โรคกล้ามเนื้อหัวใจขาดเลือด (เฉียบพลัน) อันตรายเงียบที่คุณไม่เคยใส่ใจ

โรคกล้ามเนื้อหัวใจขาดเลือด อาการ วิธีการรักษา

โรคกล้ามเนื้อหัวใจขาดเลือด (เฉียบพลัน) เป็นโรคเกี่ยวกับหัวใจที่เรามักจะพบเห็นได้ทั่วไปตามละคร หรือนิยายต่าง ๆ มากที่สุด

ที่เมื่อถึงเวลาแสดงอาการ ผู้ป่วยก็จะมีอาการเจ็บปวดบริเวณหัวใจ จนถึงขั้นหมดสติได้ ซึ่งบางคนที่ได้เห็นก็อาจจะมีข้อสงสัยว่า

โรคนี้เกิดขึ้นจากอะไร ความเครียดมีส่วนที่ทำให้เกิดโรคนี้ได้จริงหรือไม่ และถ้าหากถึงขั้นต้องผ่าตัดจะมีโอกาสหายหรือเปล่า

เราจึงได้รวบรวมข้อสงสัยทั้งหมดที่มีเกี่ยวกับโรคนี้ มาไว้ในบทความนี้เป็นที่เรียบร้อยแล้ว

โรคกล้ามเนื้อหัวใจขาดเลือด (เฉียบพลัน) คืออะไร ?

โรคกล้ามเนื้อหัวใจขาดเลือด (เฉียบพลัน) (Argina Pectoris) เกิดจากปัญหาสำคัญ ก็คือ การที่เลือดจับตัวกันเป็นลิ่มหรือเป็นก้อน

จนไปอุดตันบริเวณหลอดเลือดหัวใจ ซึ่งทำให้เลือดไม่สามารถไปเลี้ยงที่หัวใจตามปกติได้

รวมทั้งยังไม่สามารถถ่ายออกซิเจนไปได้ด้วย หากทิ้งไว้ระยะนานก็อาจทำให้กล้ามเนื้อหัวใจตาย หรือที่เรียกกันว่าหัวใจวาย

โรคกล้ามเนื้อหัวใจขาดเลือด (เฉียบพลัน) นี้ เป็นโรคที่ได้รับการบันทึกไว้ว่า เป็นโรคที่เกี่ยวข้องกับหัวใจที่พบมากที่สุดเป็นอันดับ 1 ของโลก

มีโอกาสเกิดขึ้นในผู้ชายมากกว่าผู้หญิงเพียงเล็กน้อยเท่านั้น ที่น่าแปลกใจก็คือ เป็นโรคที่มีผู้เสียชีวิตเป็นอันดับต้น ๆ

ในบรรดาประเทศที่มีการพัฒนาทางด้านการแพทย์แล้ว รวมทั้งประเทศที่กำลังพัฒนาอย่างประเทศไทยด้วย

ปัจจัยที่ทำให้เกิดโรคกล้ามเนื้อหัวใจขาดเลือด (เฉียบพลัน)

สำหรับข้อดีของโรคนี้นั้น มีอยู่อย่างหนึ่งคือ มักจะไม่เกิดกับผู้ที่มีสุขภาพร่างกายแข็งแรง

(ยกเว้นผู้ที่มีกรรมพันธุ์คนในครอบครัวเคยเจ็บป่วย หรือเสียชีวิตด้วยโรคนี้มาก่อน) แต่สำหรับข้อเสียที่เรียกว่าสำคัญมาก ๆ

คือ มีปัจจัยเสี่ยงที่อาจจำให้เกิดโรคนี้เป็นจำนวนมาก โดยเฉพาะผู้ที่มีปัญหาสุขภาพดังต่อไปนี้

  • เป็นผู้สูบบุหรี่เป็นประจำ หรือต่อเนื่องมาเป็นระยะเวลานาน
  • ผู้ป่วยโรคเบาหวาน
  • ผู้ที่ขาดการออกกำลังกาย จนถึงขั้นเป็นโรคอ้วน (ประเมินได้จากการมีค่าดัชนีมวลกายเกิน 30 ขึ้นไป)
  • ผู้ที่เป็นโรคเครียด หรือมีภาวะเครียดแทบจะตลอดเวลา
  • ผู้ที่มีปัญหาเรื่องไขมันในเส้นเลือดสูง
  • ผู้ที่มีปัญหาเรื่องความดันโลหิตสูง
  • ผู้ป่วยโรคไตเรื้อรัง
  • ผู้สูงอายุที่ไม่ค่อยได้ดูแลสุขภาพตัวเอง (ชาย เริ่มที่ 55 ปี หญิง เริ่มที่ 65 ปี)

อาการของโรคกล้ามเนื้อหัวใจขาดเลือด (เฉียบพลัน)

เมื่อใดก็ตามที่หัวใจเริ่มขาดเลือด ผู้ป่วยจะรู้สึกเจ็บ หรือแน่นบริเวณหน้าอก คล้าย ๆ กับถูกกระแทก หรือถูกบีบบริเวณหน้าอกอย่างรุนแรง

ในรายที่มีอาการหนักมาก ๆ อาจเจ็บร้าวไปถึงบริเวณลิ้นปี่ ไหล่ คอ และหลัง ร่วมกับมีอาการคลื่นไส้อาเจียนอีกด้วย

บางรายอาจจะมีอาการหอบอย่างรุนแรง ทั้งที่ไม่เคยเป็นโรคหอบมาก่อน และถ้าหากมีอาการหัวใจขาดเลือดมาก อาจถึงขั้นหมดสติได้

