ไตเป็นหนึ่งในอวัยวะส่วนสำคัญของร่างกาย มีขนาดประมาณกำมือ รูปทรงคล้ายถั่ว
ทำหน้าที่ควบคุมการทำงานต่างๆ ภายในร่างกายให้เป็นปกติ ซึ่งหลักๆ คือการขับของเสียที่มาจากกระบวนการเมตาบอลิซึมออกจากร่างกาย
และดูดกลับเอาส่วนที่สำคัญคืนมาด้วย ดังนั้นไตจึงทำหน้าที่อยู่ตลอดเวลา หากร่างกายรับสิ่งที่ไม่ดีเข้าไป
ก็จะส่งผลให้ไตต้องทำงานหนัก เพราะทำหน้าที่เปรียบเสมือนตัวกรองตามธรรมชาติ ไม่ว่าจะเป็นกรองเลือด
กรองเอาของเสียที่ละลายน้ำได้ออกทางปัสสาวะ ช่วยรักษาความดันเลือด
ความสมดุลของกรด-เบส และดูดน้ำ กรดอะมิโน และกลูโคสกลับมาเข้ามา
ด้วยหน้าที่อันมากมายของไต จึงทำให้มันเกิดความเสื่อมสภาพลงได้ง่ายก่อนวัยอันควร
โดยเฉพาะ “โรคไตวายเฉียบพลัน” (Acute renal failure) ที่มักไม่บอกกล่าวล่วงหน้า
เป็นอาการแทรกซ้อนที่ผู้ป่วยจะต้องคอยระวัดระวังตัวเป็นอย่างมาก เกิดขึ้นได้จากหลายสาเหตุ
แต่มักพบจากการสูญเสียน้ำหรือเลือด ทำให้ไตได้รับน้ำไม่เพียงพอ เพื่อเป็นการป้องกันความเสี่ยงตั้งแต่เนิ่นๆ
เราจึงควรหันมาใส่ใจกับการเฝ้าระวังสุขภาพ เพื่อจะได้ช่วยเหลือได้อย่างทันการเมื่อเกิดเหตุฉุกเฉินขึ้นนั่นเองค่ะ
อะไรคือไตวายเฉียบพลัน ?
โรคไตวายเฉียบพลัน เป็นอาการที่สามารถเกิดขึ้นได้โดยที่ผู้ป่วยไม่ทันได้ตั้งตัว เกิดขึ้นได้ทีนที
โดยมีสาเหตุจากความผิดปกติต่างๆ ภายในร่างกาย เป็นภาวะแทรกซ้อนที่มักพบได้ในกลุ่มที่เสียเลือดและน้ำมากๆ
ทำให้การทำงานของไตสูญเสียหน้าที่อย่างรวดเร็ว ส่งผลให้ของเสียคั่งค้างอยู่ภายในเลือด
ระดับกรด-เบส ไม่สมดุล เซลล์ต่างๆ ทำงานแบบไม่เป็นปกติ มีการคั่งของเกลือแร่และกรด
ของเสียที่เกิดขึ้นไม่ถูกกำจัด จนทำให้ปริมาณสะสมมากขึ้น ระบบการทำงานภายในร่างกายผิดปกติอย่างหนัก
และหายไตหยุดทำอย่างรวดเร็ว จะทำให้เซลล์ต่างๆ ไม่สามารถปรับตัวได้ทัน
เสี่ยงต่อการเสียชีวิต หากไม่ได้รับการรักษาอย่างเร่งด่วน
สาเหตุของการเกิดโรคไตวายเฉียบพลัน
สาเหตุที่ทำให้เกิดโรคไตวายเฉียบพลัน มักมาจากโรคที่เกิดขึ้นภายในร่างกาย การสูญเสียน้ำและเกลือแร่
ซึ่งอาจจะมาจากภาวะท้องร่วงอย่างรุนแรง ทำให้ความดันเลือดลดต่ำ การสูญเสียเลือดมากจากการบาดเจ็บ
การผ่าตัด หรือจากโรคประจำตัวที่ทำให้เกิดภาวะเลือดออก หากร่างกายไม่ได้รับเลือดทันเวลา จะทำให้ช็อกและเสียชีวิตได้อย่างรวดเร็ว
เรายังพบว่าการได้รับสารบางชนิดที่เป็นพิษกับไต ไม่ว่าจะเป็นจากยาบางชนิด สารเคมีอันตรายที่ร่างกายได้รับเข้าไป
การถูกพิษของแมลงหรือสัตว์ พิษจะถูกส่งเข้าไปทำลายที่ไต แต่กลับเป็นตัวทำให้เกิดไตวายเฉียบพลันได้
นอกจากนี้เมื่อร่างกายเกิดภาวะความดันเลือดต่ำเป็นเวลานาน ติดเชื้อในกระแสเลือด
ผู้ป่วยที่เป็นโรคไตบางชนิด การให้เลือดผิดหมู่ จนทำให้ฮีโมโกลบินกระจายตัวอย่างอิสระในเลือด
เนื้อเยื่อภายในร่างกายถูกทำลายอย่างหนัก และการอุดตันของทางเดินปัสสาวะ ล้วนเป็นสาเหตุที่ทำให้เกิดโรคไตวายเฉียบพลันได้ทั้งสิ้น
อาการของโรคไตวายเฉียบพลัน
