ส่วนใหญ่เราคงจะคุ้นชินกับชื่อของโรคเบาหวาน ที่เป็นโรคยอดฮิตของสังคมสมัยนี้ มากกว่าที่จะรู้จักกับ โรคเบาจืด
ที่เหมือนกับเป็นชื่อเรียกเล่นๆ แบบไม่มีจริง แต่ใครจะรู้ว่าโรคชนิดนี้เป็นหนึ่งในโรคที่ส่งผลกระทบต่อสุขภาพอยู่ไม่น้อย
แม้จะดูเป็นชื่อแปลกหู แต่นี่คือโรคที่ไม่ได้มีภาวะตรงข้ามกับโรคเบาหวานหรือเกี่ยวข้องกันแต่อย่างใด
แต่เกิดขึ้นจากความผิดปกติของร่างกาย ซึ่งอยู่ในภาวะดูดกลับน้ำได้น้อย
ผู้ป่วยที่เป็นโรคนี้มักจะมีอาการปัสสาวะสูงในแต่ละวัน ทำให้รู้สึกกระหายน้ำ และเกิดภาวะขาดน้ำหากปัสสาวะในปริมาณสูงมากๆ
ทำความเข้าใจเกี่ยวกับโรคเบาจืด
โรคเบาจืด (Diabetes insipidus) มีชื่อเรียกสั้นๆ ว่า DI แปลความหมายของโรคนี้อย่างให้เข้าใจง่ายๆ คือ
เป็นโรคที่ผู้ป่วยจะมีอาการปัสสาวะในปรมาณมาก ซึ่งเริ่มตั้งแต่ 2.5 ลิตรต่อวัน บางรายที่มีอาการรุนแรงมาก
อาจมีปัสสาวะสูงถึง 10-15 ลิตรต่อวันได้เลยทีเดียว เทียบกับคนปกติที่มักจะไม่เกิน 2 ลิตรเท่านั้น
โดยปัสสาวะที่ออกมาจะมีความเจือจางสูง ดังนั้นส่วนประกอบหลักของปัสสาวะคือน้ำเป็นหลัก
ส่วนสารต่างๆ จะมีปริมาณน้อยมาก ทั้งนี้โรคเบาจืด จะแตกต่างจากโรคเบาหวานอย่างสิ้นเชิง
แม้จะมีชื่อเรียกที่ดูเหมือนเชื่อมโยงกัน ทว่าโรคนี้ไม่มีผลเกี่ยวข้องใดๆ กับระดับอินซูลินและน้ำตาลเลย
โรคนี้พบได้ไม่บ่อยนัก อัตราส่วนในประชากร 20,000 คน จะพบประมาณ 1-3 คนเท่านั้น
ความผิดปกติของการเก็บน้ำภายในร่างกายที่มีความผิดปกติ อันเนื่องมาจากฮอร์โมน vasopressin
มีการควบคุมและสร้างด้วยสมองส่วนไฮโปทาลามัส โดยจะเชื่อมต่อกับต่อมใต้สมอง เมื่อฮอร์โมนถูกหลั่งออกมา
จะไปทำหน้าที่ส่งงานไตให้ดูดน้ำกลับเข้าร่างกาย เป็นการป้องกันภาวะขาดน้ำ แต่เมื่อภาวะผิดปกติเกิดขึ้น
ส่งผลให้ฮอร์โมนลดลงมากเกินไป ร่างกายจึงไม่สามารถกักเก็บน้ำเอาไว้ได้ตามปกติ จนเกิดเป็นภาวะขาดน้ำของร่างกายตามมานั่นเอง
ประเภทของการเกิดโรคเบาจืด
เบาจืดเกิดจากการทำงานที่ผิดปกติของร่างกาย ซึ่งจะมีการแบ่งต้นตอออกเป็น 4 ประเภทด้วยกันคือ
1.ความผิดปกติของไต (Nephrogenic diabetes insipidus) – เป็นความผิดปกติที่พบได้มากที่สุด
ซึ่งเกิดจากที่ไตไม่สามารถตอบสนองต่อฮอร์โมน หรือมีการตอบสนองได้น้อย อาจมาจากความผิดปกติทางพันธุกรรม หรือการได้รับยารักษาโรคบางชนิด
2.ความผิดปกติที่มาจากสมอง (Central หรือ Neurogenic diabetes insipi dus) – เป็นอีกหนึ่งความผิดปกติ
ที่พบได้บ่อยไม่แพ้กัน ซึ่งมีสาเหตุมาจากโรคที่เกิดขึ้นทางสมอง กระทบต่อการทำงานของฮอร์โมน