ปกติแล้ว อาการโรคกล้ามเนื้อหัวใจขาดเลือด จะแสดงอาการตั้งแต่ 3-5 นาทีขึ้นไป ซึ่งผู้ป่วยอาจจะมีอาการดีขึ้น หรือแย่ลงก็ได้

ซึ่งลักษณะพิเศษของโรคนี้ที่สามารถสังเกตได้ง่าย นอกจากอาการเจ็บหน้าอกพียงอย่างเดียว คือการสอบถามคนรอบข้างว่า

ได้อยู่ในสถานที่ ๆ มีปัญหาเกี่ยวกับอุณหภูมิหรือไม่ (ร้อนจัด หรือเย็นจัด) ได้สูบบุหรี่หรือเปล่า หรือเกิดความเครียดใด ๆ ก่อนหน้านี้หรือไม่

เพราะถ้าหากเกิดปัจจัยเหล่านี้ก่อนหน้า ก็มีโอกาสที่จะเป็นโรคนี้ได้สูง และถ้าหากผู้ป่วยได้อมยาขยายหลอดเลือดไว้ใต้ลิ้น จะมีอาการดีขึ้นอย่างเห็นได้ชัด

วิธีรักษาโรคกล้ามเนื้อหัวใจขาดเลือด (เฉียบพลัน)

หากสงสัยว่าเป็นโรคนี้ แล้วแพทย์ได้วินิจฉัยว่าเป็นโรคกล้ามเนื้อหัวใจขาดเลือดจริง ก็จะมีแนวทางในการรักษา ตามความรุนแรง 3 วิธี คือ

การรักษาด้วยยา หากผู้ป่วยพึ่งเป็นในระยะเริ่มต้น หรือมีอาการไม่รุนแรงนัก แพทย์ก็อาจจะทำการรักษาด้วยยาขยายหลอดเลือดหัวใจ

ยาสลายลิ่มเลือด หรือยาต้านการแข็งตัวของเกล็ดเลือด เพื่อบรรเทาอาการหากเกิดแบบเฉียบพลันไปก่อน

การรักษาด้วยการทำบอลลูน แต่ถ้าหากมีอาการบ่อยขึ้น หรือไม่สามารถรักษาด้วยยาได้แล้ว แพทย์ก็อาจจะให้เลือกวิธีการรักษา

ด้วยการทำบอลลูน หรือใส่ขดลวดเพื่อช่วยให้การทำงานของหัวใจดีขึ้น หลอดเลือดมีการขยายตัวมากยิ่งขึ้น

การรักษาด้วยการผ่าตัดทำบายพาส เป็นวิธีรักษาสำหรับผู้ป่วยที่มีอาการรุนแรง หรือผู้ป่วยที่ต้องการรักษาโรคนี้ให้หายขาด

โดยแพทย์จะทำการผ่าตัดเปลี่ยนหลอดเลือดที่ไปเลี้ยงหัวใจ ถึงแม้จะมีค่ารักษาที่แพง แต่ก็รับประกันผลได้ถึง 95% และยังใช้เวลาในการพักฟื้นไม่นาน

วิธีป้องกันโรคกล้ามเนื้อหัวใจขาดเลือด (เฉียบพลัน)

สำหรับการป้องกันโรคกล้ามเนื้อหัวใจขาดเลือดเฉียบพลันนั้น สามารถทำได้โดยการลดปัจจัยเสี่ยงที่เป็นสาเหตุหลักของการเป็นโรคนี้ด้วยการ

  • ไม่สูบบุหรี่ หรือเลิกสูบบุหรี่
  • ออกกำลังกายและควบคุมน้ำหนักไม่ให้อ้วนจนเกินไป
  • เลือกทานอาหารที่ถูกต้องตามโภชนาการ และไม่มีไขมันมาก
  • หากเป็นโรคเบาหวาน ความดันโลหิตสูง หรือไขมันในเลือดสูง ก็ต้องปฏิบัติตามการรักษาของแพทย์อย่างเคร่งครัด เพื่อไม่ให้เกิดภาวะแทรกซ้อน หรือเพิ่มความเสี่ยงในการเป็นโรคนี้
  • รู้จักผ่อนคลาย และหางานอดิเรกทำเพื่อไม่ให้เกิดความเครียด

มีเพียงปัจจัยเสี่ยงเพียง 2 ประเภท ที่ไม่สามารถป้องกันได้แบบเห็นผล คือเรื่องของกรรมพันธุ์ และการสูงอายุ

แต่ถึงกระนั้น หากพักผ่อนอย่างเพียงพอ และดูแลตัวเองดีอย่างต่อเนื่อง ก็ยังช่วยลดความเสี่ยงที่อาจเกิดขึ้นได้

Credit : antiagingcostarica.com

โรคกล้ามเนื้อหัวใจขาดเลือด (เฉียบพลัน) เป็นโรคใกล้ตัวที่ใคร ๆ ก็สามารถเป็นได้ และอันตรายมากกว่าที่คิด

เพราะฉะนั้นหากไม่อยากเป็นโรคนี้ ก็ควรเริ่มดูแลสุขภาพตัวเองตั้งแต่วันนี้เป็นต้นไป และบอกต่อคนรอบข้างให้มากที่สุด

เพราะถ้าเป็นแล้วก็ยากที่จะรักษาให้หาย หรือถ้าต้องการรักษาให้หาย ก็ต้องเตรียมค่าใช้จ่ายในการรักษาที่สูงมากอีกด้วย