ไขมันพอกตับ (fatty liver disease) อีกหนึ่งปัญหาสุขภาพที่อยู่ใกล้ตัวคนเราอย่างมาก โดยเฉพาะกับคนที่ร่างกายมีไขมันสะสมเยอะ
ใครที่ชอบกินอาหารที่มีไขมันสูงยิ่งมีแนวโน้มเสี่ยงที่จะมีอาการไขมันพอกตับ มากทีเดียว วันนี้ไปติดตามกันดีกว่านะคะว่า
อาการไขมันพอกตับนั้นคืออะไร มีภาวะความรุนแรงอย่างไรบ้าง และควรรับมือป้องกันอย่างไร รีบติดตามกันดังนี้เลยค่ะ
ไขมันพอกตับ คืออะไร?
ภาวะโรคไขมันพอกตับ โดยส่วนมากแล้วมักจะเกิดในกลุ่มคนที่ดื่มสุราอย่างต่อเนื่องเป็นระยะเวลานาน จนเซลล์ของตับได้รับอันตราย
ซึ่งในระยะแรกจะมีไขมันมาพอกที่ตับ ถ้าหากหยุดดื่มสุราก็จะสามารถกลับสู่ปกติได้ แต่ถ้ายังคงดื่มอย่างต่อเนื่อง ตับจะกลายเป็นตับแข็ง
ซึ่งไม่สามารถกลับสู่ปกติได้ และภาวะไขมันพอกตับยังเกิดขึ้นได้กับคนอ้วนอีกด้วย เรียกว่าโรคไขมันพอกตับ (fatty liver disease)
fatty liver disease เป็นโรคที่เกิดจากการสังเคราะห์ไขมันในตับผิดปกติ ทำให้ไขมันโดยเฉพาะไตรกลีเซอไรด์ที่แทรกอยู่ในเซลล์ตับ
หากมีน้ำหนักที่มากเกินกว่า 5% ของตับ จะส่งผลให้ตับทำงานอย่างผิดปกติ ทำให้เกิดภาวะตับอักเสบ
และอาจจะพัฒนาเป็นตับแข็งได้ในที่สุด ซึ่งโดยส่วนมากแล้ว โรคไขมันพอกตับ (fatty liver disease) มักจะพบมากในกลุ่มคนที่อ้วนลงพุง
คือมีขนาดรอบเอวมากกว่าหรือเท่ากับ 40 นิ้ว หรือ 102 เซนติเมตร ในผู้ชาย และในผู้หญิง ขนาดรอบเอวเท่ากับหรือมากกว่า 35 นิ้ว
หรือ 88 เซนติเมตร และยังพบในกลุ่มผู้ป่วยโรคไขมันในเลือดสูง โรคเบาหวาน และโรคความดันโลหิตสูง
ความรุนแรงของโรคไขมันพอกตับ
ระยะที่ 1 คือ ระยะที่เนื้อตับมีไขมันสะสม แต่ยังไม่มีการอักเสบหรือเกิดพังผืดขึ้นในตับ
ระยะที่ 2 คือ ระยะที่ตับเริ่มมีอาการอักเสบ ซึ่งในระยะนี้หากไม่ควบคุมดูแลให้ดี และยังปล่อยให้การอักเสบดำเนินไปเรื่อย ๆ มากกว่า 6 เดือน อาจพัฒนากลายเป็นตับอักเสบเรื้อรัง
ระยะที่ 3 คือ ระยะที่มีการอักเสบอย่างรุนแรง ทำให้เกิดพังผืดในตับ และเซลล์ตับ จะค่อย ๆ ถูกทำลายลง
ระยะที่ 4 คือ ระยะที่เซลล์ตับถูกทำลายไปมาก ส่งผลให้ตับไม่สามารถทำงานได้อย่างปกติอีกต่อไป ทำให้ตับแข็งและอาจพัฒนากลายเป็นมะเร็งตับได้ในที่สุด
ซึ่งในระยะแรกของโรคไขมันพอกตับ โดยส่วนมากแล้วจะไม่มีการแสดงอาการใด ๆ ออกมา
และในบางรายแม้จะพัฒนาจนกลายเป็นตับอักเสบหรือตับแข็งก็ยังไม่มีการแสดงอาการ แต่ในบางรายในระยะแรกอาจจะมีอาการทั่ว ๆ ไป
เช่น อ่อนเพลียง่าย ไม่มีเรี่ยวแรง เบื่ออาหาร มีอาการอึดอัดหรือปวดแน่นบริเวณชายโครงด้านขวา
มีอาการท้องอืดท้องเฟ้อคล้ายอาหารไม่ย่อย มีอาการท้องผูกหรือท้องเสียเป็นประจำ และผู้ป่วยที่เริ่มมีอาการรุนแรง
อาจจะมีอาการคลื่นไส้ อาเจียน มีอาการดีซ่าน ตาเหลือง ตัวเหลือง ซึ่งโดยส่วนมากแล้วมักจะพบภาวะไขมันพอกตับ
จากการเข้ารับการเจาะเลือดตรวจสุขภาพประจำปี หรือตรวจทางการแพทย์ด้วยเหตุผลอื่น ๆ
สัญญาณเตือนที่อาจบ่งชี้ว่าตับเริ่มมีปัญหา
- รู้สึกเหนื่อย และอ่อนเพลีย
- ชายโครงด้านขวา มีอาการเจ็บตึง ๆ
- รู้สึกเบื่ออาหาร ทานไม่ลง และในบางครั้งมีอาการคลื่นไส้