ทำให้เอดีเอชลดลง เช่น โรคเนื้องอกในสมอง, การผ่าตัดสมอง, โรคมะเร็งสมอง และอุบัติเหตุทางสมอง เป็นต้น
3.ความผิดปกติจากการตั้งครรภ์ (Gestational diabetes insipidus) – แม้จะเป็นสาเหตุที่พบได้น้อยมาก
ทว่าก็สามารถเป็นต้นตอทำให้เกิดโรคเบาจืดได้เช่นกัน โยในระหว่างการตั้งครรภ์
รกจะมีการสร้างเอนไซม์ Vasopressinase ขึ้นมา เป็นตัวการเข้าไปทำลายฮอร์โมนเอดีเอช
ปริมาณเอนไซม์ที่ถูกสร้างในปริมาณมากจนเกินสมดุล จะทำให้ไตดูดกลับน้ำเข้าสู่ร่างกายได้น้อยลงตามมาด้วย
4.ความผิดปกติจากอาการกระหายน้ำ (Dipsogenic diabetes insipidus) – ความผิดปกติในลักษณะนี้
ถือว่าพบได้น้อยมากที่สุดเมื่อเทียบกับความผิดปกติอื่น มาจากการทำงานของสมองในส่วนไฮโปรธาลามัส
ที่ทำหน้าที่สร้างฮอร์โมนเอดีเอช และควบคุมการทำงานของจิตใจ เมื่อผู้ป่วยเกิดความผิดปกติ
รู้สึกกระหายน้ำอย่างหนัก ทำให้การดื่มน้ำมากๆ ไปกระตุ้นให้ปริมาณปัสสาวะเพิ่มตามมา
อาการของโรคเบาจืด
อาการเบาจืด หากเกิดขึ้นจากภาวะเบาจืดโดยตรงมักจะมีอาการไม่แตกต่างกันนัก โดยหลักๆ ที่สังเกตได้คือ
ปริมาณปัสสาวะที่มากกว่าปกติ ปัสสาวะบ่อย และแต่ละครั้งมีปริมาณมาก ส่งผลกระทบต่อผู้ป่วย
ไม่ว่าจะเป็นเวลากลางวันหรือกลางคืน ร่วมกับอาการกระหายน้ำ อ่อนเพลีย ปัสสาวะรดที่นอน
รู้สึกวิงเวียนศีรษะ สับสน ความดันเลือดต่ำ หัวใจเต้นเร็ว กล้ามเนื้ออ่อนแรงเนื่องจากร่างกายขาดเกลือแร่
ปวดกล้ามเนื้อ และเป็นตะคริวบ่อย ส่วนกรณีที่มาจากสาเหตุอื่นๆ อันเป็นตัวการทำให้ฮอร์โมนผิดปกติ
หรือประสิทธิภาพการทำงานของไตที่ลดลง อาการจะแตกต่างกันไปตามโรคที่พบ
แต่สามารถสังเกตได้จากปริมาณปัสสาวะที่เพิ่มขึ้น และอาการกระหายน้ำอย่างหนัก
แนวทางในการดูแลรักษาโรคเบาจืด
การรักษาโดยทั่วไปจะเป็นการรักษาตามสาเหตุ และรักษาตามประเภทของเบาจืด
หากมีสาเหตุเกิดขึ้น อันเนื่องมาจากโรคหรือความผิดปกติที่เป็นผลกระทบต่อโรคนี้
แพทย์เลือกที่จะรักษาโรคที่เป็นต้นตอก่อน เพื่อปรับให้ฮอร์โมนเอดีเอชเพิ่มมากขึ้น ช่วยให้ไตสามารถดูดน้ำกลับเข้าสู่ร่างกายได้
บางครั้งแพทย์อาจมีการรักษาภาวะเสียสมดุลของเกลือแร่ร่วมด้วย หากผู้ป่วยมีอาการรุนแรงจากที่ร่างกายขาดแร่ธาตุอย่างหนัก
Photo Credit : soccerpluseducation.org
ในการดูแลตัวของผู้ป่วยโรคเบาจืด ทางที่ดีที่สุดคือการเข้ารับคำปรึกษาจากแพทย์ทันทีเมื่อพบความผิดปกติ
การรักษาที่ดีจะต้องใช้ยาตามคำแนะนำของแพทย์อย่างเคร่งครัด และเข้ารับการตรวจอย่างสม่ำเสมอ
ก็จะช่วยให้ประสิทธิภาพการรักษาดีขึ้น ช่วยให้ผู้ป่วยกลับมาหายเป็นปกติได้ในเร็ววันอย่างแน่นอนค่ะ