อาการที่ผู้ป่วยและคนใกล้ชิดควรสังเกต ว่าตนเองกำลังเผชิญกับการทำงานของไตที่ผิดปกติ
จนเสี่ยงทำให้เกิดไตวายเฉียบพลันหรือไม่นั้น ดูได้จากปริมาณปัสสาวะที่ลดลงอย่างรวดเร็ว โดยจะมีการแบ่งระยะออกเป็น 3 ระยะด้วยกัน คือ
1.ระยะก่อนไตวาย (Prerenal Failure) – เป็นระยะที่เหมือนกับภาวะร่างกายกำลังขาดน้ำ
ผู้ป่วยจะรู้สึกกระหายน้ำ ปัสสาวะน้อยลง ซึ่งอาจน้อยกว่า 400 มิลลิลิตรต่อวัน ตรวจพบระดับความดันต่ำ
เวียนหัว หายใจไม่สะดวก รู้สึกอึดอัด รู้สึกเหนื่อยแม้ในขณะนอนหลับ
ระยะนี้หากผู้ป่วยได้รับการรักษาอย่างทันการ ไตจะสามารถกลับมาทำงานได้ปกติภายใน 24-72 ชั่วโมง
2.ระยะไตวาย (Intrinsic renal failure) – ระยะนี้ จะเกิดขึ้นเมื่อการรักษาในระยะแรกทำได้ช้า
จะส่งผลให้เกิดอาการไตวายตามมา อาการผู้ป่วยจะเหมือนคนที่ป่วยเป็นโรคไตวายเรื้อรัง
มีอาการบวมน้ำ ปัสสาวะเป็นเลือด ความดันโลหิตสูง หลอดเลือดฝอยในไตถูกทำลาย
เสี่ยงต่อการเกิดภาวะกล้ามเนื้อลายสูญสลาย และเม็ดเลือดแดงแตกได้ง่าย
3.ระยะหลังไตวาย (Postrenal failure) – เป็นภาวะที่เกิดขึ้นภายหลังเกิดไตวายเฉียบพลัน
อาจมาจากการอุดตันของทางเดินปัสสาวะ มีความเสี่ยงต่อการเกิดนิ่วในไต
เนื่องจากมีสารที่ไม่ถูกกำจัดอยู่เป็นจำนวนมาก เกาะกลุ่มและตกผลึกจนกลายเป็นนิ่วในไตขึ้นมา
การรักษาโรคไตวายเฉียบพลัน
เนื่องจากไตวายเฉียบพลันจะต่างจากไตวายเรื้อรัง คือระยะเวลาที่เกิดขึ้นแบบไม่ทันตั้งตัว
เกิดขึ้นแบบกะทันหัน แต่สามารถรักษาให้หายเป็นปกติได้ ต่างจากไตวายเรื้อรัง ที่จะค่อยๆ ปรากฏอาการขึ้นมา
เมื่อเป็นแล้วจะไม่สามารถรักษาให้กลับมาหายเป็นปกติได้ ทำได้เพียงการรักษาแบบประคับประคองต่อไป
ดังนั้นการรักษาโรคไตวายเฉียบพลัน คือการรีบรักษาอย่างเร่งด่วน ด้วยการหาต้นตอที่ทำให้ไตทำงานผิดปกติ
จากนั้นก็เข้าสู่ขั้นตอนการรักษาให้ไตสามารถกลับมาทำงานได้ดังเดิม โดยแพทย์จะมีการป้องกันของเสียที่อยู่ในเลือด
ไม่เข้าไปทำลายอวัยวะอื่นๆ ภายในร่างกาย มีการจำกัดการดื่มน้ำ เพื่อควบคุมระดับของเหลว
ลดปริมาณปัสสาวะ ซึ่งช่วยลดการทำงานของไต บางรายอาจได้รับยาฆ่าเชื้อ
และยาขับปัสสาวะร่วมด้วยตามความเหมาะสม มีการควบคุมอาหาร
ให้รับสารอาหารในกลุ่มคาร์โบไฮเดรตมากขึ้น ลดโพแทสเซียม เกลือ และโปรตีนให้น้อยลง
ส่วนการล้างไตอาจจะต้องทำต่อเมื่อภาวะไตวายรุนแรงมากๆ วิธีนี้จะช่วยลดการสะสมตัวของสารในเลือดจนเป็นพิษ
ป้องกันความเสี่ยงที่จะทำให้การทำงานของอวัยวะอื่นๆ ล้มเหลวตามมา
Photo Credit : fondation-du-rein.org
ซึ่งหากการรักษาเริ่มตั้งแต่เนิ่นๆ ก็จะทำให้ไตกลับมาทำงานได้อย่างรวดเร็ว
ไม่เกิดความเสียหายมากนัก อีกทั้งยังป้องกันการเสียชีวิตให้น้อยลงด้วย
จะเห็นได้ว่า โรคไตวายเรื้อรัง เป็นสิ่งที่เราควรมุ่งเน้นใส่ใจ สังเกตสุขภาพของตัวเองอย่างสม่ำเสมอ
เพราะหากรู้ทันอาการที่เกิดขึ้น เข้ารับการรักษาอย่างรวดเร็ว ก็จะช่วยให้กลับมามีสุขภาพที่แข็งแรงได้ในไม่ช้าอย่างแน่นอนค่ะ