- มีโรคประจำตัว อย่างเบาหวาน
- ระดับคอเสลเตอรอลกับไตรกลีเซอไรด์ในเลือดสูง
- น้ำหนักเยอะ และมีไขมันสะสมที่บริเวณหน้าท้อง
- ลดน้ำหนักอย่างไรน้ำหนักก็ไม่ยอมลง
คำแนะนำในการดูแลตัวเอง เมื่อป่วยเป็นไขมันพอกตับ
– ปฏิบัติตามคำแนะนำของแพทย์อย่างเคร่งครัด
– พบแพทย์ตามนัดเสมอ และรีบเข้าพบแพทย์ หากอาการแย่ลง หรือมีอาการที่ผิดไปจากเดิม
– รักษาควบคุมโรคที่เป็นสาเหตุทำให้เป็นไขมันพอกตับ อย่างเช่น โรคไขมันในเลือดสูง โรคความดันโลหิตสูง และโรคเบาหวาน
– ใช้ยาเท่าที่จำเป็น และควรเป็นยาที่แพทย์สั่งเท่านั้น
– งดทานยาหรือผลิตภัณฑ์เสริมอาหารที่นอกเหนือจากที่แพทย์สั่ง
– ควรออกกำลังกายแบบพอเหมาะในทุกวัน หรืออย่างน้อย 5 วันต่ออาทิตย์ โดยมีการพบว่าการออกกำลังกาย
สามารถช่วยในการลดภาวะอักเสบของตับได้อย่างชัดเจน ยืนยันได้จากผลการเจาะตับหรือผลตรวจเลือดค่าทำงานตับ ซึ่งทั่วไปพบว่า
ผู้ป่วยที่ออกกำลังกายจะมีน้ำหนักลดลง และมีการเปลี่ยนแปลงภาวะดื้อต่ออินซูลินที่มีอยู่เดิมให้ลดลง ก็จะสามารถช่วยคุมระดับน้ำตาลในเลือดให้ดีขึ้น
– ลดน้ำหนัก ควบคุมน้ำหนัก ไม่ให้เกิน
– จำกัดอาหารที่ให้พลังงาน โดยเฉพาะไขมันกับคาร์โบไฮเดรต
– งดเครื่องดื่มแอลกอฮอล์
โดยในการรักษาโรคไขมันพอกตับ จะมีอยู่ด้วยกัน 2 วิธี คือ ไม่ใช้ยาแต่ต้องดูแลตัวเองมาก ๆ ตามคำแนะนำ และใช้ยาในการรักษา
ซึ่งในปัจจุบันจะมีการใช้ยาอยู่ไม่กี่ชนิด และจากผลการวิจับพบว่ายาเหล่านี้สามารถช่วยลดการอักเสบของตับ
แต่ไม่สามารถช่วยลดพังผืดในตับ โดยการใช้ยาเพื่อรักษาโรคไขมันพอกตับ จะขึ้นอยู่กับดุลยพินิจของแพทย์
วิธีป้องกันไม่ให้ป่วยเป็นโรคไขมันพอกตับ
1.โรคไขมันพอกตับ Fatty Liver มีสาเหตุมาจากความอ้วน ดังนั้นแล้วการป้องกันที่ดีที่สุดก็คือ
การออกกำลังกายต่อเนื่องเป็นประจำอย่างน้อยอาทิตย์ล่ะ 5 วัน โดยควรออกกำลังกายทั้งแบบแอโรบิคกับแบบมีแรงต้าน
อย่างเช่น เดินเร็วเป็นเวลาครึ่งชั่วโมง ต่อด้วยการยกน้ำหนักแบบแรงกระแทกต่ำ
2.เน้นทานอาหารที่มีประโยชน์ต่อสุขภาพเป็นหลัก โดนเฉพาะอาหารไขมันต่ำ กากใยสูง และให้พลังงานต่ำ
3.เลิกดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ทุกชนิด ซึ่งเป็นการเพิ่มภาระให้ตับมากยิ่งขึ้น
4.เลิกใช้ยา ผลิตภัณฑ์เสริมอาหารหรือสมุนไพรที่ไม่จำเป็น เพราะจะทำให้ตับอักเสบ และอาจทำให้มีไขมันสะสมในตับเพิ่มขึ้น
โดยเฉพาะอาหารเสริมประเภทน้ำมันต่าง ๆ อย่าง น้ำมันอีฟนิ่งพริมโรส น้ำมันตับปลา และสมุนไพรต่าง ๆ
อย่างเช่น ขี้เหล็กหรือมะรุม เป็นสมุนไพรที่พบว่าทำให้ตับเกิดการอักเสบ
5.ตรวจสุขภาพเป็นประจำทุกปีห้ามขาด เพราะโดยส่วนมากแล้ว ผู้ป่วยโรคไขมันพอกตับจะพบอาการจากการเข้ารับการตรวจสุขภาพประจำปี
Credit : ourcpc.com
ไม่อยากเป็น ไขมันพอกตับ ก็ควรใส่ใจดูแลสุขภาพกันตั้งแต่เนิ่นๆ ด้วยการกินอาหารที่มีประโยชน์
ปรับเปลี่ยนพฤติกรรมการออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอ และหมั่นตรวจสุขภาพเป็นประจำทุกปี เพื่อป้องกันและรู้เท่าทันโรค
เพียงเท่านี้ก็จะช่วยให้คุณสุขภาพแข็งแรง ห่างไกลจาก โรคไขมันพอกตับ ได้แล้วค่ะ