที่จะหาสาเหตุของการเป็นโรคเบลพาซี่ โดยส่วนใหญ่แล้วจะเลือกใช้วิธีนี้ในการตรวจ

เมื่อพบว่าอาการที่เป็นคล้ายกับการติดเชื้อแบคทีเรีย กะโหลกศีรษะแตก หรืออาจจะมีเนื้องอกในสมอง ซึ่งวิธีตรวจรูปแบบนี้จะช่วยวินิจฉัยได้ชัดเจนมากยิ่งขึ้น

วิธีรักษาโรคเบลพาซี่

สำหรับวิธีรักษาโรคเบลพาซี่สามารถรักษาให้หายได้ แต่อาจจะต้องใช้ระยะเวลาในการรักษาประมาณ 1-2 เดือน

เพื่อเป็นการฟื้นฟูระบบประสาทและกล้ามเนื้อบนใบหน้า ให้สามารถทำงานได้ตามปกติ ดังนี้

1.การใช้ยา การใช้ยาถือเป็นหนึ่งในทางเลือกของการรักษาที่แพทย์ส่วนใหญ่มักจะใช้กับผู้ป่วย โดยการใช้ยาเป็นทางเลือกสำหรับการรักษา

แพทย์จะจ่ายยาสเตียรอยด์ แต่จะอยู่ในปริมาณที่เหมาะสมกับร่างกายไม่มากหรือน้อยจนเกินไป โดยยาสเตียรอยด์ที่แพทย์จะทำการจ่ายให้กับผู้ป่วยมีดังนี้

ยาคอร์ติโคสเตียรอยด์ (Corticosteroids) : เป็นยาที่จะช่วยต้านการอักเสบและช่วยลดอาการบวมที่เส้นประสาทบนใบหน้า แต่อาจจะต้องใช้ระยะเวลาหลายวันในการรักษา

ยาต้านไวรัส (antiviral) : เป็นยาอีกหนึ่งชนิดที่จะได้รับการจ่ายมาจากแพทย์ แต่อาจจะไม่ได้มีประสิทธิภาพในการรักษาได้มาก

ยาเพรดนิโซโลน (prednisolone) : เป็นยาต้านการอักเสบอีกชนิด แต่จะช่วยในการฟื้นตัวของระบบเส้นประสาทของใบหน้า

และยังช่วยร่างกายยับยั้งสารที่จะทำให้เกิดการอักเสบ คือ prostaglandins และ leukotrienes

อย่างไรก็ตาม การใช้ยาสเตียรอยด์ในการรักษาโรคเบลพาซี่ ถึงแม้ว่าจะอยู่ในปริมาณน้อย แต่ร่างกายของแต่ละคน

จะมีภูมิต้านทานที่แตกต่างกัน ย่อมทำให้เกิดปัญหาในการรับยาได้ หรือจะเรียกได้ว่าเป็นผลข้างเคียงจากการได้รับยา เช่น

  • ผิวแห้ง
  • นอนหลับยาก
  • เวียนศีรษะ
  • อารมณ์แปรปรวน
  • คลื่นไส้
  • เหนื่อยง่าย

2.การกายภาพบำบัด สำหรับการกายภาพบำบัดเป็นอีกหนึ่งทางเลือกในการรักษา โดยเป็นการบริหารหน้าอย่างหนึ่ง

ซึ่งอาจจะต้องใช้การนวดเพื่อเป็นการบำบัดกล้ามเนื้อที่เกิดภาวะอัมพาตชั่วคราว สำหรับการนวดนั้นจะต้องมีการใช้น้ำมันหอมระเหย

เพื่อช่วยคลายเครียดให้กับผู้ป่วยและเพื่อเป็นการเพิ่มประสิทธิภาพในการรักษาได้มากยิ่งขึ้น

3.การรับประทานอาหาร การรับประทานอาหารเป็นอีกหนึ่งทางเลือกที่คล้ายกับการปรับพฤติกรรมของผู้ป่วย

แต่จะต้องเลือกรับประทานอาหารที่เน้นช่วยต้านการอักเสบ เช่น การเลือกรับประทานวิตามินบี 12 เพราะจะช่วยต้านการอักเสบได้นั่นเอง นอกจากนี้

ยังมีอาหารที่อุดมไปด้วยโอเมก้า 3 พริก กระเทียม และขมิ้นชัน ซึ่งล้วนเป็นอาหารที่มีส่วนประกอบของสารต้านการอักเสบปริมาณมาก

4.การผ่าตัด การผ่าตัดถือเป็นทางเลือกสุดท้ายในการรักษาโรคเบลพาซี่ เพราะต้องทำการผ่าตัดบนใบหน้า

และเสี่ยงกระทบต่อระบบประสาทการได้ยิน ซึ่งสามารถที่จะทำให้เกิดการสูญเสียการได้ยินแบบถาวร ถ้าหากเกิดข้อผิดพลาดในการผ่าตัด

แต่อาจจะต้องเลือกใช้การผ่าตัดสำหรับผู้ป่วยบางราย ซึ่งจะต้องทำการปรึกษาแพทย์อย่างละเอียด

วิธีป้องกันโรคเบลพาซี่

สำหรับโรคเบลพาซี่นั้นสามารถที่จะทำได้จากการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมการใช้ชีวิต เพื่อเป็นการลดความเสี่ยงที่จะทำให้เป็นโรคเบลพาซี่ โดยมีวิธีในการป้องกันโรคเบลพาซี่ ดังนี้

  • หลีกเลี่ยงการสูบบุหรี่
  • หลีกเลี่ยงการดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์
  • พยายามกำจัดความเครียด
  • ฝึกออกกำลังกาย แต่ควรเป็นการออกกำลังกายที่ไม่หนักจนเกินไป และยังสามารถที่จะช่วยผ่อนคลายความเครียดได้

Credit : dek-d.com

โรคเบลพาซี่ แม้คนเราจะมีความเสี่ยงในการเกิดโรคนี้ได้ง่าย แต่ก็สามารถที่จะรักษาให้ดีขึ้นได้ อย่างไรก็ตาม การหมั่นดูแลสุขภาพให้แข็งแรง

หลีกเลี่ยงปัจจัยในการเกิดโรค ก็ย่อมทำให้โอกาสในการเกิดโรคนี้น้อยลงแน่นอน และหากพบความผิดปกติก็ควรพบแพทย์เพื่อตรวจรักษาอย่างทันที